วันนี้ (24 มกราคม 2565) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติรับทราบและให้ใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่

1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.45 ล้านคน จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน วงเงินรวม 8,071 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 (กลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 หรือกลุ่มเปราะบาง) 2.25 ล้านคน ไม่เกิน 200 บาท รวมทั้งสิ้น 600 บาทต่อคน ต่อคนต่อเดือน วงเงินรวม 1,352 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565

3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ให้สิทธิ 29 ล้านคน แบ่งเป็น 27.98 ล้านคน เป็นผู้มีสิทธิเดิมอยู่แล้ว เพียงแค่กดยืนยันรับสิทธิก็รับเงินได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน และจะมีอีก 1 ล้านสิทธิ สำหรับผู้ที่ไม่อยู่ในโครงการคนละครึ่ง เช่น ผู้ที่อยู่ในโครงการช็อปดีมีคืน

สำหรับค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจะออกให้ในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 คือ 150 บาท ต่อคนต่อวัน ไม่เกิน 1,200 บาทต่อคน ตลอดโครงการ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2565 ให้กับประชาชนผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 29 ล้านคน โดยการร่วมจ่ายคนละครึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตรา 50% ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 1,200 บาทต่อคน สำหรับโครงการคนละครึ่ง มีวงเงินดำเนินการ 3.4 หมื่นล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ

“โครงการจะเริ่มเร็วกว่าที่เราขอหลักการจากคณะรัฐมนตรีไว้ เดิมทีเราจะให้ใช้สิทธิลงทะเบียนกันวันที่ 1 มีนาคม แต่เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทำให้เกิดข้อวิตกกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เริ่มจะดีขึ้น หลังจากเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจก็ดีขึ้นตามลำดับ การบริโภคและการใช้จ่ายใช้สอยของพี่น้องประชาชนก็ดีขึ้น สังเกตได้จากดัชนีความเชื่อมั่นที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เนื่องจากสถานการณ์ที่ดีขึ้นนั้น เราก็คิดว่าวงเงินที่จะร่วมจ่ายให้กับประชาชน ก็ควรจะแบ่งเบาไปให้ภาระทางประชาชนเพิ่มขึ้น”

“เราดูดัชนีทางเศรษฐกิจ เห็นว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวตามลำดับ โดยมีกิจกรรมทางธุรกิจ กิจกรรมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการบริโภค ออกมาจับจ่ายใช้สอย จะเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น รัฐบาลก็เลยแบ่งเบาการช่วยเหลือตรงนี้ ให้ภาคประชาชนได้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือมีพนักงานกลับเข้าไปในระบบการจ้างงาน โรงแรมเริ่มเปิดได้ ก็มีพนักงานกลับไปทำงาน มีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ และถ้าหากเราดูค่าเฉลี่ยใช้จ่ายในการใช้งานรอบที่ 3 ที่ให้ 150+150 นั้น คนใช้จ่ายจริงก็ใช้เงินไม่ถึง 150 บาท เราก็เลยคิดว่าคงไว้ที่ 150 แต่ลดวงเงินลงมา” อาคมระบุ

สำหรับภาวะค่าครองชีพในเดือนมกราคม ในเรื่องราคาหมวดอาหาร และหมวดพลังงานนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งหมวดอาหารมีหลายตัว ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็เห็นว่าควรเริ่มให้เร็วกว่ากำหนด จึงให้เริ่มโครงการได้เร็วขึ้น และกระทรวงการคลังก็ดำเนินการตามนี้ “ถามว่าวงเงินได้จากไหน ตอนทำเฟส 3 เรามีวงเงินเหลือเหลืออยู่ 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ขอเพิ่มเติมก็ไม่มากราว 3.2 หมื่นล้าน ใช้แค่เท่านั้นในรอบนี้”

อาคมยังระบุอีกด้วยว่า การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ จะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ จากการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 7.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีตลอดทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้น 0.21% ต่อปี จากกรณีฐาน และคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4% อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพิ่มรายได้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน และรักษาระดับและทิศทางการเจริญเติบโตเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีวงเงินตามพระราชกำหนดกู้เงินโควิดเพิ่มเติมอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องใช้เงินอย่างประหยัด เนื่องจากยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ดำเนินการ

ภาพ: กระทรวงการคลัง

Tags: , , , ,