เมื่อวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักข่าวโคเรียเฮรัลด์ (KoreaHerald) รายงานว่า รัฐบาลท้องถิ่นญี่ปุ่นในจังหวัดกุมมะ (Gumma) รื้ออนุสาวรีย์รำลึกเหยื่อแรงงานชาวเกาหลีใต้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิ้ง แม้จะเผชิญแรงกดดันจากนักเคลื่อนไหวก็ตาม 

อนุสาวรีย์ดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยหินในปี 2004 จากแรงสนับสนุนของกลุ่มประชาสังคมชาวญี่ปุ่น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมมิตรภาพระหว่างสองประเทศ และรำลึกบาดแผลในประวัติศาสตร์ที่จักรวรรดิญี่ปุ่นเคยกระทำกับเกาหลีในยุคอาณานิคมระหว่างปี 1910-1945 โดยเฉพาะประชาชนที่ถูกบังคับใช้แรงงานจนเสียชีวิต

“ความทรงจำ การรำลึก และมิตรภาพ

“พวกเราจะรำลึกความจริงของประวัติศาสตร์ที่สร้างความร้ายแรงและความเจ็บปวดให้กับเกาหลี และขอยืนหยัดว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทำความผิดพลาดเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง”

3 วลีสั้นบนป้ายโลหะสีทองที่ติดบนกำแพงหิน และข้อความยาวหลังอนุสาวรีย์ ย้ำเตือนความโหดร้ายของสงคราม และความมุ่งหมายในการสร้างสันติภาพระหว่างสองประเทศทั้งในภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น และเกาหลี

ทว่า อาซาฮิ ชิมบุน (Asahi Shimbun) สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า อนุสาวรีย์นี้หายไปแล้ว หลังรัฐบาลจังหวัดกุมมะรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม จนแล้วเสร็จในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลักฐานดังกล่าวประจักษ์ผ่านภาพถ่ายทางอากาศ แสดงให้เห็นรูปลานว่างเปล่าของพื้นที่ที่เคยรำลึกถึงประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวระบุว่า ป้ายสีทองของอนุสาวรีย์ที่หายไปถูกนำส่งให้กับกลุ่มประชาสังคม ก่อนการรื้อถอนอนุสาวรีย์หินเป็นที่เรียบร้อย 

สำหรับกระแสต่อต้านจากสาธารณชน อาซาฮิ ชิมบุนออกบทบรรณาธิการเรียกร้องให้รัฐบาลท้องถิ่นกุนมะยุติการรื้อถอนดังกล่าว โดยชี้ว่า ทางการไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจนในการรื้อถอน และผลประโยชน์ของสาธารณชนไม่ได้ถูกทำลายจากการมีอยู่ของอนุสรณ์แห่งนี้ พร้อมย้ำเตือนว่า ญี่ปุ่นกำลังตกอยู่ในอันตราย เมื่อแนวคิดทะเยอทะยานแสวงหาความรุ่งโรจน์ในช่วงอาณานิคม กำลังกลับมาครอบงำสังคมอีกครั้งหนึ่ง

“สิ่งที่ฝ่ายบริหารท้องถิ่นควรทำ คือการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการถกเถียงประวัติศาสตร์ในวันวานอย่างเปิดกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ยุติด้วยการปิดพื้นที่สนทนาลง” ข้อความทิ้งท้ายจากบทบรรณาธิการของอาซาฮิ ชิมบุน 

อนุสรณ์รำลึกสงคราม: อดีตที่รอวันทำลายทิ้ง

ย้อนกลับไปในก่อนหน้านี้ รัฐบาลจังหวัดกุมมะพยายามยุติการตั้งอนุสาวรีย์ดังกล่าวในปี 2014 โดยอ้างว่า นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเคยกระทำการไม่เหมาะสมกับที่แห่งนี้ในงานรำลึกปี 2012 อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศ

แม้สภาท้องถิ่นมีมติเอกฉันท์ให้อนุสาวรีย์ยังคงอยู่ต่อไปเพื่อทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและมิตรไมตรีในเอเชีย แต่ในปี 2022 ศาลสูงโตเกียวเห็นชอบการรื้อถอนอนุสรณ์ข้างต้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ ศาลแขวงในมาเอบาชิ (Maebashi) ชี้ขาดว่า รัฐบาลกุมมะล่วงล้ำเขตอำนาจในการพิจารณาคดีและดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย

ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคมพยายามต่อต้าน และแสดงออกด้วยวิธีการมากมาย เช่น ศิลปิน 4,300 คนทั่วประเทศยื่นชื่อคัดค้านการรื้ออนุสรณ์ ประชาชนธรรมดาตั้งแคมป์ค้างคืนประท้วงรัฐบาลท้องถิ่น และมีการยื่นฟ้องแยกอีกส่วนเพื่อขัดขวางคำสั่งของศาล

ในเวลานั้น สถานการณ์ถึงจุดเดือด ทำให้กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแสดงความคิดเห็นว่า ทางการหวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศย่ำแย่ลง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับกลุ่มพลเมืองญี่ปุ่นบางส่วนเท่านั้น

ท่าทีจากสาธารณชนเกาหลีใต้ถึงการรื้อถอนอนุสรณ์รำลึกบาดแผลสองประเทศ

บทความจากฮันคโยเร (Hankyoreh) สื่อเกาหลีใต้ระบุว่า การรื้อถอนอนุสาวรีย์ครั้งนี้คือผลพวงจากการขึ้นมาของ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) อดีตนายกรัฐมนตรีฝ่ายอนุรักษนิยมจากพรรคเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น (Liberal Democratic Party: LDP) และกลุ่มฝ่ายขวาในประเทศที่ต้องการถอนรากถอนโคนประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างสองประเทศ และในอนาคต อนุสรณ์รำลึกระหว่างสองประเทศจะค่อยเลือนหายไปเรื่อยๆ โดยอ้างอิงข้อความบางส่วนจากบทบรรณาธิการของอาซาฮิ ชิมบุน

นอกจากนี้ สื่อเกาหลีใต้ยังโจมตีต่อว่า ความผิดหวังครั้งใหญ่ของสาธารณชน คือการที่ทางการเกาหลีใต้นิ่งเฉยต่อเรื่องราวดังกล่าว สะท้อนผ่านแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศที่ระบุว่า เกาหลีพร้อมหาทางร่วมกันที่ไม่สร้างความบาดหมางระหว่างประเทศ ขณะที่ ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นิ่งเฉยและไม่แสดงท่าทีแต่อย่างใด 

ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเป็นไปในทิศทางที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในยุคของ มุน แจอิน (Moon Jae-in) อดีตประธานาธิบดีจากพรรคประชาธิปไตยเกาหลีใต้ (Democratic Party of Korea) หรือพรรคมินจู (민주) มีคำอธิบายในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ว่า ‘ใกล้ แต่ไกล’ ซึ่งหมายความว่า แม้สองประเทศจะมีพรมแดนติดกันและอยู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ประวัติศาสตร์ความบาดหมางระหว่างสองประเทศไม่สามารถยุติลงได้ จนกระทบความร่วมมือในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ

ขณะที่ความขัดแย้งข้างต้นยุติลง เมื่อ ยุน ซอกยอลเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2022 เขามีจุดเด่นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ คือการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น และมองข้ามประเด็นทางประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงระหว่างพันธมิตรไตรภาคี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อจัดการปัญหาที่ใหญ่กว่า คือการมีอยู่ของเกาหลีเหนือ

อ้างอิง

https://en.yna.co.kr/view/AEN20240201008400315

https://en.yna.co.kr/view/AEN20240123006500315

https://www.france24.com/en/asia-pacific/20230507-south-korean-japanese-leaders-hail-deeper-cooperation-despite-colonial-past

https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/english_editorials/1126910

https://www.jstage.jst.go.jp/article/asiajapan/3/0/3_103/_pdf

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20240201000832

https://www.asahi.com/ajw/articles/15137013

Tags: , , , , , , , , , ,