เมื่อวานนี้ (18 มีนาคม 2024) องค์การสหประชาชาติรายงานว่า วิกฤตความอดอยากในกาซาอยู่ในขั้น ‘หายนะ’ เมื่อประชากร 1.1 ล้านคน หรือ 70% ของพื้นที่บริเวณกาซาตอนเหนือ กำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตครั้งใหญ่ของชาวปาเลสติเนียน
ทั้งนี้ UN ใช้มาตรวัดที่เรียกว่า ‘IPC Scale’ (Integrated Food Security Phase Classification: IPC) เพื่อประเมินและวิเคราะห์ระดับวิกฤตความอดอยากในกาซา ผล ปรากฏว่าความรุนแรงอยู่ในระดับ 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของระดับทั้งหมด หรือคิดเป็น 3 เท่าของเกณฑ์การประเมินความอดอยากขั้นต้น
ข้อมูลจากเว็บไซต์ IPC ระบุว่า การประเมินดังกล่าวเริ่มต้นในช่วงเดือนธันวาคม 2023 ระหว่างในช่วงแรกของสงครามอิสราเอล-ฮามาส และคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยว่า ภาวะความอดอยากขั้นหายนะ อาจเกิดขึ้นระหว่างกลางเดือนมีนาคม-เมษายน 2024
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กาซาทางตอนเหนือท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบที่กำลังดุเดือดในขณะนี้ ขณะที่กาซาทางตอนใต้ โดยเฉพาะเมืองราฟาห์ (Rafah) อาจเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายในไม่ช้า โดย IPC ประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้อยู่ระดับ 4 หรือภาวะขาดแคลนอาหารขั้นฉุกเฉิน
แม้ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปอัตราการเสียชีวิตของผู้คนในกาซา แต่วิกฤตดังกล่าวอยู่ในขั้นร้ายแรงเสียจนสามารถประเมินคร่าวๆ ว่า อาจมีชาวปาเลสติเนียน 2 ใน 1 หมื่นคน เสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการและโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการขาดแคลนอาหารในทุกวัน
ปัจจุบัน ทางการปาเลสไตน์และสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงาน ประชากร 3 แสนราย ต้องกินอาหารสัตว์ประทังชีวิตเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก ขณะที่เวลานี้มีเด็กมากกว่า 27 ราย เสียชีวิตจากภาวะขาดอาหาร
ภาวะความอดอยากที่เกิดจากเงื้อมมือมนุษย์: เมื่ออิสราเอลจงใจปิดกั้นช่องทางช่วยเหลือทางมนุษยธรรม
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ อ็อกซ์แฟม (Oxfam) องค์กรการกุศลเพื่อต่อสู้กับความยากจน นิยามวิกฤตความอดอยากในกาซาครั้งนี้ว่า เป็นภาวะที่ ‘เกิดจากฝีมือมนุษย์’ โดยให้เหตุผลว่า อิสราเอลจงใจปิดกั้น ‘ระเบียงมนุษยธรรม’ (Humanitarian Corridor) จากองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือรัฐบาลชาติอื่นด้วยวิธีการต่อไปนี้
1.จำกัดเส้นทางภาคพื้นดินในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในกาซาแค่ 2 เส้นทาง ได้แก่ ชายแดนในเมืองราฟาห์ (Rafah) และคาเรม อาบู ซาเลม (Karem Abu Salem) ซึ่งเป็นเส้นทางที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการพาณิชย์โดยตรง
2.ภาวะ ‘Red-tape’ จากระบบราชการในการทำเรื่องขอความช่วยเหลือจนผิดปกติและคาดเดาไม่ได้ ทำให้รถบรรทุกขนส่งความช่วยเหลือต้องใช้ระยะเวลารอถึง 20 วัน
อ็อกซ์แฟมแนะนำว่า อิสราเอลควรอนุญาตให้รถบรรทุกเข้าถึงอีก 5 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 15,413 คัน ตลอดสงคราม 157 วัน แต่ปรากฏว่า ทางการอิสราเอลจำกัดการเข้าของรถบรรทุก ให้เหลือเพียง 2,874 คันในเดือนกุมภาพันธ์ หรือคิดเป็น 44% ของจำนวนรถในช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ
3. ปฏิเสธการให้สิ่งของบางอย่างในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยอ้างเรื่องแนวโน้มการใช้ทางการทหาร เช่น เชื้อเพลิง เครื่องให้กำเนิดไฟฟ้า อุปกรณ์ป้องกันภัย และเครื่องมือสื่อสาร พร้อมกับเงื่อนไข ‘ต้องประเมินล่วงหน้า’ ไม่เช่นนั้น ทางการอิสราเอลจะเก็บสิ่งของทุกอย่างไปไว้ในโกดังที่อียิปต์
4. ปราบปรามปฏิบัติการทางมนุษยธรรม ปิดพรมแดนทางตอนเหนือของกาซา ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) และเยรูซาเลมทางตะวันออก (East Jerusalem)
นอกจากนี้ อ็อกซ์แฟมยังค้นพบหลักฐานเพิ่มเติม คือ ‘โกดัง’ ที่อยู่ในอัลอาริช (Al Arish) ในอียิปต์ และห่างจากพรมแดนกาซาประมาณ 40 กิโลเมตร โดยโกดังนี้เต็มไปด้วยสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งน้ำดื่ม อาหาร หรืออุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งคาดว่า เป็นของหน่วยงานด้านมนุษยธรรมจากทั่วโลกที่ตั้งใจส่งมาเพื่อช่วยเหลือชาวปาเลสติเนียน
ขณะที่ ซัลลี อาบี คาลิล (Sally Abi Khalil) ผู้อำนวยการอ็อกซ์แฟมประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แสดงความคิดเห็นว่า การกระทำของอิสราเอลขัดต่อคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court Justice: ICJ) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาวิกฤตความอดอยาก
เธอระบุว่า คำสั่งของ ICJ คงทำให้ผู้นำอิสราเอลรู้สึกตกตะลึงกับแนวทาง ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกไม่แสดง ‘พลังกดดัน’ ที่มากพอเพื่อกดดันให้อิสราเอลเปิดรับความช่วยเหลือ แต่กลับไปใช้แนวทางอื่นที่ยากลำบากยิ่งกว่า เช่น ความช่วยเหลือทางอากาศและทางทะเล
เส้นทางมนุษยธรรมทางอากาศและทะเล: คำตอบที่เลวร้ายกว่าการใช้เส้นทางปกติ
ก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) เรียกร้องให้อิสราเอลเปิดช่องการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่มากขึ้น แต่ปรากฏว่า ไร้ข้อความตอบกลับใดๆ จากปากของ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ผู้นำอิสราเอล นอกจากการกล่าวหาว่า ความผิดครั้งนี้เกิดจากการทำงานของ UN
ท้ายที่สุด ไบเดนเสนอมาตรการขั้นสุดท้าย คือการสร้างเส้นทางมนุษยธรรมทางอากาศและทะเล ด้วยการสร้างท่าเรือชั่วคราวบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนจากไซปรัสไปยังกาซา ภายใต้เงื่อนไขว่า ทหารอิสราเอลจะต้องเป็นฝ่ายตรวจสอบให้แน่ใจว่า การช่วยเหลือในครั้งนี้จะไม่มี ‘สิ่งของทางการทหาร’ เล็ดลอดไปถึงกาซา
อย่างไรก็ตาม เจสส์ มาร์กส์ (Jesse Marks) ผู้ปฏิบัติการจาก Middle East and Refugees International แสดงความคิดเห็นกับวอชิงตันโพสต์ (Washington Post) ว่า การสร้างท่าเรืออาจใช้เวลามากกว่า 60 วัน แต่ความหิวโหยของผู้คนในกาซารอไม่ได้ จึงต้องรีบแก้ไขปัญหาทันที
นอกจากนี้ เจสส์ยังเปรียบเปรยอีกว่า ศักยภาพของรถบรรทุก 5 คันที่ขนของราว 100 ตันในพรมแดนอิสราเอล-กาซา มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เรือ โดยจำนวนสิ่งของมากกว่าถึง 20-50 เท่า และค่าใช้จ่ายก็นับว่าสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์
ขณะเดียวกัน การขนส่งความช่วยเหลือทางอากาศก็กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสลดใจ หลังสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า สิ่งของทางอากาศตกลงมาคร่าชีวิตชาวปาเลสติเนียนจำนวนมาก ดังเหตุการณ์ในค่ายผู้อพยพอัลชาติ (Al Shati) ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 ราย และบาดเจ็บราว 10 ราย จากการทำงานขัดข้องของร่มชูชีพที่ติดตั้งกับกล่องส่งมอบความช่วยเหลือ
นั่นจึงทำให้ทางการปาเลสไตน์เหน็บแนมวิธีการช่วยเหลือดังกล่าวว่า ‘ไร้ประโยชน์’ และเป็นเพียงภาพจากโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจให้ดูดี มากกว่าตั้งใจช่วยเหลือชาวปาเลสติเนียนจริง
ด้าน ริชาร์ด โกวาน (Richard Gowan) ผู้อำนวยการ International Crisis Group แสดงความคิดเห็นผ่านซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า วิธีการช่วยเหลือทางอากาศทำให้ได้รูปภาพสวยงาม แต่หากพิจารณาในมุมของการใช้จริงแทบจะไร้ประโยชน์ใดๆ
ขณะที่ ฮานี มาห์มูด (Hani Mahmoud) นักข่าวอัลจาซีราผู้สังเกตการณ์และรายงานสถานการณ์ในตอนใต้ของกาซา อธิบายว่า นอกจากมีชาวปาเลสติเนียนเสียชีวิตเพราะการทำงานขัดข้องจากกล่องส่งมอบความช่วยเหลือ การกระทำเช่นนี้ยิ่งทำให้คนปาเลสติเนียนตกเป็นเป้าของกองทัพอิสราเอลได้ง่ายขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้วิธีช่วยเหลือแบบใด สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นพิเศษ คือความปลอดภัยในระหว่างขั้นตอนการส่งมอบและแจกจ่าย หลังวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2024 ผู้คนในกาซาถูกยิงระหว่างการรับมอบสิ่งของจากรถบรรทุก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย และบาดเจ็บถึง 700 ราย ท่ามกลางการปฏิเสธเสียงแข็งจากฟากอิสราเอล
อ้างอิง
https://www.aljazeera.com/news/2024/3/18/famine-expected-in-gaza-between-now-and-may-what-to-know
https://www.washingtonpost.com/world/2024/03/01/gaza-aid-delivery-stampede-shots/
https://edition.cnn.com/2024/03/08/middleeast/gaza-airdropped-aid-deaths-intl/index.html
https://www.washingtonpost.com/world/2024/03/01/gaza-aid-delivery-stampede-shots/
https://www.washingtonpost.com/world/2024/03/15/gaza-aid-pier-ports-complex-solution-airdrop/
Tags: สหรัฐอเมริกา, สงคราม, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, United Nations, ฮามาส, กาซา, Food Security, ความอดอยาก, อาหาร, ภาวะทุพโภชนาการ, UN, IPC Scale