เมื่อวานนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2024) สำนักข่าวยูโรนิวส์ (Euronews) ระบุว่า บริษัทบางแห่งในสหราชอาณาจักรเตรียมใช้แผน ‘ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์’ ถาวร หลังมีรายงานว่า ผลการทดลองประสบความสำเร็จและได้รับฟีดแบ็กเชิงบวกถึง 90%
ก่อนหน้านี้ บริษัท 61 แห่ง และพนักงานประมาณ 3,300 คนในสหราชอาณาจักร เข้าร่วมการทดลองโปรเจกต์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ของนักวิชาการและนักวิจัยชั้นนำจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) มหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด (University of Salford) และวิทยาลัยบอสตัน (Boston College) เป็นเวลา 6 เดือนในปี 2022
ผลปรากฏว่า นโยบายดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ทั้งในฝ่ายผู้บริหาร ผู้จัดการ และพนักงานทั่วไป มีรายงานว่า พนักงาน 96% รู้สึกพึงพอใจในการมีวันหยุด 3 วัน ขณะที่ 86% เผยว่า บุคลากรมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีขึ้น แม้ภาระงานเท่าเดิม อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังทำให้แนวโน้มการลาออกลดลงถึง 50%
ขณะเดียวกัน บริษัท 54 แห่ง หรือคิดเป็น 89% ในการทดลองครั้งนั้น ยังคงดำเนินนโยบายดังกล่าวในปีถัดมา ส่วนบริษัทอีก 51% ใช้นโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์อย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ จูเลียต บี. ชอร์(Juliet B. Schor) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา วิทยาลัยบอสตัน ผู้เขียนรายงานการทดลองครั้งนี้ยืนยันว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นมาตรการที่ทำได้จริงและให้ผลลัพธ์ระยะยาวที่ดีในด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสมดุลในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการช่วยขจัดภาวะ ‘Burn-Out’ ที่คนรุ่นใหม่มักเผชิญในการทำงาน
ด้าน พอล โอลิเวอร์ (Paul Oliver) ประธานฝ่ายปฏิบัติการ Citizens Advice Gateshead ให้ความคิดเห็นว่า นโยบายหยุด 3 วันช่วยแก้ไขปัญหาและรักษาพนักงานบางส่วนในบริษัทของเขาได้ สืบเนื่องจากลักษณะของหน่วยงานที่เป็นองค์กรการกุศล ทำให้เขาไม่สามารถจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นแรงงาน ทว่ามาตรการดังกล่าวที่เอื้อให้เกิดการพักผ่อนอย่างสมดุล จะเป็นเครื่องทุ่นเแรงเพื่อสร้างแรงจูงใจและพัฒนาคุณภาพของพนักงานได้
ปัจจุบัน เทรนด์การทำงาน 4 วันกำลังแพร่หลายในยุโรป หลังสหภาพแรงงานทั่วภูมิภาคพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศของตนปรับใช้นโยบายดังกล่าว เพื่อปรับปรุงสิทธิและคุณภาพชีวิตแรงงาน เช่นเบลเยียม ประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายดังกล่าว โดยให้สิทธิลูกจ้างเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะทำงาน 4 หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ได้ตามใจชอบ เพียงแต่ภาระงานจะไม่ได้น้อยลงจากเดิม
สำหรับสถานการณ์ในสหราชอาณาจักร เดอะการ์เดียนเผยว่า รัฐบาลสกอตแลนด์ทดลองใช้นโยบายดังกล่าวสำหรับบางหน่วยงานบริการสาธารณะในเดือนนี้ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษดำเนินนโยบายดังกล่าวในทุกภาคส่วน โดยที่แรงงานไม่สูญเสียค่าจ้างหรือสวัสดิการไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวไม่ได้เป็นที่พึงพอใจสำหรับทุกคน แมตทิว เพอร์ซิวัล (Matthew Percival) ผู้อำนวยการสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (Confederation of British Industry) ระบุว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้ตอบโจทย์ในทุกหน่วยงาน และการหยุดเช่นนี้ไม่เท่ากับการให้ ‘ค่าตอบแทน’ โดยสื่อเป็นนัยสำคัญว่า พนักงานบางคนต้องการการเพิ่มค่าแรง เงินบำนาญ สวัสดิการด้านสุขภาพ หรือแม้แต่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน
อ้างอิง
Tags: สหราชอาณาจักร, สิทธิแรงงาน, ยุโรปตะวันตก, Four-Day Week Work, ยุโรป, สกอตแลนด์, แรงงาน, สหภาพยุโรป, อังกฤษ