วันนี้ (2 ธันวาคม 2567) ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงาน UN Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum 2024) ตอนหนึ่งว่า โจทย์สำคัญในการนำก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันออกจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา คือการเอาก๊าซและน้ำมัน มูลค่ารวม 20 ล้านล้านบาท ขึ้นมาแบ่งกันเพื่อพัฒนาประเทศ มากกว่าจะห่วงเรื่อง ‘เสียดินแดน’ หรือเรื่อง ‘เกาะกูด’ ทั้งนี้ยืนยันว่าดินแดนไม่สามารถแบ่งให้กัมพูชาได้อยู่แล้ว

สำหรับประเด็นพื้นที่ทับซ้อน ถือเป็นเรื่องปกติในการนำประโยชน์มาใช้ร่วมกัน เช่นเดียวกับข้อพิพาทเรื่องดินแดน ทั่วโลกต่างก็มีปัญหากันหมด ไม่ว่าจะประเด็นหมู่เกาะสแปรตลีหรือหมู่เกาะทะเลจีนใต้ต่างก็มีปัญหา แต่กับกัมพูชา ไทยสามารถเจรจาได้ และข้อสำคัญในขณะนี้คือ ประเทศไทยต้องการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันขึ้นมาพัฒนาประเทศ และนำขึ้นมาเพื่อให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ ถูกลง เศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้เร็ว และจีดีพีก็จะโตได้เร็ว

“เราจะให้ดินแดนกับใครเป็นไปไม่ได้หรอก ถึงเวลาเราเอาแก๊ส เอาน้ำมันมาแบ่งกันดีกว่า ถ้าแบ่งกันได้แล้ว ไม่ทะเลาะกันหรอก” 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังระบุด้วยว่า หากไม่นำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวมาใช้ตอนนี้ ในอนาคตอาจจะไม่สามารถใช้ไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะเมื่อเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (COP 29) ที่ ประเทศอาเซอร์ไบจาน มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านเรื่อง ‘เชื้อเพลิงฟอสซิล’ ซึ่งอาจทำให้ในอนาคต ก๊าซและน้ำมันไม่ได้มีมูลค่าเหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมกับเปรียบเทียบว่า ก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนก็เหมือนกับ ‘นมกระป๋อง’ ที่มีวันหมดอายุ รวมถึงมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่สหภาพยุโรปจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากผู้นำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง

“เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช้ก็ทิ้ง สุดท้ายต้องตั้งคำถามว่า จะเอานมนั้นมากินก่อน หรือจะรอให้บูดเน่าแล้วทิ้งไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุ

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เป็นผลพวงจาก MOU 2544 หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดกรอบและกลไกในการเจรจา เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดนทางทะเล รวมถึงการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนล่างที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม โดยมีพื้นที่ราว 1.6 หมื่นตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน และพื้นที่ประมาณ 1 หมื่นตารางกิโลเมตรเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ เป็นพื้นที่ซึ่งต้องแบ่งเขตกัน อย่างไรก็ตามผ่านมา 23 ปี ยังคงไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว

ปัจจุบันเรื่อง MOU 2544 ยังคงไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเจรจาการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างไทย-กัมพูชา ขณะที่อีกฝ่ายยังคงปลุกกระแสชาตินิยมว่ารัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร อาจแบ่งผลประโยชน์อย่างไม่ลงตัว โดยอ้างความสัมพันธ์ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร และสมเด็จ ฮุน เซน ที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องดังกล่าว

Tags: ,