ในช่วงที่ผ่านมาวงการสงฆ์ถูกพุทธศาสนิกชนตั้งคำถามตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์อย่างล้นหลามทั้งผ่านพุทธศาสนิกชนเอง ผ่านตัวแทนอย่าง ‘หมอปลา มือปราบสัมภเวสี’ หรือจีรพันธ์ เพชรขาว ซึ่งที่ผ่านมา หมอปลาได้ตรวจสอบ – เปิดโปงเรื่องราวในวงการสงฆ์อย่างมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโปงลัทธิ ‘พระบิดา’ ที่มีสาวกกินอุจจาระ ปัสสาวะ และขี้ไคล ศูนย์บำบัดยาวัดท่าพุราษฎร์บำรุง ที่มีการทำร้ายร่างกายประชาชนผู้เข้ารับการบำบัด และให้อยู่กันแบบแออัดจนมีผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย ‘เจ้าอาวาสที่คาดผม’ ซึ่งนำผู้หญิงเข้ากุฎิยามวิกาลและอ้างว่าที่คาดผมช่วยแก้ปวดหัวได้ และคดี ‘หลวงปู่แสง’ จันดะโชโต ญาณวโร ที่ทำให้หมอปลาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระทำล้ำเส้นและอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดี
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีของหมอปลาว่า “ผมคิดว่าการกระทำบางอย่างมันเหมือนดี แต่สิ่งนี้ ทำให้ผู้คนมองผ้าเหลือง มองศาสนาไปอีกอย่างหนึ่ง ท่านคิดว่าท่านทำถูกแล้วหรือ ระยะยาวท่านทำไม่ถูก ศาสนาเรามี 2,500 ปี ไม่ต้องพึ่งท่านหรอก เพราะท่านมีจิตใจที่ไม่ปกติแน่นอน”
อนุชายังบอกอีกว่า พศ. จะดำเนินการอย่างเต็มที่กับหมอปลา พร้อมกับทิ้งท้ายว่า การที่มีหมอปลามาช่วยตรวจสอบดูแลศาสนาพุทธไม่ได้หมายความว่าสำนักพุทธฯ ไม่เข้มแข็งและไม่สามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ แต่เป็นเพราะสำนักพุทธฯ มีปัญหาที่หลากหลายมาโดยตลอด
จากหลากเหตุการณ์หลายกรณีที่ผ่านมา สังคมอดตั้งคำถามต่อสำนักพุทธฯ และมหาเถรสมาคมไม่ได้ว่า หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่อะไรบ้าง? และใครเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบเหล่าคณะสงฆ์กันแน่
ไม่ว่าจะต่อกรณีของอดีตพระกาโตะ หรือพงศกร จันทร์แก้ว ที่เสพเมถุนขณะเป็นพระ แต่สำนักพุทธฯ และมหาเถรสมาคมกลับไม่มีทีท่าอะไรมากมาย จนท้ายที่สุดอดีตพระกาโตะต้องยอมสึกออกจากผ้าเหลืองเนื่องจากจำนนต่อหลักฐาน กรณีพระต่างๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าผิดพระธรรมวินัย เช่น การกินหมูกระทะและการดื่มสุรา และกรณีของพระหรือสามเณรต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
คำถามที่สำคัญคือ บรรทัดฐานและมาตรฐานของการตัดสินตรวจสอบของสำนักพุทธฯ และมหาเถรสมาคมคืออะไร? กรณีแบบไหนถึงจะมีมติจากสำนักพุทธฯ และมหาเถรสมาคมให้ลาสิกขาตามแนวทางการลงทัณฑกรรมกันแน่?
The Momentum คุยกับ ‘โฟล์ค’ – สหรัฐ สุขคำหล้า อดีตสามเณรผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 และได้รับมติจากมหาเถรสมาคมให้ลาสิกขา พร้อมกันนั้น สำนักพุทธฯ ยังขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่ต่างๆ หากใครพบเห็นสหรัฐ ให้นำเข้าพบเจ้าคณะผู้ปกครองในพื้นที่นั้นๆ เพื่อดำเนินการตามมติมหาเถรสมาคม ว่าเขามีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?
ในฐานะอดีตสามเณรผู้ได้รับมติให้ลาสิกขา และพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง มองภาพการทำงานของสำนักพุทธฯ และมหาเถรสมาคมอย่างไรบ้าง?
ถ้าพูดถึงข้อดีของมหาเถรสมาคมที่มีโครงสร้างเหมือนรัฐวาติกัน มีพระจำนวน 10 รูป ควบคุมสงฆ์ทั้งหมดให้อยู่ใต้รัฐ ระบบดังกล่าวมีข้อดีอยู่บ้าง คือการสอบพระธรรมบาลีมีมาตรฐานสากลที่ชัดเจน ไม่ได้ขึ้นตรงกับครูสำนักไหน แต่ระบบนี้มันมีข้อเสีย คือคนที่จะบวชให้ผู้ที่มีศรัทธาเข้าพระพุทธศาสนาได้ต้องมีใบอุปัชฌาย์
อีกอย่างคือการเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นเรื่องของการควบคุมความเชื่อ – ความภักดีของคนในรัฐ เมื่อคุณมีความเชื่อที่แตกต่างออกไป จึงสร้างความกลัวให้กับชนชั้นปกครอง เช่น กบฏผีบุญ การควบรวมความเชื่อของมหาเถรสมาคม จึงกลายเป็นเพียงการควบรวมความเชื่อ แต่ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบความผิดของพระเถระที่ปกครองอยู่ เช่น พระที่เรียกร้องทางการเมือง พระที่ฉันหมูกระทะ ดื่มเหล้า ซึ่งความผิดเหล่านี้ผิดในพระธรรมวินัยแต่ไม่ถึงขั้นจับสึกโทษ เพราะโทษจับสึก แท้จริงแล้ว เทียบเท่ากับโทษประหาร ที่ทำให้คนคนหนึ่งต้องปาราชิก ไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องการฉันหมูกระทะ ดื่มสุราก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ทำไมไม่สึกออกมาก่อนและค่อยฉัน?
ก่อนอื่น ต้องพิจารณาข้อนี้ให้ดีก่อน พระดื่มเหล้า ‘อาบัติ’ มีโทษผิดแค่ ‘ปาจิตตีย์’ ซึ่งสามารถแสดงอาบัติได้ และพระที่กำกับ ต้องชี้ให้เห็นโทษอาบัติและสุราด้วย ประการที่สอง พระมีสิทธิที่จะเลือกอยู่ต่อหรือจะสึกหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นสิทธิของเขาที่จะเลือกปฏิบัติว่าจะนับถือสิ่งที่เขาเชื่อต่อหรือไม่ หากใครไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระ เขาก็อาจจะเลิกนับถือ หรือไม่ใส่บาตรก็ได้ ไม่ใช่มาบังคับสึก
จากกรณีต่างๆ ที่พระสงฆ์ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการฉันหมูกระทะ เสพเมถุน หรืออย่างกรณีพระที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองก็ตาม ทางมหาเถรสมาคมและสำนักพุทธมีรูปแบบการไต่สวนอย่างไรบ้าง
ลักษณะการทำงานของมหาเถรสมาคมไม่มีกระบวนการไต่สวนตามพระไตรปิฎก เช่น การไต่สวนตามอธิกรณ์ 7 หรือกระบวนการสัมมุขาวินัย ที่คล้ายกับกระบวนการของศาลที่ต้องรวบรวมหลักฐานพยาน และแต่งตั้งพระจำนวน 5 รูป ในการตัดสินอธิกรณ์ว่าผิดข้อไหนตามบัญญัติของพระพุทธเจ้าบ้าง อันที่จริง การฉันหมูกระทะหรือฉันเย็นนั้น ผิดศีลในวิกาลโภชนาหลังเที่ยงหลังบ่าย หรือการดื่มเหล้าก็เป็นเพียง ‘สุราเมระยะ มัชชะ ปะมาทัฏฐานา’ แต่เมื่อไม่มีกระบวนการนี้ เราจะไม่รู้เลยว่าพระที่ฉันเหล้าได้ไปทำร้ายคนอื่นไหม กินแล้วมึนเมาขับรถชนใครเสียชีวิตหรือเปล่า อย่างในพระไตรปิฎกก็ระบุว่า ดื่มได้ 1 องคุลี สามารถดื่มได้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกินเป็นนิจ อย่างกรณีของ ‘หมอปลา’ ที่เข้าไปตรวจสอบและกดดันพระที่ฉันหมูกระทะ และดื่มเหล้าทำนองให้สึกออกมา ในแง่หนึ่งหมอปลาทำถูกในการตรวจสอบ แต่อีกแง่หนึ่งก็ทำไม่ถูกในกระบวนการพระธรรมวินัย รวมถึงสำนักพุทธฯ ที่หมอปลาเชิญเข้าไปตรวจสอบร่วมด้วย
นี่คือปัญหาของคนที่ทำงานในสำนักงานพระพุทธศาสนาหรือพระที่อยู่ในมหาเถรสมาคม คุณไม่เคยใช้กระบวนการไต่สวนที่พระพุทธเจ้าบัญญัติมากว่า 2,500 ปี แต่คุณเป็นใครไม่รู้ เปรียบตัวเองประหนึ่งพระพุทธเจ้าในการชี้ถูกชี้ผิดว่าใครสมควรที่จะสึก มันไม่ได้ อย่างเช่นกรณีของผม ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ตาม ผมถามหน่อยว่ามันมีบทบัญญัติข้อไหนที่ห้ามไม่ให้พระ หรือสามเณรแสดงความเห็นทางการเมือง ที่ทำไปไม่ได้ทำร้ายใคร ผมเรียกร้องให้เกิดความรุนแรงหรือเปล่าก็ไม่ สิ่งที่ผมกระทำ ไม่ได้ผิดกฎปาราชิก แต่คุณกลับตั้งสำนักงานพุทธฯ ประสานกำลังกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ใครเห็นผมอยู่วัดไหนให้แจ้งสำนักงานพุทธฯ เพื่อที่เขาจะมาจับผม และกล่าวว่าผมดูหมิ่นสมเด็จพระสังฆราชฯ ซึ่งในพระไตรปิฎกมันไม่มีข้อไหนเลยที่ผิด ที่ห้ามดูหมิ่นสมเด็จพระสังฆราชฯ
แปลว่าที่ผ่านมามหาเถรสมาคม และสำนักพุทธฯ แทบไม่เคยใช้กระบวนการตามบัญญัติของพระพุทธเจ้าในการตัดสินว่าใครถูกผิด
เขาทำตัวเหมือนพระพุทธเจ้าในการชี้ผิดชี้ถูกคนอื่น และไม่ได้ยึดตามพระธรรมวินัย ไม่ได้ยึดตามหลักพระไตรปิฎก อยากตัดสินใครผิดก็ได้ หรืออยากไม่ตัดสินก็ได้ เช่น กรณีสมีกาโตะ ถามว่า ทำไมกระบวนการของสงฆ์แทบไม่เกิดขึ้นเลย นอกจากสมีกาโตะต้องจำยอมผิดเองเพราะจำนนต่อหลักฐาน หรือสื่อกดดัน และตรวจสอบเขาถึงยอมสึก ข้อนี้จะเห็นว่าพระพุทธศาสนามีเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์อย่างมาก เพราะพระนักเทศน์ชื่อดังในภาคใต้มีจำนวนไม่กี่คนหรอกที่สามารถเทศน์และได้เงินเข้าวัดจำนวนล้านสองล้านบาทจนสามารถสร้างวัดได้
นอกจากนี้กรณีของเจ้าอาวาสที่เป็นรักษาการกับสมีกาโตะที่นำเงินวัดไปใช้โดยไม่มีการตรวจสอบและเป็นเงินจำนวนมาก สิ่งนี้ แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางอำนาจว่า เจ้าอาวาสไม่ว่าวัดใดก็ตามแต่ทั่วประเทศไทย ต่างก็มีสิทธิเข้าถึงเงินกองกลางโดยไม่มีใครตรวจสอบได้ ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่านำไปใช้อะไรและใช้เพื่ออะไร
ดังนั้น ข้อเรียกร้องของผม พระควรเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ต้องเสียภาษีนิติบุคคลเอกชนเพื่อนำเงินเข้าระบบภาษีให้รัฐไปสนับสนุนนโยบายอย่างอื่น เช่น รถไฟฟ้า สวัสดิการ การรักษาฟรี ทั้งยังควรจะนำเงินบริจาคที่เป็นของประชาชนไปทำเรื่องเหล่านี้ได้
ส่วนกรณีของหมอปลาที่ตรวจสอบพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นอย่างไร ผิดพระธรรมวินัยข้อไหน นี่เป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แต่หมอปลาก็ไม่ได้ใช้กระบวนการตรวจสอบตามระบบพระธรรมวินัยที่ผมพูดไปข้างต้น เช่น กระบวนการสัมมุขาวินัย ต้องเรียกพระมา 5 รูป ไม่ใช่เรียกมาแค่สำนักพุทธฯ หรือเจ้าคณะอำเภอ แล้วจับเขาสึก แบบนี้ไม่ใช่ หมอปลาต้องทำเรื่องการตรวจสอบตามบัญญัติพระพุทธเจ้าด้วย เพราะถ้าเขาผิดเพียงเล็กน้อยและเราจับสึกเลย ภาพที่สังคมหรือสื่อจะฉายให้เห็นว่าพุทธศาสนาจะกลายเป็นเรื่องที่บริสุทธิ์สูงส่ง ไม่ได้มองว่าพระเป็นคนที่กำลังพยายามปฏิบัติเพื่อจะไปถึงจุดหมายหนึ่ง เช่น พระนิพพาน
สิ่งที่หมอปลากำลังทำคือกระบวนการฟอกขาวศาสนา จนกลายเป็นการผลิตมายาคติที่เวลาใครผิดก็เข้าไปบวชพระ เมื่อสึกออกมา จะรู้สึกว่าตัวเองบริสุทธิ์ หากพูดในแง่มุมของความเป็นมนุษย์มันยากมาก ถ้าคนไทยอยากให้พระบริสุทธิ์แบบนี้ ก็คงจะเหลือรูปเดียวแล้ว นั่นคือพระพุทธรูปที่ตั้งเป็นพระประธาน
มีความเห็นอย่างไรต่อท่าทีของสำนักพุทธฯ มหาเถรสมาคม และรัฐบาลในช่วงนี้บ้าง
หากคุณอยากทำนุบำรุงศาสนาต้องตั้งระบบตรวจสอบพระสงฆ์ให้ได้ก่อน ค่อยมาพูดว่าใครจิตใจไม่ปกติ ทั้งๆ ที่หมอปลาทำตามที่ประชาชนร้องทุกข์ในปัญหาที่รัฐบาลไม่แก้สักที
และผมไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนตกต่ำย่ำยีเหมือนรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายว่า ต้องลงโทษพระที่ต้องปาราชิกเสพเมถุนให้เพิ่มคดีอาญาเข้าไปด้วย ผมถามว่าคนจะรักกันมันผิดไหม?
แน่นอนมันผิดในหลักของพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎก ปาราชิก 4 แต่ถามว่าในแง่กฎหมายของรัฐเขาถือเป็นพลเมืองคนหนึ่ง สามารถที่จะรักใครก็ได้ แต่เรื่องศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล สิทธิใคร สิทธิมัน
ดังนั้น ถ้าเขาผิดในกลุ่มสงฆ์ ก็ต้องให้สังคมสงฆ์เป็นคนลงโทษให้จบที่สงฆ์ ไม่ใช่ว่าคุณจะนำเขาไปขังคุก ถ้าคณะรัฐบาลทำสิ่งที่มีประโยชน์ เรื่องเหล่านี้เขาไม่ไปฟ้องหมอปลาหรอก ถ้ารัฐบาลรับฟังเสียง รับฟังปัญหาของประชาชน เขาก็ไปแจ้งรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการของรัฐที่เขาเสียภาษีสิ เขาคิดแล้วไงว่าพึ่งไม่ได้ เลยไปหาหมอปลา ซึ่งก็อยากให้ผู้อ่านลองคิดว่าทำไม สังคมเรามันน่าอนาถถึงขั้นว่าต้องมีวีรชนอย่างหมอปลาแล้ว
ภาพ : หลวงปู่แสง ญาณวโร, พงศกร จันทร์แก้ว, สหรัฐ สุขคำล้า , หมอปลาช่วยด้วย
Tags: หลวงปู่แสง, มหาเถรสมาคม, วงการสงฆ์, หมอปลา, พศ, สำนักพุทธฯ, กาโตะ, ปาราชิก