ครั้งหนึ่งหนังสือพิมพ์ The New York Times เคยตีพิมพ์บทความถึง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นคนไม่มีศีลธรรม และเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้เวลาต่อมาลูกชายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกบทความดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ ‘น่าขยะแขยง’ แต่ในทางกลับกัน ครั้งหนึ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกผู้เสียชีวิตจากสงครามของสหรัฐฯ ว่า ‘ผู้แพ้’ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็เคยออกมาโจมตีถึงการกระทำเช่นนี้ว่าเป็นเรื่องน่าขยะแขยงเช่นกัน
น่าสนใจว่า คำว่า ‘น่าขยะแขยง’ กลายเป็นคำอธิบายกลุ่มคนที่มีแนวคิดทางการเมืองแตกต่างกัน แทนที่จะเป็นคำว่าโกรธหรือเกลียด ที่มักใช้พูดถึงคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ถูกชะตากัน
เพื่อหาคำตอบถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความน่าขยะแขยง’ และ ‘คนที่เห็นต่างทางการเมือง’ ดร.จัสติน แลนดี้ (Dr. Justin Landy) และทีมงานจากมหาวิทยาลัยโนวาตะวันออกเฉียงใต้ (Nova Southeastern University) ในฟลอริดา ได้ทำการศึกษาผ่านงานวิจัยที่มีชื่อว่า ‘Disgusting Democrats and Repulsive Republicans: Members of Political Outgroups Are Considered Physically Gross’
ในการทดลอง อาสาสมัครจำนวน 915 คน จะต้องทำการประเมินรูปภาพของผู้คนที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่าเลือกข้างทางการเมืองฝ่ายไหน ผ่านเสื้อผ้าหรือสภาพแวดล้อมภายในภาพ โดยในแบบการประเมินตัวเลือกในการบรรยายภาพนั้น มีทั้งคำว่าทั้งโกรธ เกลียด รวมไปถึงขยะแขยง
เป็นที่น่าสังเกตว่า ‘ขยะแขยง’ คือคำที่ถูกเลือกมากที่สุด ก่อนที่ในการทดลองครั้งที่ 2 จะให้ผู้ร่วมทดลองที่เลือกคำว่าน่าขยะแขยง อธิบายว่าเหตุใดจึงรู้สึกเช่นนั้น ซึ่งหลายคนได้ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า คำว่าขยะแขยงไม่ได้เพียงแค่หมายถึงความคิด ความอ่านของกลุ่มขั้วตรงข้ามที่ไม่ตรงกับตน แต่หมายถึงลักษณะทางกายที่ชวนอาเจียนด้วยเช่นกัน รวมไปถึงเวลาเห็นกิจกรรมทางการเมือง หรือการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สนับสนุนขั้วการเมืองตรงข้ามนั้น
แม้ผลวิจัยคือการหาคำตอบของความรู้สึกเชิงลบระหว่างกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม แต่ ดร.จัสติน กล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวจะถูกนำไปต่อยอด เพื่อหามุมมองด้านอื่นๆ ของกลุ่มทางการเมือง รวมไปถึงหาวิธีป้องกันการเผชิญหน้าทางการเมืองที่รุนแรงจนถึงขั้นใช้กำลัง มีผู้บาดเจ็บ หรือถูกจำคุกในภายหลัง
Tags: การเมือง, Global Affairs, Psychology