หากย้อนกลับไปตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2547 จะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ด้วยคะแนนเสียงที่ค่อนข้าง ‘ทิ้งห่าง’ ผู้ชนะลำดับที่ 2 ไปไกล

ชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เริ่มต้นอย่างไร ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ถึงสามารถเอาชนะการเลือกตั้ง กทม. ได้มาโดยตลอด วันนี้ The Momentum จะพาไปย้อนความว่าทำไมพรรคนี้ถึงได้มีผู้ว่าฯ ในกรุงเทพฯ ชนิดที่ ‘นอนมา’ ได้เสมอ

1. ผู้ว่าฯ กทม. คนแรก เป็นคนของประชาธิปัตย์

กรุงเทพมหานครเริ่มมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรก ในปี 2518 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ท่ามกลางกระแส ‘ประชาธิปไตยเบ่งบาน’ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยในเวลานั้นเป็นรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐบาล ‘เอียงซ้าย’

กระนั้นเอง ผู้ว่าฯ กทม. คนแรกที่ได้รับการเลือกตั้ง กลับเป็นคนที่มาจากพรรคอนุรักษนิยมอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซ้ำยังอยู่ในซีก ‘ขวาตกขอบ’ ของพรรคอย่าง ธรรมนูญ เทียนเงิน เลขาธิการพรรค และ ส.ส.พระนคร โดยธรรมนูญได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 9.9 หมื่นคะแนน เอาชนะคู่แข่งอย่าง ด็อกเตอร์ อาทิตย์ อุไรรัตน์ คู่แข่งจากพรรคพลังใหม่ ซึ่งได้คะแนนเสียง 9.1 หมื่นคะแนน แต่ที่น่าสังเกตคือการเลือกตั้งครั้งนั้นมีผู้ใช้สิทธิเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ธรรมนูญถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เขามีอีกตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร กลุ่มอนุรักษนิยมที่เข้ามา ‘ล้อมปราบ’ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งยังเป็นผู้นำการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า รวมถึงยังมีข่าวลือว่าธรรมนูญได้ ‘เจรจา’ กับทหารกลุ่มหนึ่งให้ทำรัฐประหาร ที่สุดท้ายกลายเป็นรัฐประหารที่ล้มเหลว โดยกลุ่มของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ชิงทำรัฐประหารก่อนกลุ่มของธรรมนูญ

หลังการรัฐประหารราว 7 เดือน ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี ปลดธรรมนูญออกจากตำแหน่ง และให้กลับไปใช้รูปแบบการ ‘แต่งตั้ง’ ผู้ว่าฯ กทม. ตามเดิม

2. ใช้เวลากว่า 29 ปี กว่า ‘ประชาธิปัตย์’ จะกลับมาได้

หลังว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน 10 ปี กทม. กลับมามีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2528 โดยมี พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคู่ใจ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจากการเลือกตั้งคนถัดมา ด้วยคะแนนเสียง 4.8 แสนคะแนน เอาชนะ ชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์

สิ่งน่าสนใจคือ หากนับปี 2518 เป็นตัวตั้งต้น ประชาธิปัตย์ต้องใช้เวลานานกว่า 29 ปี ถึงจะได้เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. อีกครั้ง ในปี 2547 โดยไม่ว่าพรรคจะส่งใครมา ก็แทบไม่ได้รับการเลือกตั้งเลย มีหมายเหตุเพียงครั้งเดียวคือ ปี 2539 ที่ ด็อกเตอร์ พิจิตต รัตตกุล ที่ลงสมัครในนามกลุ่ม ‘มดงาน’ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็หมายความว่า ด็อกเตอร์พิจิตตต้องลงในนามอิสระ เพื่อหลีกหนีการ ‘ครอบงำ’ จากพรรค

กว่าประชาธิปัตย์กลับมาเฉิดฉายได้อย่างเต็มภาคภูมิ ต้องรอถึงปี 2547 พรรคได้ตัว อภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ดึงตัวมาจากค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นอย่าง TA Orange ให้มาเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองหัวหน้าพรรคในเวลานั้นเป็นผู้ชักชวน

3. ประชาธิปัตย์ เจ้าของสนาม กทม.

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันที่ 29 สิงหาคม 2547 เกิดขึ้นท่ามกลางกระแส ‘ทักษิณฟีเวอร์’ เคล้า ‘เบื่อ’ สมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนหน้า ขณะที่คู่แข่งของอภิรักษ์อย่าง ปวีณา หงสกุล แม้จะลงในนามอิสระ แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่าปวีณาได้รับการสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยและจากทักษิณ ชินวัตร

ในเชิงการบริหารงาน ปวีณาไม่ได้โดดเด่นเท่ากับอภิรักษ์ ซ้ำในเวลาเดียวกัน ยังมี ‘คู่แข่ง’ คนสำคัญอย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตเจ้าของอาบอบนวดหลายแห่ง ลงชิงชัยด้วย ในที่สุด อภิรักษ์ ผู้มาพร้อมกับภาพนักบริหาร-นักการตลาด ที่มีนโยบายป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ป้ายจราจรอัจฉริยะ และรถเมล์บีอาร์ที ก็ได้รับชัยชนะไปด้วยคะแนนเสียงกว่า 9.1 แสนคะแนน

4. ยุทธศาสตร์ ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายครั้งที่ผ่านมา มักอยู่ในห้วงเวลาที่รัฐบาลกลางคือฝ่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นปี 2547 ที่ทักษิณเป็นนายกฯ ปี 2551 ที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ หรือปี 2556 ที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ มีเพียงปี 2552 เท่านั้น ที่ ‘หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์’ ชนะการเลือกตั้งในห้วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ

เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งหลายครั้งจึงเป็นช่วงเวลาที่คนกรุงเทพฯ เลือกที่จะอยู่ ‘ฝั่งตรงข้าม’ กับทักษิณ เพื่อไม่ให้อำนาจของทักษิณล้นเกินไปจนยึดพื้นที่เมืองหลวงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามประกาศเสมอว่า ‘ไม่เลือกเรา เขามาแน่’

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 3 มีนาคม 2556 พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำในโพลมาโดยตลอด จากปัญหาการบริหารงานของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ ทั้งในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 หรือการก่อสร้างสนามฟุตซอล ‘บางกอกอารีนา’ ซึ่งไม่สามารถเสร็จทันกำหนดการ

ในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ได้พลิกเกมเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ภายใต้ฝีมือของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคในเวลานั้น โดยมีการนำป้าย ‘รวมพลังหยุดผูกขาดประเทศไทย’ มาผูกอย่างง่ายๆ ไว้ที่ป้ายหาเสียงของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ รวมถึงโหมกระแส ‘อย่าเลือกคนเผาบ้านเผาเมือง’ มีการใช้โซเชียลมีเดียของคนในเครือข่าย ปล่อยข่าวว่า จตุพร พรหมพันธุ์ จะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. หากพลตำรวจเอกพงศพัศชนะการเลือกตั้ง

ท้ายที่สุด หม่มราชวงศ์สุขุมพันธ์ุ หรือฉายา ‘หม่อมเอ๋อ’ ก็เอาชนะพงศพัศไปได้ด้วยคะแนนเสียง 1.2 ล้านคะแนน ต่อ 1 ล้านคะแนน เป็นคะแนนเสียงเลือกตั้งที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

5. ‘พี่เอ้’ เดิมพันครั้งใหม่ของประชาธิปัตย์

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกลุ่ม กปปส. การชุมนุมซึ่งมีส่วนสำคัญนำไปสู่การรัฐประหาร ก็ทำให้พรรคมีคะแนนตกต่ำลงไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ไม่เพียงแต่หม่อมเอ๋อที่ถูกพิษของมาตรา 44 ปลดกลางอากาศในวันที่ 18 ตุลาคม 2559 เท่านั้น การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส. เพียงแค่ 53 คน ลดลงมากกว่าสองเท่าจากการเลือกตั้งปี 2554 ที่ประชาธิปัตย์เคยได้ ส.ส. 179 คน

พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็น ‘สีฟ้า’ ในปี 2554 มี ส.ส. กว่า 29 คนนั้น ประชาธิปัตย์ไม่ได้ ส.ส. เลยแม้แต่คนเดียวในการเลือกตั้งปี 2562 กลายเป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้คนเก่าแก่หลายคนของพรรค ย้ายพรรคไปสร้างดาวดวงใหม่ของตัวเอง ทั้ง กรณ์ จาติกวณิช หรือ นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ก็เลือกยุติบทบาทตัวเอง

แต่กรุงเทพฯ ยังคงเป็นพี้นที่ที่พรรคไม่สามารถทิ้งได้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2565 ที่จะเกิดขึ้นคือความพยายามครั้งใหม่ในการกลับมา ‘เกิดใหม่’ อีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคสามารถดึง ‘เบอร์ใหญ่’ อย่าง ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘พี่เอ้’ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้ามาเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ด้วยภาพของการเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ และภาพของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ตามสโลแกนของสุชัชวีร์

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ภูมิใจที่ได้ต้อนรับเลือดใหม่ที่มีคุณภาพอย่างสุชัชวีร์มาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้ชาว กทม. และหวังว่าจะนำชัยชนะมาสู่พรรคและ กทม.

ในงานเปิดตัวสุชัชวีร์ มีผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคจำนวนมากเข้ามาร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร บัญญัติ บรรทัดฐาน หรือแม้แต่อภิรักษ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าฯ กทม.สองสมัย

การเดิมพันด้วย ‘สุชัชวีร์’ จึงเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ว่าประชาธิปัตย์จะพลิกฟื้นความเป็นพื้นที่สีฟ้าของกรุงเทพฯ กลับมาได้หรือไม่ เพราะการยึดครองพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ไม่ได้หมายความถึงเก้าอี้ผู้ว่าฯ อย่างเดียว หากแต่หมายรวมถึงเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพฯ และหมายรวมถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้าไม่นานนี้ด้วย

ในปี 2545 ช่วงเวลาที่พรรคเพิ่งแพ้การเลือกตั้งจากพรรคไทยรักไทยไม่นาน ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ กนก วงษ์ตระหง่าน สมาชิกพรรค แนะนำพรรคประชาธิปัตย์ให้ปรับตัวแบบ ‘แมลงสาบ’ ไม่ตายง่ายๆ และไม่สูญพันธุ์ง่ายๆ และคำแนะนำในครั้งนั้นได้กลายเป็นชื่อเล่นติดตัวกับพรรคตลอดมา

“การปฏิรูปการเมืองควรใช้ทฤษฎีแมลงสาบ ที่วิเคราะห์มาจากพฤติกรรมของแมลงสาบ ปรับตัวเองได้ดี มีเรดาห์คือหนวดในการตรวจสอบสิ่งต่างๆ มีสมองและประสาท ไว้คอยประสานงานกับส่วนต่างๆ มีขา 6 ขาไว้เดิน มีปีก 2 คู่เอาไว้บินเวลาคับขัน เวลาวิ่งจะวิ่งเร็วแต่วิ่งระยะสั้นๆ วิ่งไปแล้วหยุดแล้ววิ่งต่อ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นคือการแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จึงทำให้แมลงสาบอยู่มาได้เป็นพันล้านปี”

ขึ้นชื่อว่า ‘แมลงสาบ’ ย่อมแปลว่าพรรคนี้ ‘ตายยาก’ และฆ่าอย่างไรก็ไม่ตายง่ายๆ แน่ๆ

Tags: , ,