วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2565) ที่รัฐสภา ในวาระอภิปรายทั่วไป อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายตอนหนึ่งถึงเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษา โดยระบุว่า คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าการทำงานของผู้พิพากษาถูกแทรกแซงในคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมกับระบุว่า ในช่วง 2 ปีมานี้มีการใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง โดยคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนนั้น ในครั้งแรกมีการดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ยุยง ปลุกปั่น แต่หลังจากนั้นกลับมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้ใหม่ แม้ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเคยระบุว่า รัชกาลที่ 10 มีพระราชประสงค์ไม่ให้ใช้มาตรา 112 อีกแล้ว

อมรัตน์ยังอภิปรายต่อด้วยว่า คดีของอานนท์และคดีความในมาตรา 112 ที่มีอยู่มากมายนั้น ขณะนี้อยู่ในชั้นสืบพยานจำนวนมาก โดยเมื่อจำเลยขอให้ผู้พิพากษาออกหมายเรียกพยานหลักฐานเพื่อนำมาต่อสู้คดี ผู้พิพากษากลับไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีให้กับจำเลย ทั้งที่เป็นอำนาจหน้าที่ผู้พิพากษา โดยผู้พิพากษาระบุว่าถูกสั่งห้ามจากผู้บริหารศาลอาญา ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าข้ออ้างนี้หมายถึงอะไร ทั้งนี้ หลักฐานที่จำเลยจำเป็นต้องใช้ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการเดินทางเข้าออกประเทศของพระมหากษัตริย์ หมายเรียกคำพิพากษาศาลแพ่งที่เคยพิพากษายึดทรัพย์รัชกาลที่ 7 หรือเอกสารการใช้เงินของสถาบันพระมหากษัตริย์ และการโอนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ ล้วนไม่ได้รับการตอบสนอง

ทั้งนี้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ปิดไมโครโฟนของอมรัตน์ พร้อมกับบอกว่า “ขอเตือนด้วยความหวังดี อย่าไปไกล เราปรึกษาหารือเรื่องเป็นประโยชน์ประชาชน อย่าไปไกลถึงเรื่องสถาบันฯ”

ด้านอมรัตน์ระบุว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนแน่นอน และแม้แต่เรื่องนี้ประธานสภาฯ ก็ไม่กล้าพูด ชวนจึงได้ปิดไมโครโฟนของอมรัตน์อีกรอบ พร้อมกับแจ้งเปลี่ยนผู้อภิปราย

“ผมขอเตือนด้วยความปรารถนาดี ไม่ได้ชื่นชมที่กล้าพูด แต่เตือนด้วยความหวังดี เราอยู่ในข้อบังคับกฎหมาย พยายามหลีกเลี่ยงพาดพิงถึงสถาบันฯ แม้กระทั่งสถาบันศาล ข้อเท็จจริงเป็นอีกเรื่องก็ว่าไป ถ้ามีข้อเท็จจริงอย่างไรก็ดำเนินการได้ แต่ขอร้องไม่ให้พูดถึงสถาบันฯ” ประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุ

Tags: , ,