นายพล เว่ย เฟิ่งเหอ (Wei Fenghe) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ได้ให้สุนทรพจน์เรื่อง ‘วิสัยทัศน์ของจีนเรื่องความมั่นคงระดับภูมิภาค’ (China’s Vision for Regional Order) ในงานประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศ IISS Asia Security Summit ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา
ในสุนทรพจน์ เว่ยกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับสันติภาพ สนับสนุนแนวคิดพหุภาคีนิยม (Multilateralism) หรือนโยบายการทูตที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการเมืองโลก และต้องการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเคารพ ความเป็นธรรม และความยุติธรรม
ส่วนประเด็น ‘ไต้หวัน’ นั้น เว่ยยืนยันว่า จีนจะยับยั้งการเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างสุดความสามารถ เพราะปัญหาเรื่องไต้หวันคือกิจการภายในของจีน และการรวมชาติคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งเตือนว่าความพยายามในการประกาศอิสรภาพของไต้หวัน และการแทรกแซงจากภายนอก จะจบลงด้วยความล้มเหลว นอกจากนี้ เขายังกล่าวหาว่า ‘ประเทศบางประเทศ’ (ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกา) กำลังทำตัวเป็นอันธพาล ที่คอยปลุกปั่นให้ประเทศในภูมิภาคเป็นปฏิปักษ์ต่อจีน
“ผมขอกล่าวให้ทราบกันตรงนี้ เราไม่กลัวที่จะสู้กับผู้ที่พยายามแยกไต้หวันออกจากจีน เราจะสู้ด้วยทุกอย่างที่มี เราจะสู้จนถึงที่สุด นี่คือทางเลือกเดียวที่จีนมี อิสรภาพของไต้หวันมีแต่จะนำไปสู่ทางตัน หยุดฝันกลางวันได้แล้ว!” เว่ยกล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวลานี้กำลังอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ เนื่องจากทั้งสองประเทศกำลังแข่งขันกันขยายอิทธิพลในย่านเอเชียและทั่วโลกอย่างดุเดือด สำหรับกรณีไต้หวัน ในขณะที่จีนส่งสัญญาณว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน สหรัฐฯ ได้ส่งยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไต้หวันอย่างต่อเนื่อง และเคลื่อนกองกำลังผ่านช่องแคบไต้หวัน (Taiwan Strait) ที่แบ่งเกาะไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ สุนทรพจน์ของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ก็ระบุว่า สหรัฐฯ มีความประสงค์ที่จะเข้าแทรกแซงและปกป้องเอกราชของไต้หวัน หากไต้หวันถูกจีนรุกราน ยิ่งกระตุ้นให้ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
“ใช่” คำตอบของประธานาธิบดี โจ ไบเดน หลังถูกนักข่าวถามว่าเขาพร้อมใช้กำลังทหารเพื่อปกป้องไต้หวันจากการรุกรานใช่หรือไม่ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2022
ในการสนทนาแบบไม่เป็นทางการในงานประชุม IISS Asia Security Summit พันเอก จ้าว เซียวโจว (Zhao Xiaozhuo) หนึ่งในสมาชิกระดับอาวุโสของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทหารของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (Academy of Military Science of the Chinese People’s Liberation Army) มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยชี้ว่าอุปสรรคสำคัญที่คอยขัดขวางไม่ให้สองมหาอำนาจร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือความคิดเห็นของประชาชนจีน
“ความเชื่อของประชาชนจีนมีอิทธิพลต่อการออกนโยบายของรัฐบาล และตอนนี้ สังคมจีนกำลังเต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อสหรัฐฯ” จ้าวกล่าว
อนึ่ง IISS Asia Security Summit หรือ Shangri-La Dialogue (SLD) คือการประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่ถูกจัดขึ้นทุกปีที่ประเทศสิงคโปร์นับตั้งแต่ปี 2002 โดยสถาบัน International Institute for Strategic Studies (IISS) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศอังกฤษ โดยการประชุมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้มีความเกี่ยวข้องเรื่องการออกนโยบายด้านความมั่นคง ของประเทศมหาอำนาจและประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้มาพบปะเจรจากันเรื่องปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นทางการ โดยในปัจจุบัน ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาสำคัญของการประชุมประจำปี 2022 เพราะความขัดแย้งดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับทวีปเอเชีย และสังคมโลก เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ปัญหาระหว่างจีนกับไต้หวันเกิดจากวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกันของ 2 รัฐบาล โดยในด้านหนึ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) หรือจีนแผ่นดินใหญ่ ประสงค์ที่จะรวมชาติกับสาธารณรัฐจีน (Republic of China) หรือจีนไต้หวัน ตามแนวคิด ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ (One Country, Two System) ที่ระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวันต้องถูกปกครองภายใต้รัฐบาลเดียวกัน ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party) แต่ในขณะเดียวกัน นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลของไต้หวันเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดที่จะประกาศตนเป็นประเทศเอกราช ที่เป็นอิสระจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นอิสระจากแนวคิดหนึ่งประเทศ สองระบบอย่างสมบูรณ์
“ปัญหาเรื่องไต้หวันคือกิจการภายในของจีน ที่คนภายนอกไม่มีสิทธิ์แทรกแซง ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และความสามารถของคนจีนในการปกป้องเอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดน (Territorial Integrity) ของชาติ ต้องไม่ถูกดูแคลนโดยใครหน้าไหน การรวมชาติจีนเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และจะเกิดขึ้นจริง” สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน กล่าวในงานวันครบรอบ 110 ปี การปฏิวัติซินไฮ่ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2021
ขณะที่ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวันนั้นปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวโดยสมบูรณ์ เธอเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหวังจากคนไต้หวัน ในการเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่
“ฉันไม่เข้าใจว่าสหรัฐฯ จะเรียกไต้หวันว่า ‘กลุ่มการเมือง’ (Entity) ทำไม เพราะสำหรับคนไต้หวันแล้ว เรามองว่าไต้หวันคือประเทศ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย” ไช่ อิงเหวินให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Washington Post เมื่อปี 2016
ที่มา
https://www.scmp.com/…/chinas-defence-chief-accuses-us…
https://www.bloomberg.com/…/china-alarms-us-with-new…
https://edition.cnn.com/…/us-china-defense…/index.html
https://www.81.cn/jwywpd/2022-06/12/content_10162499.htm
https://www.nytimes.com/…/asia/biden-taiwan-china.html
https://www.cfr.org/…/china-taiwan-relations-tension-us…
https://www.bbc.com/news/world-asia-34729538
https://www.mfa.gov.cn/ce/ceee/eng/zggk/xzgwjjs/t110298.htm
https://www.mfa.gov.cn/ce/cebb/eng/sgxw/t1913995.htm
https://www.washingtonpost.com/…/44b0a1a4-4e25-11e6…
Tags: Report, สหรัฐอเมริกา, ไต้หวัน, จีน