วันนี้ (25 มีนาคม 2568) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 โดย ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็น ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ ของกองทัพที่นายกฯ ปล่อยให้เกิดกระบวนการดังกล่าว เพื่อก่อให้เกิดการแทรกแซงทางการเมือง ปลุกปั่นประชาชน ตลอดจนเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย
ชยพลอภิปรายว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ ‘ไอโอ’ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่ง ณ ปัจจุบันที่ผ่านพ้นยุคของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ด้วย ‘ดีลแลกประเทศ’ ของรัฐบาลแพทองธาร กลับทำให้ปฏิบัติการไอโอยังคงดำรงอยู่มาได้
โดย สส.พรรคประชาชนฉายภาพให้เห็นถึงปฏิบัติการไอโอที่มีศูนย์ปฏิบัติการร่วม (ศปก. ร่วม) ของกองทัพเป็นผู้บัญชาการ ซึ่งต่อมามีการตั้ง Cyber Team ที่มีหน่วยงานความมั่นคงของรัฐต่างๆ เช่น หน่วยกองบัญชาการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในโครงสร้าง
ชยพลกล่าวว่า จากการตั้งศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้อำนาจของกองทัพอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน อีกทั้งยังทำให้อำนาจของกองทัพอยู่เหนือผู้บัญชาการกองทัพในระบบราชการปกติ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเสียเองที่อนุญาตให้เรื่องอันตรายเช่นนี้เติบโต จนกลายเป็นมะเร็งร้าย เพียงแค่แลกกับการเข้าสู่อำนาจบริหารของตระกูลชินวัตร
ชยพลเพิ่มเติมหน้าที่ของ Cyber Team ว่า มีหน้าที่วางแผนร่วมกันของแต่ละกองทัพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์จากการสื่อสารเป็นไปตามเจตนารมย์ของผู้บังคับบัญชา โดยจะเพ่งเล็งในกลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง (High Value Target: HVT) เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชน, สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT), ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สมบัติ บุญงามอนงค์ ตลอดจนนักวิชาการและกลุ่ม NGOs รวมทั้ง สส.พรรคประชาชน
ชยพลอธิบายต่อว่า ปฏิบัติการไอโอพุ่งเป้าการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้ข้อมูล ‘Dark side’ ที่ได้มาจากการขุดคุ้ย สอดแนม ตลอดจนสะกดรอยตาม เพื่อนำมาโจมตีด้อยค่ากลุ่มเป้าหมาย โดยยกข้อมูลจากเอกสารของ Cyber Team ที่ใช้ชื่อว่า ‘ยุทธศาสตร์ฝ่ายเรา ประจำวันที่ 19-25 ตุลาคม 2567’ ที่มีข้อเสนอให้ปฏิบัติการไอโอเปิดโปงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของแกนนำที่มีการพูดถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน
“การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชนทำได้ ไม่มีปัญหา ประชาชนแต่ละกลุ่มคิดเห็นต่างกัน โต้เถียงกันเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่กิจของกองทัพที่จะเอาเวลาราชการ เอาทรัพยากร เอากำลังพลไปโจมตีใครต่อใคร เพื่อโน้มน้าวความคิดเห็นทางการเมือง
“สิ่งนี้มันคือการแทรกแซงทางการเมือง แทรกแซงสังคมอย่างชัดเจน เจตนายุยงปลุกปั่นให้เกลียดชังคนที่ตรวสอบกองทัพ คนที่อยากเห็นการปฏิรูปกองทัพ คนที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือคนที่ไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร
“สิ่งนี้คือผลลัพธ์ที่นายกฯ แพทองธารทำดีลกับปีศาจให้ตัวเองได้มีอำนาจ แลกกับการไม่แตะต้องกองทัพ ทำให้ไม่มีใครสามารถหยุดขบวนการยุยงปลุกปั่น สร้างความขัดแย้งเกลียดชัง โดยภาษีประชาชนได้” ชยพลกล่าว
ชยพลยังอภิปรายต่อไปว่า ปฏิบัติการไอโอโดยกองทัพยังมีการใช้งาน Social Bot จำนวน 236 ตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลบัญชีโซเชียลมีเดียของกลุ่มเป้าหมายทางการเมือง
“ผมยืนยันว่า ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพเหล่านี้ โดยเฉพาะการใช้ Social Bot เพื่อโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน ไม่ใช่ปฏิบัติการทางไซเบอร์ แต่เป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรที่ดำเนินการโดยภาษีของประชาชน ใช้ทรัพยากรและบุคลากรของรัฐ อาชญากรรมโดยรัฐต่อประชาชนแบบนี้เกิดขึ้นในยุคที่เรามีนายกฯ ที่มาจากพลเรือนที่ชื่อ แพทองธาร ชินวัตร” สส.พรรคประชาชนระบุ
นอกจากนี้ในช่วงท้าย ชยพลยังระบุด้วยว่า นอกจากโจมตีฝ่ายค้านแล้ว ชยพลยังเปิดหลักฐานพบว่าขบวนการไอโอได้โจมตีนายกฯ และบิดาอีกด้วย เช่นประเด็นโจมตีว่า นายกฯ จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนให้กับประเทศกัมพูชา โจมตีรัฐบาลเรื่องให้สัญชาติกับคนต่างด้าว บอกว่าเป็นการกระทำที่อกตัญญูต่อบรรพชนชาวไทย โจมตีเรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกฯ และแม้แต่แฟชั่นของนายกฯ เองก็ไม่ปลอดภัย โดนโจมตีเรื่องการแต่งตัวไม่เหมาะสมในขณะที่เดินทางไปพบผู้นำต่างประเทศ
ด้วยเหตุนี้ชยพลจึงไม่แน่ใจว่านายกฯ เริ่มสัมผัสได้หรือไม่ว่า ทุกคนในประเทศอาจถูกโจมตีด้วยไอโอได้ และชยพลเปิดเอกสาร กอ.รมน.ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ขณะที่มีนายกฯ แพทองธารนั่งเป็นผู้อำนวยการอยู่โดยตำแหน่ง เอกสาร ‘ประมาณการภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รอบ 1 ปี ห้วง 1 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568’ ในประเด็นการประมาณการภัยคุกคามต่อสถาบันฯ หัวข้อ 4.1.2.1 มีการระบุถึง ‘กลุ่มบุคคลที่แสวงหาผลประโยชน์โดยแอบอ้างสถาบันฯ’ อยู่ด้วย โดยในหัวข้อนี้ได้กล่าวถึงบุคคล 3 คน ได้แก่ ทักษิณ ชินวัตร, ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และอนุทิน ชาญวีรกูล
“นี่คือตัวอย่างของความเลวร้ายจากการที่ท่านนายกฯ แพทองธารยอมปล่อยให้กลไกของกองทัพไม่ถูกกำกับควบคุมโดยรัฐบาลพลเรือน ปล่อยให้มีมือมืดใช้ทรัพยากรของกองทัพเข้าแทรกแซงการเมือง”
ระหว่างการอภิปราย ชยพลถูกประท้วงเป็นระยะจาก สส.ฟากรัฐบาล โดย วิทยา แก้วภราดัย สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า การอภิปรายของชยพลมีการเอ่ยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยชยพลพูดในทำนองว่า กองทัพใช้สถาบันฯ เป็นเกราะในการปกป้องตัวเอง ซึ่งผิดข้อบังคับในการประชุมที่ห้ามเอ่ยถึงสถาบันฯ ขณะที่ ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า การอภิปรายของชยพลมีการพูดถึงผู้อื่นเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายของการอภิปราย วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงประธานสภาฯ ว่า ประธานสภาฯ ต้องควบคุมไม่ให้การอภิปรายที่เลยเถิด เพราะตนเชื่อมั่นว่า นายกฯ ไม่ทราบเรื่องปฏิบัติการของกองทัพแต่อย่างใด อีกทั้งเรื่องดังกล่าวที่ชยพลอภิปรายนั้นเป็นเรื่องความมั่นคงภายใน ทำให้ต่อมา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ประธานสภาฯ ณ ขณะนั้น วินิจฉัยสั่งหยุดการอภิปรายของชยพล จนมีการประท้วงของ สส.พรรคประชาชนจำนวนมาก ในเวลาต่อมาพิเชษฐ์จึงอนุญาตให้อภิปรายต่อราว 10 นาที และไม่อนุญาตให้เปิดสไลด์ จนทำให้ชยพลไม่สามารถอภิปรายเนื้อหาได้ครบถ้วน ตามที่เตรียมไว้
Tags: อภิปรายไม่ไว้วางใจ, ประชุมสภา, IO, ไอโอ, แพทองธาร, แพทองธาร ชินวัตร, ปฏิบัติการไอโอ, พรรคประชาชน, ดีลแลกประเทศ, กองทัพ, ชยพล, นายกรัฐมนตรี