วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2566) มีรายงานการเสียชีวิตของ ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่าภรรยาและลูกชายของ สันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรซึ่งเกี่ยวโยงกับคดีเพชรซาอุฯ โดยเฟซบุ๊ก ‘คุ้มพระลอเรซซิงทีม T96’ รายงานเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า “ขอให้ ‘ป๋าลอ’ ขอให้เดินทางสู่สุคติ หลับพักผ่อนให้สบาย” พร้อมกับลงรูปภาพของชลอ
อย่างไรก็ตาม ลูกสาวของชลอประกาศในภายหลังว่าชลอยังคงมีลมหายใจ และอยู่ระหว่างพักฟื้นที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ภายหลังรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือดมานานกว่า 2 เดือน โดยขณะนี้ยังพักรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู
สำหรับชลอหรืออดีตเป็นนายตำรวจยศ ‘พลตำรวจโท’ ชาวพระนคร เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการกองปราบ เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ได้รับฉายาว่าเป็น ‘สิงห์เหนือ’ ในฐานะ ‘มือปราบ’ คดีสำคัญต่างๆ โดยตำแหน่งสุดท้ายในกรมตำรวจคือผู้บัญชาการกรมตำรวจ ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ให้เป็น ‘มือปราบ’ ในคดีเพชรซาอุฯ และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตของชลอถูกถอดยศพลตำรวจโท และลงท้ายด้วยการเป็นนักโทษในเรือนจำ
เรื่องมีอยู่ว่า เช้ามืดวันที่ 1 สิงหาคม 2537 มีผู้พบศพสุภาพสตรีและเด็กชายคนหนึ่ง ภายในรถเบนซ์สีขาว บริเวณถนนมิตรภาพ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ทราบภายหลังว่าคือ ดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์ และเสรี ศรีธนะขัณฑ์ วัย 14 ปี ภรรยาและบุตรชายของ สันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรย่านบ้านหม้อ ซึ่งถูกกลุ่มชายลึกลับจับตัวไปเรียกค่าไถ่ 1 เดือนก่อนหน้า
หลังชันสูตรศพ สถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจ ลงความเห็นว่า เป็น ‘อุบัติเหตุ’ จากรถบรรทุกชนกับรถเบนซ์คันดังกล่าว แม้ตามร่างกายของทั้ง 2 คน มีรอยฟกช้ำบริเวณศีรษะและมีร่องรอยของการขาดอากาศหายใจก็ตาม โดยผู้บังคับบัญชาของสถาบันนิติเวชวิทยาเปิดแถลงข่าวถึง 2 รอบว่า รอยดังกล่าวเกิดจากแรงเหวี่ยงขณะเกิดอุบัติเหตุ แต่ตำรวจชุดสืบสวนจากกองปราบปรามไม่เชื่อเช่นนั้น ทุกคนมองว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง
ถามว่าในเวลานั้น ‘สันติ’ คือใคร? สันติคือบุคคลที่ว่ากันว่า ‘กุมความลับ’ เรื่องการกระจาย ‘เพชรซาอุฯ’ เพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียที่ เกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทย ขโมยมาจากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อับดุล อาซิซ แห่งซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี 2532 และมีน้ำหนักรวมกว่า 91 กิโลกรัม
หลังโจรกรรมสำเร็จ มีการกระจายเพชรไปยังร้านค้าเพชรและตลาดเพชรพลอยทั่วประเทศ โดยรายงานของตำรวจพบว่า ร้านของสันติเป็นแหล่งใหญ่สุดในการรับซื้อเพชรจากเกรียงไกร และขายต่อไปยังพ่อค้ารายย่อย-กลุ่มบุคคลต่างๆ แต่ก็มีข่าวลือเช่นกันว่า มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในมือของตำรวจ
ในเวลานั้น พลตำรวจโทชลอได้รับมอบหมายให้เป็น ‘มือสืบสวน’ คดีนี้ ทางการไทยตามหาเครื่องเพชรส่งคืนซาอุฯ กลับพบว่า เพชรจำนวนมากเป็นเพชรปลอม รัฐบาลซาอุฯ ส่งนักการทูตหลายคนมาตามสืบเรื่องดังกล่าวในทางลับ ท่ามกลางข่าวลือว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในกรมตำรวจเวลานั้น ‘อมเพชร’ จริงไว้ในมือ อีกทั้งเพชร ‘บลูไดมอนด์’ เพชรสีน้ำเงินมูลค่ามหาศาล อัญมณีชิ้นสำคัญของราชวงศ์ ก็ยังคงหายสาบสูญ
แต่ทว่านักการทูตซาอุฯ กลับถูกสังหารเสียชีวิตรวม 3 คน ในกรุงเทพฯ และโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจ พระญาติของราชวงศ์ซาอุฯ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับ เรื่องดังกล่าวสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยและวงการตำรวจอย่างรุนแรง ทั้งที่ในเวลานั้น คนงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับหนึ่ง ถือเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ตัดภาพกลับมาที่ปี 2537 พลตำรวจโทชลอได้รับมอบหมายให้ตั้งทีมเฉพาะกิจ ‘กู้หน้า’ ตามหาเครื่องเพชรของจริงเพื่อส่งคืนซาอุฯ ให้ได้ กรมตำรวจจึงพุ่งเป้าไปยัง สันติ ศรีธนะขัณฑ์ และหนึ่งในความพยายามตามหาก็คือจับภรรยาและบุตรชายของสันติไป เพื่อให้สันติคลายความลับ
ทว่าสุดท้าย เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งสองกลับปรากฏเป็นศพในรถเบนซ์บนถนนมิตรภาพ ทีมสืบสวนใช้เวลาไม่นานนัก สามารถการแกะรอยจากถุงร้านค้าซึ่งใส่ผ้าอนามัยตกอยู่ในรถ พบว่ามาจากจังหวัดสระแก้ว ก่อนจะตามรอยไปถึงรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว จนรู้ที่มาว่าทั้งสองถูกจับตัวคุมขังที่ไหนตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
และรู้ด้วยว่ามี ‘ตำรวจ’ เป็นทีมจับตัวเรียกค่าไถ่ เพื่อเค้นความลับเกี่ยวกับเพชรที่เหลือจากสันติ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นตำรวจมือปราบซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ นั่นคือพันตำรวจโท พันศักดิ์ มงคลศิลป์ มือปราบชื่อดัง
เรื่องดำเนินไปว่า เมื่อสันติรู้ว่าภรรยาและบุตรชายถูกเรียกค่าไถ่ จึงติดต่อไปยังพลตำรวจโทชลอให้ช่วยตามหาคนร้าย ซึ่งพลตำรวจโทชลอยืนยันว่า คนร้ายต้องการเรียกค่าไถ่และต้องการเงินหลายล้านบาท ทว่าสันติรู้ดีว่าพลตำรวจโทชลออาจมีเอี่ยวกับคดีดังกล่าว ด้วยประสบการณ์ซึ่งเคยเกือบโดนมาก่อน และเคยถูกรีดข้อมูลในลักษณะคล้ายกัน จึงได้แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของพลตำรวจโทชลอให้ปล่อยตัวทั้ง 2 คนทันที
เมื่อ ‘ผู้ใหญ่’ รู้เรื่อง และสั่งให้ปล่อยตัว พลตำรวจโทชลอจึงโกรธจัด ไฟเขียวให้พันตำรวจโทพันศักดิ์สังหารสองแม่ลูกทันที ทีมสังหารซึ่งเป็นตำรวจได้ใช้ท่อนเหล็กฟาดทั้งสองคนจนเสียชีวิตใกล้กับที่เกิดเหตุ แล้วปล่อยรถไหลลงเนินให้รถบรรทุกชน เพื่ออำพรางคดีว่าทั้งสองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน ทว่าร่องรอยจากอุบัติเหตุกลับไม่สัมพันธ์กับสภาพศพของทั้งสองโดยสิ้นเชิง โดยสภาพรถเบนซ์มีร่องรอยแค่เพียงด้านหน้า-ด้านข้าง ส่วนด้านในห้องโดยสารยังคงสภาพดี
จากนั้น จึงมีการออกหมายจับพลตำรวจโทชลอ ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวพันกับการอุ้มฆ่าดังกล่าวชัดเจน ในฐานะเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกับทีมฆ่าในวันลักพาตัวและวันสังหาร
ชลออยู่ในเรือนจำเรื่อยมานับจากปลายปี 2537 ตั้งแต่วันที่อัยการสั่งฟ้องพร้อมกับพวกรวม 9 คน กระทั่งศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิตชลอ ทำให้ถูกถอดยศและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด ท่ามกลางข่าวลือว่า ชลออยู่ในเรือนจำด้วยสถานะ ‘วีไอพี’
ทว่าสถานะนักโทษประหารของชะลอก็ไม่เคยไปถึงแดนประหารจริงๆ ในปี 2556 ชลอได้รับการปล่อยตัว หลังจากติดคุกนาน 19 ปี เนื่องจากเข้าคุณสมบัติ ‘พักการลงโทษ’ และยังเป็นผู้ต้องขังในกลุ่มนักโทษชรา มีอาการป่วยเรื้อรัง รวมถึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 ครั้ง จากนั้น ชลอยังมีโอกาสพบกับ เกรียงไกร เตชะโม่ง มือขโมยเพชรซาอุฯ พร้อมกับบอกว่า ‘อโหสิกรรม’
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ชลอไม่เคยพูดเรื่องคดีเพชรซาอุฯ หรือคดีสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์อีกเลย ทั้งยังไม่เคยพาดพิงบุคคลอื่นๆ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่
“คนตามท้องถนนทั่วไปก็รู้ว่าใครเอาเพชรเม็ดนี้ไป แม้แต่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทุกคนรู้หมดว่าใครเอาเพชรเม็ดนี้ (บลูไดมอนด์) ไป” มูฮัมหมัด ซาอิค โคจา อดีตอุปทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ สุทธิชัย หยุ่น ในรายการเนชั่นนิวส์ทอล์ค เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 หลังคดีศรีธนะขัณฑ์ไม่นาน
คดีเพชรซาอุฯ ยังเป็นคดีอันดำมืด ทำให้ซาอุดีอาระเบียตัดสัมพันธ์กับทางการไทยเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี กระทั่งเพิ่งเปิดสัมพันธ์กับประเทศไทยอีกครั้งเมื่อปี 2565 มีการเดินทางเยือนซาอุฯ ทั้งโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเศรษฐา ทวีสิน และทิ้งความขัดแย้งดังกล่าวไว้เบื้องหลัง
กระนั้นเอง สิ่งที่ยังดำมืดจนถึงวันนี้ก็คือ สุดท้ายแล้ว ‘บลูไดมอนด์’ ยังเป็นเพชรล้ำค่าที่สูญหายอยู่หรือไม่ แล้วคดีสังหารนักการทูต 3 คน ของซาอุดีอาระเบีย ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง
ย้อนอ่านบทความ อุ้มฆ่าแม่-ลูก ‘ศรีธนะขัณฑ์’ เสี้ยวหนึ่งจากคดี ‘เพชรซาอุฯ’ ประวัติศาสตร์อัปยศของตำรวจไทย ได้ทาง https://themomentum.co/report-saudi-diamond-scandal/
Tags: เพชรซาอุฯ, เพชรซาอุ, ชลอ เกิดเทศ