วันนี้ (4 กรกฏาคม 2565) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมผู้บริหาร ชั้น 30 อาคาร NT Tower เขตบางรัก ได้มีการจัดการประชุมร่วมหารือเรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอีเอส) หารือร่วมกัน

ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายจับตามอง คือการจัดระเบียบสายสื่อสาร ควบคู่ไปการกับนำสายไฟฟ้าลงดินภายใน กทม. ที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก หลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ถึงสองครั้งที่ชุมชนบ่อนไก่และอาคารพาณิชย์ย่านสำเพ็ง ชัยวุฒิระบุว่าได้แบ่งการจัดการออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. การจัดระเบียบร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) – โดยจะมีการกำจัดสายไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานแล้วออก และจัดระเบียบสายไฟฟ้าใหม่ รวมถึงสายสื่อสารของค่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และสร้างความสวยงามให้แก่เมือง ซึ่งกระทรวงดีอีเอสอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ

2. ประสานงานกับกทม. – เป็นการทำงานหารือควบคู่กับผู้ว่าฯ กทม. เพราะจำเป็นต้องขออนุญาตใช้ฟุตบาทหรือไหล่ทาง เพื่อนำสายไฟฟ้าบางส่วนลงดิน และจำเป็นต้องวางแผนแนวทางการสร้างท่อใต้ดินไปพร้อมกัน ส่วนองค์กรสื่อสารใดที่ต้องการขอนำสายสื่อสารลงท่อ ทาง กทม. จะต้องตกลงเรื่องค่าเช่าบริการท่อให้เรียบร้อย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเจ้าภาพดูแลตามคำสั่งของรัฐบาล

“เรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ ทำงานร่วมกับ กสทช. ว่าจะต้องทำให้เสร็จภายในปีนี้ (2565) ด้วยงบประมาณที่ตั้งไว้แล้วราว 700 ล้านบาท ในการจัดระเบียบสายเก่าและเดินสายใหม่ ซึ่งสายใหม่จะเรียบร้อยขึ้น ดังนั้นจำนวนสายที่มีอยู่ก็จะลดน้อยลง ทั้งนี้ ความยาวสายทั้งหมดใน กทม. รวมแล้วอยู่ที่ 800 กิโลเมตร

“ที่สำคัญอีกเรื่องที่วันนี้ได้พูดคุยกับท่านผู้ว่าฯ กทม. คือการนำสายลงใต้ดิน เนื่องจากปัจจุบันท่อที่มีอยู่บางส่วนเป็นของ กทม. และบางส่วนเป็นของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom Public Company Limited: NT) ซึ่งมีบางส่วนที่ต้องทำใหม่ แต่ด้วยพื้นที่ฟุตบาธเป็นของ กทม. ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งคณะทำงานเพื่อให้ทาง กทม. โอเปอเรเตอร์ และ กสทช. ได้วางแผนในการนำสายลงใต้ดิน รวมถึงค่าลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยที่แยกเป็น 2 ส่วน เพราะหลายฝ่ายยังเข้าใจผิด การจัดระเบียบสายจะยังเป็นการติดตั้งแบบลอยฟ้าเหมือนเดิม แต่การนำลงใต้ดินจะดูความจำเป็นว่า บริเวณนั้นมีสายแน่นหนามากขนาดไหน หรือพื้นที่บริเวณนั้นต้องการความสวยงาม เราขอดูเป็นช่วงๆ ไป โดยการนำสายลงใต้ดินมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการพาดสายกับเสาไฟฟ้า 3 ถึง 4 เท่า”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุเพิ่มเติมถึงถึงประเด็นที่ว่ จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถเร่งนำสายสื่อสารที่ไม่ใช้งานแล้วออกไป โดยคำตอบคือ จำเป็นต้องใช้กฏหมายพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 มาตรา 39 เพราะตามความจริงแล้ว กทม. อนุญาตให้มีการพาดสายเฉพาะกรณีที่ทาง กสทช. อนุญาตเท่านั้น ส่วนอำนาจกวดขันนั้นเป็นของทาง กทม. ดังนั้นสายสื่อสารไหนที่ไม่มีสัญญาณแล้วก็จำเป็นต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้ดำเนินการนำออกทันที ทั้งนี้ หากในอนาคตผู้ประกอบการรายใดที่มาพาดสายโดยไม่มีใบอนุญาตจาก กสทช. จะต้องถูกดำเนินคดี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการลักลอบติดตั้งสายบนเสาอีก

“ผมยืนยันว่าตอนนี้เป็นจังหวะเหมาะที่สุด ไม่มีเวลาไหนที่ดีไปกว่านี้แล้วที่จะสะสาง เราต้องร่วมมือลุยเต็มที่ให้สามารถจัดระเบียบสายระยะ 800 กิโลเมตร ภายใน 1 ปี โดยตอนนี้ทำไปได้ราว 20 กิโลเมตร ด้านการไฟฟ้าฯ ก็มีแรงจูงใจที่จะช่วยแก้ปัญหา เพราะเหตุไฟไหม้ที่ผ่านมา ก็เกิดจากหม้อแปลงและสายฉนวนสื่อสารไหม้”

ทั้งนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลฯ จะนัดหารือกับทาง กทม. ใหม่อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นการนำสายลงดิน ว่ามีท่อของทางบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่ยังสามารถใช้ได้จำนวนระยะทางเท่าไร รวมถึงการตัดสินใจว่าจะใช้ท่อของทาง กทม. หรือของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

Tags: , , , , ,