วันนี้ (29 มิถุนายน) เวลา 10.00 น. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ร่วมประชุมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้น เขตหลักสี่ เพื่อรับฟังข้อเสนอเรื่องราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ต้องกำหนดราคาสูงสุดไม่เกิน 44 บาท และต้องเอาตั๋วรายเดือนกลับคืนมา
เวลา 11.00 น. มีการจัดแถลงถึงผลการประชุม โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้แจงถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีทั้งหมด 6 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. ยกเลิกเพดานราคาค่าโดยสารตลอดสายหรือ Hot Fix ราคา 59 บาททันที
2. ใช้ราคาสูงสุดใกล้เคียงกับสายอื่นๆ ที่ 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของ BTSC
3. ดำเนินการเอาตั๋วเดือนกลับคืนมา
4. เปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถที่เกินเลยสัญญาสัมปทานถึงปี 2585
5. แก้ไขสัญญาจ้างเดินรถสิ้นสุดพร้อมกันปี 2572
6. เปิดเผยร่างสัญญาสัมปทานของกรุงเทพฯ ที่กำหนดราคา 65 บาท
ด้านชัชชาติเผยว่า การปรับเปลี่ยนราคา 44 บาทนั้น ต้องหารือกันอีกที เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการจัดแจงงบประมาณช่วยเหลือส่วนนี้ไม่ให้กระทบกับคนที่ไม่ได้ใช้งานรถไฟฟ้า โดยระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้คือสัญญาจ้างเดินรถช่วงปี 2572-2585 ซึ่งเซ็นสัญญาล่วงหน้าไปนานแล้ว และมีค่าใช้จ่ายในหลักหมื่นล้านบาทต่อปี ก็เป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป
สำหรับราคาจ้างเดินรถตลอดสายที่ชัชชาติเสนอ เป็นไปตามรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่กำหนดเพดานไว้ โดยทั้งหมดเป็นความซับซ้อนของสัญญาเดินรถทั้งหมด ซึ่งสายสีเขียวดั้งเดิม หมอชิต-อ่อนนุช, หมอชิต-สะพานตากสิน และหมอชิต-สนามกีฬาแห่งชาติ บริษัท BTSC เป็นผู้ดูแลทั้งหมด, ส่วนต่อขยายที่ 1 คือ อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ กทม. จะเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้รถไฟฟ้าเอง ไม่เกี่ยวกับบีทีเอส ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 คือ หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ เป็นเฟส 3 เรื่องกลับซับซ้อนกว่าเดิม รอบนี้เป็นการก่อสร้างโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีให้ ‘จำหน่าย’ ส่วนต่อขยายนี้จาก รฟม. ไปยัง กทม. พร้อมกับให้ กทม. รับหนี้ไปด้วยอีก 6 หมื่นล้านบาท แม้ส่วนต่อขยายนี้จะมีพื้นที่คาบเกี่ยวอีก 2 จังหวัด คือปทุมธานีและสมุทรปราการด้วยก็ตาม
สำหรับส่วนต่อขยายนี้ยังเป็นการวิ่งฟรี ไม่เก็บค่าโดยสาร เนื่องจากยังไม่สามารถสรุปเรื่องค่าโดยสารได้ หากแต่บีทีเอสเป็นผู้จัดหาระบบ เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงไปแล้ว โดยจุดนี้คาดว่า กทม. จะเป็นหนี้บีทีเอสอีกประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท รวมแล้ว กทม. จะเป็นหนี้บีทีเอสกว่าแสนล้านบาท
กระนั้นเอง ในยุคหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. กลับมีการขยายสัญญาสัมปทาน ช่วงหมอชิต-แบริ่ง และสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า จ้างเดินรถให้กับบีทีเอสไปถึงปี 2585 ซึ่งทำให้ติดล็อก ไม่สามารถลดค่าโดยสารโดยทันทีได้
Tags: Report, ผู้ว่าฯ กทม., ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถไฟฟ้าสายสีเขียว