วันที่ 21 มิถุนายน 2567 เครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand: CFNT) เปิดตัวเครือข่าย พร้อมเสนอผลงานวิจัยชิ้นแรกคือ ชำระบัญชีฟอสซิล: การประเมินมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซในประเทศไทย

ทั้งนี้ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้อำนวยการเครือข่าย CFNT กล่าวเปิดงานและระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีเครือข่ายรับมือกับภาวะโลกรวน หลังโลกพยายามไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ขณะที่ไทยในฐานะประชาคมโลกต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘เศรษฐกิจคาร์บอน’ ภายใต้ข้อคำนึงสำคัญ คือ ความสามารถในการแข่งขัน และข้อจำกัดของประเทศ

ดังนั้น จุดประสงค์หลักของ CFNT คือการสร้างเครือข่ายจากสมาชิกทุกภาคส่วน ที่มีความสนใจเรื่องการเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยสฤณีขยายความว่า ปัจจุบันวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปไกลถึงขั้นภาวะโลกเดือด ทำให้สถาบันวิจัยมุ่งเน้นศึกษาแนวทางการเงินที่ยั่งยืน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้คำถามสำคัญคือ ไทยไปสู่สังคม Net Zero เหมือนประเทศอื่นในโลกได้อย่างไร

“ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทาย เพราะเราติด 1 ใน 10 จากประเทศทั่วโลกที่มีความเปราะบางจากภาวะโลกรวน เราจึงจำเป็นต้องคิดเรื่องผลกระทบ แต่ตอนนี้เม็ดเงินทั่วโลกไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้” 

ผู้อำนวยการเครือข่าย CFNT ระบุก่อนจะอธิบายต่อว่า การเงินที่รับมือกับภาวะโลกรวนเป็นเรื่องจำเป็น ภายใต้เป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศา ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกรวน และการปรับตัวกับภาวะโลกรวน (Adaptation) 

องค์กร Climate Policy Initiative ระบุว่า มูลค่าเงินที่โลกมีขณะนี้เพื่อใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมากใช้กับการบรรเทาผลกระทบในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ธุรกิจพลังงานและการขนส่ง ขณะที่ 5% ที่เหลือของงบประมาณใช้กับการปรับตัวกับภาวะโลกรวน

แม้จะเป็นจำนวนเงินมหาศาล แต่ผลวิจัยระบุว่า งบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการรับมือวิกฤตสภาพอากาศ และหากต้องการบรรลุเป้าหมาย โลกอาจจะต้องใช้เงินมากกว่านี้ถึง 5 เท่า คือ 8.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของนักการเงินในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สฤณียังระบุว่า การเกิดขึ้นของ CFNT ยังรองรับความท้าทายหลายอย่าง นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่าน (Transition) เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด จากวาระการประชุม COP 28 ตนเห็นว่ายังมีความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น และความสามารถในการแข่งขันของคนตัวเล็กในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความยุติธรรมทางสภาพอากาศ (Climate Justice)

ความท้าทายดังกล่าวยังรวมถึงกลไกภาคบังคับ, การกุมรัฐ (State Capture) หรืออิทธิพลของกลุ่มทุนที่ครอบงำองค์กรเล็กๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน, ความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอนเครดิต, การมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศในการเปลี่ยนแปลง รวมถึงประเด็นหนี้ครัวเรือนที่จะตามมาจากการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย

ขณะที่ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ หัวหน้าทีมวิจัย CFNT กล่าวถึงความสำคัญงานวิจัย ชำระบัญชีฟอสซิล: การประเมินมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซในประเทศไทย ว่าการที่ประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 หรือเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 นั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งพลังงานในโลกเก่า เช่น โรงไฟฟ้าก๊าซและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมูลค่าสูงที่เรียกว่า สินทรัพย์สูญค่าในอนาคต (Stranded Assets) ถึง 3.6-5.4 แสนล้านบาท

รพีพัฒน์อธิบายปรากฏการณ์ข้างต้น ผ่านร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2024 โดยระบุว่า หากเปรียบเทียบฉบับปัจจุบันกับฉบับ 2018 ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีทิศทางที่ดีขึ้น ทว่าเมื่อนำตัวเลขในแผน PDP 2024 นั้นอาจจะทำให้ไทยยังห่างไกลจากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดนเฉพาะเมื่อคำนวณถึงมูลค่าสินทรัพย์สูญค่าในอนาคตพบว่า ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยรพีพัฒน์ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. ความไม่สอดคล้องกันของแผน PDP 2024 กับแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy : LT-LEDS) เพราะแผน PDP 2024 สิ้นสุดลงที่ปี 2580 โดยระบุว่าต้องมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51% ขณะที่แผน LT-LEDS กลับระบุเงื่อนไขภายในปี 2583 โดยมีพลังงานหมุนเวียน 68% ซึ่งเขามองว่า เป็นไปได้ยากที่ไทยจะเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงานของประเทศภายใน 3 ปี

2. ร่างแผน PDP 2024 ไม่คำนึงถึงต้นทุนมหาศาลจากเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ซึ่งปรากฏในแผน LT-LEDS โดยรพีพัฒน์มองว่า หากไทยไม่เตรียมการชัดเจน มีโอกาสทำให้ต้นทุน ‘ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น’ จนภาระตกอยู่ที่ประชาชน

3. ไทยต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ หากต้องการบรรลุแผน PDP 2024 อย่างไรก็ตาม รัฐต้องยอมรับความเสี่ยงว่า แม้จะลงทุนไปแล้ว แต่ธุรกิจต้องเผชิญกฎเกณฑ์ข้อบังคับใหม่ตลอด เช่น กฎหมายเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่บังคับใช้ภาษี (Carbon Tax) ทำให้สินทรัพย์ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดอาจสูญเปล่าในอนาคต

Tags: , , , , , ,