ขณะที่ใครหลายคนกำลังเตรียมตัวหยุดยาวช่วงปีใหม่ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เพิ่งมีถ้อยแถลงจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเรียบร้อย
โดยร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวาระแรก มีการกำหนดรายจ่ายเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 3,480,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า มีตัวเลขเพิ่มขึ้นจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในยุคของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2566 ด้วยวงเงิน 3,185,000 ล้านบาท หรือก็คือเพิ่มจากกรอบเดิมเกือบ ‘สามแสนล้านบาท’ โดยที่ยังไม่รวมงบประมาณดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลอีกห้าแสนล้านบาท
สำหรับรายละเอียดของร่างเอกสารงบประมาณประจำปี 67 ที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนในเวลานี้ มีการจำแนกเป็นสองหัวข้อใหญ่ ได้แก่
1. จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ประกอบด้วย
1.1. รายจ่ายงบกลาง จำนวน 606,765.0 ล้านบาท
1.2. รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,150,114.0 ล้านบาท
1.3. รายจ่ายบูรณาการ 214,601.7 ล้านบาท
1.4. รายจ่ายบุคลากร 786,957.6 ล้านบาท
1.5. รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 257,790.5 ล้านบาท
1.6. รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 346,380.1 ล้านบาท
1.7. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361.1 ล้านบาท
2. จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย
2.1. ด้านความมั่นคง 390,149.3 ล้านบาท
2.2. ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 393,517.9 ล้านบาท
2.3. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 516,954.2 ล้านบาท
2.4. ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240.6 ล้านบาท
2.5. ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 131,292.3 ล้านบาท
2.6. ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 604,804.5 ล้านบาท โดยมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 564,041.20 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นการชำระหนี้ภาครัฐ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
ดังนั้น หากตัวเลขงบประมาณประจำปี 2567 ผ่าน จะเป็นงบประมาณรายจ่ายที่สวนทางกับรายรับ ซึ่งสำนักงบประมาณประเมินรายรับของรัฐบาลในปี 2567 อยู่ที่ 3.37 ล้านล้านบาท 337,400 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 รายรับของรัฐบาลอยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท (กำหนด)
สรุปโดยง่ายคือ รัฐบาลกำลังเผชิญกับงบประมาณ ‘ขาดดุล’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้จะหั่นงบประมาณบางอย่างลง เช่น งบประมาณกระทรวงกลาโหม หรืองบประมาณด้านการป้องกันประเทศตามที่แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทยเคยนำเสนอนโยบายลดขนาดกองทัพลง ก็ยังคาดว่าจะ ‘ขาดดุล’ อยู่ดี
สำหรับงบประมาณของ 9 กระทรวงเกรดเอ เมื่อเทียบระหว่างปี 2566 และ 2567 พบว่า
1. กระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2566 อยู่ที่ 327,374.2 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 328,384.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1,010 ล้านบาท
2. กระทรวงมหาดไทย ในปี 2566 อยู่ที่ 325,245.9 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 อยู่ที่ 353,127.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 2.78 หมื่นล้านบาท
3. กระทรวงกลาโหม ในปี 66 อยู่ที่ 194,498.7 ล้านบาท ขณะที่ปี 2567 อยู่ที่ 198,320.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 3,822 ล้านบาท
4. กระทรวงการคลัง ในปี 66 อยู่ที่ 285,154.7 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 327,155.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 4.2 หมื่นล้านบาท
5. กระทรวงคมนาคม ในปี 66 อยู่ที่ 181,312.9 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 183,653 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1,741 ล้านบาท
6. กระทรวงสาธารณสุข ในปี 66 อยู่ที่ 152,263.9 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 165,726.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1.3 หมื่นล้านบาท
7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 66 อยู่ที่ 128,133.5 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 118,596.1 ล้านบาท หรือลดลงราว 9,537 ล้านบาท
8. กระทรวงพาณิชย์ ในปี 66 อยู่ที่ 6,4433.3 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 6,822 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 379 ล้านบาท
9. กระทรวงพลังงาน ในปี 66 อยู่ที่ 2,700 ล้านบาท ขณะที่ปี 67 อยู่ที่ 2,834.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 134 ล้านบาท
เช่นเดียวกับงบประมาณอีกสองภาคส่วนที่หลายฝ่ายจับตามอง ได้แก่ ‘งบกลาง’ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายฝ่ายรวมถึง ‘พรรคเพื่อไทย’ เคยวิพากษ์วิจารณ์ว่าในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้ง ‘งบกลาง’ ไว้สูงเกินไป และอาจเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง-ต่างตอบแทนผลประโยชน์นั้น ในรัฐบาลเศรษฐากลับเพิ่มขึ้น จาก 590,047 ล้านบาท เป็น 606,765 ล้านบาท ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นราว 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ‘ส่วนราชการพระองค์’ ลดลงจากเดิมในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 8,611 ล้านบาท คงเหลือในปี 2567 ที่ 8,478 ล้านบาท
ถึงกระนั้น รัดเกล้า อินทวงค์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่างงบประมาณดังกล่าวเป็นเรื่องของประชาชนทุกคน ดังนั้นก่อนที่จะมีการยื่นพิจารณาในสภาฯ วันที่ 3-5 มกราคม 2567 ประชาชนสามารถอ่านไฟล์เอกสาร ‘งบประมาณฉบับประชาชน ประจำปีงบฯ พ.ศ. 2567’ ที่จัดทำขึ้นในรูปแบบอินโฟกราฟิกได้ที่เว็บไซต์ www.thaigov.go.th
สำหรับการอภิปรายงบประมาณโดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม โดยพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคฝ่ายค้านหลัก เพิ่งได้รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา และมีเวลาราว 1 สัปดาห์ในการเตรียมอภิปรายร่างงบประมาณรายจ่ายวาระแรก ก่อนตั้งกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายเพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 โดยรัฐบาลระบุสาเหตุที่เวลากระชั้นว่า เป็นเพราะเวลาทุกอย่างล่วงไปมากแล้ว และต้องเร่งพิจารณาผ่านงบประมาณรายจ่าย 2567 โดยเร็ว
Tags: รัฐบาล, เศรษฐา ทวีสิน, งบประมาณ 2567