วันนี้ (23 มิถุนายน 2565) ที่อุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ขึ้นเวทีบรรยายเรื่อง Re-Imagination Mega-City: Bangkok towards City of Innovation ตอนหนึ่งว่า Urbanization หรือ ‘ความเป็นเมือง’ นั้น เป็น ‘เมกะเทรนด์’ ทั่วโลก โดยความท้าทายของกรุงเทพฯ คือเมืองขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และทรัพยากรเองก็ไม่พอ ทั้งนี้ ในความเป็นเมือง มีฟังก์ชันสำคัญอยู่ 3 อย่าง คือการเดินทาง การทำงาน และการนอน เพราะฉะนั้น ผู้ดูแลเมืองจึงต้องคิดค้นนวัตกรรมให้คนเดินทางน้อยลง ต้องเป็นที่ที่ทำให้คน ‘ใช้ชีวิต’ ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงมีกิจกรรมอย่าง ‘ดนตรีในสวน’ ให้คนได้ใช้ชีวิตมากขึ้น
ชัชชาติบอกว่า ในอดีต คนในเมืองทำงานและนอนในที่เดียวกัน แต่ปัจจุบัน ที่ดินแพงขึ้น คนถูกผลักไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น ทำให้การเดินทางยาวนานขึ้นด้วย เมื่อเมืองกระจายออก สำหรับกรุงเทพฯ เมืองขยายออกไปตามถนน หมู่บ้านจัดสรรขยายออกไปตามถนน เพราะไม่มี Node ของเมืองกำหนดไว้ชัดเจน ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือ คอนโดมิเนียมใหม่ๆ ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเด็กจบใหม่อยู่ไม่ไหว เขตใจกลางเมือง เช่น ปทุมวัน ราชเทวี สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจำนวนประชากรน้อยลงเรื่อยๆ แต่เขตอย่างเขตสายไหมมีจำนวนประชากรเยอะขึ้น เพราะเป็นเขตที่ประชาชนพอจะซื้อบ้านได้ ฉะนั้น คนกรุงจะต้องเดินทางยาวนานขึ้น
นอกจากนี้ คนทั่วไปยังไม่สามารถซื้อบ้านในเขตวงแหวนรอบนอกได้แล้ว หากเป็นเด็กจบใหม่ อาจต้องไปอยู่บ้านที่ปากน้ำ แล้วทำอย่างนี้ซ้ำๆ ทุกวัน คือกลับบ้านไปนอน เดินทางยาวๆ แล้วกลับไปที่ปากน้ำ เพราะฉะนั้น โจทย์สำคัญสำหรับนวัตกรรม คือทำอย่างไรให้คนเดินทางน้อยลง เมืองอาจมีรถไฟฟ้าก็จริง แต่แหล่งงานในปัจจุบัน อยู่บนเส้นรถไฟฟ้าหมดเลย แต่คนต้องเดินทางยาวขึ้นเพื่อเข้าไปหางาน
ทั้งนี้ ในต่างจังหวัด คนอาจทำงานกันได้หลายอย่าง ประชากรอาจมีงาน อาจทำอะไรเป็นของตัวเอง แต่สำหรับเขตเมือง ทุกคนเป็นเพียง ‘น็อต’ ตัวหนึ่งในเครื่องจักรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ หากตกงาน จะหางานอื่นได้ยาก ฉะนั้น เมืองจะมีความเปราะบางเยอะ โอกาสในการตกงานแล้วไม่มีงานทำจะเกิดขึ้นได้ง่าย ความท้าทายสำคัญอีกประการของเมืองคือความไม่เท่าเทียม เพราะเมืองมีแรงงานหลายรูปแบบ ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ มีทุกหัวระแหง ยกตัวอย่างเช่น บ่อนไก่ ที่เพิ่งไฟไหม้ไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ทองหล่อ คลองเตย พื้นที่เหล่านี้ ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่ทำงานให้กับเมือง
“คำถามคือ นวัตกรรมทำให้เรามีสตาร์ทอัพ มีคนรวยมากขึ้นไหม จนทำให้เราไม่มีกำลังดูแลคนเปราะบางหรือเปล่า เมืองถูกแบ่งด้วย physical เยอะนะ หลัง สน.ทองหล่อ มีคลองเป้ง ตรงข้ามก็คือคอนโดฯ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่แยกด้วยกำแพง มีทั้งคนรวย คนรายได้น้อย อยู่ด้วยกัน หมู่บ้านจัดสรรสร้างรั้วขึ้นไปอีก คำถามสำคัญสำหรับนวัตกรรมก็คือ จะ Breakthrough เรื่องพวกนี้ได้ยังไง ทำยังไงให้ชีวิตคนดีขึ้น
และเราจะมีคนที่อ่อนแอ เปราะบางเยอะมาก มีเด็กที่พิการซ้ำซ้อน มีคนแก่ที่มีปัญหาใหญ่ขึ้น จะตอบโจทย์ปัญหานี้ยังไง อย่านึกเทคโนโลยีอย่างเดียว ให้นึกถึงคนเปราะบางด้วย”
ชัชชาติบอกอีกว่า มี 3 ข้อ ที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับเมือง
1. Sustainable – เมืองที่ดีจะต้องไม่เป็นภาระของคนรุ่นใหม่ ไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นหลัง เช่น กำจัดขยะด้วยการฝังกลบล้วนเป็นภาระให้กับคนรุ่นหลัง เมืองจึงต้องคิดว่าจะกำจัดขยะอย่างไรให้ไม่เป็นภาระกับคนในอนาคต
2. Inclusive – เมืองที่ดีไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ตอบโจทย์คนทุกคน เช่น เรามีสถานีกลางบางซื่อ หรูหรามาก ลงทุนมหาศาลมาก แต่คนกลับบ้านยังต้องรอรถตู้ที่จตุจักร เพราะฉะนั้น ต้องคิดว่าเมืองจะทำอย่างไรในการดูแลคนให้เท่ากัน
3. Fair & Empathy Innovation – เมืองต้องยุติธรรมและเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ในกรุงเทพฯ มีบ้านรุกล้ำคลองจำนวนมาก แต่จะไล่รื้อก็ไม่ได้ เพราะอยู่กันมา 40-50 ปี ฉะนั้น เมืองต้องพยายามเข้าใจและต้องมีความยุติธรรมกับเขา
สำหรับประเด็นนวัตกรรมสำหรับเมือง ชัชชาติระบุว่า มีหลักการง่ายๆ หากเดิม นวัตกรรมคือการสร้างคำตอบให้กับ ‘ลูกค้า’ นวัตกรรมสำหรับเมือง ก็คือการเพิ่มคำตอบให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ในอดีต ถุงพลาสติกใส่กาแฟต้องมัดหนังยางไว้ด้านบน แต่ปัจจุบัน นวัตกรรมได้แก้ปัญหาด้วยการทำถุงพลาสติกที่มีหูห้อย ไม่จำเป็นต้องผูกหนังยางอีกต่อไป ฉะนั้น นวัตกรรมต้องเปลี่ยนไอเดีย ต้องหาคำตอบได้ และต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม สำหรับกรุงเทพมหานคร การสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมี กทม. ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ และภาคประชาชนม้วนเป็นเกลียวเดียวกัน เพื่อหาทางออกของปัญหาให้ได้
ชัชชาติยกตัวอย่างว่า 10 วัน หลังจากรับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มีนวัตกรรมหลายอย่างที่เปลี่ยนเมืองได้ เช่น หนึ่งในนโยบายคือโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ปัจจุบัน สามารถหาได้กว่า 5 แสนต้นแล้ว มาจากการบริจาคทั้งสิ้น ซึ่ง กทม. แทบไม่ต้องลงทุนใดๆ จากเดิม คนรู้สึกว่าปลูกต้นไม้แล้วทุกอย่างก็เหมือนเดิม ปลูกต้นไม้ก็ตาย แต่ กทม. ทำใหม่ ปลูกต้นไม้แล้วลงพิกัด GPS ถ่ายรูป ดูแลทุกปี ทำให้เห็นว่าต้นไม้อยู่ตรงไหนแล้วขยายไปให้รู้ว่าใครปลูก ฉะนั้น ไม่ได้มีแต่นายกฯ ที่ปลูกต้นไม้ แต่ทุกคนปลูกได้หมด เป็นนวัตกรรมง่ายๆ แต่เพิ่มมูลค่าได้
อีกข้อคือ Open Bangkok หรือการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ ทำให้เห็นว่างบประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาทของ กทม. ใช้อะไรได้บ้าง ฉะนั้น จะสามารถดูได้เลยว่า สำนักใดใช้เงินเท่าไร เปิดเป็นไฟล์ Excel หรือการที่มีนโยบาย 200 กว่าข้อขึ้นเว็บไซต์ แล้วให้ประชาชนแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เป็นนวัตกรรมง่ายๆ แต่เปลี่ยนเมืองได้
สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเปลี่ยนราชการที่เคยเป็น Pipeline จากเดิม คนร้องเรียนส่งเรื่องมาถึงผู้ว่าฯ ส่งจดหมายมาถึงผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ต้องสั่งรองผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ สั่งปลัด กทม. ปลัด กทม. สั่งรองปลัด กทม. ทุกอย่างเป็นท่อ ฉะนั้น การแก้ปัญหาเป็นท่อใช้เวลานานนับเดือน หากมีท่อใหญ่ ปัญหาก็ไปเร็ว แต่หากใครไม่มีท่อก็แก้ปัญหาไม่ได้ รากหญ้าท่อเล็ก ท่อก็ตีบ ปัญหาก็ไม่สามารถแก้ได้สำเร็จ
แต่หลังจากดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติบอกว่า ได้พยายามทำให้ กทม. เป็นแพลตฟอร์ม ผ่านเครื่องมือคือ Traffy Fondue ฉะนั้น โยนเข้าไปในแพลตฟอร์มได้เลย ผู้ว่าฯ ไม่ต้องสั่งการแล้ว พอมีปัญหา เขตเข้าไปแก้ปัญหาเลย เมื่อเปิดแอปฯ นี้ วันแรก มีคนส่งเรื่องให้แก้ปัญหาเข้ามา 2 หมื่นเรื่อง ปัจจุบัน มีคนแจ้งมา 4.4 หมื่นเรื่อง แก้ไปแล้ว 5,000 เรื่อง ทำให้รู้ว่าเขตไหนเรื่องค้างมาก ค้างน้อย เขตไหนตอบสนองช้า สามารถประเมินข้าราชการได้อีก เป็นนวัตกรรมง่ายๆ ที่เปลี่ยนเมืองได้ทันตา ทุกเขตเปลี่ยนได้มาก โดยที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่จำเป็นต้องสั่งการ
ชัชชาติสรุปส่งท้ายว่า นวัตกรรมสำหรับเมือง ต้องเอาคนเป็นตัวตั้ง และราชการต้องไม่ลงไปทำนวัตกรรมเอง แต่ต้องเป็นผู้สนับสนุน ทั้งนี้ ยืนยันว่า กทม. ไม่ได้เก่ง ไม่ได้รู้เนื้อหา แต่จะให้ กทม. ทำอะไร กทม. ก็พร้อมสนับสนุน ทั้งนี้ เห็นว่าราชการเชี่ยวชาญในเรื่องระเบียบ กฎหมาย แต่ในส่วนของเนื้อหาให้มาจากเอกชน เพราะเอกชนสามารถคิดนอกกรอบได้ดีกว่า สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้มากกว่า เพราะฉะนั้น ต้องร่วมมือกันทั้งเอกชนและวิชาการ แล้วจะได้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง
Tags: กรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าฯ กทม., ชัชชาติ สิทธิพันธุ์