‘ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกอันดับที่ 10’

นั่นคือสถิติสูงสุดที่ประตูบานแรกของประเทศอย่าง ‘ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ เคยทำได้เมื่อปี 2553 สร้างความภาคภูมิใจให้ประชาชนว่าสนามบินของประเทศนั้นยอดเยี่ยมไม่แพ้ชาติใดในโลก

แต่เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมากว่า 14 ปี อันดับของท่าอากาศแห่งชาติกลับตกลงอย่างไม่น่าเหลือเชื่อ จากข้อมูลของ Skytrax เปิดเผยว่าในปี 2567 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 58 ของโลก และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นรองท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 2 ของโลก และท่าอากาศยานซูการ์โน-ฮัตตา ประเทศอินโดนีเซีย ที่อยู่อันดับ 28 ของโลก

ด้วยเหตุนี้ทีมช่างภาพ The Momentum ลงเก็บบรรยากาศของท่าอากาศสุวรรณภูมิอีกครั้งหนึ่ง พบว่า ปัญหาหลักใหญ่ใจความสำคัญของสนามบินแห่งนี้คือ ‘ป้าย’ ต่างๆ ที่มีจำนวนมาก ชวนให้นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารชวน ‘งุนงง’ ที่ระบุไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นขนาดตัวหนังสือและสัญลักษณ์ที่ระบุไว้ หลายครั้งที่ผู้โดยสารต้องเดินไปถามพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วยตัวเอง

นอกจากนั้นแล้วยังพบ ‘ความผิดพลาด’ อีกว่า ป้ายบอกทางไปยังรถไฟฟ้าเข้าเมือง (Airport Rail Link) มีการระบุถึงขบวน ‘รถไฟฟ้าด่วน’ (Express Line) ที่ยุติการให้บริการตั้งแต่ปี 2557 เหลือเพียงรถไฟฟ้าสาย City Line เท่านั้นที่วิ่งจากท่าอากาศยานสุวรรณภมูิไปยังสถานีพญาไท เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS)

ขณะที่เลนเข้าแถวรอรถแท็กซี่ (Taxi) เพื่อเดินทางเข้าเมืองนั้น ท่าอากาศยานแบ่งออกเป็น 3 เลนย่อย ได้แก่ รถแท็กซี่วิ่งระยะใกล้ (Short Distance Taxi), รถแท็กซี่ทั่วไป (Regular Taxi) และรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ (Large Taxi) เป็นตัวเลือกแก่นักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ เราได้พบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากที่ ‘งุนงง’ ว่าจุดหมายปลายทางของตัวเองอยู่ในระยะใกล้หรือไกล และรถแท็กซี่ที่ควรเรียก ควรเป็นแท็กซี่ธรรมดาหรือแท็กซี่ขนาดใหญ่

นอกจากนี้ สิ่งที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ยังไม่รู้ก็คือ ยังมีการ ‘ต่อรอง’ ราคาเหมา ระหว่างคนขับแท็กซี่กับผู้โดยสารต่างชาติอยู่บ่อยครั้ง

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจยังพบความสับสนในรถประจำทาง ‘เข้าเมือง’ ซึ่งบริเวณชั้น 1 มีผู้ให้บริการหลายราย รายหนึ่งคือผู้ประกอบการรถประจำทางกับรถไม่ประจำทางที่ได้รับอนุญาตจาก ทอท.อย่าง Limobus ซึ่งเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังถนนข้าวสาร และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสีลม ที่ไม่เปิดให้บริการ รวมถึงเลานจ์ที่อยู่บริเวณที่จอดรถก็ดับไฟสนิท เปิดให้บริการท่ามกลางความมืดมิด โดยจากการสอบถามพบว่า อยู่ในระหว่าง ‘ทบทวนมติ’

ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่น เช่น จากสนามบินสุวรรณภูมิไปเกาะช้าง และสนามบินสุวรรณภูมิไปพัทยา ยังคงเรียกลูกค้ากันอย่างขวักไขว่ โดยจากการลงพื้นที่สำรวจ มีนักท่องเที่ยวหลายรายสับสนว่า หากต้องเลือกใช้บริการรถประจำทางและรถไม่ประจำทางเหล่านี้ ต้องซื้อตั๋วกับใคร ขณะเดียวกัน จากเสียงบ่นของนักท่องเที่ยวก็คือ แทบไม่มีการควบคุมราคาจาก ทอท.

เหล่านี้ต่างจากสนามบินในหลายประเทศ รวมถึงสนามบินในประเทศญี่ปุ่น ที่มีรถลีมูซีนระบุเส้นทางชัดเจน พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าเมือง และสะดวกกว่ารถไฟฟ้า ตรงที่นั่งรวดเดียวก็ถึงใจกลางเมือง ไม่ต้องเปลี่ยนสาย ไม่ต้องเดินลากกระเป๋า แต่สนามบินสุวรรณภูมิกลับดูเหมือนไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้

สำหรับความพยายามปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยานแห่งนี้ เมื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศเป็นวาระสำคัญเพื่อดันให้ ‘ภาคการท่องเที่ยว’ เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกฯ มาตรวจตราท่าอากาศยานแห่งนี้แล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน อีกทั้งยังประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) โดยมีการระบุแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานสำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต

แม้ว่าท่าอากาศยานแห่งนี้ยังมี ‘โจทย์’ ที่รอการปรับปรุงอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ด้วยศักยภาพและสถิติที่ท่าอากาศยานแห่งนี้เคยทำได้ในอดีต คงจะไม่ใช่เรื่องไกลความสามารถที่จะจัดการ เพื่อให้ท่าอากาศยานแห่งนี้กลับมาเป็นความภาคภูมิใจกับประชาชาวไทยในฐานะ ‘ประตูบานแรก’ ของประเทศอีกครั้งหนึ่ง

Tags: , , ,