วันนี้ ภาคประชาชนนำโดยกลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ และผู้ประกอบการสุราชุมชน เดินทางมายื่นหนังสือให้กับ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เพื่อเรียกร้องให้ทุกพรรคผ่าน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และแก้กฎหมายสรรพสามิต เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสุราชุมชนได้ โดยลดข้อจำกัดเรื่องการผลิตโดยรวมต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 แรงคน รวมถึงสร้างข้อจำกัดอย่างมากให้กับการผลิตสุราชุมชน คราฟต์เบียร์ ธนากร ท้วมเสงี่ยม ผู้ก่อตั้งเพจประชาชนเบียร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเจอปัญหามากมายจากรัฐไทย ที่ไม่เคยมองคนเหล่านี้เป็นประชาชน ขณะเดียวกัน กฎหมายที่มีอยู่ก็มองวงการสุราไม่ต่างจากศัตรูของรัฐ ถูกบังคับให้ทำสุราขายได้ยาก อีกทั้งยังมีพื้นที่ในสื่อได้ยากมาก

ฉะนั้น การจะพูดถึงแบรนด์ การจะทำในปริมาณที่ใหญ่ขึ้น ผลิตของที่ใหญ่ขึ้น ทำได้ยากมาก ยากเกินกว่าที่จะประชาชนจะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปสู่ตลาด ผลของการการแก้ไข พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนมีพื้นที่มากขึ้น มีโอกาสมากขึ้น ในการจะผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะดื่มเองหรือจำหน่ายในปริมาณที่มากขึ้น มากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะกฎหมายกำหนดเกินกว่าที่ผู้ประกอบการจะเข้าไปแตะต้องได้

“เราไม่สามารถผลิตได้หมื่นลิตรต่อวัน ไม่สามารถผลิตได้เป็นล้านลิตรต่อปี ไม่มีทางที่คนธรรมดา จะทำอย่างนั้นได้ มีแค่คนไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มที่เข้าได้ และยึดอำนาจของการดื่มกิน รวมถึงอำนาจของคนธรรมดา ที่ทำเองได้ไปหมดแล้ว อยากให้ทุกพรรค ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ให้ทุกคนร่วมโหวตให้ พ.ร.บ.ตัวนี้ผ่าน ไม่ว่าจะพรรคภูมิใจไทย ที่เคยผลักดันเรื่องกัญชา หรือไม่ว่าจะเป็นคุณธรรมนัสที่ก็ทำเรื่องเหล้าอยู่ในชุมชน” ธนากรระบุ

ขณะที่ เจริญ เจริญชัย อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ปัจจุบัน สุราชุมชน สามารถทำได้เพียงเหล้าขาว และข้อจำกัดตรงนี้แปลว่า หากใครจะทำสุราคุณภาพ คือ จิน รัม วอดก้า วิสกี้ บรั่นดี ก็จำเป็นต้องมีกำลังผลิต 9 หมื่นลิตรต่อวัน ซึ่งต้องใช้เครื่องมือ เครื่องหมัก ทุนมหาศาล ขณะที่ในชนบทมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพก็สามารถผลิตได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างประเทศไม่มี และถ้าไทยสามารถทำได้ ก็ทำได้เหนือกว่าวิสกี้ในต่างประเทศเสียอีก

เจริญระบุด้วยว่า สำหรับมติแรกที่ภาคประชาชนต้องการผลักดันคือ ‘ไม่อนุญาต’ ให้รัฐบาลไปพิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 60 วัน และยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะใช้เวลาเพิ่มอีกหรือไม่ ทั้งยังไม่คิดว่าจะต้องใช้เวลาขนาดนั้นในการแก้กฎหมายเพียง 3 บรรทัด จึงขอให้ทุกฝ่ายรับหลักการ ตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณา และใช้กลไกกรรมาธิการพิจารณาน่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด

“ตรงนี้ไม่ใช่ประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือผลประโยชน์ของประชาชน เป็นผลประโยชน์เกษตรกรที่สามารถใช้วัตถุดิบ ที่บางครั้งก็ล้นตลาด บางครั้งก็ไม่สามารถขายในราคาที่สูงได้ เมื่อนำมาทำเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบต่อไป

“เรื่องการมอมเมาเยาวชน ดื่มแล้วขับ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ผมกำลังเสนอ พ.ร.บ.อีกตัว ในเรื่องผู้ประกอบการที่ถูกควบคุมการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การพูดถึงสุรา เพราะประเทศเราตอนนี้เริ่มไปในทางที่มองเห็นสุราเป็นศัตรู เป็นปีศาจ แต่ในนานาอารยะประเทศ สุราเป็นสิ่งสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศชาติ” เจริญระบุ

Tags: , , , , ,