เมื่อคืนนี้ (27 มีนาคม 2024) สหรัฐอเมริกายุติการช่วยเหลือผู้สูญหาย 6 คน จากเหตุสะพานฟรานซิสสก็อตต์คีย์ (Francis Scott Key) ถล่มใส่ท่าเรือบัลติมอร์ (Baltimore) โดยเจ้าหน้าที่คาดว่า ผู้สูญหายเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อุบัติเหตุครั้งนี้อาจสร้าง ‘แผลระยะยาว’ ต่อระบบเศรษฐกิจ
สรุปเหตุการณ์สะพานฟรานซิสสก็อตต์คีย์ถล่มในท่าเรือบัลติมอร์
ก่อนหน้านี้ วันที่ 26 มีนาคม 2024 เวลา 13.27 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุสะพานฟรานซิสสก็อตต์คีย์ถล่มใส่ท่าเรือบัลติมอร์ในรัฐแมรีแลนด์ (Maryland) สหรัฐฯ หลังเรือดาลี (Dali) เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สัญชาติสิงคโปร์ที่กำลังเดินทางไปศรีลังกา ชนเข้ากับตอม่อของสะพาน ทำให้โครงสร้างพังทลายลงมาในแม่น้ำพาแทปสโก (Patapsco River)
จากการสอบสวนเบื้องต้น สาเหตุที่ทำให้เรือดาลีชนกับตอม่อของสะพาน เพราะกัปตันเรือไม่สามารถควบคุมทิศทางได้ ซึ่งคาดว่าระบบควบคุมมีปัญหา โดยสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ออกจากท่าเรือ และลูกเรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในรัฐแมรีแลนด์ทราบแล้ว
ขณะที่ พอล วิเดเฟลด์ (Paul Wiedefeld) รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของรัฐแมรีแลนด์ เล่าว่า ระหว่างที่เรือเกิดเหตุขัดข้อง กัปตันเรือเป็นผู้ควบคุมกลไกของเรือทั้งหมด ซึ่งพวกเขาได้รับการฝึกอบรมเป็นอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุใหญ่
เบื้องต้น ลูกเรือ 22 คนและกัปตันเรือ 2 คนไม่มีอาการบาดเจ็บ และอยู่ในสถานะปลอดภัยเรียบร้อย แต่มีรายงานจากรอยเตอร์ (Reuters) ถึงผู้บาดเจ็บ 2 คนที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล รวมถึงผู้สูญหาย 6 คน ซึ่งเป็นผู้รับเหมาจากบริษัท Brawner Builders ที่กำลังซ่อมแซมหลุมบ่อบนสะพานดังกล่าว
นอกจากนี้ ความเสียหายอื่นๆ ยังไม่ถึงขั้นร้ายแรง สืบเนื่องจากการที่ลูกเรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า จึงสามารถป้องกันไม่ให้รถยนต์ขึ้นไปบนสะพาน และรักษาชีวิตคนจำนวนมากไว้ได้
อย่างไรก็ตาม มีเรือ 40 ลำที่ไม่สามารถเดินทางออกจากท่าเรือบัลติมอร์ได้ โดยแมรีนแทรฟฟิก (Marine Traffic) เว็บไซต์แผนที่การเดินเรือเผยว่า ส่วนหนึ่งมีเรือสินค้าขนาดเล็ก เรือสำราญ และเรือโยง
สถานการณ์ล่าสุด
รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า หน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐแมรีแลนด์ใช้เวลา 18 ชั่วโมงเพื่อค้นหาผู้สูญหายทั้ง 6 คน โดยมีอุปสรรคสำคัญคือ สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย นับตั้งแต่ความมืดมิด อุณหภูมิหนาวเย็น และซากปรักหักพังที่ขัดขวางการค้นหา
เบื้องต้น อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานว่า การค้นหาครั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่ เครื่องโซนาร์ (Sonar) โดรน (Drone) และเครื่องตรวจจับอินฟราเรด (Infrared) เพื่อค้นหาผู้สูญหายและซากรถยนต์ที่ตกลงไปในแม่น้ำ ขณะที่มีความพยายามจำกัดไม่ให้เครื่องบินบินผ่านที่เกิดเหตุ
ชานอน กิลเรท (Shannon Gilreath) พลเรือตรีประจำหน่วยยามชายฝั่ง ยอมรับตามตรงว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ไร้ความหวังในการค้นหาผู้สูญหาย โดยเฉพาะ ‘เส้นตาย’ ที่กระชั้นเข้ามาเรื่อยๆ เป็นสัญญาณบอกว่า พวกเขาอาจเสียชีวิตแล้ว
อย่างไรก็ตาม โรแลนด์ บัตเลอร์ (Roland Butler) เจ้าหน้าที่ตำรวจ เผยว่า ทางการจะระดมพลเจ้าหน้าที่เพื่อค้นหาร่างไร้วิญญาณของผู้เสียชีวิตอีกครั้งทันที ตอนรุ่งสางของเช้าวันพุธ
ขณะที่ทางการสหรัฐฯ ยืนยันว่า ไม่ใช่เหตุก่อการร้ายแน่นอน โดย โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดี ประกาศว่า รัฐบาลกลางพร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือรัฐแมรีแลนด์อย่างเต็มที่
อนาคตต่อจากนี้?
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การสัญจรทางเรือบริเวณดังกล่าวจะยุติชั่วคราว ซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อการขนส่งและโลจิสติกส์ สืบเนื่องจากสะพานแห่งนี้คือพื้นที่ส่วนสำคัญของบัลติมอร์ที่เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Washington D.C.) เมืองหลวงของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ บัลติมอร์ยังเป็นท่าเรือขนส่งนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 9 ของประเทศในปี 2023 โดยทำรายได้ให้กับประเทศถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,000 ล้านล้านบาท)
นอกจากมีความเชื่อมโยงกับการนำเข้า-ส่งออกอุตสาหกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล ยิปซัม และถ่านหิน แต่บัลติมอร์ยังเป็นหนึ่งในท่าเรือของอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น นิสสัน (Nissan) โตโยต้า (Toyota) วอลโว (Volvo) และจากัวร์ (Jaguar) ซึ่งผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์เน้นย้ำถึงความสำคัญว่า ท่าเรือแห่งนี้สามารถจัดการการขนส่งรถยนต์ได้มากกว่าที่อื่น
อย่างไรก็ตาม มาร์ก แซนดี (Mark Zandi) นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Moody’s Analytics แสดงความเห็นผ่านเอบีซีนิวส์ (ABC News) ว่า การถล่มของสะพานแห่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยตรง แม้อาจจะเกิดปัญหาในระดับย่อยอยู่บ้าง
แซนดีขยายความต่อว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นระยะสั้น สืบเนื่องจากการปิดท่าเรือที่เป็นอุปสรรคต่อตลาดแรงงาน โดยอ้างอิงข้อมูลจากทางการว่า มีงานประมาณ 1.5 หมื่นตำแหน่ง ที่พึ่งพาท่าเรือบัลติมอร์โดยตรง ขณะที่อีก 1.4 แสนตำแหน่งมีความเชื่อมโยงบางส่วนกับท่าเรือ
ตรงกันข้ามกับ เจสสิกา เกล (Jessica Gail) โฆษกจากสมาคมขนส่งรถบรรทุกอเมริกัน (American Trucking Associations: ATA) ที่เห็นต่าง เธอระบุว่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้จะกลายเป็น ‘แผลระยะยาว’ ในระดับภูมิภาคอย่างแน่นอน
เกลอธิบายว่า มีรถบรรทุก 1.3 ล้านคันที่ต้องข้ามสะพานแห่งนี้ตลอดทั้งปี หรือคิดเป็น 3,600 คันต่อวัน แต่ถ้าสะพานแห่งนี้ปิดนั่นหมายความว่า พวกเขาต้องเปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งทำให้เสียเวลา 2-3 ชั่วโมง และเพิ่มต้นทุนจากค่าน้ำมันมากขึ้น
นอกจากนี้ คริส โรเจอรส์ (Chris Rogers) ผู้ดูแลฝ่ายวิจัย Supply Chain จาก S&P Global Market Intelligence ตั้งข้อสังเกตกับซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า เหตุสะพานถล่มเป็นความท้าทายต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ
กล่าวคือ สหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤตในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพราะกบฏฮูตี (Houthi) ที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ปิดกั้นเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง ขณะที่ระดับน้ำในคลองปานามา (Panama) ลดลง ซึ่งทั้ง 2 แห่งคือเส้นเลือดของระบบขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ผลกระทบที่ตามมาไม่ได้หยุดเพียงค่าขนส่งที่สูงขึ้นถึง 2 เท่า แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ร้ายแรงและเพิ่มความรวดเร็วในการขนส่ง
บัลติมอร์จึงกลายเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญมากขึ้นในตะวันออกของสหรัฐฯ เพื่อจัดการและกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างหลากหลาย ดังนั้น เหตุสะพานถล่มอาจส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่มากขึ้นหรืองานปลายทาง
นอกจากนี้ ความท้าทายที่สำคัญของสหรัฐฯ คือขั้นตอนการสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ แม้ไบเดนจะออกปากว่า รัฐบาลกลางจะออกค่าใช้จ่ายให้โดยผ่านสภาคองเกรส แต่ผู้เชี่ยวชาญหวังว่า รัฐแมรีแลนด์จะ ‘เร่งเครื่อง’ ดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว
อ้างอิง
https://www.washingtonpost.com/dc-md-va/2024/03/26/victims-baltimore-key-bridge-collapse/
https://www.cnbc.com/2024/03/26/baltimore-bridge-collapse-us-economy-will-feel-minimal-impact.html
Tags: สหรัฐอเมริกา, ห่วงโซ่อุปทาน, เศรษฐกิจ, กบฏฮูตี, ท่าเรือ, ทะเลแดง, โลจิสติกส์, คลองปานามา, การขนส่ง, อุตสาหกรรมรถยนต์, สหรัฐฯ, Baltimore, โจ ไบเดน, Joe Biden, ท่าเรือบัลติมอร์, บัลติมอร์, สะพานถล่ม