วันนี้ (17 เมษายน 2024) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมายืนยันว่า อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ถูกย้ายจากเรือนจำในเนปิดอว์ไปยังบ้านพักแห่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย โดยให้เหตุผลว่า เป็นมาตรการปกป้องอดีตผู้นำทางการเมืองรายนี้ จากโรคฮีตสโตรกท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัด

ทั้งนี้ พลเอก ซอว์ มิน ตุน (Zaw Min Tun) โฆษกรัฐบาลทัตมาดอว์ (Tatmadaw) เปิดเผยว่า ทางการย้ายอองซานซูจีไปยังบ้านพักจริง สืบเนื่องจากเหตุผลด้านสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของอองซานซูจีโดยตรง

“เพราะอากาศค่อนข้างร้อนอย่างมาก อันที่จริงแล้ว มาตรการป้องกันดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้สำหรับอองซานซูจีเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยตอนนี้รัฐบาลกำลังปกป้องพวกเขาจากโรคฮีตสโตรก

ซอว์ มิน ตุนยืนยันผ่านวิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America: VOA) และรอยเตอร์ (Reuters) แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เช่น สถานที่ของบ้านพัก หรือเหตุผลอื่นในการย้ายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม อีเลฟเวนมีเดีย (Eleven Media) สื่อเมียนมาเปิดเผยในวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาว่า อองซานซูจี ย้ายออกจากเรือนจำแห่งหนึ่งในเนปิดอว์ ที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด รวมถึง อู วิน มยิน (U Win Myint) อดีตประธานาธิบดีจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League Democracy: NLD)

จอ ทเว (Kyaw Htwe) นักการเมืองชาวเมียนมาจากพรรค NLD ระบุว่า แหล่งข่าวของเขาพบเห็นรถยนต์ราว 6 คัน ขับเข้าในเรือนจำดังกล่าว โดย 4 ใน 6 คันถูกประกบด้วยกองกำลังรักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่อาวุโสรัฐบาลทัตมาดอว์

“พวกเขาพาคุณป้า (อองซานซูจี) ไปด้วย เธอต้องทิ้งข้าวของหรือทรัพย์สินไว้หมดเลย และยังไม่มีใครทราบว่า ตอนนี้เธอกำลังไปไหน” จออธิบายกับเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia)

ขณะเดียวกัน คิม อริส (Kim Aris) ลูกชายของอองซานซูจี เปิดเผยผ่านเรดิโอฟรีเอเชียและเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า ตนรู้สึกกังวลถึงสุขภาพของมารดาตนเองเป็นพิเศษ เพราะเธอเป็นโรคเหงือกอักเสบ ทำให้ไม่สามารถกินอาหารเหมือนคนปกติ

“ไม่มีใครในโลกภายนอกเห็นเธอเป็นระยะเวลานานแล้ว และอาการของแม่ที่กินข้าวไม่ได้ ยิ่งทำให้เธอตกอยู่ในความเสี่ยงมาก สะท้อนจากการเสียชีวิตของผู้คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำพม่า นี่เป็นเรื่องร้ายแรงมาก” อริสให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน โดยใช้คำว่า ‘พม่า’ (Burma) อย่างตรงตัว

นอกจากนี้ แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของ อู วิน มยิน อธิบายว่า พวกเขาไม่ได้รับแจ้งข่าวการเคลื่อนย้ายอดีตประธานาธิบดีแต่อย่างใด ขณะที่มีการเปิดเผยว่า อู วิน มยินเข้ารับการรักษาโรคชนิดหนึ่งที่ ‘ไม่เปิดเผยรายละเอียดอื่น’ ใด นอกจากการ ‘สวนปัสสาวะ’

ก่อนหน้านี้ อองซานซูจีถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ตรงกับวันรัฐประหารเมียนมาที่นำโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ทว่าไม่มีใครทราบที่อยู่ของเธออย่างแน่ชัด แม้แต่ครอบครัวหรือทีมกฎหมายยังไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมเธอได้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลทหารพยายามกีดกันอองซานซูจีในหน้าสื่อ เพื่อป้องกันแรงกระเพื่อมขนานใหญ่จากสังคมเมียนมา สืบเนื่องจากความนิยมอันล้นหลามในฐานะไอคอนแห่งประชาธิปไตย

“สำหรับผม การย้ายอองซานซูจีออกจากเรือนจำ ไม่ใช่เหตุผลทางเรื่องสภาพอากาศ แต่เป็นเพราะอุณหภูมิทางการเมืองเมียนมาที่กำลังดุเดือด และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน”  

ตาน โซ (Than Soe Naing) อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma) และนักวิจารณ์การเมืองแสดงความคิดเห็น เมื่อรัฐบาลทัตมาดอว์กำลังเพลี่ยงพล้ำในสงครามกลางเมือง ขณะที่ฝ่ายต่อต้านอย่างกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defense Forces: PDF) และกองกำลังชาติพันธุ์กำลังได้เปรียบอย่างมาก สะท้อนจากการจำนนของทหารพม่าในเมียวดี

อย่างไรก็ตาม เรดิโอฟรีเอเชียคาดการณ์ว่า จีนอาจอยู่ ‘เบื้องหลัง’ การย้ายตัวอองซานซูจีและผู้นำทางการเมืองคนอื่น เพราะก่อนหน้านี้ มีข่าวคราวถึงการพบกันระหว่าง เฉิน ไห่ (Chen Hai) เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา และพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย (Than Shwe) อดีตผู้นำเผด็จการ ซึ่งเอกสารบางฉบับเปิดเผยว่า มีอองซานซูจีเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมวงการสนทนา ทว่าไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงจากทางการ อีกทั้งสำนักข่าวยังไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างแน่ชัด

ทิก ตุน โอ (Thike Tun Oo) สมาชิกคณะกรรมาธิการเครือข่ายนักโทษทางการเมืองเมียนมา (Political Prisoners Network-Myanmar) ตอกย้ำทิ้งท้ายว่า ปกติแล้ว รัฐบาลทหารไม่เกรงกลัวแรงกดดันจากนานาชาติเท่าไร แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ละเว้นกับจีนในฐานที่เข้าใจกัน และเป็นไปได้สูงที่การย้ายตัวอองซานซูจี อาจมาจากความเห็นในการพบปะครั้งนี้

ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของชีวิตอองซานซูจี อยู่กับการถูกคุมขังนับตั้งแต่ปี 1989 จนถึง 2010 รวมถึงการรัฐประหารในปี 2021 เธอถูกจับในข้อหาทรยศต่อชาติ คอร์รัปชัน และละเมิดกฎหมายโทรคมนาคม ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 33 ปี ก่อนจะได้รับการลดหย่อนให้เหลือ 27 ปี นั่นหมายความว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด อองซานซูจีในวัย 78 ปี อาจต้องอยู่ในคุกจนกว่าอายุมากกว่า 100 ปี 

อ้างอิง

https://www.rfa.org/english/news/myanmar/suu-kyi-moved-04162024171703.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/myanmars-ex-leader-suu-kyi-moved-house-arrest-says-junta-spokesperson-2024-04-17/

https://www.hrw.org/news/2010/11/13/burma-chronology-aung-san-suu-kyis-detention

https://www.aljazeera.com/news/2022/12/30/court-in-myanmar-finds-aung-san-suu-kyi-guilty-again

https://www.bbc.com/news/world-asia-66323190

https://www.theguardian.com/world/2023/aug/02/aung-san-suu-kyis-partial-pardon-still-means-27-year-sentence

https://www.theguardian.com/world/2024/apr/17/aung-san-suu-kyi-myanmar-jailed-former-leader-moved-to-house-arrest-says-junta

Tags: , , , , , , , , ,