ผลการเลือกตั้งซ่อม เขตหลักสี่จตุจักร เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา หักปากกาเซียนการเมืองหลายคน ไม่เพียงแต่การ ชนะขาดของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความตกต่ำอย่างคาดไม่ถึงของฝ่ายเชียร์ รัฐบาล’ 

หากมองย้อนกลับไป ครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้แรกของฝ่ายหนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้านับจากการเลือกตั้งซ่อมทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะที่นครปฐม, ขอนแก่น, สมุทรปราการ, ลำปาง, นครศรีธรรมราช, ชุมพร และสงขลา ที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็ทั้งป้องกันที่นั่งได้ และยังได้ที่นั่งเพิ่มมาโดยตลอด

The Momentum จะพาไปวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายหนุนรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรัฐบาลประยุทธ์ในช่วง ขาลง อย่างแท้จริง

 

1. เซอร์ไพรส์

หากจำกันได้ โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เขตหลักสี่จตุจักร ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิด เซอร์ไพรส์อยู่หลายประการ โดยเฉพาะกับพรรคฝ่าย หนุนรัฐบาลหรือเรียกกันว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม 3 พรรค ได้แก่ พลังประชารัฐ ไทยภักดี และกล้า

แน่นอนว่า ทั้ง 3 พรรค ต้องการรวบ 5 หมื่นคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ประกอบด้วย 3.4 หมื่นคะแนน ของ สิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ และ 1.6 หมื่นคะแนน ของ พลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาที่ตัวเองให้ได้มากที่สุด

 

2. พลังประชารัฐ

แรงสะเทือนที่สำคัญเกิดขึ้นภายหลังจากการที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคฯ คนเดิม ยก ส.ส. ออกจากพรรคพลังประชารัฐ 21 คน ไปสร้างบ้านใหม่ที่พรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคอยให้ท้าย พร้อมกับชูภาพของ นายกฯ ตู่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาขายอย่างเต็มตัว โดยหวังว่าจะแก้ปัญหาจากเวทีชุมพรสงขลาก่อนหน้านี้ ที่ป้ายหาเสียงมีแต่หน้าพลเอกประวิตรและร้อยเอกธรรมนัสเต็มไปหมด จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์เอาชนะไปได้ทั้งสองสนาม

กล่าวคือสำหรับพื้นที่หลักสี่-จตุจักรนั้นต่างจากชุมพรและสงขลาชัดเจน พลังประชารัฐนั้นมี แต้มต่อตั้งแต่ต้น เพราะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่อันแข็งแรงของ สิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส. ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสมาชิกภาพ โดยเฉพาะเขตหลักสี่นั้น มีชื่อ สิระ เจนจาคะ คิดดี ทำดีติดอยู่ทั่วชุมชนเต็มไปหมด

ทั้งชื่อชั้นของสิระในกลุ่มบ้าน ไม่มีรั้ว ซึ่งสิระดูแลอย่างต่อเนื่อง บวกกับกระแส เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่รวมถึง กระสุนของพรรคพลังประชารัฐ ในปี 2562 นั้น ส่งผลให้สิระได้รับคะแนนเสียง ส.ส. มากกว่า 3.4 หมื่นคะแนน เอาชนะ สุรชาติ เทียนทอง แชมป์เก่า ไปได้ 2,000 คะแนน ด้วยข้อครหาต่างๆ ที่ตามมามากมาย

แต่รอบนี้ต่างออกไป สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ นอกจากจะ โนเนมในพื้นที่แล้ว ยังเดินหาเสียงเลือกตั้งในสภาวะแห่งความแตกแยกของพรรคพลังประชารัฐ หลายกลุ่มพกมีดกันคนละเล่ม พร้อมใช้มีดแทงข้างหลังกัน

ถาวร เสนเนียม ให้สัมภาษณ์ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมาว่า พลังประชารัฐแตกออกเป็นถึง 11 กลุ่ม อาทิ กลุ่มพลเอกประยุทธ์, กลุ่มพลเอกประวิตร, กลุ่มสามมิตร, กลุ่มสันติ พร้อมพัฒน์ ว่าที่เลขาธิการพรรค, กลุ่มวิรัช รัตนเศรษฐ, กลุ่มดาวฤกษ์, กลุ่มฟรีแลนซ์ ฯลฯ รวมตัวกันอยู่ในพรรคเดียว บวกกับสิระเองก็ ไม่เผาผีกับร้อยเอกธรรมนัส จึงทำให้ขาดทรัพยากรสำคัญในการช่วยหาเสียงไป

การเลือกตั้งรอบนี้ พรรคพลังประชารัฐจึงรู้ตัวล่วงหน้าอยู่แล้วว่ามีความเป็นไปได้ในการ แพ้สูง และไม่ได้ทุ่มสุดตัว ทั้งในแง่ทรัพยากร ในแง่กระสุน และในแง่กำลังคน สังเกตได้ว่า ลุงป้อมเดินหาเสียงในพื้นที่เพียงสองครั้ง และเจาะเพียงกลุ่ม คนชราในพื้นที่ ไม่เคยมีเวทีปราศรัยใหญ่ ซึ่งออกจะผิดฟอร์มพรรคแชมป์เก่าอย่างพรรคพลังประชารัฐไปอย่างมาก

แต่ทั้งหมดก็ยังไม่มีใครคาดคิดว่าผลลัพธ์จะออกมาได้ เละขนาดนี้ ปัจจัยดังกล่าวผสมรวมกัน ทำให้สรัลรัศมิ์ได้คะแนนไปเพียง 7,906 คะแนน ตกไปอยู่เป็นอันดับ 4 แบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

 

3. ไทยภักดี

ไทยภักดีพรรคการเมืองน้องใหม่ที่ตัดสินใจชิมลางลงสนามเป็นครั้งแรก ด้วยผู้สมัครที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนอย่าง พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ ด้วยจุดขาย ขวาเต็มที่ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เต็มขั้น พร้อมระดมสรรพกำลังจากอินฟลูเอนเซอร์ฝ่าย ขวาทั้งหมดให้ลงมาที่พรรคนี้ ไม่ว่าจะเป็น พลตรี นายแพทย์ เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ คู่แค้นของสิระ ราชสกุลรังสิต หรือเครือข่าย สถาบันทิศทางไทยรวมถึงชูจุดขาย สนับสนุน ลุงตู่อยู่ต่อ 

ด้วยเหตุนี้ สโลแกน ไม่กุ๊ย ไม่กร่าง ไม่โกงจึงตั้งขึ้นมาเพื่อให้ไทยภักดี ต่างจากพรรคพลังประชารัฐ กระทบกระเทียบโดยตรงที่ตัว สิระขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งก็เลือกวางจุดยืน ไม่แตะกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ต่างจาก พรรคกล้าที่เคยเสนอเรื่อง กรรมการกลั่นกรองม.112 ขึ้นมาก่อนหน้านี้ หวังให้ 5 หมื่นคะแนนเดิมมาลงที่ไทยภักดีมากที่สุด

สัปดาห์สุดท้าย นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม นำทีมปราศรัยใหญ่ นำโดย อุ๊ หฤทัย ม่วงบุญศรี อดีตนักร้องชื่อดัง เสนอให้กลุ่ม สามกีบย้ายไปอยู่เกาะร้าง และให้ ไอ้ตี๋เป็นผู้นำ พร้อมด้วยสารพัดกองเชียร์ที่ร่วมกันส่งเสียงเชียร์ว่า หากไม่มีพรรคการเมืองแบบ ไทยภักดีสถาบันฯ อาจถูกคุกคามหนักกว่านี้ จนทำให้กลุ่ม เชียร์ลุงเดิม หันมาสนับสนุนพรรคนี้อย่างเสียมิได้ แม้จะประกาศนโยบายเศรษฐกิจปากท้องมาน้อยมากก็ตาม

จากเหตุผลดังกล่าว ความ สุดโต่งของพรรคไทยภักดีจึงตัดคนจำนวนมากที่ต้องการออกจากความขัดแย้ง ต้องการออกจากการเมืองแบบ เกลียดชังให้หันไปหาพรรคอื่น

กระนั้นเอง คะแนนของพรรคไทยภักดีที่ได้ถึง 5,987 คะแนน ก็ไม่ได้น่าเกลียด เมื่อเทียบกับยุทธศาสตร์ของพรรค และหากใช้การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 มาทาบ ก็จะพบว่ารอบนี้ไทยภักดีได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรค เศรษฐกิจใหม่ของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่เคยได้ 5,872 คะแนนด้วยซ้ำ ถือเป็นตัวเลือกที่น่ากลัวมากทีเดียว 

 

4. กล้า

การตัดสินใจส่ง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ลงชิงชัยในสนามดังกล่าว ถือเป็นการทุ่มหมดหน้าตัก ด้วยหวังว่าคะแนนครึ่งแสนเดิมจะถูกแบ่งมาที่ กล้ามากที่สุด จากบรรดาคนการเมือง คนกรุง สายกลาง ที่สนใจนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงเน้นเรื่อง ปฏิบัตินิยมให้กับคนกรุง ผู้ไม่ประสงค์ความขัดแย้ง และไม่ต้องการทะเลาะกับใคร

ทว่าไม่กี่วันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง กล้ากลับมีน้ำเสียงแปร่งๆ ด้วยการประกาศเข้าไปเป็นรัฐบาล สนับสนุนพลเอกประยุทธ์อย่างเต็มที่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พรรคนี้ เคยชู กรณ์ จาติกวณิชหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด 

แน่นอนว่าผู้บริหารพรรคประเมินตรงกันว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะยังคงพอ ขายได้และหวังว่าในบรรดาตัวเลือกฝ่ายนี้ทั้ง 3 พรรค อรรถวิชช์นั้นมีโอกาสมากที่สุด

เพราะแน่นอนว่าชื่อชั้นของอรรถวิชช์โดดเด่นกว่าชื่อของสรัลรัศมิ์และพันธุ์เทพ และอรรถวิชช์มีฐานเสียงเดิมอยู่ในเขตจตุจักร รวมถึงเพื่อนรักของอรรถวิชช์อย่าง สกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.เขตหลักสี่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีฐานเสียงเก่าเพื่อช่วยอรรถวิชช์ในเขตหลักสี่อย่างเต็มที่ 

แต่การเทคะแนนลงมานั้นไม่เป็นผล เพราะเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนรักพลเอกประยุทธ์จำนวนมากเลือกแล้วที่จะไปต่อกับไทยภักดี และอีกจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าพลเอกประยุทธ์นั้น หมดสภาพไม่ได้แข็งแรงพอที่จะเป็นจุดขายได้อีกต่อไป ไม่ว่าพรรคใดจะชูพลเอกประยุทธ์ขึ้นมาก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่สนใจ เปลี่ยนการเมือง และมุ่งมั่นจะทดลองอะไรใหม่ๆ จำนวนไม่น้อย จึงเลือกไปต่อกับพรรคก้าวไกล ที่แม้จะส่ง กรุณพล เทียนสุวรรณ นักแสดง มาลงพื้นที่เพียง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ก็ยังได้คะแนนชนะอรรถวิชช์ไป 300 คะแนน

หลังการประกาศคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ อรรถวิชช์และกรณ์เห็นตรงกันว่า การอยู่ในภาพของการเมืองเก่า รวมถึงความขัดแย้งโดยตรงแบบพลังประชารัฐและไทยภักดีนั้น ไปไม่ไหวแล้ว

ถอดบทเรียนจากจุดนี้ กล้าก็ควรจะได้บทเรียนว่าการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์​ โดยที่มีหัวหน้าพรรคของตัวเอง พร้อมประกาศตัวเป็นนายกฯ และการขายพวก สุดโต่ง ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้วในศักราชนี้

 

5. คะแนนของทั้งสองฝั่ง

ถอยกลับมามองภาพคะแนนการเลือกตั้งหลักสี่จตุจักร จะพบอีกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายเชียร์พลเอกประยุทธ์ อยู่ที่ 3.4 หมื่นคะแนน ขณะที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนั้นรวมกันได้เกือบ 5 หมื่นคะแนน 

ต่อให้ใช้ข้ออ้างเรื่องผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย มีการเปลี่ยนหน่วยเลือกตั้ง หรือคน เบื่อไม่อยากมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่ในอำนาจได้อย่างสะดวกโยธิน ก็ต่อเมื่อ 3 ป. ลงรอยกัน โดยมีพรรคพลังประชารัฐผลึกกำลังอย่างเหนียวแน่นเท่านั้น จนนำมาสู่ข้อสรุปว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ได้ ขลังเหมือนเดิมแล้ว

ในอดีต พลเอกประยุทธ์เว้นระยะห่างจากการเมือง วางตัวแบบเดียวกับ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ โดยทำตัวออกห่างจากการเมือง ไม่สังกัดพรรคการเมือง และหวังจะให้พรรคการเมืองหนุนตัวเองผ่านการใช้กำลังภายใน บีบ แต่ยิ่งดูวันนี้ ยิ่งชัดว่าทุกพรรคที่หนุนพลเอกประยุทธ์ต่างก็ประสบปัญหา คงเหลือคะแนนเพียงร่อยหรอ

ภาพที่ชัดเจนหลังการเลือกตั้งหลักสี่ จตุจักร สะท้อนออกมาว่าการเมืองแบบเดิมไม่มีความหมายอีกต่อไป และหลังจากนี้ ความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐจะยิ่งมากขึ้นจนพร้อมแตกเป็นเสี่ยงๆ เมื่อไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการเมืองที่ไม่อาจขายพลเอกประยุทธ์ได้อีกแล้ว ยิ่งส่งผลให้หลังจากนี้ ส.ส.​ 11 กลุ่มในพรรคพลังประชารัฐพร้อมแปรสภาพเป็น ของเหลวพร้อมไหลไปสู่ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ที่นี่ ยิ่งเมื่อผสมกับการเดินหมากอันซับซ้อนและพิลึกของร้อยเอกธรรมนัสที่วันนี้ยังไม่จบ ก็ยิ่งหมายความว่าใกล้หมดเวลา 8 ปีอันยาวนานของ ลุงตู่’ แล้ว

คำถามหลังจากนี้จึงไม่ใช่พลเอกประยุทธ์จะต้อง ไปหรือไม่ และไม่ใช่ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ มีเพียงแต่ว่าจะไป เมื่อไรไปช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

Tags: , , , , , , , , , , , ,