วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 17.23 น. ที่รัฐสภา อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแบบไม่ลงมติ มาตรา 152 ระบุว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับวิกฤติการเมือง ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สามารถฟื้นตัวได้ คนไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยอมรัตน์ระบุว่า ตอนนี้มีวิกฤติการเมืองสามอย่างที่ต้องแก้โดยด่วนคือ 1. วิกฤตผู้นำ 2. วิกฤตระบบการเมือง 3. วิกฤตนิติรัฐ
“ในแง่ผู้นำ นาทีนี้คงไม่ต้องพูดกันแล้วว่ากองทัพส่งแม่ทัพนายกองมายึดอำนาจ สามารถยึดได้จริง แต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ นอกจากนั้นกองทัพไทยตกเป็นเครื่องมือของเครือข่ายนายทุนใหญ่กับฝ่ายจารีตนิยมขวาจัด ที่แบ่งปันอำนาจอย่างลงตัวราวกับฝาแฝดอินจัน สุขสบายบนหลังประชาชน กินอยู่สบายบนกองภาษีอากรของประชาชน”
อมรัตน์ระบุว่า หลังเกิดรัฐประหารสองครั้งล่าสุด คือรัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารปี 2557 เกิดการสร้างระบอบการเมืองแบบใหม่ที่ยังไม่มีชื่อ โดยจะขอเรียกระบอบการเมืองนี้ว่า ‘ประชาธิปไตยจอมปลอม’ ที่ทำลายระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย ระบอบนี้อนุญาตให้ประชาชนเข้าคูหาหย่อนบัตรเลือกตั้งได้เป็นครั้งคราว แต่อำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชน ยังคงอยู่ในมือของเครือข่ายนายทุนและฝ่ายจารีตนิยมขวาจัดตลอดมา
“การที่จะนำระบบการเมืองกลับเข้ามาอยู่ในเส้นทางประชาธิปไตยมีทางเดียว คือเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อใช้แทนร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้อยู่ ณ ขณะนี้
“ในแง่วิกฤตนิติรัฐ เกิดการทำนิติสงครามกับประชาชน เกิดจากความลุแก่อำนาจย่ามใจของพวกสืบทอด ใช้กฎหมายปราบปรามประชาชน แทนการใช้กำลังอาวุธแบบเดิมๆ เปลี่ยนมาใช้กฎหมายแจกคดีความให้ประชาชน จนกระทั่งเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันตุลาการอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
“ทำนิติสงครามได้โดยง่าย ในเมื่อ คสช. เข้าสู่อำนาจได้จากการปูทางจากระบบตุลาการภิวัตน์ เมื่อ คสช. เข้ามา แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนั้น สนช. แต่งตั้งองค์กรอิสระ แต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหลังผสมโรงกับอีก 250 ส.ว. หลังจากนั้นเกิดการโยกย้ายยึดกุมระบบราชการ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่คนไหนไม่เห็นด้วยก็ไม่อาจแข็งขืนต้านทานได้ เพราะกลัวภัยมาถึงตัว เมื่อยึดองค์กรอิสระได้ อาศัยว่ามีสื่อที่ควบคุมได้อยู่ในมือ ใช้สื่อสะกดจิตสังคม พาดหัวข่าวไม่ให้คนสนใจรายละเอียดทางกฎหมาย หลังจากนั้นจะมีกระบวนการทำให้ความขัดแย้งทางการเมือง กลายเป็นเป็นคดีความทางกฎหมาย หลังจากนั้นคดีความขึ้นสู่เงื้อมมือของศาล ซึ่งศาลที่คนทั่วไปมีความเชื่อเดิมว่าเป็นกลาง เป็นอิสระ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่”
เธอยังกล่าวอีกว่า กฎหมายความมั่นคงถูกรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมนำมาใช้จัดการกับคดีความทางการเมืองอย่างไม่ละอาย เพื่อกลั่นแกล้ง บีบคั้น ทารุณ หวังให้กลัว หวังให้เข็ด หวังว่าจะไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของตัวเองอีก หากใครไม่สยบยอม ก็บังคับทรมานด้วยการเอาตัวไปขังในเรือนจำทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาและเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ได้รับสิทธิประกันตัว จนมีกระแสสังคมทั้งในประเทศและเวทีโลกกดดัน ก็ยอมให้ประกันตัวแต่ยังล่ามไว้อยู่ด้วยกำไลข้อเท้าอีเอ็ม
“ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวที่บีบบังคับ ทารุณ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขังให้อยู่ในบ้าน ท่านประธานทราบไหมว่าตั้งแต่กลางปี 2564 จนถึงเดือนมกราคมปีนี้ มีประชาชนและเยาวชนถูกดำเนินคดีความแล้วอย่างน้อย 1,767 ราย จาก 1,009 คดี ตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำที่รวบรวมจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้นในบรรดาคดีการเมือง แบ่งเป็นคดีอาญามาตรา 112 รวม 169 คดี คดีความมั่นคงมาตรา 116 มากถึง 116 คดี เป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมโรคระบาด ที่ใช้กับผู้ชุมนุม 1,428 คดี ยังไม่รวมถึง พ.ร.บ.การชุมนุม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.ความสะอาด
“น่าเศร้าที่ชนชั้นนำไทยยึดติดอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิม คับแคบ เอาแต่หวาดกลัวว่าสังคมจารีตไทยแบบที่ตัวเองยึดมั่น ถือมั่น และคุ้นเคย กำลังถูกบ่อนเซาะทำลาย ไม่ยอมเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยถูกออกแบบมารองรับความเชื่อ ความฝันที่หลากหลาย มีพื้นที่ให้ทุกคนที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ นี่คือยุคมืดอย่างแท้จริง ยุคที่กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ยุคที่ศาลไม่เป็นศาล ยุคที่องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระ รวมทั้งเป็นยุคที่เกิดคดีความทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์หลังจากยุคสงครามเย็น
“การใช้นิติสงครามทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว อาจจะช่วยต่ออายุรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไปได้อีกเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่ได้หลังจากนั้น ไม่ได้มีประโยชน์ ไม่ได้แก้ปัญหาใดได้เลย นอกจากจะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอวันปะทุ หากไม่รีบแก้ไข ไม่รีบถอนฟืนออกจากกองไฟ สุดท้าย สถาบันหลักของชาติ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา ศาล และทุกสถาบันของประเทศนี้ก็จะพังกันไปหมด การทำนิติสงครามกับประชาชนจะต้องหยุดลงทันที”
อมรัตน์เรียกร้องให้เร่งปฏิรูปสถาบันทางกฎหมาย ปฏิรูปสถาบันศาลโดยเร็ว หยุดการดำเนินคดีทางการเมือง ส่วนคดีการเมืองที่ดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้ว ต้องกลับมาทบทวนใหม่ตามกลไกระบอบประชาธิปไตย และเปิดพื้นที่พูดคุยเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม โดยประตูบานแรกคือการ ‘พิจารณานิรโทษกรรมคดีการเมืองทั้งหมด’
เวลาแม่ทัพก่อการกบฏ ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยวิถีทางนอกประชาธิปไตย ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แต่แม่ทัพเหล่านี้สามารถนิรโทษกรรมตัวเองได้เสมอ ในขณะที่ประชาชนมือเปล่าที่ถูกกฎหมายความมั่นคงกดขี่ เพียงแค่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการชุมนุม ที่ทำให้ตั้งคำถามว่าแล้วทำไมประชาชนถึงนิรโทษกรรมบ้างไม่ได้ ในเมื่อความหนักเบาของความผิดเทียบกับไม่ได้เลย
การนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อสมานรอยร้าวในสังคมไทยเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง อมรัตน์ยกตัวอย่าง 3 ครั้ง ทั้งพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ โดยในปี 2488 สมัยรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้กับกลุ่มที่มีความผิดฐานกบฏ เพื่อปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนิยมเจ้า บุคคลสำคัญมากคนหนึ่งที่ได้รับการนิรโทษกรรมคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ต่อมากลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ครั้งต่อมาคือการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในปี 2499 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ในโอกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ แก่นักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏ หนึ่งในนั้นที่ได้รับการปล่อยตัวคือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่รู้จักกันในนาม ‘ศรีบูรพา’ และอีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2521 สมัยรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หลังการล้อมปราบช่วงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
“ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคนถูกจับกุมตัวนับพันคน หลายคนในนั้นถูกดำเนินคดีร้ายแรงหลายมาตรา ความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท รวมทั้งข้อหามาตรา 112 และมาตราเกี่ยวกับความมั่นคงภายในและภายนอกราชอาณาจักร แต่ต่อมา การพิจารณาคดี 6 ตุลาคมในชั้นศาล กลายเป็นเวทีเปิดโปงความโหดร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำกับนักศึกษาและประชาชน ในเวทีเดียวกันนี้ ก็ได้เป็นเวทีที่ยืนยันความบริสุทธิ์ของนักศึกษาและประชาชน จนภายหลังส่งผลกระทบต่อรัฐบาลที่เข้ามามีอำนาจหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับจำเลยทุกคนทันที”
อมรัตน์กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของการเปิดประตูบานแรก เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมซึ่งเคยทำมาแล้วหลายครั้ง ก่อนยกตัวอย่างไต้หวันในสมัยก่อนที่มีระบบการเมืองและเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เคยตกอยู่ในการเมืองแบบเผด็จการ มีการขึ้นบัญชีดำคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่พากันหนีออกจากบ้านเกิด ไม่กลับมาใช้ชีวิตในไต้หวัน จนเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องการวางยุทธศาสตร์ชาติให้ไต้หวันเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนทางเทคโนโลยี กลับเกิดปัญหาสมองไหล
รัฐบาลไต้หวันในช่วงเวลานั้นแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการเยาวชนแห่งชาติ เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะสมองไหล ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดจากการยอมรับความจริงว่าประเทศกำลังขาดเสรีภาพทางการเมือง ขาดเสรีภาพทางวิชาการ สภาพสังคมไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ และได้ออกมาตรการดึงดูดให้คนกลับบ้านเกิด ปรับหลักการเกณฑ์ทหาร เปิดให้พรรคฝ่ายค้านได้เลือกตั้งเสรีเป็นครั้งแรกหลังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกมานานกว่า 40 ปี หลังการเลือกตั้งกฎอัยการศึกดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิก
ระดับเสรีภาพของประชาชนในไต้หวันเพิ่มขึ้นในระดับมาตรฐานสากล การเมืองที่เปิดกว้างกับนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล ทำให้วิศวกรนับหมื่นรายเดินทางกลับบ้านเกิด กลับมาพร้อมประสบการณ์ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้ง มอริส ชาง ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของโลก ที่เคยเป็นหนึ่งในภาวะสมองไหล แต่สุดท้ายเดินทางกลับมาอยู่ที่ไต้หวัน
“หากประสบการณ์ที่ไต้หวันจะบอกอะไรเราสักอย่างคือ เราจะไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้หากไม่ปรับสภาพแวดล้อมทางการเมืองให้เหมาะสม ทันยุคสมัย อย่าปล่อยให้ความหวงแหนอำนาจของคนรุ่นเก่าผลักไสคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ การมีนิติรัฐและการนิรโทษกรรมให้กับเยาวชน ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองหรือสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยสร้างสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอีกด้วย
“การนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่การปล่อยเพื่อนเรา แต่คือการปลดปล่อยศักยภาพของประเทศ ประเทศที่กักขังความคิดของเยาวชน คือการกักขังความคิดสร้างสรรค์ บีบให้มนุษย์หมดความกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะทดลอง ไม่กล้าตั้งคำถาม และหมดความสามารถที่จะคิดนอกกรอบ ทั้งหมดที่ว่ามาคือคุณสมบัติที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่
“คนไทยยุคใหม่จำนวนมากมีความคับข้องใจกับโอกาสอันตีบตัน พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะสามารถลืมตาอ้าปาก หรือใช้ชีวิตที่มีคุณค่าในประเทศที่มีโครงสร้างทางการเมืองและสังคมอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้ได้อย่างไร นี่ไม่ใช่การยืนขึ้นเรียกร้องความเมตตาจากผู้มีอำนาจ ไม่ใช่การวิงวอนร้องขอการอภัยโทษให้กับประชาชน แต่คือการยืนขึ้นมาเสมอกัน เพื่อส่งเสียงจากสภาแห่งนี้ไปยังรัฐบาล ไปยังชนชั้นนำทั้งหมดในประเทศ”
Tags: รัฐสภา, ประชุมสภา, อภิปราย, พรรคก้าวไกล, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, นิรโทษกรรม, สสเจี๊ยบ, อภิปรายแบบไม่ลงมติ