โค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2024 เห็นได้ชัดว่า เหล่าแคนดิเดตตัวเต็งต่างทิ้งกลยุทธ์เพื่อซื้อใจประชาชนผู้ลงคะแนนเสียง สะท้อนจากสถานการณ์การเยือนรัฐที่มีความผันผวน (Swing States) เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขึ้นเวทีปราศรัยที่เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) รัฐ ‘ตัดเชือก’ ผลคะแนนที่มีคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) สูงสุดถึง 19 ที่นั่ง ขณะที่ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) เลือกหาเสียงที่มิชิแกน (Michigan) รัฐที่สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ (New York Times) เผยว่า คะแนนของเธอและทรัมป์สูสีกินกันไม่ลง
มากกว่านั้น หนึ่งใน ‘ไพ่ใบเด็ด’ ที่ทำให้ทุกคนต่างเหลียวหลังเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา คือการที่ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) แคนดิเดตพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ประกาศกร้าวพร้อมยุติ ‘สงครามในกาซา’ หากได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในระหว่างการหาเสียงที่รัฐมิชิแกน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยชาวอาหรับ-อเมริกันถึง 2 แสนคน
“ในฐานะประธานาธิบดี ฉันจะทำทุกอย่างเพื่อยุติสงครามในกาซา พาตัวประกันกลับบ้าน และยุติความเจ็บปวดในกาซา รับรองความปลอดภัยของรัฐอิสราเอล รวมถึงคนปาเลสไตน์เพื่อให้พวกเขามีเกียรติ ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (Self-Determination)” รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว แต่ไม่ได้ระบุวิธีการแต่อย่างใด
แม้จะน่าสนใจไม่น้อย ที่แฮร์ริสหยิบยกประเด็นดังกล่าว ทว่าปฏิกิริยาล่าสุดของกลุ่มมุสลิมและอาหรับในสหรัฐฯ แสดงถึงความไม่ลงรอยกับนโยบายของเธอ หลังเกิดแคมเปญ ‘ไม่เอาทั้งทรัมป์-แฮร์ริส’ แต่กลับเลือกที่จะสนับสนุนแคนดิเดตที่ใครคาดไม่ถึงอย่าง จิลล์ สไตน์ (Jill Stein) จากพรรคกรีน (Green Party) แทน
แม้จะถูกตราหน้าว่า กำลังมอบชัยชนะให้ทรัมป์ทางอ้อม และทำลายประชาธิปไตยของประเทศ แต่เหตุใดพวกเขาจึงเลือกเส้นทางนี้?
Abondon Harris: แคมเปญจากชาวมุสลิม-อาหรับในสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา
หากเทียบจุดยืนระหว่างทรัมป์กับแฮร์ริสต่อปัญหาในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นที่ชัดเจนว่า ทรัมป์ไม่ใช่ตัวเลือกแรกสำหรับชาวมุสลิม-อาหรับในสหรัฐฯ หลังอดีตประธานาธิบดีสนับสนุนอิสราเอลอย่างโจ้งแจ้ง สะท้อนจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง คือการทำลายข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน และนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์ชาติอาหรับ จนได้รับคำชมจากเนทันยาฮูว่า เขาคือสหายที่ดีที่สุดจากทำเนียบขาวตลอดกาล
‘Lesser Evil’ หรือการเลือกสิ่งที่ ‘เลวร้าย’ น้อยกว่า
คือคำสำคัญที่กลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงเล็งเห็น โดยในช่วงต้นปี 2024 รายงานจากอัลจาซีรา (Al Jazeera) อภิปรายว่า คนมุสลิม-อาหรับและฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ต้อง ‘ปิดตาข้างเดียว’ เลือกพรรคเดโมแครต แม้จะเห็นชัดเจนว่า ไบเดนสนับสนุนอิสราเอล และยังนิ่งเฉยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา แต่ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากไม่ต้องการให้ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวได้อย่างภาคภูมิ
ทว่าในอีกกระแสหนึ่งก็เชื่อว่า การหลับหูหลับตาเลือกพรรคที่ส่งเสริมเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นเรื่องย้อนแย้ง โดยเฉพาะกับพรรคเดโมแครตที่เรียกร้องความเท่าเทียม แต่กลับเพิกเฉยต่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ
แคมเปญ ‘Abandon Harris’ (ไม่เลือกแฮร์ริส) จึงเกิดขึ้นภายในชุมชนมุสลิม-อาหรับกลุ่มหนึ่ง โดยเรียกร้องให้รองประธานาธิบดีหญิงยุติการสนับสนุนอิสราเอล ที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา หลังจุดยืนของเธอคือ แนวทางสองรัฐ (Two-State Solution) ที่ดูราวกับการจับปลาสองมือ และไม่เลือกข้างความถูกต้อง
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ แคมเปญดังกล่าวได้รับการรับรองโดยคณะกรรมาธิการทางการเมืองมุสลิมและอาหรับอเมริกัน (American Arab and Muslim Political Action Committee: AMPAC) โดยให้เหตุผลว่า ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสต่างไร้ความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาวิกฤตมนุษยธรรมในกาซาและเวสต์แบงก์
“เป้าหมายของเราคือ การลงโทษรองประธานาธิบดีจากเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อทำให้เธอพ่ายแพ้ และส่งสัญญาณไปในโลกการเมืองว่า คุณไม่ควรละทิ้งพวกเรา”
ฮัสซัน อับเดล ซาลัม (Hassan Abdel Salam) ผู้ก่อตั้งแคมเปญ Abandon Harris ขยายความว่า แคมเปญนี้เปรียบเสมือนการต่อสู้บนพื้นฐานการเสียสละอีกรูปแบบหนึ่ง และไม่มีประโยคว่า ใคร ‘เลวร้าย’ น้อยกว่าใครในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต่อให้ทรัมป์มีท่าทีรังเกียจหรือเหยียดกลุ่มมุสลิมทั่วโลก แต่การต้องไปลงคะแนนเสียงให้แฮร์ริสที่สนับสนุนอิสราเอล น่าละอายใจยิ่งกว่า ทั้งที่รู้ว่าสถานการณ์ในกาซาเป็นอย่างไร
สนับสนุนพรรคที่สามเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ แม้จะถูกตราหน้า
นอกจากการไม่สนับสนุนแฮร์ริสหรือทรัมป์ แคมเปญ Abondon Harris ยังผลักดันการลงคะแนนเสียงให้กับสไตน์ในฐานะแคนดิเดตจากพรรคกรีนที่หลายคนมองข้าม
สไตน์เป็นที่รู้จักในฐานะแพทย์หญิงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และแอ็กทิวิสต์ขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม เธอมีจุดยืนสนับสนุนปาเลสไตน์ ต่อต้านอิสราเอล รวมถึงสหรัฐฯ ที่ให้การค้ำจุนรัฐบาลของเนทันยาฮู โดยจุดเด่นในการขึ้นปราศรัยคือ การสวมใส่ผ้าพันคอลายเคฟฟิยะห์ (Keffiyeh) สัญลักษณ์ของชาวปาเลสติเนียน และโจมตีแฮร์ริสถึงความช่วยเหลืออิสราเอล ที่ทำลายกาซาและเลบานอนจนราบคาบ
‘ลงคะแนนเสียงให้กับสไตน์ ก็เหมือนการลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์’
ข้อความส่วนหนึ่งจากการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee: DNC) ที่แสดงให้เห็นความไม่ลงรอยระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยในสหรัฐฯ เมื่อต่างฝ่ายพยายามช่วงชิงจุดยืนระหว่างการปิดตาข้างเดียวเพื่อรักษาเสรีภาพ กับการตรงไปตรงมาเพื่อรักษาจุดยืน
แม้ครั้งหนึ่งจะมีผู้คนไม่น้อยที่ขอให้สไตน์ยุติการลงเลือกตั้ง โดยครั้งหนึ่งเคยมีชายแปลกหน้าเดินมาบอกว่า การมีอยู่เธอของทำให้ทรัมป์ปราชัย ฮิลลารี คลินตัน (Hilary Clinton) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และแคนดิเดตหญิงจากพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งปี 2016 หลังพรรคกรีนได้รับคะแนนเสียง 1.5 ล้าน แต่เธอก็ตอบคำถามนี้ในภายหลังว่า ขอให้เลิกคิดว่าใครเลวร้ายน้อยกว่ากัน แต่ให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแทน
เช่นเดียวกับกลุ่มมุสลิม-อาหรับที่สนับสนุนสไตน์ พวกเขาเชื่อว่า นี่คือการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ โดยเฉพาะพรรคนอกสายตาที่อาจมีส่วนร่วมกับการเมืองภายในประเทศในอนาคต เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวต่างชาติในสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับระบบสองพรรคมากขึ้น
“ฉันเบื่อกับระบบสองพรรค และเกมการเมืองของพวกเขาที่เห็นด้วยกับการสนับสนุนอิสราเอล” ฮานีน มาห์บูบา (Haneen Mahbuba) หญิงอิรัก-อเมริกันแสดงความคิดเห็นว่า เธอรู้สึกได้รับพลังจากการสนับสนุนสไตน์ และไม่ได้กลัววาทกรรมการโหวตเชิงกลยุทธ์ (Strategic Vote) อย่าง Lesser Evil แต่อย่างใด และในทางกลับกัน เธอกลับตั้งคำถามกับกลุ่มที่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ขณะที่ยังมีผู้ลงคะแนนเสียงส่วนหนึ่งเชื่อว่า การลงคะแนนเสียงให้กับสไตน์สอดคล้องกับแก่นแท้ของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการเลือกผู้สมัครที่สอดคล้องกับจุดยืน ค่านิยมและความเชื่อ โดยไม่อิงแอบกับเกมการเมืองใด
“เราลงคะแนนเสียงให้กับคุณหมอสไตน์ ไม่ใช่แค่เราเลือกลงคะแนนเสียงให้นโยบายถูกต้องและมีศีลธรรมที่สอดคล้องกับจุดยืน ผลประโยชน์ ความต้องการหลักของเรา แต่นี่ยังเป็นการลงคะแนนเสียงให้กับชาวปาเลสไตน์ และต้านทานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” วิสสัม ชาราฟีดดีน (Wissam Charafeddin) แอ็กทิวิสต์จากย่านดีทรอยต์ (Detroit) ทิ้งท้ายประโยคที่แสดงถึงการรักษาจุดยืนและอุดมการณ์เหมือนกับใครหลายคนทั่วโลก
ดังที่ ฮันนาห์ อาเรนดต์ (Hannah Arendt) นักประวัติศาสตร์หญิงชาวเยอรมัน-อเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ Eichmann in Jerusalem: A Report on the Banality of Evil และนั่งดูการพิพากษาจอมพลนาซีในเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เคยทิ้งประโยคย้ำเตือนมนุษยชาติไว้ว่า จุดอ่อนในข้ออ้างว่าด้วยการเลือกปีศาจที่เลวร้ายน้อยกว่า คือการหลงลืมอย่างรวดเร็วว่า คุณเคยเลือกปีศาจมากับมือ
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2024/11/03/us/politics/harris-trump-times-siena-poll.html
Tags: Donald Trump, kamala harris, สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, พรรคเดโมแครต, ตะวันออกกลาง, พรรครีพับลิกัน, เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024, กาซา, เลือกตั้งสหรัฐฯ, กมลา แฮร์ริส