วันนี้ (17 กรกฎาคม 2566) เวลา 18.30 น. ที่อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ หลังพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล 8 พรรคประชุมกันเสร็จสิ้น เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยครั้งที่สองในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุม 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยมีข้อสรุป 3 ข้อ ดังนี้
1. พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ยังคงมีมติส่งชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566
2. การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ว่าด้วยการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้มีแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภาสามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น เป็นการเสนอแก้ไขของพรรคก้าวไกลเอง ไม่เกี่ยวข้องกับ 7 พรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือ
3. หากเสียงของสมาชิกรัฐสภาไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตนและพรรคก้าวไกลจะยอมถอยให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับสอง เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแทน
พิธากล่าวว่า ความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคตอนนี้ยังคงเป็นไปด้วยดี ดังที่แจ้งไปว่า มีมติส่งตนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งครั้ง และตอนนี้ยังไม่มีชื่อสำรอง ยังเป็นชื่อตนเองเพียงคนเดียว
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับ ส.ว.ที่ไม่ได้เข้าประชุมและโหวตในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่ามี ส.ว.บางส่วนติดธุระ ไม่ได้เข้าประชุม อย่างไรก็ตาม คิดว่ายังคงมีแนวโน้มที่ ส.ว.จะลงคะแนนให้ อีกทั้งยังมีโอกาสได้คุยกับ ส.ส.เกือบทุกพรรค ยกเว้น ‘พรรคลุง’ เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นทางการเมืองทั่วไป ไม่ได้ขอเสียงสนับสนุนเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่หัวหน้าพรรคคุยกับหัวหน้าพรรค
สำหรับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 10% พิธากล่าวว่า จากที่คำนวณคร่าวๆ คือคาดหวังจาก 324 เสียง เป็น 344 หรือ 345 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญที่ก้าวไกลจะยอมถอย ทั้งนี้ไม่ได้คาดหมายหวังว่า เสียงที่เพิ่มขึ้นจะมาจากฝั่ง ส.ส.หรือ ส.ว.
ส่วนเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิธากล่าวย้ำว่า เป็นข้ออ้างที่อยู่ข้างหน้า แต่ว่าข้างหลังคงมีรายละเอียดอีกมากที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพรรคก้าวไกล เช่น สัมปทาน กองทัพ หรือกระทั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่สื่อมวลชนหลายสื่อวิเคราะห์กันก็ไม่ผิดนัก ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกันในแง่ของผลประโยชน์ทั้งสิ้น
สุดท้าย ในประเด็นปมถือหุ้นสื่อไอทีวีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดถกคำร้อง ซึ่งตรงกับวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้น เป็นวันเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองพอดี พิธากล่าวว่า ไม่ได้เป็นกังวลใดๆ “ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ไม่ทำให้ความเป็นแคนดิเดตของผมหายไป” พิธากล่าวปิดท้าย
ทางด้าน พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า พยายามหาเสียงมาสนับสนุนให้พิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น โดยข่าวที่ออกมาว่ามีไปดีลกับพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องจริง โดยที่ในส่วนนี้ตนเป็นผู้ดีลมาเองส่วนตัว ไม่ใช่มติของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 7 พรรค
ส่วนเรื่องเงื่อนไขว่าด้วยการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 นั้น คิดว่าเป็นสิ่งที่แก้เมื่อใดก็ได้ และเป็นสิ่งที่แก้มาหลายครั้งแล้ว แต่อยู่ที่เนื้อหาว่าจะแก้ไขอย่างไรมากกว่า
ทางด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยืนว่า การประชุมของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลที่เพิ่งจบไปเมื่อสักครู่เป็นไปได้ด้วยดี มติเป็นไปตามที่พิธาแถลง และส่วนตัวไม่ได้ติดใจเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพราะเป็นมติของพรรคก้าวไกลเอง ไม่ใช่มติร่วมของทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล
Tags: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พรรคร่วมรัฐบาล, ก้าวไกล