จากกรณีที่กองทัพเรือเมียนมาใช้อาวุธยิงถล่มกลุ่มเรือประมงไทย ภายหลังรุกล้ำเข้าเขตน่านน้ำของประเทศเมียนมา บริเวณจังหวัดเกาะสอง เพื่อทำการประมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จากนั้นทหารเมียนมาเข้ามาจับกุมลูกเรือไทยจำนวน 4 ราย รวมถึงยึดเรือเพื่อดำเนินคดี เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน 2667

ทำให้ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยเข้าพบ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวลูกเรือทั้ง 4 รายโดยเร็ว และขอให้ทางการไทยเข้าเยี่ยมลูกเรือทั้งหมดได้ อีกทั้งยังทำหนังสือท้วงกรณีความรุนแรงที่เกิดอีกด้วย เนื่องจากการยิงดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด มีรายงานจากจังหวัดเกาะสองว่า ศาลมีคำสั่งตัดสินจำคุกเจ้าของเรือประมงเป็นเวลา 5 ปี ในความผิดข้อหาหนักคือ รุกล้ำทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำคุกอีก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษเป็นการจำคุก 6 ปี และปรับอีก 2 แสนจ๊าต (ประมาณ 3,200 บาท)

ขณะที่ลูกเรืออีก 3 ราย สั่งจำคุกคนละ 3 ปี ในข้อหารุกล้ำทำประมงในน่านน้ำประเทศเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำคุกอีก 1 ปี ในข้อหาลักลอบเข้าประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมโทษเป็นการจำคุก 4 ปี และปรับอีกคนละ 3 หมื่นจ๊าต (ประมาณ 500 บาท)

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (17 ธันวาคม 2567) รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนถึงกระแสการปล่อยตัวลูกเรือไทยทั้ง 4 ราย ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้า สิ่งที่ตนต้องการคือ ความชัดเจนว่าลูกเรือไทยจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อไร อีกทั้งต้องการเห็นท่าทีของทางการไทยต่อกรณีความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุมากกว่านี้ และจับตามองว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกปลอดภัยในการทำมาหากิน

วันนี้ The Momentum ต่อสายไปยัง สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ Human Rights Watch ประเทศไทย เพื่อหาคำตอบถึงแนวทางการจัดการต่อกรณีลูกเรือไทยทั้ง 4 รายให้มีท่าทีที่เหมาะสม รวมถึงแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรุกน่านน้ำของชาวประมงไทยอีกในอนาคต

สุนัยฉายภาพกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นให้ฟังก่อนว่า เป็นกระบวนการที่ทำกันโดยปกติ ไม่เพียงแต่เมียนมาทำกับไทยเท่านั้น หากมีเรือประมงของประเทศเพื่อนบ้านรุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำไทย ทหารเรือของไทยก็ใช้วิธีการนี้เช่นเดียวกันคือ ‘จับกุม-ดำเนินคดี-ยึดเรือ’ และหลังจากนั้นก็จะมีการเจรจาต่อว่า จะดำเนินจับคุมขังตามคำพิพากษา หรือเพียงแค่รอลงอาญาและจ่ายค่าปรับก่อนจะส่งตัวกลับไปเท่านั้น

“กรณี 4 ลูกเรือไทยล่าสุดที่ได้ข้อมูลมาบอกว่า ศาลของเมียนมาพิพากษาลงโทษจำคุก แต่เป็นการรอลงอาญา คือไม่ได้จำคุกจริงๆ หลังปีใหม่ก็มีกระบวนการส่งตัวกลับมาให้ไทย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นช่องทางตามหลักปฏิบัติ” สุนัยกล่าว

ขณะที่ประเด็นของการใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุของทหารเรือเมียนมานั้น สุนัยมองว่า ผิดหลักปฏิบัติ เพราะเป็นการยิงเรือประมงของไทยโดยที่ไม่ได้มีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการคุกคามต่อเจ้าหน้าที่เมียนมา อีกทั้งทหารเมียนมายังยิงไปที่บริเวณเก๋งเรือซึ่งมีคนอยู่ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ

“เท่าที่ทราบแม้แต่คำขอโทษทางฝั่งเมียนมาก็ไม่ขอโทษ แต่กลับอ้างว่าเป็นการกระทําที่สมแก่เหตุแล้วว่า เรือประมงไทยเป็นภัยคุกคาม แต่พอศาลเมียนมาพิพากษาออกมา ส่วนที่ทางทหารเมียนมาอ้างว่า เรือไทยต้องสงสัยจะเป็นภัยคุกคาม ในคําพิพากษาในการไต่สวนคดีไม่มีข้อมูลในส่วนนี้เลย จุดนี้เป็นจุดที่ต้องบี้กันต่อไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศต้องเรียกร้องให้เกิดความกระจ่าง”

ดังนั้นแล้วสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องเรียกร้องต่อมีประเด็นอะไรบ้าง ผู้เขียนถามกลับ

ที่ปรึกษา Human Rights Watch ให้คำตอบว่า กระทรวงการต่างประเทศต้องส่งหนังสือประท้วงความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปยังทางการของเมียนมา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องรอเวลาให้เมียนมาอธิบายคำตอบมา อย่างไรก็ตามท่าทีของเมียนมายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เพราะกองทัพยังยืนกรานว่า เจ้าหน้าทหารไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ แต่ในข้อมูลของกระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ได้ระบุถึงความชอบธรรมที่ยิงปืนใส่ลูกเรือของไทยแต่อย่างใด

“ส่วนนี้ต้องเป็นสัญญาณเตือน เพราะอย่างน้อยข้อมูลไม่รองรับการใช้ความรุนแรงเลย เราต้องเรียกร้องให้มีการสอบสวนทําความกระจ่างในกรณียิงเรือไทยครั้งนี้ รวมทั้งขอให้ทหารเมียนมาให้หลักประกันว่าจะไม่ทําแบบนี้อีก มิเช่นนั้นต่อไปเรือประมงไทยที่ผ่านน่านน้ําเมียนมาไปทําประมงผิดกฎหมายจะถูกยิงหรือไม่ หรือจะมีลูกเรือไทยเสียชีวิตหรือบาดเจ็บแบบนี้อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องมีหลักประกันที่ชัดเจนจากทางฝั่งเมียนมา” สุนัยกล่าว

ในส่วนการดำเนินคดีตามกฎหมาย สุนัยมองว่า มีความกระจ่างชัดเจนและใกล้สิ้นสุดแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การทำให้เห็นว่า ชีวิตของลูกเรือชาวประมงไทยนั้นมีความหมายทั้งในกรณีนี้และในอนาคต อีกทั้งทางการไทยต้องเรียกร้องไปยังรัฐบาลกลางของเมียนมาต่อว่า หากกองทัพเมียนมายังกระทำเกินความเหตุเช่นนี้อีก ต้องสามารถให้คำตอบได้ หากไม่มีคำตอบจะได้รับผลกระทบจากการกระทำเช่นไร

เมื่อถามต่อถึงแนวทางการป้องกัน ไม่ให้เรื่องการรุกล้ำพื้นที่น่านน้ำลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกควรเป็นอย่างไร สุนัยเสนอแนวทางการเจรจาประมูลพื้นที่การประมงทางทะเล เนื่องจากว่า รากของปัญหาที่แท้จริงคือ ทรัพยากรในทะเลไทยขาดความสมบูรณ์ อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกลุ่มเรือประมงจับปลาทูที่ยอมรับกันว่า ปัจจุบันทะเลไทยไม่มีปลาทูเหลือ จึงต้องไปจับในเขตประเทศอื่น เพราะฉะนั้นต้องกลับมาการเจรจาเพื่อใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน

“อาจจะเป็นเรื่องของการทําสัมปทาน ตอนนี้สัมปทานเป็นสัมปทานใต้โต๊ะ คือจ่ายเงินเคลียร์เพื่อให้เรือเข้าไปทำประมงได้ แล้วบางทีก็เกิดขัดอกขัดใจกันหรือล้ําเส้นเขตแดน ทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเขาก็ใช้กําลังรุนแรงกลับมา ดังนั้นต้องเอาทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนดิน ทําให้ถูกกฎหมาย เจรจาต่อรองไปว่า การทําสัมปทานประมงในประเทศเพื่อนบ้านทําได้ในพื้นที่ใดบ้าง ทําได้ในจํานวนเรือเท่าไร เข้าไปอย่างไร จดทะเบียนเรืออย่างไร

“เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะทําขึ้นมาให้เปิดเผย และก็จะเป็นเกราะคุ้มกันเรือประมงไทยด้วยว่า พอทุกอย่างเปิดเผยแล้ว ถ้าเกิดว่าประเทศเพื่อนบ้านเขาใช้ความรุนแรง หรือทําอะไรเกินกว่าเหตุ เราจะได้มีหลังพิงได้ว่ามีกรอบข้อตกลงกันไว้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันเถื่อนหมด” ที่ปรึกษา Human Rights Watch กล่าว

สุนัยกล่าวเสริมว่า แทนที่จะยุยงให้ไทยรบกับเมียนมานั้นไม่ตอบโจทย์ เรามาหาทางทําให้ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ เป็นสิ่งที่ได้รับการคุ้มกันได้กรอบความตกลงและเป็นผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนกันได้ โดยที่ในอนาคตเรือประมงไทยและลูกเรือไทยจะได้ไม่มีความเสี่ยง

“ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมันไม่ควรจะกระทบไปมากกว่านี้ คือมันกระทบไปแล้ว มันไม่ควรจะทําให้ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ ตอนนี้เห็นความพยายามอย่างมากที่จะมีการปั่นกระแสในเชิงที่เรียกได้ว่า เป็นการ ‘คลั่งชาติ’ ให้ใช้ความแข็งกร้าวตอบโต้กลับไปซึ่งนั่นไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย” สุนัยกล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , , ,