ในวาระครบรอบ 21 ปีเหตุโจมตี 11 กันยายน 2001 กลุ่มติดอาวุธตาลีบันกลับเข้าครองอำนาจ กลุ่มก่อการร้ายในเครือข่ายไอเอสสังหารผู้คนนับร้อย รวมถึงเจ้าหน้าที่อเมริกัน ขณะเตรียมอพยพที่สนามบินกรุงคาบูล จุดประเด็นคำถามว่า สงครามระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย ประสบความล้มเหลวใช่หรือไม่ 

อเมริกาตอบโต้เหตุโจมตีด้วยการบุกอัฟกานิสถาน โค่นรัฐบาลตาลีบัน ด้วยข้อหาให้ที่พักพิงแก่ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ที่โจมตีสหรัฐฯ ตามด้วยการรุกรานอิรัก โค่นซัดดัม ฮุสเซน ด้วยข้อหามีอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพในครอบครอง และมีสายสัมพันธ์กับอัลกออิดะฮ์

นอกจากมาตรการทางทหาร วอชิงตันยังเดินหมากทางการทูต ดึงพันธมิตรและมิตรประเทศเข้าร่วมในสงครามที่นำโดยสหรัฐฯ ด้วยการเสนอผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น โอกาสเปิดเจรจาทำข้อตกลงการค้าและการลงทุนแบบทวิภาคี และผลประโยชน์ด้านความมั่นคง เช่น การได้รับสถานะพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต

ถึงวันนี้ แม้ว่ากลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่มีขีดความสามารถระดับเดียวกับอัลกออิดะฮ์ ซึ่งโจมตีวอชิงตันและนิวยอร์กโดยการจี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเพนตากอน ตึกเวิลด์เทรด และอาจเล็งตึกทำเนียบขาวด้วยนั้น ได้ถูกปราบปรามไปมากแล้ว ทว่าชาติตะวันตกกำลังเผชิญภัยรูปแบบใหม่ 

นั่นคือ คนในประเทศที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มสุดโต่งผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ ให้ก่อเหตุรุนแรงแบบฉายเดี่ยว โดยใช้อาวุธเท่าที่หาได้ 

ตาลีบันยึดคืนกรุงคาบูล

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ตอบโต้เหตุโจมตี 9/11 ด้วยสงครามในสองประเทศ เดือนตุลาคม 2001 สหรัฐฯ ฯ พร้อมด้วยนาโตบุกอัฟกานิสถาน เดือนมีนาคม 2003 สหรัฐฯ ฯ ร่วมกับอังกฤษและออสเตรเลียบุกอิรัก 

สงครามใหญ่ทั้งสอง ซึ่งกินเวลานับสิบปี ถูกมองเป็นการรุกราน เพราะไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน บอกว่า สงครามที่ชาติพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ กระทำต่ออิรักนั้น ไม่ชอบด้วยกฎบัตรของยูเอ็น

ในกรณีอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ เปิดฉากโจมตีทางอากาศในวันที่ 7 ตุลาคม 2001 หลังจากรัฐบาลตาลีบันไม่ขานรับข้อเรียกร้องให้ส่งตัว อุซามะฮ์ บิน ลาดิน หัวขบวนเครือข่ายอัลกออิดะฮ์ ให้แก่สหรัฐฯ วอชิงตันระบุว่า ชายชาวซาอุดีอาระเบียผู้นี้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตราว 3,000 คน 

กลุ่มตาลีบันซึ่งปกครองอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 1996 ไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพที่เหนือกว่าหลายขุมได้ จึงผละออกจากกรุงคาบูลในวันที่ 6 ธันวาคม แล้วกระจายกำลังซ่องสุมอยู่ทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ รวมถึงข้ามพรมแดนเข้าไปในปากีสถาน 

ตาลีบันกลายเป็นเสี้ยนหนามของรัฐบาลอัฟกันชุดใหม่ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในปี 2004 ถึงแม้สหรัฐฯ ทุ่มเงินและกำลังคนไปกับสงครามมากมาย โดยในปี 2010 ทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานเพิ่มเป็น 100,000 นาย แต่รัฐบาลอัฟกันชุดแล้วชุดเล่าก็ไม่สามารถกำราบตาลีบันได้อยู่หมัด 

ประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ซึ่งหาเสียงด้วยนโยบายถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เริ่มทยอยนำกำลังพลกลับบ้านในช่วงกลางปี 2012 ขณะที่นาโตยุติภารกิจสู้รบนาน 13 ปี ในเดือนธันวาคม 2014 เพียงแต่ยังเหลือทหารส่วนหนึ่งไว้ช่วยฝึกสอนทหารของกองทัพอัฟกัน

ในปีต่อมา ตาลีบันรุกคืบครั้งใหญ่ ยึดพื้นที่คืนได้อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกัน กลุ่มก่อการร้ายที่เรียกตัวเองว่า ‘รัฐอิสลาม’ หรือไอเอส เข้าไปเคลื่อนไหวอย่างหนักในพื้นที่ ถึงแม้ทั้งสองกลุ่มเป็นคู่อริกัน เนื่องจากไอเอสต้องการจัดตั้งรัฐอิสลามทับซ้อนบนดินแดนในปกครองของตาลีบัน แต่ทั้งคู่ต่างมีคู่ปรับร่วมกัน นั่นคืออเมริกา

ตามสูตรที่ว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร สหรัฐฯ ทำความตกลงกับตาลีบัน ลงนามครั้งประวัติศาสตร์ที่กรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2020 ข้อตกลงมีใจความว่า ต่างชาติจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในเดือนพฤษภาคม 2021 ฝ่ายตาลีบันจะเริ่มเจรจากับรัฐบาลคาบูล พร้อมกับปราบปรามคู่ปรับที่มีร่วมกับฝ่ายอเมริกัน นั่นคือพวกนักรบไอเอส 

นั่นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือจากฝ่ายตาลีบันที่เข้าไปดูแลความปลอดภัยที่สนามบินคาบูลระหว่างการอพยพทหารและพลเรือนต่างชาติ รวมถึงชาวอัฟกันบางส่วน หลังจากตาลีบันยกกำลังกลับเข้าครองทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม โดยตัวประธานาธิบดี อัชรอฟ กานี (Ashraf Ghani) ได้หลบหนีไปยังทาจิกิสถาน 

ตาลีบันเผชิญการท้าทายจากคู่ปรับในทันที เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2021 กลุ่มก่อการร้ายในเครือข่ายไอเอส ซึ่งใช้ชื่อว่า IS-K สามารถโจมตีสนามบินเป็นผลสำเร็จ คร่าชีวิตพลเรือนชาวอัฟกันกว่า 100 ราย ทหารอเมริกัน 13 นาย 

เมื่ออเมริกาต้องหันหน้าร่วมมือกับคู่ปรับ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ชี้แจงว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่เป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน ขณะที่โฆษกทำเนียบขาวตอบข้อถามที่ว่า สหรัฐฯ จะร่วมมือกับตาลีบันมากไปกว่าเรื่องการอพยพคนหรือไม่ ด้วยน้ำเสียงสงวนท่าทีว่า “ยังไม่อยากพูดอะไรไกลกว่านี้” 

อิรักกลายเป็นแหล่งชุมนุมนักรบสุดโต่ง

ภายหลังเหตุโจมตี 11 กันยายน รัฐบาลบุชชูแนวคิดเอกภาคี (unilateralism) และแนวคิดชิงโจมตีก่อน (preemptive strikes) ซึ่งเรียกรวมๆในเวลาต่อมาว่า หลักนิยมบุช (Bush Doctrine) แนวคิดเหล่านี้ปรากฏในเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ที่ออกเผยแพร่ในเดือนกันยายน 2002

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอลิน พอเวลล์ (Colin Powell) อ้างกับคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่า อิรักครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง เพื่อโน้มน้าวให้ยูเอ็นเห็นชอบกับการบุกอิรัก แต่รัสเซียกับฝรั่งเศสไม่เอาด้วย

แม้ไม่มีการลงมติเห็นชอบจากคณะมนตรี สหรัฐฯ เปิดฉากสงครามกับอิรักในวันที่ 20 มีนาคม 2003 กรุงแบกแดดแตกในวันที่ 9 เมษายน ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน หนีไปกบดาน และถูกจับได้ในเวลาต่อมา ก่อนถูกศาลของรัฐบาลอิรักพิพากษาให้ประหาร เขาถูกสำเร็จโทษด้วยการแขวนคอในเดือนธันวาคม 2006 

อย่างที่รู้กัน หลังโค่นซัดดัมไปแล้ว ไม่ปรากฏอาวุธทำลายล้างสูงในอิรัก แม้กระนั้น สหรัฐฯ ยังดำเนินภารกิจเพื่อเสรีภาพภายใต้ยุทธการ Operation Iraqi Freedom ต่อไป

ชาวอิรักถูกกะเกณฑ์ให้เริ่มระบอบปกครองแบบมีการเลือกตั้ง ท่ามกลางสภาพบ้านเมืองที่ร้อนระอุด้วยการสู้รบกันเองระหว่างฝักฝ่ายต่างเชื้อชาติ ต่างนิกายศาสนา และระหว่างฝ่ายอเมริกันกับพวกนักรบต่างชาติที่เข้าสู่สมรภูมิอิรักเพื่อสู้กับอเมริกา

ขณะเดียวกัน กลุ่มนักรบสุดโต่งหน้าใหม่ๆถือกำเนิดขึ้นหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่สุดคือ Islamic State of Iraq and the Levant ซึ่งเรียกกันในชื่อย่อว่า IS หรือ ISIL และเรียกด้วยตัวย่อในภาษาอาหรับว่า ‘ดาอิช’

ไอเอสเคลื่อนไหวในอิรักและซีเรียอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งประกาศจัดตั้ง ‘รัฐอิสลาม’ กินดินแดนคร่อมประเทศทั้งสอง กลุ่มก่อการร้ายในบัญชีของสหประชาชาติกลุ่มนี้สามารถก่อเหตุโจมตีได้หลายครั้ง รวมถึงเหตุระเบิดฆ่าตัวตายและกราดยิงในกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 130 ราย ก่อนที่ไอเอสจะถูกปราบใหญ่ภายใต้ยุทธการ Operation Inherent Resolve ในปี 2019

จนถึงเวลานี้ แม้ว่าอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ถูกหน่วยรบพิเศษอเมริกันสังหารไปแล้วเมื่อ 2 พฤษภาคม 2011 ในเขตแดนปากีสถาน และแม้ว่าสหรัฐฯ ได้ถอนทหารอเมริกันชุดสุดท้ายออกจากอิรักเมื่อ 18 ธันวาคมปีเดียวกัน ทว่าภัยก่อการร้ายดูจะยังคงอยู่

รวมความแล้ว สหรัฐฯ ตอบโต้เหตุโจมตี 9/11 ด้วยสงครามใหญ่ใน 2 ประเทศ ควบคู่กับการกระชับความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในระดับโลกภายใต้ชื่อรหัส Operation Enduring Freedom ความพยายามทั้งหมดนั้นดูดดึงทรัพยากรมหาศาล สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินมากมาย (ดูรายละเอียดได้ที่ Fact Box)

ในวาระครบ 20 ปีเหตุการณ์เขย่าโลกในครั้งนั้น นักสังเกตการณ์ตั้งคำถามว่า ลงทุนลงแรงขนาดนี้ สหรัฐฯ ชนะศึก แต่แพ้สงครามหรือเปล่า อเมริกากำลังวกกลับที่เดิมหรืออย่างไร

สงครามที่ ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’

นอกจากต้นทุนชีวิตและดอลลาร์ฯ แล้ว อเมริกายังต้องจ่ายแพงในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายอีกอย่างหนึ่ง คือต้นทุนด้านชื่อเสียง คำประกาศของบุชในสภาคองเกรสถึงนานาประเทศหลังเหตุโจมตี 9/11 ไม่กี่วัน ที่ว่า “ถ้าคุณไม่อยู่ข้างเรา คุณอยู่ข้างผู้ก่อการร้าย” ถูกใช้เป็นความชอบธรรมในการใช้มาตรการฝ่ายเดียว โจมตีเป้าหมายใน 19 ประเทศ 

ผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายจากทั่วโลก ถูกนำตัวไปกักขังที่เรือนจำกวนตานาโมในคิวบา เพื่อไม่ให้จำเลยอ้างสิทธิต่างๆ ตามที่รัฐธรรมนูญอเมริกันบัญญัติรับรอง ยิ่งกว่านั้น มีรายงานการใช้เทคนิคการทรมานเพื่อรีดข้อมูลข่าวกรองด้วย 

นักสังเกตการณ์บอกว่า สงครามของสหรัฐฯ ไม่บรรลุเป้าหมาย ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ออกรายงานเมื่อปี 2018 คาดการณ์ว่ากลุ่มก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันมี 67 กลุ่ม ถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับแต่ปี 1980 ขณะที่นักรบเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นประมาณ 1-2.3 แสนคน หรือเพิ่มขึ้น 270% จากประมาณการเมื่อปี 2001 

ในอดีต พลพรรคที่ปักใจเชื่อการตีความศาสนาในแนวทางสู้รบ มักต่อกรกับรัฐบาลในแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก แต่ในปัจจุบัน มีนักรบกระจายตัวในหลายภูมิภาค ตั้งแต่แอฟริกา เอเชียใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ที่สำคัญ ในประเทศตะวันตกเริ่มเกิดนักรบประเภทลุยเดี่ยว สังหารผู้คนแบบไม่เลือกหน้า โดยใช้มีด ปืน หรือขับรถพุ่งชน การโจมตีแบบนี้ก่อความสูญเสียไม่เท่าการโจมตีแบบประสานการลงมือหลายจุดพร้อมกันก็จริง แต่มองในแง่การหวังผลแล้ว วิธีนี้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงในความหมายของ ‘terror’ ได้เช่นกัน

นักสังเกตการณ์กำลังรอดูว่า ไบเดนจะดำเนินยุทธศาสตร์และแนวทางด้านความมั่นคงอย่างไร โดยเขากล่าวเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การตัดสินใจถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานไม่ใช่เรื่องอัฟกานิสถานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการยุติยุคแห่งปฏิบัติการทางทหารระดับใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศอื่น 

“นโยบายต่างประเทศของเราจะยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน แต่วิธีขับเคลื่อนในเรื่องนี้จะไม่ใช่การวางกำลังทหารอย่างไม่รู้จบ เราต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว 

นักวิเคราะห์ตีความว่า ไบเดนกำลังนำพาอเมริกาถอยออกจากบทบาทตำรวจโลก เลิกทุ่มทรัพยากรทางทหารไปกับการบังคับให้ประเทศอื่นยึดถือค่านิยมแบบอเมริกัน กรณีรัฐบาลของเขา จากการกลับขึ้นโต๊ะเจรจาประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน ประเด็นโลกร้อน รวมทั้งฟื้นไมตรีกับนาโต ส่อแนวโน้มว่าวอชิงตันจะหวนคืนแนวทางพหุภาคีอีกครั้ง

อ้างอิง

AP, 14 August 2021

AFP via Gulf News, 25 August 2021

AFP via France24, 26 August 2021

AFP via France24, 4 September 2021

Fact Box

ความสูญเสียในสงคราม

• ต้นทุนมนุษย์

อัฟกานิสถาน

กว่าสงครามในอัฟกานิสถานจะดำเนินมาจนถึงกำหนดเส้นตายที่สหรัฐต้องยุติบทบาทสู้รบในวันที่ 31 สิงหาคม 2021 ความขัดแย้งและเหตุรุนแรงในประเทศนี้ได้ทำให้เกิดการสูญเสียมากมาย ต่อไปนี้เป็นตัวเลขบอกจำนวนบางส่วน ซึ่งรวบรวมโดย ลินดา บิลเมส (Linda Bilmes) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และโครงการ Costs of War ของมหาวิทยาลัยบราวน์

ทหารอเมริกันที่เสียชีวิต นับจนถึงเดือนเมษายน: 2,448 

ผู้รับเหมาอเมริกัน: 3,846 คน

ทหารชาติพันธมิตรและนาโต: 1,144 นาย

ตำรวจและทหารอัฟกัน: 66,000 นาย

พลเรือนชาวอัฟกัน: 47,245 คน

นักรบตอลิบันและพลพรรคฝ่ายต่อต้าน: 51,191 คน

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์: 444 คน

สื่อมวลชน: 72 คน

อิรัก

จำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามและเหตุรุนแรงเกี่ยวเนื่องในอิรักยังคงเป็นที่ถกเถียง เนื่องจากตัวเลขของแต่ละแหล่งที่มาได้ใช้วิธีแจงนับและคิดคำนวณแตกต่างกัน จำนวนคนตายจึงมีตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน

อย่างไรก็ดี ตามรายงานข่าวของเอพี นับเฉพาะจำนวนศพที่พบจนถึงเดือนเมษายน 2009 ตัวเลขระบุอย่างน้อย 110,600 ราย ขณะที่โครงการ Iraq Body Count ระบุจำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตในเหตุรุนแรงนับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 อยู่ที่ 185,000-208,000 ราย 

• ต้นทุนดอลลาร์ฯ

ประมาณการว่า ต้นทุนโดยตรงของสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก นับจนถึงปี 2020 อยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เพราะเหตุที่สหรัฐจ่ายค่าทำสงครามด้วยเงินกู้ยืม ไม่ใช่เงินสดในมือ รัฐบาลอเมริกันจึงมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งจะมียอดเป็นจำนวนถึง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ เมื่อถึงปี 2050

นอกจากนี้ อเมริกายังมีภาระต้องจ่ายค่าชดเชยทุพพลภาพ ค่าทำศพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆสำหรับทหารอเมริกันที่ผ่านศึกในอัฟกานิสถานและอิรักจำนวนราว 4 ล้านนาย เป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

 

Tags: , , ,