ที่คั่นหนังสือแผ่นไม้วงกลมแกะสลักเป็นรูปพระหัตถ์จากสามพระอิริยาบถที่คุ้นตาคนไทย และที่คั่นหนังสือโลหะสามแบบ ที่เพียงเห็นก็พาความทรงจำย้อนกลับไประลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9
สิ่งนี้คือของที่ระลึกชิ้นพิเศษที่ผลิตขึ้นจำนวนจำกัดสำหรับนักอ่านในช่วงงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ก่อนจะไปสัมผัสกับของจริงกันในงาน เราชวนสองนักออกแบบมาพูดคุยถึงแนวคิดและการทำงานเบื้องหลัง ก่อนจะออกมาเป็นที่คั่นหนังสือ ‘ความท๙งจำ’ ชุดนี้
พระหัตถ์ที่อุ้มชูพสกนิกรมาตลอด 70 ปี
แนน-วีรดา ศิริพงษ์ สถาปนิกอิสระ เจ้าของแบรนด์ ‘Carpenter ที่เริ่มต้นงานไม้มาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 3 จากความเสียดายที่เห็นเศษไม้ในโรงงานทำประตูหน้าต่างของพ่อถูกทิ้ง และขายให้คนมารับซื้อนำไปเผาถ่าน
ความเสียดายบวกกับการมองเห็นความงามของเศษไม้ ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้สามเหลี่ยมที่เหลือจากการเข้ามุมวงกบหรือไม้ท่อน เธอจึงนำมันมาสร้างคุณค่าใหม่ ออกแบบเป็นไม้บรรทัดสเกลที่ทำจากไม้ ลูกค้ากลุ่มแรกเป็นเพื่อนๆ ที่เรียนสถาปัตย์มาด้วยกัน
กระทั่งเรียนจบและทำงานประจำในบริษัทสถาปนิกชื่อดังแห่งหนึ่ง วีรดายังไม่เคยหยุดสร้างสรรค์งานออกแบบจากเศษไม้ จากสเกลไม้ขยายมาสู่ผลงานใหม่ๆ ทั้งปฏิทินไม้ที่นำกลับมาใช้ได้ทุกปี สมุดบันทึก แฟลชไดรฟ์ เคสพาวเวอร์แบงก์ แม่เหล็กไม้ และอื่นๆ นับ 20 รายการ และจากที่ขายทางออนไลน์ ปัจจุบันเธอออกจากงานประจำ เปิดสตูดิโอที่เป็นทั้งที่ทำงานและหน้าร้าน ขณะเดียวกันก็ยังรับงานสถาปนิกอิสระควบคู่ไปด้วยกัน
เมื่อได้รับการติดต่อให้เป็นผู้ออกแบบที่คั่นหนังสือ ‘ความท๙งจำ’ เธอเล่าว่าคือความภูมิใจในชีวิต ที่มีโอกาสทำงานถวายอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้เก็บความทรงจำที่มีต่อพระองค์ท่านเอาไว้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เธอเล่าถึงการทำงานชิ้นนี้ว่า
“เรามองว่า ต้องเป็นของที่เข้าถึงทุกคนได้ ไม่ได้ยูนีกมาก แต่ก็ต้องมีความเป็นเราด้วย ตอนแรกเสนอไปสี่ห้าแบบ ทั้งที่คั่นหนังสือ ที่เสียบนามบัตร ฯลฯ แล้วความคิดเรื่องที่คั่นหนังสือก็ไปตรงกับพี่ดุ๋ย (ปิติ อัมระรงค์-นักออกแบบในงานนี้อีกคนหนึ่ง) ก็เลยได้ข้อสรุปตรงกันว่าทำที่คั่นหนังสือ สำหรับธีม ‘ความท๙งจำ’ ซึ่งเป็นธีมของงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ด้วย
“ในการตีโจทย์ เราเอาจากความรู้สึกตัวเองว่า ความทรงจำของเราซึ่งเป็นคนไทยคนหนึ่งมีต่อท่านยังไง จนในที่สุดเราก็เลือกภาพที่เชื่อว่าทุกคนเคยเห็นภาพนี้ นั่นคือ ภาพท่านตอนพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่มีประชาชนมารอรับเสด็จตรงหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วทรงโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชน ภาพที่สองคือภาพที่ท่านทรงงานแล้วพระเสโทไหลลงมาตรงปลายจมูก กับอีกภาพที่ท่านโน้มพระวรกายรับไหว้จากคุณยายคนหนึ่งที่ถวายดอกไม้เหี่ยวๆ
“ทั้งสามภาพนี้สื่อถึงทุกแง่มุมของการเป็นกษัตริย์นักปกครอง ภาพโบกพระหัตถ์ก็แสดงถึงท่านที่อยู่ท่ามกลางประชาชน ท่านเป็นพระราชาที่รักประชาชนเหลือเกิน ส่วนภาพที่ทรงงาน ในความทรงจำของเราคือ ท่านเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ไม่มีวันหยุด และไม่ได้อยู่สบายๆ ส่วนภาพรับดอกไม้จากคุณยาย คือ ท่านติดดินและไม่ถือพระองค์กับประชาชนเลย ทุกคนเท่าเทียมกันหมด”
ภาพในความทรงจำของวีรดาทั้งสามภาพถูกถ่ายทอดลงมาบนแผ่นไม้วงกลม ที่สื่อถึงความรู้สึกได้มากมายเพียงแค่เห็นลายเส้นของพระหัตถ์
“ที่โฟกัสไปที่มือ เพราะว่านี่คือมือของพ่อ มือที่ท่านดูแลทุกข์สุขของราษฎรมาตลอดเจ็ดสิบปี เหมือนเวลาที่เราล้มจะมีมือใครคนหนึ่งยื่นมาประคอง เป็นมือที่เรารู้สึกอุ่นใจ และรู้สึกอบอุ่นเหมือนท่านยังอยู่”
จากต้นแบบจากภาพจริง แปลงสู่ภาพวาดลายเส้น แปลงออกมาเป็นไฟล์ แล้วยิงเลเซอร์ลงบนไม้ที่กลึงเป็นท่อนกลม จากนั้นหั่นเป็นชิ้น เจาะรูด้านข้างเพื่อเสียบเชือกหนัง เคลือบผิวไม้ด้วยขี้ผึ้งผสมน้ำมันมะพร้าวแทนแลกเกอร์เพื่อให้ไม่เป็นอันตรายกับเด็ก และผสมลาเวนเดอร์เพื่อถนอมเนื้อไม้ สอดร้อยเข้ากับกระดาษแข็งซึ่งมีพระราชดำรัสของในหลวงที่สื่อความหมายตรงกันกับภาพและสะท้อนถึงคำสอนของพระองค์ท่าน
“ความทรงจำที่แนนมีต่อท่าน คือท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสอนเราในทุกๆ ด้าน ท่านยังเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตให้กับเราและทุกๆ คนด้วย”
ไอคอนแห่งความทรงจำ
ดุ๋ย-ปิติ อัมระรงค์ นักออกแบบอิสระ เจ้าของสตูดิโอ o-d-a ที่เขาก่อตั้งร่วมกับจุทามาส บูรณะเจตน์ หุ้นส่วนชีวิต ผลงานออกแบบของเขาส่วนใหญ่เป็นการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ชิ้นค่อนข้างใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ และล่าสุด เขาออกแบบถ้วยรางวัลที่ไม่เหมือนใครสำหรับงาน ‘บ้านและสวน’ ที่เขานำไม้สองชิ้นมาประสานเข้าด้วยกันแบบงานประกอบเสาไม้ของญี่ปุ่น แล้วสลักตรงกลางที่ใช้เชื่อมไม้เป็นรูปหัวใจเพื่อสื่อถึงบ้านที่อยู่ได้ด้วยความรัก เล่นกับงานได้ด้วยการออกแบบให้สามารถขยับหรือถอดได้
“เวลาคิดงานเราจะคิดถึงโจทย์ว่ามันควรจะเป็นอะไร งานที่เราทำต้องสื่อสารเข้าใจง่าย ดูแล้วเข้าใจในสิ่งที่เราอยากบอก มีความหมายที่ดี แต่ก็ไม่ง่ายเกินไปนัก ต้องท้าทายนิดๆ เวลาได้ไอเดียออกมาแล้ว เราต้องมาทบทวนว่าเข้าใจได้ไหม สื่อสารได้ไหม เพราะงานของเราไม่ใช่งานกราฟิกที่มีตัวอักษรบอกว่าอะไรเป็นอะไร แต่เป็นสัญลักษณ์ เป็นฟอร์ม ดังนั้นมันต้องพูดด้วยตัวเอง เป็นการพูดแบบไม่ใช้ภาษา”
เช่นเดียวกับที่คั่นหนังสือ ‘ความท๙งจำ’ ที่เขาตีโจทย์ออกมา ปิตินำไอคอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาออกแบบเป็นที่คั่นหนังสือโลหะ ที่เมื่อแรกเห็นก็ทำให้เราระลึกถึงในหลวงได้อย่างไม่ต้องตีความ
“ปกติเราทำของชิ้นใหญ่ ทำเฟอร์นิเจอร์ ตอนที่ได้รับการติดต่อมาก็คิดอยู่เหมือนกันว่าตัวเองจะถนัดไหม โจทย์คือทำของที่ระลึก ผลิตจำนวนมาก ราคาไม่แพง เกี่ยวข้องกับหนังสือ และเกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ่งที่คิดตอนแรกคือเราต้องโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน งานหนังสือต้องทำอะไร แล้วจะสื่อถึงในหลวงได้อย่างไรถึงจะเหมาะสม ที่ผ่านมาผมรับงานแบบทำมือได้ แต่งานนี้ต้องมีโรงงานช่วยผลิต
“พอได้โจทย์มา ผมนึกถึงที่คั่นหนังสือก่อนเลย เพราะคนที่มางานหนังสือ เขาซื้อหนังสือ เป็นคนอ่านหนังสือ มีหลายเพศหลายวัย ฉะนั้นของก็ต้องเป็นกลาง ใช้ได้ทุกคน และใช้ง่ายๆ เราก็หาข้อมูลหาตัวอย่างที่น่าสนใจ ลงเอยที่เราจะใช้รูปทรงในการสื่อสาร ที่ต้องใช้แผ่นเหล็กก็เพราะว่าเรามองถึงกระบวนการการผลิตว่าสามารถทำในโรงงานได้ ต้องมีกระบวนการตัด การพ่นสี แล้วสร้างฟอร์มที่เราจะใส่ความหมายลงในนั้น”
สุนัขทรงเลี้ยง กล้องถ่ายรูป และรถจี๊ปทรงงาน คือสัญลักษณ์ที่ปิติเลือกนำมาใช้สื่อสารกับความทรงจำที่ตนมีอยู่ ที่เมื่อเห็นแล้วทำให้ระลึกถึงในหลวง
“เป็นไอคอนในความทรงจำของเราอีกทีว่าเมื่อเรานึกถึงในหลวงจะมีภาพอย่างไร ในแง่มุมไหน และผมก็พยายามนึกถึงคนทั่วไปด้วยว่าเขาจะเกี่ยวพันกับของทั้งสามชิ้นนี้ยังไง จริงๆ มีหลายอย่าง แต่ที่เราเลือกสามชิ้นนี้เพราะคนมีสัตว์เลี้ยงก็อาจชอบสุนัขทรงเลี้ยง คนชอบถ่ายภาพ ชอบกล้องถ่ายรูป เขาก็อาจจะอยากได้กล้องถ่ายรูป เพราะเข้าถึงง่าย ส่วนรถทรงงาน ก็เพราะความทรงจำของผมที่มีต่อในหลวงคือการทรงงาน
“ย้อนไปเรื่องหัวข้อความทรงจำ งานชิ้นนี้มีเรื่องความทรงจำสามประเด็น ประเด็นแรกคือ เราคั่นหนังสือเพื่อจะจดจำการอ่าน ส่วนไอคอนที่เชื่อมโยงเรากับในหลวง เราจดจำท่านได้ผ่านเรื่องราวเหล่านั้น อีกส่วนหนึ่งคือ ด้านหลังของแพ็กเกจ มีพระราชดำรัสที่เกี่ยวข้อง
“เรื่องใช้คั่นหนังสือเป็นเรื่องฟังก์ชัน ส่วนเรื่องไอคอนเป็นเรื่องนามธรรม ข้อความด้านหลังเป็นรูปธรรมที่เราจะโยงไปถึงพระราชดำรัส ชิ้นแรกคือสุนัขทรงเลี้ยง ด้านหลังของแพ็กเกจจะมีพระราชดำรัสที่กล่าวถึงสุนัขจรจัด ที่เมื่อนำมาเลี้ยงดูแล้วเขาจะเจียมตัว ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ฉลาดไม่แพ้สุนัขนอก หรือกล้องถ่ายรูป ก็ชัดเจนว่าเวลาในหลวงท่านทรงงานก็จะทรงถ่ายภาพ และผมเลือกพระราชดำรัสที่ท่านตรัสถึงการถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของมีประโยชน์ จงใช้ให้เกิดคุณค่าแก่สังคม และงานศิลปะก็จะช่วยพัฒนาประเทศได้อีกแรงหนึ่ง ส่วนชิ้นสุดท้ายเป็นรถทรงงาน จริงๆ ในหลวงมีรถหลายประเภท แต่ผมเลือกรถจี๊ปที่ท่านใช้ลุยเวลาทรงงาน และเลือกพระราชดำรัสที่ท่านตรัสถึงการนำความเจริญการพัฒนาไปสู่ชนบท เป็นสามสเต็ปที่เราเชื่อมโยงกัน
“เมื่อผ่านกระบวนการขบคิดมาแล้ว เราก็ไปลงเรื่องดีไซน์ รูปทรงไหนเหมาะสม น่ารัก ขนาดกำลังดี ความหนาระดับไหน ซึ่งก็มีกระบวนการทดสอบต่างๆ นานา เราลองไปตัดกระดาษมา ความสำคัญอยู่ที่ว่า เหน็บได้ดีไหม หลุดหรือเปล่า พอมาถึงเหล็ก ผมให้โรงงานทดสอบทำผมความหนาสองระดับ ก็มาลองจับดูว่าอันไหนที่เหมาะสม ก็ได้เป็นชิ้นที่บางกว่า คือ ความหนาหนึ่งมิลลิเมตร การพ่นสีก็ต้องสีสุภาพ ใช้สีขาวกับดำ เพราะเราตั้งใจทำแพ็กเกจจิงสีเทา การมีสีดำกับขาวอยู่บนพื้นเทาก็ขึ้นดี แล้วสกรีนโลโกสีทองลงบนพื้นสีเทา สีทองมันทำให้เรารู้สึกถึงเกียรติยศของในหลวงได้ในเชิงนามธรรม ส่วนการ์ดที่ใช้เหน็บก็แข็งหน่อย แล้วเหน็บให้เห็นเลยว่าใช้งานยังไง ตอนที่ยังไม่เหน็บจะมีลักษณะเป็นกรอบ แต่เมื่อเหน็บไปบนหน้าหนังสือแล้วจะเป็นรูปทรงนั้นเพียวๆ”
ปิติกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมว่านักออกแบบทุกคนจะรู้สึกยินดี ถ้ามีโอกาสตีโจทย์เกี่ยวกับพระองค์ท่านในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ทุกคนจะอยากทำ และตั้งใจทำ ความท้าทายของผมคือเราจะขมวดประเด็นนี้เข้ามายังไง ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกถึงความกินใจ รู้สึกเกี่ยวข้อง เข้าใจสิ่งที่สื่อสาร มันมีทั้งความยากและง่าย ความยากคือเราต้องหาจุดสัมพันธ์ที่เหมาะสม อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุกคนมีข้อมูลอยู่ในหัวหมด ทุกคนมีความทรงจำเรื่องในหลวงอยู่ เราจะดึงแบบไหนที่จะสามารถรู้สึกร่วมกันได้ และเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารออกไป”
FACT BOX:
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 จัดขึ้นในวันที่ 18 – 29 ตุลาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจาก ‘ที่คั่นหนังสือแห่งความท๙งจำ’ ที่ผลิตออกมาจำนวน 20,000 ชิ้น จำหน่ายในราคาชิ้นละ 99 บาท ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อสมทบทุนอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาแล้ว ภายในงานยังมีนิทรรศการ ‘ความทรงจำ’ รายการ ‘9 วัน 9 ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจไทยนิรันดร์’
Tags: ปิติ อัมระรงค์, ที่คั่นหนังสือ, Bookmark, Book Fair 2017, วีรดา ศิริพงษ์