สำหรับแคเธอรีน เชาบ์ (Katherine Schaub) เด็กสาววัย 14 แล้ว มันคล้ายฝันเป็นจริง เมื่อได้เข้าไปทำงานวันแรกที่ ยูเอส เรเดียม คอร์ปอเรชัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1917 บริษัทดังกล่าวมีสำนักงานอยู่บนถนนสาย 3 ในเมืองนิวอาร์ค รัฐนิวเจอร์ซีย์ และยังมีสำนักงานอีกแห่งในเมืองออเรนจ์ เพียงแต่สิ่งที่เด็กสาวไม่อาจล่วงรู้ได้ก็คือ เธอและเพื่อนร่วมงานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับภยันตรายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พนักงานหญิงที่นี่มีชื่อเรียกว่า ‘สาวเรเดียม’ พวกเธอมักเล่าด้วยความภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้มาทำงานในสตูดิโอ มีงานหน้าที่ที่ค่อนข้างพิเศษ และเป็นความลับ แคเธอรีน เชาบ์ เองก็รู้สึกเช่นนั้นได้ หลังจากเลิกงานในวันแรก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1917 ตัวเธอคล้ายมีแสงส่องสว่างท่ามกลางความสลัวมืด และเส้นผมของเธอเรืองแสง
หน้าที่ความรับผิดชอบของเชาบ์ในสตูดิโอก็คือ การระบายสีเรืองแสงลงบนหน้าปัดนาฬิกา รวมทั้งแผงหน้าปัดอุปกรณ์การบิน ที่ตัวเลขจะต้องสว่างในความมืด พนักงานหญิงทุกคนจะผสมสีด้วยตนเอง พวกเธอใส่น้ำลงในขวดที่ใช้ แล้วผสมยางอะคาเซีย สังกะสีซัลไฟด์ และแร่พิเศษ นั่นคือ เรเดียม จนเกิดเป็นสีสะท้อนแสงเขียว-ขาวอย่างน่าตื่นตาและฉงนฉงาย
ในสีมีส่วนผสมของเรเดียมเพียงน้อยนิด แต่อนุภาคของมันติดอยู่ตามที่ต่างๆ ไปทั่ว ทั้งบนแผ่นรองโต๊ะ บนเส้นผม บนเสื้อผ้า ใครที่สัญจรบนถนนด้านนอกจะสังเกตเห็นได้ว่า มีผู้หญิงเปล่งประกายสีทองอยู่ภายในห้องทำงานของบริษัท ดูคล้ายนางฟ้าที่มาจากดาวดวงอื่น
ธาตุเรเดียม ถูกค้นพบโดยมารี และปิเยร์ คูรี (Marie & Pierre Curie) เมื่อปี 1898 ไม่ช้ามันก็กลายเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และกลายเป็นแร่ธาตุที่มีราคาแพงที่สุดในโลก (ในปัจจุบันราคาต่อหนึ่งกรัมสูงถึง 2.2 ล้านดอลลาร์)
เช่นเดียวกันกับช่วงปีแรกๆ หลังจากมีการค้นพบการฉายรังสี ครั้งนั้นผู้คนยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอันตรายจากผลข้างเคียงของมัน ในสหรัฐอเมริกาถือว่าเรเดียมคือแร่ธาตุช่วยชีวิตและดีต่อสุขภาพ เป็นยารักษาโรคเกาต์ ท้องผูก ไข้หวัด หรือแม้กระทั่งช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
สิบปีต่อมา สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้เริ่มต้นขึ้น วันที่ 6 เมษายน 1917 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ส่งกองทัพไปร่วมทำสงครามในยุโรป เป็นเหตุให้งานเข้าบริษัท ยูเอส เรเดียม คอร์ปอเรชัน แทบทุกวันจะมีหมายสั่งจากรัฐ ให้ประกอบแผงหน้าปัดเรืองแสงสำหรับเครื่องบินรบ รถถัง และเรือรบ
วัตถุขนาดเล็กที่สุดที่สาวเรเดียมต้องระบายสีก็คือ นาฬิกาข้อมือ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ขีดบนหน้าปัดมีความกว้างเพียงหนึ่งมิลลิเมตร พนักงานหญิงจำเป็นต้องใช้พู่กันขนอูฐ ซึ่งมีขนปลายพู่กันเพียง 30 เส้นเพื่อการนี้ แต่ครั้นพอพวกเธอแต้มสีลงบนขีดหน้าปัดนาฬิกาไปสักพัก ขนปลายพู่กันก็เริ่มกางออก และเพื่อรวบขนปลายพู่กันให้พร้อมใช้งานอีกครั้ง พวกเธอพบทางออกเพียงทางเดียว นั่นคือ “เราขมวดปลายมันด้วยปาก” แคเธอรีน เชาบ์เขียนเล่าลงในสมุดบันทึกของเธอ
เกรซ ไฟรเยอร์ (Grace Fryer) ติดอันดับพนักงานแถวหน้า เธอสามารถระบายสีขีดหน้าปัดนาฬิกาได้ถึงวันละ 250 ชิ้น ก่อนเข้าร่วมสงครามโลกของสหรัฐอเมริกา มีผู้หญิงทำงานในสตูดิโออยู่ราว 70 คน นับแต่ปี 1918 เป็นต้นมา มีพนักงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 คน
Undark คือชื่อของสีเรืองแสง ที่พนักงานหญิงเหล่านี้ใช้ในการทำงาน มันถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์เชื้อสายออสเตรียนชื่อ ซาบิน อาร์โนลด์ ฟอน โซโชคี (Sabin Arnold von Sochoky) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูเอส เรเดียม คอร์ปอเรชัน ผลงานของเขามาจากการเรียนรู้ระหว่างฝึกงานอยู่กับมารี และปิเยร์ คูรี เขายังรู้ด้วยว่า การคลุกคลีอยู่กับเรเดียมนั้นอันตรายอย่างยิ่ง โซโชคีเคยมีประสบการณ์ความเจ็บปวดด้วยตนเอง ระหว่างการทดลองครั้งหนึ่ง ปลายนิ้วชี้มือซ้ายของเขาไปสัมผัสกับเรเดียมโดยบังเอิญ และเป็นเหตุให้ต้องตัดนิ้วนั้นทิ้งไป
ภายในห้องปฏิบัติการของบริษัท พนักงานทุกคนต้องสวมชุดป้องกัน และเคลื่อนย้ายหลอดเรเดียมด้วยแหนบซึ่งทำจากงาช้างเท่านั้น ตรงข้ามกับในห้องสตูดิโอที่ปราศจากมาตรการป้องกันใดๆ ทุกคนคิดว่าอนุภาคของเรเดียมในสีเรืองแสงไม่ส่งผลอันตรายแต่อย่างไร จึงไม่มีใครใส่ใจหรือคิดระแวงภัย อะเมเลีย ‘มอลลี’ มาจเจีย (Amelia ‘Mollie’ Maggia) พนักงานหญิงเชื้อสายอิตาเลียนคนหนึ่งถึงกับใช้สีเรืองแสงระบายลงบนฟันก่อนไปออกเดทกับคนรัก เพียงแค่ต้องการให้เขาประหลาดใจ โดยหารู้ไม่ว่า หากเรเดียมเข้าไปในร่างกายแล้ว มันจะไม่สูญสลายไปไหน
ในเดือนตุลาคมปี 1921 จู่ๆ มอลลีก็มีอาการปวดฟัน จนต้องให้หมอถอนฟันซี่นั้นออก สอง-สามสัปดาห์ผ่านไปอาการปวดก็ยังไม่บรรเทา กระทั่งฟันซี่อื่นๆ ค่อยๆ ถูกถอนออกไป เธอก็ยังทุกข์ทนอยู่กับอาการปวดอยู่
ไม่ช้า อะเมเลีย มาจเจียก็ไม่เหลือฟันติดปาก ที่น่าตระหนกกว่านั้น เมื่อหมอแตะคางของเธออย่างระมัดระวัง พบว่า กระดูกขากรรไกรที่เขาสัมผัสแยกออกจากกัน และในเดือนกันยายน 1922 พนักงานสาววัย 24 ปีก็เสียชีวิต
ส่วนพนักงานหญิงคนอื่นๆ พบอาการแปลกๆ อย่างกระดูกสันหลังแตก ราวกับว่ามันทำจากแก้ว เรเดียมเข้าไปแทรกซึมในกระดูกเช่นเดียวกันกับแคลเซียม จากนั้นมันค่อยๆ กัดกร่อนเป็นรูและแตกหัก แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นอาการของโรคซิฟิลิส หรือพิษจากฟอสฟอรัส บางคนได้รับการบำบัดโดยการหล่อปูนพลาสเตอร์แบบเต็มตัว บางคนต้องยึดลำตัวไว้ด้วยคอร์เส็ตต์
กระทั่งเมื่อพนักงานหญิงเสียชีวิตไปอีกสิบคน เกรซ ไฟร์เยอร์ จึงเริ่มเข้าใจถึงสถานการณ์ ในวันที่ 18 มีนาคม 1928 เธอพร้อมกับอดีตเพื่อนร่วมงานในบริษัท ยูเอส เรเดียม คอร์ปอเรชันอีก 4 คน ยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชย มูลค่าเมื่อเทียบกับปัจจุบันราว 3.5 ล้านดอลลาร์
ถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มให้ความสนใจเข้าไปตรวจสอบ วันที่ 15 ตุลาคม 1927 ศพของอะเมเลีย มาจเจียซึ่งฝังที่เมืองออเรนจ์ถูกขุดขึ้นมา ท่ามกลางแสงสลัวของยามพลบ หีบศพบรรจุร่างของเธอมีแสงที่ดูเหนือธรรมชาติฉาบฉาย ศพของเธอยังอยู่ในสภาพดี หลังจากพิสูจน์ตรวจสอบแล้ว หมอและนักเคมีจึงอนุญาตให้นำกระดูกของเธอไปเผา แม้กระทั่งห้าปีหลังจากความตายก็ยังตรวจพบเรเดียมอยู่เลย
การพิจารณคดีในชั้นศาลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 1928 ทีมทนายฝ่ายบริษัท ยูเอส เรเดียม คอร์ปอเรชันพยายามยื้อเวลา โดยอ้างกรณีศึกษาใหม่ มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชย ในฤดูร้อนปี 1928 การพิจารณคดีสิ้นสุดลงพร้อมชัยชนะของฝ่ายโจทก์ ‘สาวเรเดียม’ ทุกคนที่ยื่นฟ้องได้รับเงินชดเชยร่วม 140,000 ดอลลาร์ (เทียบมูลค่าปัจจุบัน) และเงินบำนาญตลอดชีพ
ลักษณะเดียวกันยังมีคดีฟ้องร้องโรงงานเรเดียมอื่นๆ เช่นในออตตาวา รัฐอิลลินอยส์ ที่นั่นพนักงานหญิงต้องยื่นอุทธรณ์ถึงแปดครั้งกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม เรียกได้ว่าพวกเธอต่อสู้กันจนตัวตาย
การตัดสินคดีนี้กลายเป็นบรรทัดฐานให้มีข้อบัญญัติเพื่อความปลอดภัยในการทำงานที่ชัดเจนเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา หากพนักงานคนไหนป่วยไข้โดยพิสูจน์ได้ว่ามีสาเหตุจากการปฏิบัติงาน ก็สามารถฟ้องร้องค่ารักษาพยาบาลหรือค่าชดเชยจากบริษัทได้
สำหรับพนักงานหญิงที่ยังคงปฏิบัติงานกับสีที่มีส่วนผสมของเรเดียม สภาพแวดล้อมในการทำงานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีกฎห้ามใช้พู่กันสัมผัสริมฝีปาก นับตั้งแต่ปี 1927 ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างเป็นทางการว่ามีพนักงานเจ็บป่วยจากเรเดียมอีก แต่จำนวนผู้ป่วยและล้มตายทั้งหมดเท่าไหร่นั้น กลับไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน
แคเธอรีน เชาบ์ หญิงสาวที่เริ่มทำงานในสตูดิโอเมื่อวัย 14 เสียชีวิตลงในปี 1933 ด้วยโรคมะเร็งในกระดูก ขณะมีอายุเพียง 30 ปี ก่อนหน้านั้น ในเดือนพฤศจิกายน 1928 ซาบิน อาร์โนลด์ ฟอน โซโชคี ผู้ก่อตั้งบริษัท เสียชีวิตลงเพราะลูคีเมีย หรือมะเร็งในเม็ดเลือดขาว แม้จะผ่านการผ่าตัดถ่ายเลือดถึง 13 ครั้ง
“เขากลายเป็นเหยื่อของสิ่งประดิษฐ์ของตัวเอง” นิตยสารนิวยอร์กไทม์ส เขียนถึงเขาในรายงานข่าวมรณกรรม
อ้างอิง:
- Kate Moore, The Radium Girls: They Paid with Their Lives. The Final Fight Was for Justice, 2016
- content.time.com
- www.damninteresting.com