ความเกลียดชังคนต่างเชื้อชาติและศาสนาในเยอรมนีเริ่มมีสถิติสูงขึ้น โดยเฉพาะในฟากตะวันออกของประเทศ จนทำให้หลายคนเริ่มหวาดหวั่นกับความสั่นคลอนของระบอบประชาธิปไตย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไลพ์ซิกสำรวจความเห็นชาวเยอรมันจำนวน 2,420 คน อายุระหว่าง 14-93 ปี พบว่า ชาวเยอรมัน 1 ใน 3 คนเชื่อว่า ผู้อพยพชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเยอรมนีเพียงเพราะเห็นประโยชน์ที่ตนจะได้รับจากสวัสดิการสังคมเท่านั้น เฉพาะชาวเยอรมันในฟากตะวันออก 1 ใน 2 คนเชื่ออย่างนั้น และต่อคำถามที่ว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเสี่ยงที่จะถูกครอบงำจากผู้อพยพต่างชาติหรือไม่นั้น ชาวเยอรมันทั่วไปเชื่อว่าเป็นไปได้ 35.6 เปอร์เซ็นต์ ชาวเยอรมันในตะวันออกเชื่อ 44.6 เปอร์เซ็นต์

ผู้อพยพชาวต่างชาติที่ทำให้เจ้าของประเทศรู้สึกเป็นกังวลเป็นพิเศษ ได้แก่ ชาวมุสลิม ชนเผ่าซินติ และโรมา โดยเฉพาะกลุ่มหลังนั้น ชาวเยอรมันเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์เชื่ออย่างฝังใจว่า คนเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ส่วนชาวมุสลิมที่สร้างความกังวลให้นั้น ชาวเยอรมัน 55.8 เปอร์เซ็นต์มองว่า บางครั้งชาวมุสลิมในเยอรมนีทำให้พวกเขารู้สึกคล้ายเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของตนเอง

 

ชาวยิวถูกชังก็ไม่น้อยไปกว่า

หลังจากเกิดเหตุการณ์คุกคามชาวยิว อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรุงเบอร์ลินเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวเรื่องเกลียดยิวเริ่มปรากฏเป็นข่าวพาดหัวสื่อบ่อยครั้งขึ้น จากการสำรวจพบว่า ชาวเยอรมัน 1 ใน 10 คนมองว่า ชาวยิวเป็นกลุ่มชนแปลกแยก ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปิดของตนเอง ที่ไม่เข้ากับวิถีชีวิตของชาวเยอรมัน จากกรณีศึกษาพบว่า ยังมีชาวเยอรมันอยู่ไม่น้อยที่รังเกียจชาวยิว เพียงแต่ไม่กล้าแสดงออก เนื่องจากการเปิดเผยนั้นอาจส่งผลกระทบโดยตรงทางสังคม แต่อย่างไรก็ดี ความเกลียดชังคนต่างชาติของชาวเยอรมันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติยิว อีกทั้งชาวยิวยังไม่ถูกนำไปรวมกลุ่มเข้ากับชาวมุสลิม ซินติ และโรมา

สาเหตุของความเกลียดชังชนต่างชาติพอจะอธิบายได้ว่า พัฒนาการทางเศรษฐกิจในเยอรมนีช่วงทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ระบบสวัสดิการสังคมบางอย่างตกหล่นไป อย่างเช่น ระบบประกันสังคมหรือเงินบำนาญที่ถูกลดทอนไป ทำให้เกิดความไม่พอใจ บางคนก็โกรธ พาลไปลงที่คนต่างชาติ

รวมถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยในเยอรมนีเองด้วย แม้จากการสำรวจความเห็น พบว่า ประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะเห็นดีกับระบอบประชาธิปไตย แต่หลายคนก็เข้าใจเป็นอย่างอื่น มากกว่าสังคมที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ทุกคน และมองว่าประชาธิปไตยอาจเป็นคล้ายเผด็จการเสียงข้างมาก หากสิทธิของคนกลุ่มใหญ่ถูกต้องหรือสำคัญกว่าแล้ว สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มย่อยก็ควรถูกยกเลิกไป

 

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มขวาจัด

ผลการสำรวจความเห็นครั้งล่าสุด ระบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้แสดงความเห็นต้องการให้รัฐ ‘เข้มงวดกับการตรวจสอบผู้อพยพและผู้ยื่นขอลี้ภัย’ (เมื่อปี 2009 มีเพียง 25.8 เปอร์เซ็นต์) เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า ผู้ยื่นขอลี้ภัยไม่ได้มีเหตุให้ต้องลี้ภัยออกจากถิ่นฐานของตนจริง

การสำรวจยังแยกย่อยไปถึงประเด็นโฮโมเซ็กชวล ผู้แสดงความเห็น 24.8 เปอร์เซ็นต์คิดว่าการรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดศีลธรรม และ 36.2 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า ไม่ควรอนุญาตให้มีคู่สมรสระหว่างเพศเดียวกัน (เมื่อปี 2009 มีเพียง 29.4 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งในกลุ่มผู้แสดงความเห็นบางส่วนเป็นสมาชิกพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือ AfD ที่มีแนวความคิดขวาจัด และชาตินิยม คนกลุ่มนี้พร้อมแสดงออกถึงความเกลียดชังในคนต่างชาติ ไม่ว่าสีผิว เชื้อชาติ หรือศาสนาอะไร

จากผลสำรวจ แม้ว่าจะไม่พบจำนวนที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มขวาจัด แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาของเมื่อสองปีก่อน กลับพบว่า กลุ่มขวาจัดใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความสนใจเพิ่มมากขึ้น และเริ่มหันมาใช้สื่อโซเซียลเป็นหลัก เพื่อจูงใจกลุ่มวัยรุ่น รวมทั้งเผยแผ่โฆษณาชวนเชื่อของพวกเขา นักวิชาการที่จัดทำกรณีศึกษายังมีความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า กลุ่มขวาจัดยุคใหม่ใช้สื่อโซเซียลได้ดีเสียด้วย พวกเขารู้ดีว่า เครือข่ายไหนได้ผล หรือไม่ได้ผล และในทุกสื่อที่พวกเขาเผยแผ่อุดมการณ์ พวกเขามักใช้คำว่า ‘วัฒนธรรม’ แทน ‘เชื้อชาติเผ่าพันธุ์’ ที่เคยใช้มาก่อน

กลุ่มขวาจัดยุคใหม่ใช้สื่อโซเซียลได้ดีเสียด้วย พวกเขารู้ดีว่า เครือข่ายไหนได้ผล หรือไม่ได้ผล และในทุกสื่อที่พวกเขาเผยแผ่อุดมการณ์ พวกเขามักใช้คำว่า ‘วัฒนธรรม’ แทน ‘เชื้อชาติเผ่าพันธุ์’ ที่เคยใช้มาก่อน

‘อิสลาม’ ศาสนาที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนี

ควบคู่กันกับกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยไลพ์ซิก ยังมีกรณีศึกษาของสถาบันอัลเลนสบาค ซึ่งรายงานผลสำรวจว่า ประชากรส่วนใหญ่ในเยอรมนีไม่นับศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ต่อคำถามนี้มีผู้เห็นค้านเพียง 13 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนั้นยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าเสรีภาพในการนับถือศาสนาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมในประเทศ พวกเขายอมรับว่าคนบางกลุ่มในเยอรมนีนับถือศาสนาอิสลาม เหมือนเช่นคนบางกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ หรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลย แต่ในความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า ความสงบสุขในเรื่องความเชื่อทางศาสนาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมเยอรมันเป็นหลัก จากการสำรวจของอัลเลนสบาค ประชาชนสามในสี่อ้างว่า แม้จะเปิดใจยอมรับความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ ก็ตาม ทว่าอิทธิพลทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตจะต้องไม่ขัดแย้งกับค่านิยมของเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิและความเสมอภาคที่เท่าเทียมกันของชายและหญิง

ความเชื่อ ความรู้สึก และความเข้าใจ…ทั้งหมดนี้อาจเป็นเหตุผลให้ชาวเยอรมันรุ่นใหม่หันเหไปสนใจแนวทางการเมืองของกลุ่มขวาจัด อย่างพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา หรือล่าสุดกลุ่ม NSU (Nationalsozialistischer Untergrund – สังคมนิยมใต้ดินแห่งชาติ) ที่แต่ก่อนเคยได้ชื่อเป็นนีโอนาซีปฏิบัติการสังหารคนต่างเชื้อชาติในเยอรมนี ทุกวันนี้แนวร่วมของพวกเขาก็ยังหวนกลับมาก่อการร้ายด้วยจุดประสงค์เดิมอีกครั้ง

นั่นคือ ความเกลียดชังคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ในประเทศของตนเอง

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,