กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนหญิง เลือกใช้งานศิลปะผ่าน ‘ผ้าปักควิลท์’ เป็นสื่อกลางการแสดงออกถึงสถานการณ์การคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิในประเทศไทย 

“ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ สร้างคุณูปการในการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ขึ้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน แต่กลายเป็นว่า ลุกขึ้นมาสู้เมื่อไรก็โดนคุกคาม ฟ้องร้องทางคดี ทำร้าย ให้ร้าย ตีตรา ข่มขู่ โจมตี เราจึงคิดกิจกรรมที่จะทำให้พวกเธอได้แสดงออก บอกเล่าเรื่องราว และช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม ระหว่างภูมิภาค ระหว่างประเด็นการต่อสู้ เพื่อที่สังคมจะได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอมากขึ้น โดยจัดทำโครงการผ้าปักควิลท์ขึ้นมา” ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International (PI) กล่าว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารผ่านตัวกลางที่เป็นผลงาน และเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุม

PI ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงในชุมชน พบว่าผู้หญิงในชุมชนและชนบทพื้นที่ห่างไกล ไม่ค่อยมีพื้นที่ในการแสดงออกและสื่อเรื่องราวต่างๆ จึงเกิดเป็น ‘กิจกรรมผ้าปักควิลท์’ สื่อกลางของการแสดงออกของผู้หญิง เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนสามารถรักษาสิทธิในด้านต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม และเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ PI จับมือกับสถานทูตแคนาดา จัดแสดงผลงานเรื่องราวผ่านผ้าปัก ‘จากเส้นด้ายและปลายเข็ม สู่ศิลปะการต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ #ArtForResistance’ พร้อมเสวนาพูดคุยถึงสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้บริบทประชาธิปไตยไม่เต็มใบ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

แนวคิดนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าต่อควิลท์หลากสีแบบสามมิติ หรือที่เรียกว่า arpilleras ในชีลี ซึ่งเป็นวิธีเลือกสื่อสารที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ผู้หญิงนักสิทธิมนุษยชนเคลื่อนไหวในยุคเผด็จการทหารของ เอากุสโต ปิโนเชต์ (2516-2533) โดยพวกเธอฉายภาพของความยากลำบากและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงจำนวนมากในยุคเผด็จการ การดำรงชีวิตอย่างยากจนและการกดขี่จากรัฐ ผ่านการปักผ้า

ในการเสวนา มีการแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการคุกคามผู้หญิงด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมายจาก 4 องค์กร คือ องค์กร PI องค์กร Fortify Rights สมาคมวัฒนธรรมความพิการเชียงใหม่ และเครือข่ายสลัมสี่ภาค การเสวนานี้หยิบยกปัญหาเกี่ยวกับกฏหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การคุกคามด้วยการดำเนินคดีทางกฎหมาย การเรียกร้องสิทธิโดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย การกล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงผู้ลี้ภัยในเมืองไทย ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากในแง่ของการดำเนินชีวิตในสังคม และความทับซ้อนที่ทำให้ผู้หญิงพิการไม่สามารถเข้าถึงอะไรเลย

อังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ 2562 กล่าวถึงสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิภายใต้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบว่า  หลังการเลือกตั้ง แม้ประเทศไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การใช้เสรีภาพกระทำได้มากขึ้น แต่ผลพวงของการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐบางฝ่าย และกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงอยู่ 

ทั้งนี้ สถิติชี้ว่า ช่วง 3 ปีแรกหลังจากรัฐประหารปี 2557-2560 มีนักสิทธิมนุษยชนหญิงถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 440 คน จาก 179 คน 

“แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย แต่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนในหลายพื้นที่มักมองผู้เห็นต่างด้วยความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ จนนำไปสู่ความพยายามจำกัดเสรีภาพของบุคคลเหล่านี้ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักพบการท้าทายในรูปแบบต่างๆกัน โดยเฉพาะการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง และมีความเปราะบางในความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากขึ้น” นางอังคณากล่าว

‘กิจกรรมเย็บผ้าปักควิลท์’ จึงเป็นแนวทางการทำงานอีกมุมหนึ่งที่เข้าถึงและกระตุ้นให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมในกิจกรรมนี้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ผู้เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการเป็นผู้หญิงในชุมชนหรือพื้นที่ห่างไกล ที่สังกัดอยู่ในองค์กรหรือเครือข่ายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเข้าร่วมโครงการและได้รับการสอนและเทคนิคการปักผ้าจาก นารา วิจิตร์จิรโชติ คุณครูผู้สอนโครงการผ้าปักควิลท์ และ วัฒนา นาคประดิษฐ์ ครูผู้ช่วยสอน โดยก่อนการปักผ้า ก็จะเป็นการพูดคุยเรื่องราวต่างๆ เพื่อเยียวยาบาดแผลในใจ และเข้าสู่กระบวนการปักจนสำเร็จเป็นผลงานและนำมาจัดแสดงในงานเปิดตัวที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

Tags: , , ,