กาตาร์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงกลางคืนของฤดูร้อนอุณหภูมิสูงถึง 32 องศาเซลเซียส ในขณะที่ช่วงกลางวันนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 48 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ซึ่งทำให้ยากต่อการใช้ชีวิตนอกตัวอาคารที่ไม่ได้ติดแอร์คอนดิชันเนอร์
เพื่อแก้ปัญหานี้ทางการกาตาร์จึงประกาศ ‘ติดแอร์’ นอกอาคารเพื่อทำให้อากาศภายนอกนั้นเย็นลง ซึ่ง The Washington Post รายงานว่า แผนการติดแอร์นอกอาคารของกาตาร์นั้นจะเริ่มจากภายในสนามกีฬา Khalifa International Stadium ด้านอกของห้างสรรพสินค้า และตลาด
“คุณจะอยู่ไม่ได้เลยในกาตาร์ถ้าคุณปิดเครื่องปรับอากาศ” ยูเซฟ อัล ฮอร์ ผู้ก่อตั้งองค์กรเพื่อการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งเพื่อความยั่งยืน กล่าว
แม้วิธีการแก้ปัญหานี้อาจจะทำให้อากาศภายนอกตัวอาคารเย็นลงบ้างในบางพื้นที่ แต่มันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว และปัญหาที่แท้จริง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปัญหาให้มากขึ้นอีกด้วย เพราะการเปิดแอร์นั้นใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่กาตาร์เป็นผู้ผลิต ซึ่งการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้เอง เป็นตัวการในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งมีผลทำให้โลกร้อนขึ้น
รายงาน Global Carbon Project จากสถาบัน Carbon Dioxide Information Analysis Center (CDIAC) ซึ่งนำตัวเลขปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2017 อันส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกในแต่ละประเทศมาจัดอันดับ ที่นำเสนอไปเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ก็คึอประเทศกาตาร์
ในขณะที่ข้อตกลงปารีส ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำหนดให้ทุกประเทศที่ให้ลงนามเข้าร่วมช่วยกันควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่าประเทศกาตาร์ ซึ่งลงนามในความร่วมมือนี้ด้วยได้ปล่อยปละละเลยจนเลยข้อตกลงปารีสไปแล้ว
และกาตาร์ยังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงขึ้นเร็วที่สุดในโลกนอกเขตอาร์ติกอีกด้วย
อ้างอิง
https://www.sciencealert.com/qatar-is-now-resorting-to-air-conditioning-the-outside-to-battle-unbearable-heat
https://www.washingtonpost.com/graphics/2019/world/climate-environment/climate-change-qatar-air-conditioning-outdoors/
https://unfccc.int/process-and-meetings/the-paris-agreement/what-is-the-paris-agreement
ภาพ : USA TODAY USPW/REUTERS
Tags: ความตกลงปารีส, สภาวะโลกร้อน, ปรากฏการณ์เรือนกระจก