เมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียลงนามในกฎหมายที่อนุญาตให้ประกาศว่านักข่าวและบล็อกเกอร์ หรือกระทั่งผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เป็น “ตัวแทนต่างชาติ” (foreign agent) แล้ว
การออกกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบตั้งแต่ปี 2017 เพื่อตอบโต้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาที่จัดให้สถานีข่าว RT ที่รัฐบาลรัสเซียสนับสนุนต้องลงทะเบียนเป็นตัวแทนต่างชาติ
กฎหมายนี้บังคับใช้กับผู้ที่เผยแพร่เนื้อหาจากสื่อที่ได้รับเงินจากต่างชาติและถูกระบุว่าเป็น “ตัวแทนต่างชาติ” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว บล็อกเกอร์ ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย สื่อรัสเซียรายงานว่า รัฐบาลสามารถบล็อคเว็บไซต์ของตัวแทนต่างชาติ หรือมีสิทธิทางกฎหมายในการจัดการกับข้อมูลที่สื่อต่างชาติเผยแพร่ ซึ่งเข้าข่ายละเมิดกฎหมายรัสเซีย
นอกจากนี้ ยังบังคับให้ทุกเรื่องที่นำเสนอโดยผู้ที่ได้รับเงินทุนจากต่างชาติต้องเขียนให้ชัดเจนว่า เผยแพร่โดยตัวแทนต่างชาติ
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลรัสเซียทำให้นักข่าวและนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่า เป็นวิธีที่รัฐบาลใช้ป้องปรามผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล สองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ในจดหมายเปิดผนึกที่มีนักข่าวชื่อดังร่วมลงนามกว่า 60 คนระบุเรียกร้องไม่ให้ปูตินลงนามบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยระบุว่าเป็นการตีตราและทำลายความน่าเชื่อถือของบุคคล ทั้งที่ไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย หรือนำเสนอความคิดของนายจ้างที่เป็นชาวต่างชาติแต่อย่างใด
อเล็กซี เวเนดิคอฟ บรรณาธิการของสถานีวิทยุเอคโคกล่าวว่า กฎหมายมาในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีนี้ ที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจการควบคุมการเลือกตั้งท้องถิ่นของรัฐบาล
มีสื่อที่เป็น “ตัวแทนต่างชาติ” จดทะเบียนในรัสเซีย 10 สำนัก ทั้งหมดซื้อลิขสิทธิ์ข่าวจากเรดิโอฟรียุโรป หรือวอยซ์ออฟอเมริกา ที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนเงินทุน รัฐบาลรัสเซียไม่พอใจการรายงานข่าวเรื่องการประท้วงของสื่อต่างชาติ และเคยขู่ว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตสื่อเยอรมันที่เผยแพร่แผนที่การชุมนุม
กฎหมายนี้ผ่านสภาตั้งแต่ปี 2012 เนื้อหาครอบคลุมกลุ่มเอ็นจีโอ และถูกใช้กับกลุ่มสิทธิมนุษยชนและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ที่มา:
ภาพ: REUTERS/Shamil Zhumatov/Pool
Tags: รัสเซีย