หลังความสำเร็จของเพลงฆ่าแฟนเก่าอย่าง Kill Bill โดยซิสซา (SZA) ที่ครองอันดับท็อป 3 บนชาร์ต Billboard Hot 100 มายาวนานตั้งแต่ปลายปี 2022 จนถึงตอนนี้ และกระแสร้อนแรงของซีรีส์ล้างแค้นเรื่อง The Glory ของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ดีว่ามนุษย์เรามีความหลงใหลในแนวคิดเรื่อง ‘การแก้แค้น’ อยู่ไม่น้อย
แม้จะรู้ดีว่าการให้อภัยมันดีกว่าในแง่ศีลธรรม แต่บางครั้งการให้อภัยก็ไม่อาจแก้ไขความบอบช้ำที่เกิดขึ้นแล้วได้ ซึ่งทางจิตวิทยา ความรู้สึกเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ คุณไม่ได้เป็นคนชั่วร้าย ‘ขนาดนั้น’
บทความของเว็บไซต์เวลแอนด์กู๊ด (Wellandgood) ว่าด้วยความรู้สึกจากการแค่คิดถึงหรือลงมือแก้แค้น ในมุมจิตวิทยา ประสาทวิทยา และสังคมวิทยา พบว่าการแก้แค้นให้ความรู้สึกทั้งดีอย่างมาก และแย่สุดๆ แบบผสมกัน
ดร.เดวิด เชสเตอร์ (Dr.David Chester) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคมและผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการจิตวิทยาสังคมและประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลท์ (Virginia Commonwealth University) ในสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่าในช่วงที่คนต้องรวบรวมความรู้สึกโกรธแค้นทั้งหมดเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้แค้น จะเป็นช่วงเวลาที่สร้างความรู้สึกเชิงลบกับจิตใจมากที่สุด แต่ก็จะมีความสุขเกิดขึ้นด้วยเมื่อนึกถึงสถานการณ์หลังการแก้แค้นสำเร็จ
ดร.เดวิดเล่าถึงงานวิจัยเชิงพฤติกรรมสองชิ้น ชิ้นแรกคือการให้ผู้เข้าร่วมทดลองให้คะแนนความต้องการที่จะตอบโต้สิ่งยั่วยุด้วยความก้าวร้าว และอีกชิ้นคือการประเมินระดับการกระตุ้นของสมองระหว่างที่ตอบโต้สิ่งยั่วยุ พบว่าการตอบสนองสิ่งที่สร้างความไม่พึงพอใจให้ผู้ร่วมทดลองออกไปตรงๆ มีคุณสมบัติเหมือนการ ‘ให้รางวัล’ ต่อจิตใจ
“การได้แก้แค้นให้ความรู้สึกคล้ายการถึงจุดสุดยอด ในแง่ของการเป็นประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะการกระทำที่เกิดจากความเคียดแค้นกระตุ้นวงจรการให้รางวัลในสมอง ปล่อยสารเคมีที่ทำให้รู้สึกดีอย่างโดปามีน (Dopamine) และสารกลุ่มฝิ่น (Endogenous Opioids)”
ดร.เดวิดเสริมต่อว่าความรู้สึกด้านลบระหว่างการแก้แค้นเกิดขึ้นเพราะคุณกำลังต้องลงมือทำร้ายใครบางคนที่ทำร้ายคุณ แต่ความรู้สึกเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป
“เรามักจะคิดว่าความโกรธเป็นสิ่งที่เราไม่อยากรู้สึก แต่ในความเป็นจริงแล้วมีสถานการณ์มากมายที่ผู้คนต้องการ และ ‘ชอบ’ ที่จะรู้สึกโกรธ เช่น คุณคงอยากรู้สึกโกรธเมื่อต้องตบหน้าใครสักคนเพื่อแก้แค้น แต่คุณก็สามารถรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขกับการมองว่าการตอบโต้ครั้งนี้มันช่างไร้สาระสิ้นดี แต่คุณก็ทำลงไปแล้วเพราะคุณโกรธ”
ดังนั้นความคิดเรื่องการแก้แค้นเลยเป็นสิ่งที่หวานอมขมกลืน เพราะต้องแบกความรู้สึกเดือดดาลและประกายความสุขที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นไปด้วยพร้อมๆ กัน และความสุขที่ได้มาก็จะไม่อยู่ไปตลอด
ดร.เดวิดเตือนต่อว่าระดับโดปามีนที่พุ่งสูงหลังจากการแก้แค้นจะอยู่ในช่วงสั้นๆ แต่ความรู้สึกผิดที่เกิดการจากทำร้ายคนคนหนึ่งลงไปแล้วจะคงอยู่ ‘ถาวร’ ซึ่งอาจส่งผลให้คนเสพติดมัน เพราะต้องการลบล้างความรู้สึกผิดและเติมเต็มความรู้สึกดีด้วยการแก้แค้นอยู่เรื่อยๆ คล้ายกับอาการกระหายแอลกอฮอล์ ที่คนจะหาเหตุผลมากมายมาสนับสนุนให้ตัวเองได้ออกไปดื่มสักแก้วเพื่อหาความสุขจากความมึนเมาระยะสั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้น หรือ ‘การให้อภัย’ จะดีกว่า?
ข้อมูลจากงานวิจัย ‘การทำให้ตนเองมีความเป็นมนุษย์อีกครั้งหลังจากตกเป็นเหยื่อ: บทบาทของการให้อภัยกับการแก้แค้น’ (Rehumanizing the self after victimization: The roles of forgiveness versus revenge) ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ไซโคโลจีทูเดย์ (Psychology Today) ระบุว่าการให้อภัยทำให้เหยื่อกลับมามีมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่มากกว่าการคิดแก้แค้น เนื่องจากการกระทำผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นจากแก้แค้นทำให้พวกเขารู้สึกผิด และรู้สึกเป็นมนุษย์น้อยลง
ในงานวิจัยดังกล่าว คารินา ชูมานน์ (Karina Schumann) และเกร็ก วอลตัน (Greg Walton) ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก (University of Pittsburgh) สหรัฐอเมริกา ได้สุ่มแบ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งถูกขอให้จินตนาการว่าตัวเองมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานปกติ อีกกลุ่มหนึ่งถูกขอให้จินตนาการว่าถูกเพื่อนร่วมงานทำให้ขุ่นเคือง จากนั้นให้จินตนาการว่าจะให้อภัยเพื่อนร่วมงานหรือแก้แค้นพวกเขา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่พวกเขาได้รับ
ทีมนักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมที่จินตนาการถึงการแก้แค้นเพื่อนร่วมงานยังคงอยู่ในสถานะ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของตัวเอง คือมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ที่ตัดสินใจตอบโต้ด้วยการแก้แค้น หรือรู้สึกว่าตนไม่ละเอียดรอบคอบในการคิดแผนการแก้แค้นได้ดีพอ ส่วนผู้เข้าร่วมที่จินตนาการถึงการให้อภัยเพื่อนร่วมงานจะรู้สึกว่าตัวเองสามารถครองสติได้และมีศีลธรรมสูงกว่า
“ผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นว่าการให้อภัยทำให้เหยื่อกลับมามีมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่พวกเขารับรู้ได้ว่าความเป็นมนุษย์ของตนจะได้รับความเสียหาย หากต้องลงมือกระทำสิ่งผิดกฎหมาย”
คารินากล่าว
การวิจัยชี้ให้เห็นว่าการให้อภัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยความรู้สึกด้านลบ และอาจเพิ่มความรู้สึกที่ดีหรือความมีเมตตาในตัวพวกเขา
ที่มา
https://www.wellandgood.com/how-taking-revenge-makes-you-feel/
Tags: จิตวิทยา, Psychology, การแก้แค้น, Revenge