จากสถิติ ผู้ชาย 1 ใน 8 คนจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนใหญ่ผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ที่ผ่านมาการรักษาโรคมะเร็งแบบตรงเป้า (targeted therapy) ถูกนำมาใช้รักษามะเร็งอื่นๆ มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่มีการทดลองใช้กับมะเร็งต่อมลูกหมาก การรักษามะเร็งแบบตรงเป้า ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาเต็มที่ ปกป้องผลข้างเคียงจากยาอื่นๆ ที่อาจจะไม่เหมาะสำหรับพวกเขา
ในการประชุมวิชาการของสมาคมวิทยาเนื้องอกทางการแพทย์ยุโรป ที่เมืองบาร์เซโลน่า สเปนเมื่อวันที่ 30 กันยายน แพทย์จากโรงพยาบาลรอยัล มาร์สเดน ชิคาโก และศูนย์วิจัยมะเร็งสหราชอาณาจักรเสนอผลการทดลองในระยะที่ 3 ว่า จากการทดสอบทางพันธุกรรมของผู้ป่วยมากกว่า 4,400 คนเพื่อหาความผิดปกติของ DNA พบว่ายาโอลาพาริบ (Olaparib) ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการทำให้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากพัฒนาช้าลงได้
ในการทดลอง แพทย์เปรียบเทียบยาโอลาพาริบ กับยาที่ใช้รักษาต่อมลูกหมากตามปกติ 2 ชนิด ผลปรากฏว่า ยาโอลาพาริบสามารถยืดระยะเวลาการเติบโตของเซลล์มะเร็งไปได้หลายเดือน นักวิจัยคิดว่าจะช่วยทำให้ผู้ชายมีชีวิตอยู่ต่อไปได้นานขึ้น แม้ว่าโรคจะรุนแรงมากขึ้น โดยจะมีการติดตามผลต่อไป การพบนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองวิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากแบบตรงเป้า
ยาโอลาพาริบหรือชื่อทางการค้าว่าลินพาร์ซา (Lynparza) ซึ่งเป็นยาต้านมะเร็งที่มุ่งเป้าหมายและทำลายเซลล์มะเร็งด้วยการทำให้รหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งบกพร่อง ขณะเดียวกันก็สงวนเซลล์ปกติที่แข็งแรงเอาไว้ แม้อาจจะไม่ได้ผลกับผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากทุกคน แต่ยานี้ก็ได้ผลกับผู้ชายจำนวนหนึ่ง
นักวิจัยพบว่า ผู้ชายที่มีเนื้องอกจำนวน 80% ซึ่งมีความผิดปกติที่ยีน BRCA ตอบสนองต่อยา ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการทดสอบได้ว่า ตนเองมีพันธุกรรมที่ผิดปกติที่ยานี้สามารถทำลายได้หรือไม่ ยีนซ่อมแซมที่มี DNS ผิดปกติ เช่น BRCA1 และ BRCA2
สำหรับผู้ป่วย แพทย์แนะนำให้คนไข้ปรึกษาแพทย์ว่าตนเองควรได้รับการรักษาแบบใด เนื่องจากทุกวิธีล้วนแต่มีผลข้างเคียง นอกจากนี้เนื้องอกเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ถ้าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้นและไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แพทย์จะเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังแทน ในกรณีที่แพทย์เห็นว่ารุนแรงจนต้องรักษา ก็จะสามารถรักษาได้ หากตรวจพบในระยะแรก แต่หากตรวจพบในระยะท้ายๆ ที่มะเร็งแพร่กระจายแล้วก็จะรักษาไม่ได้
ศาสตราจารย์นิโคลัส เจมส์ สถาบันวิจัยมะเร็ง สหราชอาณาจักรกล่าวว่า การรักษามะเร็งด้วยการปรับให้เข้ากับผู้ป่วยแต่ละคน ดังที่ตรวจหาความผิดปกติของยีนบางตัวในเนื้องอกเป็นหัวใจสำคัญของดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง และช่วยให้ได้การรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วย แต่สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากนี่เป็นครั้งแรกที่ใช้วิธีนี้
ศาสตราจารย์โจฮานน์ เดอ โบโน สถาบันวิจัยมะเร็ง ลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ร่วมวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า การที่เรามีความรู้มากขึ้นสำหรับการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ชายทุกคน เขาหวังว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ายาโอลาพาริบจะกลายเป็นมาตรฐานของรักษามะเร็งต่อมลูกหมากได้
ที่มา:
https://www.bbc.com/news/health-49877843
https://edition.cnn.com/2019/09/30/health/prostate-cancer-olaparib-trial-study/index.html
ภาพ : Worldwide Cancer Research
Tags: ยารักษาโรคมะเร็ง, มะเร็ง, มะเร็งต่อมลูกหมาก, วิจัยมะเร็ง