“กลัวม็อบแหละ ดูออก” นอกจากคอมเมนต์ถามว่าผู้ต้องขังติดโควิด-19 มาจากไหน (เพราะเป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศรายแรกในรอบ 100 วัน จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคหาที่มาที่ไปของเชื้อให้ได้โดยเร็ว) ผมยังสังเกตว่ามีคอมเมนต์ในสังคมออนไลน์ที่สงสัยว่าเป็นการจัดฉากของรัฐบาลหรือไม่? ไม่ว่าจะเพื่อสร้างความกลัวให้กับผู้ที่จะมาชุมนุมในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า หรือเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อพรก.ฉุกเฉินรอบที่ผ่านมา
“…ดูก็รู้ว่ากลัวโควิดหาย จะหมดเหตุผลในการห้ามชุมนุม…” /“แหม! ติดเชื้อในประเทศก่อนจะมีชุมนุมใหญ่ มองจากดาวอังคารก็รู้แหละ…” / “ต่อ พรก.ฉุกเฉินอีก 20 ปี” / “มุขเก่ามาก หามุขใหม่บ้าง”
คอมเมนต์เหล่านี้ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบการควบคุมโควิด-19 ควรสนใจไม่น้อย เนื่องจากสะท้อนให้เห็นว่ามีประชาชนบางส่วนไม่ไว้ใจการทำงานของรัฐบาล เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโอกาสที่จะพบผู้ป่วยภายในประเทศหลังจากพบผู้ป่วยรายสุดท้ายเมื่อ 3 เดือนก่อนนั้นต่ำมากจนหลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เหตุผลอีกส่วนก็คือ โควิด-19 ถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างในการห้ามปรามการชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามมาโดยตลอด
ความบังเอิญของ 2 #แฮชแท็ก
การแถลงข่าวกรณีผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 ร่วมระหว่างกรมควบคุมโรค กรมราชทัณฑ์ และสำนักอนามัย กทม. เมื่อเย็นวันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแถลงด่วนในลักษณะนี้ (การแถลงปกติคือการแถลงของโฆษก ศบค. ช่วงก่อนเที่ยง) แต่เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2563 ได้มีการแถลงข่าวกรณีหญิงไทย 2 รายที่ตรวจพบ ‘ซากเชื้อ’ มาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งคล้อยหลังการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของกลุ่มประชาชนปลดแอกเพียง 1 วัน
ส่วนครั้งนี้เป็นการแถลงข่าวก่อนก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งเนื่องในโอกาสครบรอบ 14 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2563 หรือในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยในวันเดียวกันนี้ได้มีการเพิกถอนการประกันตัวของนายอานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชนที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้ #โควิด19 และ #saveทนายอานนท์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์พร้อมกัน จนน่าจะทำให้หลายคนอดคิดเชื่อมโยงกันไม่ได้
การแถลงข่าวของกรมควบคุมโรคในครั้งนี้จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่าสามารถตรวจพบอาวุธสงครามที่คนร้ายเตรียมนำมาก่อความไม่สงบในพื้นที่ เป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศหรือต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินในที่สุด ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นการจัดฉาก ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องบังเอิญที่มีการตรวจพบผู้ต้องขังติดโควิด-19 ในวันที่ 2 กันยายน 2563 และเมื่อมีการสอบสวนโรคเบื้องต้นแล้วจึงมีการแถลงข่าวในวันต่อมา
ถ้าตัดเหตุผลที่ว่าผมทราบว่าเพื่อนที่เรียนต่อด้วยกันต้องออกสอบสวนโรคที่เรือนจำตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 3 กันยายน ผมคิดว่ามีอีก 2 เหตุผลที่ยังทำให้เชื่อว่าเป็นข่าวจริงคือ
(1) กรณีนี้มีหน่วยงานรัฐที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวข้อง รวมถึงการพิพากษาที่ศาลอาญา รัชดาฯ และมีการกล่าวถึงสถานที่ทำงานของผู้ป่วยซึ่งเป็นกิจการของเอกชนด้วย ซึ่งหากไม่เป็นความจริง คงจะต้องทำเป็นขบวนการ และเอกชนจะต้องออกมาโต้แย้งแล้ว
และ (2) การรายงานว่าพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศส่งผลเสียต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะตรงกับช่วงที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดชดเชยเทศกาลสงกรานต์ หรือจะตรงกับช่วงนี้ที่ภาคเอกชนกำลังผลักดันโครงการหลายอย่างอยู่ เช่น ภูเก็ตโมเดล, สเปเชียล เจอร์นีย์ (ซึ่งไม่แน่ว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโครงการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางของ ศบค.ก็ชัดเจนมากขึ้นว่าจะไม่ยึดติดกับเลข 0 ของจำนวนผู้ป่วยอีกต่อไป)
ในเมื่อผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าพบเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 และปริมาณสารพันธุกรรมที่ตรวจพบก็มีจำนวนมากเกินกว่าจะสงสัยว่าเป็น ‘ซากเชื้อ’ อย่างการแถลงข่าวรอบที่ผ่านมาได้ สิ่งที่กรมควบคุมโรคทำคือการสอบสวนว่าผู้ต้องขังติดเชื้อมาจากใคร และใครที่ติดเชื้อต่อจากผู้ป่วยรายนี้บ้างตั้งแต่ช่วงเช้า และรีบแถลงข่าวให้ประชาชนทราบในช่วงเย็นเลย ทั้งที่เพิ่งลงสอบสวนวันแรกเท่านั้น (ทำให้ยังไม่ได้คำตอบที่ทุกคนค้างคาใจว่าเชื้อมาจากไหน)
ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 เรากลัวเจ้าหน้าที่รัฐจะ ‘ปิดข่าว’ ไม่เปิดเผยจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริง เพราะช่วงนั้นมักมีข้อมูลหลุดออกมาก่อนการแถลงข่าวของกรมควบคุมโรค พอแถลงข่าวช้าก็ทำให้ถูกมองว่าปกปิดข้อมูล และเมื่อแถลงข่าวก็จะมีคำถามตามมาว่าผู้ป่วยเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน เวลาใด เพราะข้อมูลที่แถลงไม่ละเอียด แต่จะสังเกตว่ารอบนี้กรมควบคุมโรคพัฒนาขึ้น โดยชี้แจงค่อนข้างละเอียดให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงของตนเองอย่างรวดเร็ว
โควิด-19 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ถ้าพูดถึงการชุมนุมในช่วงนี้ ก็ต้องต้องย้อนกลับไปช่วงต้นปีอีกรอบ เพราะเป็นความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2563 มีการจัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ที่สวนรถไฟ ต่อมาปลายเดือนกุมภาพันธ์ มีการชุมนุมของนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย ภายหลังจากมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยก็เริ่มในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีการประกาศว่าพบผู้ป่วยรายแรกในวันที่ 12 มกราคม (วันเดียวกันเลย!)
ถึงแม้ว่าในขณะนั้นจะยังไม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง แต่โควิด-19 กลายเป็นทั้งข้อห่วงใยและข้ออ้างในการห้ามจัดกิจกรรมของนักศึกษา โดยหนึ่งในมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงอุดมศึกษาฯ ประกาศในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ก็คือ “ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการชุมนุมนักศึกษา…เป็นจำนวนมาก” ทว่ายังมีการจัดกิจกรรมทั่วประเทศต่อจนถึงต้นเดือนมีนาคม และหลังจากนั้นสถานการณ์การระบาดแย่ลง และรัฐบาลได้ประกาศพรก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563ในที่สุด
22 มิถุนายน 2563 เป็นวันที่ ศบค. แถลงว่าไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศครบ 28 วันหรือ 2 เท่าของระยะฟักตัวแล้ว ข้อเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินจึงเริ่มได้ยินบ่อยขึ้น แต่รัฐบาลยังต่อ พรก.ฉุกเฉินต่อไปอีกเป็นคราวที่ 3 (1-31 กรกฎาคม 2563) ซึ่งเหตุผลหลักน่าจะเป็นข้อกฎหมายที่มาตรการควบคุมโรคทั้งหมดถูกประกาศภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.โรคติดต่อไม่สามารถบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงได้ ส่วนเหตุผลเรื่องม็อบก็อาจมีส่วนอยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเยาวชนปลดแอกชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเหตุให้แกนนำหลายคนถูกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน (ที่มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรคติดต่อ) ประมวลกฎหมายอาญา รวมถึง พรบ.โรคติดต่อ โดยกล่าวหาว่าการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะเห็นว่าโควิด-19 ถูกใช้เป็นเหตุผลหรือข้ออ้างในการห้ามปรามการชุมนุมของนักศึกษามาโดยตลอด
ถ้าจะพูดตรงกว่านั้นก็คือโควิด-19 ถูกนำมาใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการจัดการกับผู้ที่แสดงความเห็นต่างจากรัฐบาล เพราะการรวมตัวกันของผู้สนับสนุนรัฐบาลหรือการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านนักศึกษากลับไม่ถูกห้ามปรามด้วยเรื่องโควิด-19 แต่อย่างใด และในเมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการจนกระทั่งสามารถเปิดสถานบันเทิง ซึ่งเป็นกิจการสีแดงตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ได้แล้ว การชุมนุมในสถานที่เปิด และผู้เข้าร่วมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยย่อมมีความเสี่ยงน้อยกว่า
ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคอมเมนต์บางส่วนในสังคมออนไลน์ถึงคิดว่าฝ่ายรัฐบาลจัดฉากเรื่องผู้ต้องขังติดโควิด-19 ขึ้นมา แต่ถ้ามีผู้คิดเช่นนี้จำนวนไม่น้อยก็ไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมและป้องกันโรค เพราะเมื่อประชาชนขาดความไว้ใจรัฐบาล ก็จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมโควิด-19 และปัญหาเรื่องความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงย่อมตามมา
“เธอมาได้ตรงเวลาพอดี อย่างกับนัดกันไว้”
เป็นคอมเมนต์ที่ผมอ่านแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ เพราะถ้าจะคิดว่า “เธอมาได้ตรงเวลาพอดี อย่างกับนัดกันไว้” ก็ได้ แต่กรณีผู้ต้องขังติดโควิด-19 เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า เพราะมีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยัน (หากแต่จะเป็น ‘ซากเชื้อ’ หรือไม่ ต้องรอผลการเพาะเชื้อในสัปดาห์หน้า) ในขณะที่ถ้าร้องต่อก็จะเป็นท่อนที่ว่า “เธอช่วยชีวิตฉันไว้พอดี” จากที่ลำดับเหตุการณ์มาทั้งหมด โควิด-19 ได้ช่วยชีวิตรัฐบาลมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยต่อไปได้อีกนานแค่ไหน
ผมเคยได้ยินว่า ศบค. มีแนวคิดที่จะใช้ระดับสีแทนระดับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาด และแต่ละระดับจะมีการกำหนดความเข้มงวดของมาตรการต่างกัน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่เห็นความคืบหน้าเพิ่มเติมในเรื่องนี้ ซึ่งการมีแผนเผชิญเหตุที่ชัดเจน และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจล่วงหน้าจะทำให้ประชาชนมั่นใจการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงในระดับถัดไป
ที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างกรณีพบผู้ต้องขังติดโควิด-19 นี้ขึ้น ทุกคนก็จะรู้ทันทีเลยว่าต้องทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะในฐานะประชาชน ในฐานะเจ้าของกิจการหรือกิจกรรม หรือในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ
นอกจากนี้การห้ามปรามการชุมนุม แทนที่จะใช้เหตุผลหรือข้ออ้างเรื่องการระบาดของโควิด-19 (ซึ่งถ้าจะใช้ก็ควรคำนึงถึงสถานการณ์การระบาดภายในประเทศด้วย) รัฐบาลควรมีความจริงใจในการรับฟังข้อเสนอของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนมากกว่านี้
Tags: ผู้ต้องขังติดโควิด-19