1.

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ความสูสีขับเคี่ยวกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกัน (Republican) กับผู้ท้าชิงโจ ไบเดน(Joe Biden) จากพรรคเดโมแครต (Denocrat) ที่สลับหมุนเวียนกันนำในรัฐใหญ่ ๆ จนไม่อาจชี้ขาดได้ในช่วง4-5 วันหลังการเลือกตั้ง อย่างในรัฐเพนซิลวาเนีย(Pensylvania) ซึ่งทรัมป์มีคะแนนนำมาตลอด แต่สุดท้ายไบเดนก็แซงขึ้นนำได้ อันเป็นผลจากบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่คนอเมริกันลงคะแนนแล้วส่งมาทางไปรษณีย์ กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ส่งผลให้ไบเดนชนะเลือกตั้งก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

เบื้องหลังบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านี้มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีคนจำนวนมากเกี่ยวข้อง พวกเขาต่างลงมือลงแรงผลิตและดูแลบัตรเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนชาวอเมริกันมั่นใจได้ว่า ทุกคะแนนเสียงของพวกเขาจะถูกนับเป็นคะแนนและมีค่าในระบอบประชาธิปไตยของชาติที่ดำรงอยู่มากว่า 200 กว่าปีแน่นอน

2.

ที่ผ่านมาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเหล่านี้ถูกโจมตีจากทรัมป์อย่างมาก ว่าอาจจะเอื้อให้เกิดการโกงเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่ผู้อำนวยการสำนักงานไปรษณีย์สหรัฐฯ (US National Postal Service) ทางทรัมป์ก็แต่งตั้งมากับมือ แม้จะมีความพยายามอย่างมากที่จะให้ศาลระดับรัฐสั่งห้ามนำบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่เดินทางมาถึงหลังวันเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนนับคะแนนไปด้วย ดีที่ศาลอเมริกันเขาไม่เอาด้วย โดยบางรัฐให้ถือว่าบัตรเลือกตั้งประเภทนี้ที่ประทับตราไปรษณีย์ก่อนวันเลือกตั้งจะต้องถูกนำมานับคะแนนด้วย แม้จะเดินทางมาล่าช้าหลังวันเลือกตั้งก็ตาม

การเลือกตั้งอเมริกา 2020 นี้ ถือเป็นการเลือกตั้งภายใต้การระบาดของโควิด-19 ซึ่งอเมริกามีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกและสถานการณ์ยังไม่ทุเลาลงแม้แต่น้อย นั่นทำให้มีประชาชนจำนวนมากลงทะเบียนขอใช้สิทธิกาบัตรล่วงหน้าสูงกว่าการเลือกตั้งครั้งไหน ๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เชียร์ไบเดนและเห็นว่าการออกไปเลือกตั้งวันจริงนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด

ขณะที่สาวกทรัมป์นั้นได้รับการบอกกล่าวให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่คูหาจะดีกว่า นั่นทำให้ช่วงแรก คะแนนของทรัมป์จึงนำในหลายรัฐ แต่เมื่อเริ่มมีการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไปรษณีย์นำมาส่ง ทำให้คะแนนของทรัมป์โดนไล่บี้และโดนไบเดนแซงชนะไปในที่สุด

ทั้งนี้ระบบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ดำเนินการส่งผ่านทางไปรษณีย์นั้น ไม่ได้ใช้ในการเลือกตั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ใช้มานาน 100 กว่าปีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ทหารฝ่ายเหนือก็ได้ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบนี้ขณะทำสงครามอยู่กลางสมรภูมิ กาเสร็จก็ใส่ซอง ไปรษณีย์จะนำกลับไปไว้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐเพื่อใช้นับคะแนน ที่ผ่านมาคนอเมริกันยอมรับว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านั้นมีประสิทธิภาพ มีระบบตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ดีเยี่ยม โกงยากแถมโปร่งใส และชัวร์มากกว่าการลงคะแนนผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเสี่ยงจะถูกแฮกโกงคะแนนได้

3.

สำหรับบัตรเลือกตั้งทั้งหมดนั้นจะถูกผลิตในโรงพิมพ์ในแต่ละรัฐ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันไป เพราะอเมริกานั้นไม่มีคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.กลาง แต่จะเป็นกกต.ระดับรัฐดำเนินการเอง ดังนั้นบัตรลงคะแนนแต่ละรัฐจะไม่เหมือนกัน เพราะบางรัฐมีการเลือกสภาล่าง บางรัฐมีเลือกสภาสูง บางรัฐมีการให้ออกเสียงลงประชามติ การเลือกตั้งอื่น ๆ นั้นจะถูกแนบมาในบัตรลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีด้วย บัตรในแต่ละรัฐจึงแตกต่างกันมาก ซึ่งปริมาณการผลิตนั้นก็จะดูจากยอดลงทะเบียนลงเลือกตั้งของคนอเมริกัน ถ้าหากใครอยากใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าก็ไปลงทะเบียนเพิ่มอีกตามกำหนดเวลา เมื่อเจ้าหน้าที่ทราบจำนวนคนขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้าแล้ว ก็จะเริ่มดำเนินการจัดทำบัตรแยกใส่ซองไปรษณีย์ทันที 

โรงพิมพ์บางแห่งสามารถผลิตบัตรเลือกตั้งได้ถึง 2 ล้านใบในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง บางที่ใช้พนักงานชั่วคราวดูแลการผลิตถึง 90 คน ซึ่งบางคนในนั้นตกงานจากสถานการณ์โควิด-19 ก็มาหารายได้ระหว่างเตะฝุ่น ซึ่งการผลิตบัตรเลือกตั้งนี้เริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกันยายน คนงานเหล่านี้ต้องทำงานต่อเนื่องกันกว่า 40 วัน เข้ากะครั้งละ 12 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ และต้องทำงานล่วงเวลาถึง 130 ชั่วโมงกว่าที่จะสามารถผลิตบัตรเลือกตั้งออกมาได้สำเร็จ

สำหรับกระดาษม้วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตบัตรเลือกตั้งนั้น แต่ละอันมีน้ำหนักเกือบครึ่งตัน กระดาษ1 ม้วนสามารถผลิตบัตรเลือกตั้งได้ 20,000 ใบในเวลาเพียง 45 นาที โรงพิมพ์บางแห่งใช้ม้วนกระดาษใหญ่เรียงเป็นความยาวถึง 10,500 กิโลเมตรในการผลิตบัตรเลือกตั้ง ทั้งแบบล่วงหน้าและที่เอาไว้ใช้ในวันกาจริง ซึ่งผลิตเตรียมไว้ 36 ล้านใบใน 11 รัฐทั่วอเมริกา โดยแบ่งเป็นบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 16 ล้านใบ ซึ่งมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อคราวก่อนถึง 4 เท่า

ปริมาณบัตรเลือกตั้งจำนวนมหาศาลนี่เอง ยิ่งใกล้วันที่จะต้องส่งบัตรผ่านระบบไปรษณีย์ให้คนกา ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ยิ่งทำให้คนงานเกิดความเครียดไปด้วย เพราะต่างต้องเร่งทำงานที่หนักและโหดให้ได้ทันกำหนดเส้นตายโดยบัตรเลือกตั้งจะต้องดีเยี่ยมไร้จุดบกพร่องด้วย

“ถ้าบัตรเลือกตั้งสมบูรณ์ จะไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ถ้าคุณทำบัตรเลือกตั้งมีตำหนิ มันจะเป็นข่าวระดับโลก”

สำหรับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านั้น จะต้องปิดผนึกใส่ซอง โดยมีการถ่ายภาพเจ้าหน้าที่ขณะดำเนินการ มีตรวจสอบบาร์โค้ดว่าจะส่งไปที่ไหน เรียกได้ว่าเช็กกันแล้วเช็กกันอีก ก่อนจะถูกส่งไปยังรถไปรษณีย์ส่งไปให้คนอเมริกันทั่วประเทศและทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยก็ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้กัน

เมื่อประชาชนได้รับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ก็เพียงแค่ทำตามวิธีการที่ระบุไว้ กาบัตรลงคะแนน ลงลายเซ็น แล้วไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์ใกล้บ้านที่ ทำไว้สำหรับรับส่งบัตรเลือกตั้งโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่กกต.ของรัฐนั้น ๆ ตระเวนมาเปิดตู้วันละ 1 ครั้งแล้วทำการคัดแยกกระจายไปยังรัฐปลายทางผ่านทางระบบขนส่งไปรษณีย์อีกครั้ง

โดยทางเจ้าหน้าที่กกต.ของรัฐนั้นจะดูแลบัตรเลือกตั้งที่ไปรับมาเป็นอย่างดี บางแห่งระบุห้ามเจ้าหน้าที่อยู่กับบัตรเพียงคนเดียว ต้องมีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 2คนไปตระเวนรับบัตรในตู้ไปรษณีย์ด้วยเสมอ

“ฉันดูแลบัตรเลือกตั้งเหล่านี้โดยใช้ระบบรักษาความปลอดภัยในระดับเดียวกับเงินเลย”

จากที่เคยกล่าวไปแล้วว่าอเมริกาไม่มีกกต.กลาง ทำให้วิธีการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในแต่ละรัฐจึงแตกต่างกันไป บางแห่งนับคะแนนบัตรล่วงหน้าไปเลย แต่เก็บผลไว้ไปรวมตอนวันเลือกตั้งจริงอีกที บางรัฐให้เปิดซองนับในวันเลือกตั้งจริงเท่านั้น ก่อนหน้านั้นห้ามนับ รัฐไหนที่นับคะแนนก่อน งานเจ้าหน้าที่กกต.ก็จะเบาหน่อย 

แต่รัฐไหนที่นับคะแนนกันหลังเลือกตั้ง กกต.ก็จะงานเยอะมาก เพราะบางรัฐบัตรเลือกตั้งมาในระดับหลักสิบล้านใบ กว่าจะตรวจสอบกว่าจะเริ่มนับคะแนน มันจึงถือเป็นงานที่โหดมากทีเดียว เจ้าหน้าที่กกต.ต้องทำงานกันทั้งวันทั้งคืนท่ามกลางแรงกดดันจากกองเชียร์ทรัมป์ที่มักจะมาตระเวนตะโกนด่าให้เจ้าหน้าที่กลัว จนต้องมีการเรียกกำลังตำรวจคอยรับส่งดูแลเพื่อความปลอดภัยด้วย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กกต.เหล่านี้หลายคนเป็นอาสาสมัคร บางคนเป็นวัยรุ่นที่สนใจการเมือง บางคนอายุเกิน 60ปี ซึ่งยิ่งอายุมากก็เสี่ยงจะติดโควิด-19 ด้วย ยิ่งมาเจอความกดดันจากกองเชียร์ทางการเมือง พวกเขาเหล่านี้จึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง แต่แม้จะเจอการประท้วงการข่มขู่ ท่ามกลางความกังวลมากมายเหล่านี้ เจ้าหน้าที่นับคะแนนต่างยืนหยัดทำงานของตัวเองต่อไป

“เราจะต้องทำหน้าที่ของเรา นั่นก็คือการนับคะแนน”

4

ไม่เพียงเจ้าหน้าที่ผลิตบัตรหรือเจ้าหน้าที่กกต.ระดับรัฐเท่านั้นที่ต้องทำงานหนัก เพราะหน่วยงานสำคัญอย่างไปรษณีย์อเมริกาที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ และมีเจ้าหน้าที่ประจำการเป็นจำนวนมากก็ต้องทำงานหนักเช่นกัน ยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง พวกเขาต้องทำการขนย้ายบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าให้ไปยังปลายทางเร็วที่สุด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานต่อเนื่องกัน 12-16 ชั่วโมง ซึ่งความสาหัสของไปรษณีย์อเมริกานั้นยังจะต้องเจอกับกฎการนับคะแนนในแต่ละรัฐที่แตกต่างกันไป จึงต้องวางแผนการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบมาก

ที่ผ่านมา การที่ทรัมป์โจมตีเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้ามาตลอด ได้ส่งผลต่อคนอเมริกันเริ่มกลัวและวิตกว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจะหายบ้าง ส่งไม่ถูกที่บ้าง นี่จึงเป็นหน้าที่ของไปรษณีย์ที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอเมริกันเอง ท่ามกลางโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ทางสำนักงานไปรษณีย์มีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ไปแล้ว 101 คน ซึ่งการออกไปรับส่งซองบัตรเลือกตั้งนั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงด้วย เจ้าหน้าที่หลายคนก็ยอมรับว่ากลัวติดเชื้อมาก ต้องล้างมือบ่อย ๆ บางคนนั้นหมั่นไปตรวจโควิด บางคนติดโควิด ไปรักษาตัวจนหายดีแล้ว ก็มีสปิริตกลับมาทำหน้าที่ต่อ

การดูแลซองเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ใช้ระดับการดูแลเข้มข้นราวกับส่งทองคำ ข้อดีที่หลายฝ่ายชอบการทำงานของไปรษณีย์กับการลำเลียงบัตรเลือกตั้ง ก็เพราะว่าหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องรายได้ขาดทุนเหมือนบริษัทเอกชนทั่ว ๆ ไป เจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ทำงานบริการรับใช้ประชาชนให้ดีที่สุด

สำหรับตัวพนักงานส่งไปรษณีย์นั้น หลายคนยอมรับกับสื่อมวลชนว่า เวลาเจอคนกลัวเรื่องจะส่งซองไปรษณีย์ไปผิดที่ พวกเขาจะโกรธมาก เพราะไปรษณีย์อเมริกานั้นไม่ใช่หน่วยงานกระจอก จะให้ไปส่งยังเทือกเขาร็อกกี้อันสูงชัน หรือก้นบึ้งของหน้าผาแกรนด์ แคนยอน พวกเขาก็ทำได้

“เราทำงานกันหนักมาก ขนาดที่ว่าคืนหนึ่ง ฉันนอนหลับที่ไปรษณีย์ แล้วสะดุ้งตื่นมาอุทานว่า ขนาดฝัน ยังฝันว่าทำงานอยู่เลย”

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ในฐานะข้ารัฐการที่ต้องดูแลประชาชนเจ้าของภาษี พวกเขาจึงทำงานกันสุดตัวทุ่มกันสุดฤทธิ์ เพื่อทำให้การเลือกตั้งดำเนินต่อไปได้ หัวจิตหัวใจแห่งความเป็นประชาธิปไตยของพวกเขาแสดงออกได้อย่างลึกซึ้ง เรียบง่ายผ่านการกระทำ นี่คือรากฐานแห่งประชาธิปไตยที่มันฝังลงแน่นในจิตสำนึกของคนอเมริกันจริง ๆ

5.

ความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการให้เลือกตั้งครั้งนี้ดำเนินไปได้อย่างปกติ ไร้ปัญหา ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่เบื้องหลังและมุ่งมั่นจะทำให้สถานการณ์เลือกตั้งภายใต้วิกฤติโควิด ข่าวปลอม ที่ดูเหมือนจะน่าวุ่นวาย แต่กลับผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งมันคงจะไม่เป็นแบบนั้นแน่ หากขาดการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มคนเหล่านี้

ในที่สุดการเลือกตั้งอเมริกาครั้งนี้จบลงด้วยการเตะโด่งโดนัลด์ ทรัมป์ กระเด็นหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้สำเร็จ นอกจากจะต้องยกความดีงามปรบมือให้คนอเมริกันที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันอย่างถล่มทลายแล้ว ก็ขอเสียงปรบมืออีกชุดให้กับผู้ปิดทองหลังพระที่อยู่เบื้องหลังการผลิตบัตรเลือกตั้ง เคลื่อนย้าย ดูแล และนับคะแนน จนทำให้หลักการของประชาธิปไตยที่ว่า “เสียงของเราทุกคนมีความสำคัญเท่ากัน” นั้นมีคุณค่าขึ้นมาทันที และผลงานของผู้ปิดทองหลังพระเหล่านี้จะได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์การเมืองไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน

ที่มา :

https://www.nytimes.com/interactive/2020/10/26/magazine/printing-mail-in-ballots.html?campaign_id=52&emc=edit_ma_20201107&instance_id=23908&nl=the-new-york-times-magazine&regi_id=133553334&segment_id=43867&te=1&user_id=9f4172e6f598f64f625d347bf52e765c

 

https://www.nytimes.com/interactive/2020/11/02/magazine/vote-mail-postal-service.html?campaign_id=52&emc=edit_ma_20201107&instance_id=23908&nl=the-new-york-times-magazine&regi_id=133553334&segment_id=43867&te=1&user_id=9f4172e6f598f64f625d347bf52e765c

 

https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/nov/04/presidential-election-early-ballots-counted?utm_term=d970f48064c59dec19cd86d831cfc6fb&utm_campaign=TheUpside&utm_source=esp&utm_medium=Email&CMP=upside_email

Tags: , ,