หากพูดถึงเรื่องศิลปะกับการเมือง ในช่วงหลายปีแห่งความขัดแย้งที่เข้มข้นนี้ ภาพจำที่ผู้คนน่าจะนึกถึงได้มากที่สุดเห็นจะเป็น Art Lane หรือการรวมกลุ่มศิลปินจำนวนมากจัดทำศิลปะเพื่อระดมทุนให้แก่ กปปส.เมื่อครั้งที่มีการชุมนุม Shut Down Bangkok เมื่อปี 2556 ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่นั่นคือการกลับมาสู่เนื้อหา ‘การเมือง’ ของศิลปินไทยครั้งใหญ่ ในการเรียกร้องให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’

การก่นด่านักการเมือง ความสกปรกของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทุนนิยมสามานย์ หรือแม้กระทั่งเผด็จการอำนาจนิยมนั้น ดูเหมือนเป็นค่าพื้นฐานสำหรับคนทำงานศิลปะที่สนใจประเด็นสังคมการเมือง แม้บางครั้งมันอาจปรากฎตัวออกมาแบบกลับหัวกลับหาง ผิดทิศผิดทางไปบ้างก็ตาม ขณะที่การทำงานกับความคิดความเชื่อที่มากไปกว่านั้น ดูจะเป็นเนื้อหาที่หาได้ยากในแวดวงศิลปะของไทย หรือหากจะมี มันก็มักขาดความแหลมคม หรือไม่ก็เข้าถึงยากเกินไป หรือไม่ก็ปรากฏตัวตามซอกหลืบและถ่อมตัวเหลือแสนเพื่อหลบเลี่ยงความเสี่ยงแห่งยุคสมัย

______

วิทวัส ทองเขียว เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะจากการวาดภาพเหมือนแลนด์สเคปต่างๆ มันเหมือนจริงมากชนิดที่อีกเพียงนิดเดียวเราอาจคิดว่ามันเป็นภาพถ่าย เพียงแต่พลังงานอันนิ่งสงบและความงามชวนดื่มด่ำนั้นเองที่กระตุกเตือนเราว่ามันมาจากปลายพู่กัน ทักษะของเขาถูกการันตีด้วยรางวัลมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

19 พฤษภาคม 2561 เขาเปิดตัวภาพวาดชุดใหม่ในชื่อ ‘Prelude’ ซึ่งแตกต่างจากแนวทางเดิมโดยสิ้นเชิง จากภาพทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยงาม กลายเป็นวัตถุต่างๆ อันเป็นสัญญะของแนวคิดเบื้องหลังที่ซุ่มซ่อน ด้วยรูปแบบเหมือนจริงตามที่เขาถนัดแทนที่จะเป็นแนวแอบสแตรคต์แบบที่เรามักพบเจอ

Subhashok The Arts Centre ซอยสุขุมวิท 39 ยกทั้งสองชั้นของแกลอรี่ให้กับงานแสดงครั้งนี้ ซึ่งศิลปินน้อยคนนักที่จะได้พื้นที่ทั้งหมดไปครอง แต่วิทวัสมีงานหลายชิ้นในหลากรูปแบบทั้งภาพวาด วิดีโอ ศิลปะจัดวาง (installation art) ที่เชื้อเชิญให้ผู้คน งุนงง สงสัย กระทั่งเมามันไปกับการตีความ การเปิดตัวงานเมื่อ 19 พฤษภาคมก็เป็นไปอย่างคึกคักจนเจ้าตัวผิดคาด เพราะแม้งานจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง แต่เขายังคงได้รับการต้อนรับจากผู้คนหลายเฉดความคิด ขาดก็แต่สื่อมวลชนที่คิวเรเตอร์บ่นว่าแทบไม่มีใครมาตามคำเชิญชวนของแกลเลอรี่   

เมื่อเข้าไปในงาน สิ่งแรกที่เตะตาคือ ทุเรียนจริงๆ ซีกหนึ่งวางบนพิซซ่าจริงๆ ถาดหนึ่ง ถูกครอบไว้ในกล่องพลาสติกใสกล่องหนึ่ง

“เห็นแล้วอยากกินทุเรียนมากๆ”

“มันคือการปะทะกันของตะวันตกกับตะวันออก”

“อะไรอะ พิซซ่าแบบเอเชียเหรอ”

“พิซซ่านี่พอรู้ แต่ทุเรียนคือไรวะ”

“งานอาร์ตสัส ทุเรียนคือทหารของอิลีทกะลังทิ่มแทงประชาชนจนเป็นพิซซ่า”

“มันคือการผสมกันระหว่างชาติกับความเป็นตะวันตก แต่ก็ถูกกรอบอยู่ในโถแก้วใสที่จะเห็นความมีอยู่ของมันก็เมื่อไอน้ำจากพิซซ่าควบแน่นกับกรอบแก้วจนเป็นฝ้าขุ่นและหยดน้ำ”

“คล้ายๆ งานฝรั่งคนนึง ที่เอาซากวัวใส่ไว้ในกล่องใสกลางงาน แล้วนิทรรศการผ่านไปเหลือแต่หนอนกับแมลงวัน”

ฯลฯ

นั่นเป็นตัวอย่างของการตีความเมื่อเห็นสองสิ่งธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันวางคู่กัน อย่างไรก็ดี ทุกคนล้วนจบด้วยการถามว่า “สรุปแล้วมันคืออะไร” และศิลปินก็ไม่ได้เขียนคำเฉลยไว้

ที่มากไปกว่านั้นคือ วัตถุสองชิ้นนี้จะถูกวางไว้จนสิ้นสุดการจัดแสดงงานในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561

ถึงตอนนี้ผ่านมาแล้วหลายวัน พิซซ่า + ทุเรียน + เวลา = การบวมอืดและราสีเขียว นั่นอาจทำให้เราต้องตีความซ้อนเข้าไปอีกชั้น

เมื่อเราเดินไปทางซ้าย เราจะเจอภาพขนาดใหญ่หลายภาพ เดินกลับมาทางขวาก็จะเจออีกหลายภาพซึ่งล้วนน่าค้นหาความหมาย เดินมาเรื่อยๆ ให้สุดทางด้านขวา จะพบผืนผ้ายาวใหญ่ติดตั้งไว้เกือบเต็มพื้นที่กำแพง มองไกลๆ เหมือนตัดเอาริ้วสีน้ำเงินเข้มของธงชาติมาขยายขนาด…ทำไมง่ายนัก หรือเขาจะสื่อว่าใครๆ ก็ทำงานศิลปะได้… เดินไปมองใกล้ๆ จึงเห็นว่าสีน้ำเงินนั้นคืออักษรมากมายมหาศาลที่ถูกปั๊มด้วยหมึกน้ำเงินทับถมกันไปเรื่อยๆๆๆๆๆ

งานของวิทวัสเล่นกับ ‘ภาษา’ อย่างมากเพราะมันคือทางผ่านของการสร้าง การรับ การผลิตซ้ำ มายาคติใดๆ และความพิเศษของงานน้ำเงินชิ้นใหญ่นี้ก็คือการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม (อาจพอๆ กับรัฐธรรมนูญ) ด้วยการกำหนดอักษรมาชุดหนึ่ง ไม่ครบ 44 ตัว สระอีกนิดหน่อย แล้วเปิดให้ผู้คนเลือกสีกระดาษ ชมพู-เหลือง-แดง-น้ำเงิน เพื่อปั๊มคำอะไรก็ได้เท่าที่อักษรมีและนึกออก จากนั้นศิลปินจะนำคำดังกล่าวไปปั๊มลงบนผืนผ้าใบใหญ่นี้ หลักฐานกองกระดาษสี่สีวางอยู่บนโต๊ะให้เราเปิดดูคำต่างๆ ของผู้คนที่รังสรรค์ขึ้นมา …ความรัก, คนดี, ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ, ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป, ทบทวน, ฉันเกิดในรัชกาลที่ ๙,  ลูกตาล, พอเจอปัญหาก็หนีไปบวชพระไปบวชชีกัน, รักเด็ก, ชีวิตต้องฉลอง, อากง, อนาคต, เอี่ยมอ่อง, พูดกันดีๆ ก็ได้อย่าดุ, แค่วันนี้, ปิติ, ทรงพระเจริญ, ในหลวงในดวงใจ, ทบทวนตนบนจิตใจ, กอด, ชีวิตคนจรไร้รักจริง, คนทวงหนี้, ชีวิต, อดทนมองหมวยกบฏนอนกรนจนหมดลมตดตอนฝนตก, แดง, คิดบวก ฯลฯ … ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ นี่คือเสียงสะท้อนสิ่งที่อยู่ในหัวผู้คน

ด้านบนมีภาพอีกจำนวนมาก พร้อมด้วยสื่อวิดีโอที่เป็นจดหมายของใครสักคนซึ่งใช้ปากกาเขียนตัวหนังสือลงบนกระดาษฉีกมาจากคัมภีร์ไบเบิล คำภาษาไทยที่ค่อยๆ ปรากฏลางเลือนจนอ่านไม่ออก อันที่จริงมันมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจยิ่ง หากแต่ไม่มีการอธิบายเรื่องราวไว้ให้เห็นโดยง่าย ต้องอาศัยการสอบถามจากศิลปินหรือผู้ดูแลแกลเลอรี่เป็นการเฉพาะ

ถัดไปอีกห้องหนึ่งจะเจองาน installation ว่าด้วย ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช าติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ  ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ ช า ติ   …..

และหากใครตาดีบนชั้นสองนี้จะเจอศิลปะว่าด้วยการเซ็นเซอร์ตัวเองของศิลปิน

งานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนปริญญาเอกของวิทวัส วิทยานิพนธ์ที่เขาศึกษาและจัดทำนั้นว่าด้วยเรื่อง อำนาจแห่งมายาคติในสังคมไทย (Power of mythology in Thai society) ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

วิทวัสน่าจะได้ชื่อว่าเป็น ‘นักศึกษา’ ที่แท้คนหนึ่ง เพราะเขาขยันตั้งคำถามและพยายามขวนขวายหาคำตอบมาตั้งแต่ก่อนเรียนปริญญาเอก อาศัยการเรียนก็เพียงเพื่อหาเครื่องมือและโอกาสในการอ่านหนังสือค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ส่วนจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ของเขานั้นล้วนมาจาก ‘การพังทลาย’

เขาเคยเล่าไว้นานแล้วว่า การสูญเสียเพื่อนสนิทที่สุดในชีวิตทำให้เกิดการพังทลายทางจิตใจ และนั่นทำให้เขาสนใจ ปรัชญาควบคู่ไปกับการเดินทางทางจิตวิญญาณ ต่อมาเขาก็พังทลายทางความคิด เมื่อได้มีโอกาสไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งแล้วพบว่าในวงสนทนาของอาจารย์กลุ่มหนึ่ง เขาไม่รู้อะไรเลย ทั้งชื่อต่างๆ และประเด็นที่คนเหล่านั้นกำลังพูด แทนที่จะเพิกเฉยแล้วเดินจากมาพร้อมความภาคภูมิใจในทักษะขั้นเทพของตัวเองก็เพียงพอ เขากลับค้นหาคำตอบและพบว่ามันคือชื่อนักคิดนักปรัชญาสายโพสต์โมเดิร์น เมื่อนั้นเองวิทวัสจึงกระโจนลงในมหาสมุทรปรัชญาตั้งแต่โสกราตีสเป็นต้นมาเพื่อจะเข้าใจโพสต์โมเดิร์นในท้ายที่สุด แล้วมันก็รื้อสร้างสมชื่อ ความคิดความเชื่อตลอดชีวิตของเขาพังย่อยยับ เขาต้องค่อยๆ อ่านสิ่งต่างๆ เพื่อปะติดปะต่อโลกใบใหม่ขึ้นมาด้วยมือของเขาเอง

“หลังจากเจอจุดเปลี่ยน งานชุดแรกเริ่มเมื่อ 3 ปีก่อนเป็นการตั้งคำถามรวมๆ  บางชิ้นเป็นคำถามทางปรัชญาว่า ความจริงคืออะไร แตะเรื่องอุดมการณ์ศาสนา ศาสนาคืออะไร พอเข้าไปเรียนปริญญาเอกต้องกระชับเนื้อหาเพื่อหาความชัดเจน จึงตัดสินใจเลือกตรงนี้ ซึ่งก็ยากตั้งแต่ดีเฟนด์ธีสิส มันเกือบจะโดนสั่งให้ไม่หาคำตอบ มันเลยยิ่งท้าทาย” วิทวัสกล่าว

หนังสือ 5 เล่มที่ส่งผลต่อวิทวัสหลังอ่านมากที่สุด

“ศิลปะมันคือการตีความ มันก้ำกึ่ง มันเปิดพื้นที่ให้คนทุกฝ่ายเข้ามาดูได้ แล้วแต่คนจะตีความ”

“แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ตัวเรา ในฐานะศิลปินไม่ว่าทำอะไร เราถูกบันทึกอยู่ในพื้นที่ของวงการศิลปะบ้านเราไปแล้ว สิ่งที่เราทำและหลงเหลือไว้คือประวัติศาสตร์ที่จะบันทึกไว้ว่า เรามองสังคมของเราแบบไหน สื่อสารอะไรไปแล้วบ้าง เป็นหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำ รับผิดชอบต่อวงการและต่อสังคมของตัวเอง”

“กังวลไหมว่าจะไม่เติบโตในแวดวงนี้เหรอ สมัยก่อนคิดนะ ตอนช่วงที่หักดิบคือเลิกเขียนแลนด์สเคปแล้วมาเขียนแนวนี้ ทั้งที่ถ้าเดินแบบเดิมมันมีหนทางของมัน อาจได้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม แล้วถูกดึงไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่มันไม่สามารถทำได้ พออ่านหนังสือหนักๆ ตั้งแต่ปี 51 มันขังอยู่ในหัว มันค้าง มันคิดตลอดเวลา มันก็ต้องทำเรื่องนั้น มันเหมือนนีโอได้รับยาแดงกับน้ำเงิน เมื่อมันเลือกกินยาไปแล้ว มันลืมไม่ได้”

ในระดับปฏิบัติการ เขายังเป็นศิลปินที่ลงไปเกลือกกลั้วกับปรากฏการณ์จริงเพื่อซึมซับพลังของความเป็นจริง จึงไม่แปลกที่จะเห็นเขาไปนั่งสังเกตการณ์คดีในศาล ไปสนทนากับจำเลยในคุก หรือคุยกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางความคิด และท้ายที่สุดก็ยังออกแบบเสื้อยืดขายในงานจัดแสดงศิลปะนี้เพื่อสมทบทุนให้กับกองทุนนักโทษการเมืองด้วย

Prelude หมายถึงการโหมโรง หรือช่วงเกริ่นนำ มันสื่อนัยว่าวิทวัสจะยังคงเดินทางบนเส้นทางสายมายาคตินี้ต่ออย่างแน่นอน ส่วนผลึกที่จะตกออกมาเป็นผลงานในครั้งหน้านั้น เขายังตอบไม่ได้ว่ามันจะเป็นเช่นไร คล้ายๆ กับโมงยามแห่งความสลัวรางที่อนาคตจะกลายเป็นเช้าสดใสก็ได้ หรือกลายเป็นกลางดึกอันมืดมิดยิ่งกว่าเดิมก็ได้เช่นกัน  และเขาหวังให้เป็นอย่างแรก

 

ภาพถ่าย โดย ปรีชา ภัทรอัมพรชัย

Tags: , , , ,