ศิลปินป็อปอาร์ต (Pop Art) หลายคนเริ่มต้นอาชีพของพวกด้วยการทำงานพาณิชย์ศิลป์ บางคนเป็นนักวาดภาพประกอบ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดคัตเอาท์ และป้ายโฆษณา
การที่พวกเขามีพื้นเพมาจากงานพาณิชย์ศิลป์นี้เอง ที่ทำให้พวกเขาเข้าใจไวยากรณ์ของวัฒนธรรมมวลชน เช่นเดียวกับเทคนิคในการหลอมรวมพรมแดนของศิลปะชั้นสูงเข้ากับวัฒนธรรมสมัยนิยม
ศิลปินป็อปอาร์ตคนสำคัญ อาทิ รอย ลิคเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) ที่หยิบเอาภาพจากหนังสือการ์ตูนและเทคนิคในระบบอุตสาหกรรมการพิมพ์มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีสันอันสดใสและลายเส้นอันคมชัดของหนังสือการ์ตูน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหยิบยืมลายจุดของการพิมพ์ระบบออฟเซ็ต (ที่เรียกว่า Benday Dots) มาใช้ (ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ให้ลองเอาแว่นขยายไปส่องภาพบนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารดู) รวมถึงการใช้กรอบแบบการ์ตูนช่อง (comic strip) ในหนังสือพิมพ์ ผลงานของเขาลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานสื่อสารมวลชนเข้ากับศิลปะชั้นสูงได้อย่างแนบเนียน
หรือศิลปินอเมริกันอย่าง เจมส์ โรเซนควิสต์ (James Rosenquist) ที่หยิบเอาภาพข่าวและโฆษณาจากนิตยสารมาคอลลาจในสไตล์ที่แปลกประหลาดเหนือจริง และใช้มันเป็นต้นแบบ แล้ววาดขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิคอันเชี่ยวชาญ ด้วยความที่พื้นเพเป็นนักวาดคัตเอาท์และป้ายโฆษณา ภาพวาดของเขามักมีขนาดกว้างใหญ่ หลายภาพมีขนาดใหญ่กว่าหกเมตร เขาเปลี่ยนภาพลักษณ์อันคุ้นตาที่คนพบเห็นในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นงานศิลปะชั้นเลิศได้อย่างน่าทึ่ง
ประติมากรอเมริกันอย่าง คเลยส์ โอเดนเบิร์ก (Claes Oldenburg) ผู้เป็นที่รู้จักจากงานประติมากรรมที่หยิบเอาวัตถุข้าวของรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่าง โถส้วม ก้นบุหรี่ ไปจนถึงอาหารอเมริกันอย่าง แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย แซนด์วิช และไอศกรีม ฯลฯ มาสร้างขึ้นใหม่ในขนาดใหญ่ โดยมากมักจะทำด้วยวัสดุที่มีผิวสัมผัสนุ่มนิ่ม (ผลงานของเขาจึงถูกเรียกว่า Soft Sculpture หรือ ประติมากรรมนุ่มนิ่ม)
หลังจากนั้น เขาพัฒนางานเป็นประติมากรรมสาธารณะที่หยิบเอาวัตถุธรรมดาสามัญอย่าง ไม้หนีบผ้า เสียม ก็อกน้ำกับสายยาง ปลั๊กไฟ ตรายาง ลูกขนไก่ และเข็มกลัด ที่ทำขึ้นใหม่ในขนาดใหญ่โตมโหฬาร บางชิ้นสูงกว่า 13 เมตร ผลงานของเขามักเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานในการจำลองวัตถุทั่วไปในชีวิตประจำวันขึ้นมาใหม่ในรูปแบบอันแปลกตา เพื่อเล่นสนุกกับประสบการณ์และการรับรู้ของผู้ชม
หรือศิลปินป็อปอาร์คนสำคัญทางฝั่งเวสต์โคสต์ อย่าง เอ็ด รัสก้า (Ed Ruscha) ผู้หลอมรวมภาพลักษณ์อันเปี่ยมสีสันของฮอลลีวูดเข้ากับวัฒนธรรมโฆษณาและทิวทัศน์ของลอสแองเจลิส เขาเปลี่ยนวัตถุและสถานที่ธรรมดาสามัญอย่างปั๊มน้ำมัน ให้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมบริโภคนิยมของอเมริกัน นอกจากนั้น เขายังวาดภาพทิวทัศน์ธรรมดาๆ ทั่วไป หากแต่เติมทับด้วยวลีและตัวหนังสือลงไปบนภาพเพื่อสะท้อนภาพความซ้ำซากจําเจของชีวิตคนเมือง ด้วยความที่เขาเคยประกอบอาชีพนักออกแบบกราฟิก ผลงานของเขาจึงมีสไตล์ที่สะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์วิธีคิดของงานออกแบบสื่อสารมวลชนและงานพานิชย์ศิลป์อย่างโฆษณาได้อย่างเปี่ยมชั้นเชิง
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยถ้าพูดถึงศิลปะแนวทางนี้ นั่นก็คือ ศิลปินอเมริกันอย่าง แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ถึงแม้วอร์ฮอลจะไม่ใช่ศิลปินผู้ให้กำเนิดศิลปะแนวทางนี้ แต่เขาก็เป็นศิลปินป็อปอาร์ตที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในระดับโลก จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อป็อปอาร์ต’ เลยทีเดียว
ผลงานของเขาพบเห็นได้แทบจะทุกหนแห่ง ได้รับการต่อยอด เลียนแบบ ทำซ้ำมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งในงานโฆษณา หนัง โทรทัศน์ หนังสือ นิตยสาร สินค้า ไปจนถึงเสื้อผ้า ของแต่งบ้าน และไลฟ์สไตล์ มันถูกพบเห็นได้แทบทุกหนแห่ง จนแทบจะเรียกว่าใครได้เห็นงานของเขาเป็นต้องร้องอ๋อ! ถึงแม้จะไม่รู้จักชื่อเจ้าของผลงานเลยก็ตามที
วอร์ฮอลเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบในนิตยสาร งานโฆษณา งานออกแบบแผ่นพับและปกแผ่นเสียง ก่อนที่เขาจะได้ชมนิทรรศการของกลุ่มศิลปินอิสระจากลอนดอนที่มาแสดงงานในนิวยอร์ก ผนวกกับแรงบัลดาลใจที่ได้รับจากผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าอย่าง มาร์แซล ดูชองป์ ทำให้เขาตัดสินใจหันเหแนวทางมาสู่การเป็นคนทำงานศิลปะเต็มตัว
แรกเริ่ม เขาหยิบเอาภาพจากหนังการ์ตูนอย่าง ซูเปอร์แมน แบทแมน ดิ๊คเทรซี ป็อบอาย และภาพการ์ตูนในหนังสือพิมพ์เก่าๆ มาเป็นแบบวาดภาพ ต่อมา เขาหันมาหยิบของรอบๆ ตัวที่คุ้นตาคนทั่วๆ ไป อย่าง กระป๋องซุป ขวดโคคาโคล่า กล่อง Brillo (แผ่นล้างจานคล้ายๆ สก็อตไบรต์) หรือแม้แต่สิ่งของที่คนทั่วไปไม่ค่อยจะคุ้นเคยอย่าง เก้าอี้ไฟฟ้าที่ใช้ประหารนักโทษ มาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบหรือพิมพ์ลงบนรูปทรงสามมิติอย่างกล่อง ระหว่างปี 1950 เขามีงานแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกในลอสแองเจลิสและนิวยอร์ก
ในช่วงปี 1960 วอร์ฮอลหยิบเอาภาพถ่ายของเหล่าบรรดาเซเล็ปที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้นอย่าง มาริลิน มอนโร เอลวิส เพรสลีย์ อลิซาเบธ เทย์เลอร์ มิก แจ็กเกอร์ เจมส์ ดีน และแจ็กเกอลีน เคนเนดี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่เขาหลงใหลได้ปลื้ม มาถ่ายทอดด้วยสีสันฉูดฉาดบาดตาแบบเดียวกับงานโฆษณาและลีลาแบบคอลัมน์กอสซิปดาราในหนังสือพิมพ์ ผนวกกับเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน
ชื่อเสียงของ แอนดี วอร์ฮอล เริ่มโดนใจคนจำนวนมากและกลายเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วทั้งวงการศิลปะ ปัจจุบันภาพวาดเซเล็บของวอร์ฮอลยังคงกลายเป็นป็อปไอคอนที่ถูกจดจำมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพเซ็กส์ซิมโบลอย่าง มาริลิน มอนโร ที่ใครๆ ก็ต้องเคยเห็นและรู้จัก
ผลงานชุดที่โด่งดังและเป็นที่จดจำมากที่สุดชุดหนึ่งของวอร์ฮอลคือ ภาพซุปกระป๋องแคมเบลล์ (Campbell’s Soup Cans) ที่เขาทำขึ้นในปี 1962 นอกจากซุปกระป๋องแคมเบลล์จะเป็นอาหารโปรดที่สุดของเขา วอร์ฮอลยังได้แรงบันดาลใจจากกระป๋องซุปแคมเบลล์ที่ถูกวางเรียงรายกันอย่างสวยงามบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เขาเคยเห็นเป็นประจำจนเขาต้องถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้ ผลงานชุดนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกหมายปองมากที่สุดจากนักค้างานศิลปะ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก มันมีราคาประมูลสูงกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจะเป็นผลงานชุดที่วอร์ฮอลโปรดปรานที่สุดแล้ว ผลงานชุดนี้ยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันสำคัญของป็อปอาร์ตเลยก็ว่าได้ ด้วยผลงานชุดนี้ วอร์ฮอลแสดงให้เห็นว่างานศิลปะเองก็เป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับกับซุปกระป๋องแคมเบลล์ ที่มีมูลค่าทางการค้าและสามารถซื้อขายได้เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วๆ ไป
วอร์ฮอลเป็นคนแรกๆ ที่ใช้เทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนซึ่งมีกระบวนการทำงานแบบเดียวกับงานอุตสาหกรรมในการวาดภาพ ทำให้เขาสามารถผลิตผลงานได้คราวละมากๆ อีกทั้งยังช่วยลดทอนรูปทรงและรายละเอียดของภาพที่เขานำเสนอให้เหลือแต่ความเรียบง่ายและลักษณะที่คนจดจำได้ง่าย จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเขาในเวลาต่อมา
ด้วยอานิสงส์ของศิลปินอย่างแอนดี วอร์ฮอล ผู้โดดเด่นและทรงอิทธิพลในวงการศิลปะอย่างมหาศาล ทำให้กระแสศิลปะป็อปอาร์ตยังคงความนิยมอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายทศววรษ ล่วงไปจนถึงยุค 1980s แม้จะลดความนิยมลงในระหว่างยุคปลาย 1970s และต้นยุค 1980s เพราะโลกศิลปะหันเหไปสนใจแนวทางใหม่ๆ อย่างศิลปะจัดวาง (Installations art) ศิลปะการแสดงสด (Performances art) และศิลปะรูปแบบใหม่ๆ ที่เลื่อนไหลไม่ตายตัว แต่ด้วยความที่วัฒนธรรมสมัยนิยมอันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของป็อปอาร์ต ที่มักจะนำเสนอเนื้อหาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเข้าถึงของผู้คน ไม่นานนัก ป็อปอาร์ต ก็กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง
หนึ่งในผู้ริเริ่มกระแสเคลื่อนไหวป๊อบอาร์ตใหม่ หรือ Neo-Pop ขึ้นมา ก็คือศิลปินอเมริกันอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ที่หยิบเอาสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมสมัยนิยมอย่างนักร้องซูเปอร์สตาร์ ไมเคิล แจ็คสัน หรือวัตถุและข้าวของที่พบเห็นเกลื่อนกลาดดาษดื่นในวัฒนธรรมสมัยนิยม เช่น ลูกโป่งเป่าลมที่บิดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เรามักเห็นตัวตลกทำแจกเด็กๆ ตามงานเทศกาล หรือตุ๊กตาของชำร่วยโหลๆ มาผลิตซ้ำในรูปแบบ วัสดุ และขนาดที่แตกต่างไปจากเดิม อย่างเช่น ประติมากรรมสแตนเลสขัดเงาผิวมันวับขนาดมหึมา ผลงานของเขาท้าทายเส้นแบ่งระหว่างข้าวของโหลไร้รสนิยมกับศิลปะชั้นสูงอันเปี่ยมรสนิยมได้อย่างแหลมคม
หรือศิลปินชาวญี่ปุ่นอย่าง ทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami) ที่ผลงานส่วนใหญ่ของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูน นิยายภาพของญี่ปุ่น และงานจิตรกรรมแบบประเพณีโบราณของญี่ปุ่น ด้วยการใช้สีสันอันสดใสของการ์ตูนแอนิเมชั่น และลักษณะอันแบนราบเป็นมิติเดียว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะแบบประเพณีของญี่ปุ่น ผสานเข้ากับรูปลักษณ์อันติดตาเข้าถึงง่ายของงานโฆษณาและงานออกแบบ แฝงด้วยแนวคิดในเชิงปรัชญาและการวิพากษ์วิจารณ์สังคมร่วมสมัย สะท้อนแรงบันดาลใจมาจากศิลปินป็อปอาร์ตอย่าง แอนดี วอร์ฮอล จนกลายเป็นรูปแบบทางศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาที่เรียกว่า Superflat ที่หลอมรวมศิลปะชั้นสูง และศิลปะแบบบ้านๆ อันดาษดื่นกลาดเกลื่อนของมวลชนได้อย่างกลมกลืนยิ่ง
ภาพประกอบหน้าแรก: เจมส์ โรเซนควิสต์: President Elect (1960–61/1964) สีน้ำมันบนแผ่นไม้ ภาพจาก https://goo.gl/Ph95gX
ข้อมูลจาก
http://www.theartstory.org/movement-pop-art.htm
http://www.theartstory.org/movement-pop-art.htm
http://www.tate.org.uk/art/art-terms/p/pop-art
อ่านเพิ่มเติมเกียวกับ ริชาร์ด แฮมิลตัน แอนดี วอร์ฮอล เจฟฟ์ คูนส์ ทาคาชิ มูราคามิ และศิลปินป็อปอาร์ตคนอื่นๆ ได้ในหนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ผู้เขียน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ สำนักพิมพ์แซลมอน
Tags: Pop Art