ด้วยบทบาทประสานประโยชน์ของรัฐบาลทรัมป์ โมร็อกโกนับเป็นชาติอาหรับประเทศที่สี่ ที่ปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลในช่วงเวลา 4 เดือน ความเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจบั่นทอนโอกาสแจ้งเกิดของรัฐปาเลสไตน์ ทั้งหมดดูจะตอกย้ำว่า ถึงที่สุดแล้ว เชื้อชาตินิยมอาจต้องหลีกทางให้ชาตินิยม

เมื่อวันพฤหัสฯ (12 ธันวาคม) โมร็อกโกกับอิสราเอลเห็นพ้องกันที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ ก่อนหน้านี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และซูดาน ต่างทยอยประกาศข่าวในทำนองเดียวกัน

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขัน พยายามดึงชาติอาหรับที่วิตกกับการเสริมสร้างขีดความสามารถทางทหารของอิหร่านให้เข้าเป็นแนวร่วม โดยหันมาใกล้ชิดกับเทลอาวีฟ คู่ปรับของเตหะราน

พร้อมกันนั้น ทีมงานนโยบายตะวันออกกลางของทรัมป์ยังเสนอผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อจูงใจให้ชาติอาหรับตัดสินใจยอมรับไมตรีกับอิสราเอล ละวางจุดยืนหลักที่เคยยึดถือมานานว่า ตราบใดปมปัญหาดินแดนอาหรับปาเลสไตน์ ซึ่งอิสราเอลได้เข้ายึดครอง ยังไม่ได้ข้อยุติ ตราบนั้น ชาติอาหรับไม่มีวันญาติดีกับรัฐยิว

อันที่จริง โลกอาหรับหาเอกภาพในประเด็นความสัมพันธ์กับอิสราเอลได้ยากอยู่แล้ว อียิปต์ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979 จอร์แดนลงนามในข้อตกลงแบบเดียวกันเมื่อปี 1994

ความเคลื่อนไหวของสี่ชาติอาหรับระลอกนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อการขับเคลื่อนสูตรถอดชนวนความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ในรูป “สองรัฐคู่ขนาน” ที่มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐปาเลสไตน์ ต้องคอยดูกัน

สหรัฐฯรับรองดินแดนพิพาทโมร็อกโก

ในการโน้มน้าวให้โมร็อกโก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา ปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล ทรัมป์ได้ละทิ้งนโยบายที่รัฐบาลอเมริกันยึดถือมาช้านาน ด้วยการให้การรับรองอธิปไตยของโมร็อกโกเหนือซาฮาราตะวันตก

ซาฮาราตะวันตกเป็นดินแดนที่โมร็อกโกเข้ายึดครองหลังจากสเปนยกดินแดนอาณานิคมนี้ให้แก่โมร็อกโกกับมอริเตเนียเมื่อปี 1975 ทว่าชนพื้นเมืองได้ทำสงครามกองโจรต่อต้านการยึดครอง ต่อมา มอริเตเนียสละการอ้างกรรมสิทธิ์ จึงเหลือแต่กลุ่มกองโจรที่ยังคงต่อสู้กับรัฐบาลราบัตจนถึงปัจจุบัน

ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์ส่งผลให้สหรัฐฯกลายเป็นสมาชิกสหประชาชาติเพียงประเทศเดียวในเวลานี้ ที่รับรองว่าซาฮาราตะวันตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโมร็อกโก

ภายหลังการประกาศการรับรองนี้ เลขาธิการสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูแตร์เรส ยืนยันว่า ยูเอ็นยังคงยึดมั่นหลักการเดิมที่ว่า ปัญหาซาฮาราตะวันตกต้องยุติด้วยการออกเสียงประชามติ และผ่านการรับรองด้วยข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง

กลุ่มกองโจรในชื่อ แนวร่วมโพลีซาริโอ (Polisario Front) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแอลจีเรีย ประกาศว่า ทางกลุ่มจะเดินหน้าต่อสู้ต่อไป เพื่อจัดตั้งรัฐเอกราชในนาม ซาห์ราวี (Sahrawi) ขึ้นในดินแดนดังกล่าว

รวมพลังต้านอิหร่าน

สหรัฐฯ ดูจะมีเป้าหมายสองอย่างในการเดินเกมในตะวันออกกลาง ด้านหนึ่งเพื่อช่วยเสริมสร้างความมั่นคงแก่อิสราเอล พันธมิตรสำคัญของวอชิงตันในย่านนั้น อีกด้านหนึ่งเพื่อรวบรวมสมัครพรรคพวกที่ระแวงแคลงใจในเจตนาของอิหร่าน

เมื่อเดือนสิงหาคม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศรับรองอิสราเอล ต่อมาในเดือนกันยายน บาห์เรนประกาศปรับความสัมพันธ์กับรัฐยิวเช่นกัน ชาติอาหรับทั้งสอง ซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ไม่เคยมีข้อขัดแย้งกับอิสราเอล การลงนามข้อตกลงปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลเทลอาวีฟเกิดขึ้นที่ทำเนียบขาว

ครั้นเมื่อเดือนตุลาคม ซูดาน ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกา มีพรมแดนติดต่อกับอียิปต์ทางทิศเหนือ เดินตามทิศทางนี้เป็นประเทศถัดมา

แรงจูงใจของซูดานที่ขานรับสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก็คือ วอชิงตันเสนอที่จะถอดซูดานออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย

ทรัมป์คุยโอ่ว่า ยังมีชาติอาหรับอีกหลายประเทศที่ต้องการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ประเทศอาหรับที่ถูกจับตาว่า อาจเป็นรายต่อไปที่จะจับมือกับรัฐยิว คือ ซาอุดีอาระเบีย คู่แข่งอิทธิพลของอิหร่าน เมื่อเดือนพฤศจิกายน มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ดอดไปเจรจาลับกับมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แต่รัฐบาลริยาดห์ปฏิเสธข่าวนี้

ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย พี่ใหญ่ในโลกมุสลิม ยืนยันในจุดยืนของสันนิบาตอาหรับที่มีมานานหลายทศวรรษ ว่า จะไม่มีวันเชคแฮนด์กับอิสราเอล จนกว่ารัฐยิวจะแก้ไขปมขัดแย้งในเรื่องดินแดนปาเลสไตน์ลุล่วง ดังนั้น ถ้าริยาดห์กลับลำ เทลอาวีฟย่อมถือเป็นรางวัลทางการทูตอันใหญ่หลวง

ปาเลสไตน์ประณามพวกบิดพลิ้ว

องค์กรปกครองของปาเลสไตน์ประณามข้อตกลงเหล่านี้ว่า เป็นการ “แทงข้างหลัง” และบอกว่า ชาติอาหรับเหล่านี้ทำตัวขัดขวางสันติภาพด้วยการละทิ้งข้อเรียกร้องที่ว่า อิสราเอลต้องส่งมอบดินแดนยึดครองเพื่อการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ ก่อนที่ชาติอาหรับจะยอมรับการดำรงคงอยู่ของรัฐยิว

กลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองปาเลสไตน์ในส่วนของฉนวนกาซา ประณามโมร็อกโกว่า ประพฤติ “ผิดบาปในทางการเมือง” การทำเช่นนี้จะทำให้อิสราเอลยิ่งได้ใจในการส่งชาวยิวเข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนยึดครองมากขึ้น

โมร็อกโก หนึ่งในชาติสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ดูจะเข้าใจดีถึงกระแสวิจารณ์จากปาเลสไตน์ รวมถึงสุ้มเสียงของประชาชนของตัวเองที่เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของชาวอาหรับปาเลสไตน์

ราชสำนักโมร็อกโก ซึ่งปกครองประเทศด้วยระบอบกึ่งกษัตริย์ แถลงว่า กษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 ได้โทร.ไปคุยกับประธานาธิบดีปาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส แล้ว โดยรับปากว่า จะปกป้องสิทธิโดยชอบของชาวปาเลสไตน์ต่อไป  พระองค์ยังคงสนับสนุนสูตรรัฐคู่ขนาน และถือว่าเยรูซาเลมเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ อิสลาม และยูดาห์

รัฐบาลไบเดนจะสานต่อ หรือรื้อสร้าง ผลงานชุดนี้ของทรัมป์ หรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องน่าจับตา

อ้างอิง