1.
ปี 1989 ที่เมืองเดรสเดน (Dresden) เยอรมนี พันโทนายหนึ่งหอบครอบครัว ประกอบด้วยภรรยาและลูกสาว 2 คน นั่งรถบุโรทั่งอายุ 20 ปี เดินทางสู่เมืองเลนินกราด (Leningrad) ซึ่งในเวลาต่อมาถูกตั้งชื่อใหม่ว่า ‘เซนต์ปีเตอร์เบิร์ก’ (Saint Petersburg)
ก่อนพันโทรายนี้จะเดินทางกลับ ในวันที่ 5 ธันวาคม ผู้ชุมนุมชาวเยอรมันที่กำลังดีใจ หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย ไม่มีเยอรมนีตะวันออกหรือตะวันตกอีกต่อไป หลังการแบ่งแยกประเทศมานานหลายสิบปี คงเหลือเพียงเยอรมนีเท่านั้น
ฝูงผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปยังอาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งรู้กันว่าเป็นที่ทำการของสายลับสหภาพโซเวียต หรือ เคจีบี ในเมืองเดรสเดน พวกเขาต้องการจะเผาอาคารแห่งนี้
พันโทคนนี้ เดินออกมาเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม พูดภาษาเยอรมันคล่องปรื๋อ
“ถอยไปครับ ในอาคารนี้ ถือเป็นดินแดนของสหภาพโซเวียต ถ้าพวกคุณเข้ามา ทหารของเราจะยิงคุณ ฐานบุกรุก” ผู้พันโกหก
“แกเป็นใครวะ” ผู้ชุมนุมคนหนึ่งตะโกนถาม
“ผมเป็นแค่ล่าม” พันโทรายนี้โกหกอีกครั้ง มันเป็นสิ่งที่เขาทำเป็นประจำอยู่แล้ว และถือเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานสายลับ
นายพันแห่งโซเวียตจ้องตาผู้ชุมนุม เขาย้ำว่าที่ตรงนี้ถือเป็นดินแดนของรัสเซีย อ้างอิงหลักการทูต ดังนั้นผู้ชุมนุมคนเยอรมันไม่มีสิทธิ์เข้ามาได้ หากไม่ได้รับการอนุญาต
การเผชิญหน้ากันกินเวลาสักพัก ก่อนที่ประชาชนชาวเดรสเดน จะเคลื่อนขบวนจากไป
พันโทคนนี้โล่งอก เขาลักไก่ผู้ชุมนุมทั้งหมด ไม่มีทหารโซเวียตในอาคารแห่งนี้
แท้ที่จริงแล้วไม่มีการตั้งปืนรอยิงในอาคารแห่งนี้ เหล่าสายลับโซเวียตต่างขมีขมันเผาเอกสารเป็นจำนวนมาก หัวหน้าสถานีเคจีบีบอกกับผู้พันว่า “เรากำลังรอคำสั่งจากมอสโก”
“แต่ตอนนี้มอสโกนิ่งเฉย ไม่มีคำตอบใดๆ มาทั้งสิ้น”
กินเวลาไม่นาน พันโทคนนี้ได้ขับรถกลับประเทศ กาลต่อมา สหภาพโซเวียตล่มสลาย กลายเป็นรัสเซีย ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เคยยึดครองมาได้ จะถูกปลดปล่อยเป็นอิสระ
ทั่วโลกฉลองสงครามเย็นสิ้นสุด แต่เกียรติภูมิโซเวียตพังทลาย ประชาชนบอบช้ำ สังคมสูญสิ้น พลังแห่งตะวันตก และโลกทุนนิยมไหล่บ่าเข้าไปในรัสเซีย
ไม่มีสหภาพโซเวียตอันยิ่งใหญ่ ผู้ต่อกรกับสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป
เหลือเพียงรัสเซียซึ่งยังมีดินแดนกว้างใหญ่ แต่ไร้ซึ่งพลานุภาพใดๆ ทั้งสิ้น
พันโทเก็บความขมขื่นไว้ด้วยใบหน้าเรียบเฉียบ แต่ทุกคนรู้ดีว่า มันเป็นบาดแผล ที่รอวันแก้แค้น ฝังลึกในใจเขาเสมอมา
กินเวลาต่อมา ผู้พันคนนี้จะสร้างฐานพลังการเมือง ขยับตัวเองสู่อำนาจ เป็นผู้นำที่เหนือกว่าใครทั้งปวง และสิ่งที่เขาย้ำเตือนตัวเองเสมอคือสงครามเย็นไม่เคยจบสิ้น
นั่นนำไปสู่ เหตุการณ์วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เขาได้จุดเพลิงแห่งสงครามเย็นขึ้นมา ด้วยสงครามจริงๆ หรือเรียกให้ถูก มันคือการรุกรานยูเครน เพื่อหวังฟื้นฟูเกียรติยศและความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตมาได้อีกครั้ง
โดยมีเขาเป็นผู้นำ
ใครเล่าจะเชื่อว่า พันโทผู้เห็นการล่มสลายของประเทศตัวเอง จะกลายเป็นผู้รุกรานในวันนี้
ใครเลยจะคิดว่า พันโท วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) จะกลายเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในรัสเซีย แล้วยังฝันเฟื่องถึงมหาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ และด้วยความเพ้อฝันเพียงอย่างเดียว เขาได้ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก แถมยังกลายเป็นชายที่สร้างความหวั่นเกรงไปทั่วโลก
จากอดีตสายลับผู้บอบช้ำ แปรสภาพเป็นมนุษย์ที่คนยูเครนและผู้รักสันติภาพ เกลียดมากที่สุดในเวลานี้
และ 1 ปีแห่งการรุกรานฆ่าพลเรือนยูเครน ดูเหมือนปูตินจะยังไม่คิดถึงจุดจบของเรื่องนี้
ไม่น่าเชื่อว่าพันโทปูตินจะมาได้ไกลและโหดร้ายถึงเพียงนี้
จากวันที่นั่งรถเก่าๆ กลับประเทศ เขาได้กลายเป็นพระเจ้าซาร์องค์ใหม่แห่งรัสเซีย
อย่างที่บอก ใครเลยจะคาดการณ์ถูก
2.
การรุกรานยูเครนครบรอบ 1 ปีไปเมื่อวานนี้ แต่ดูเหมือนสถานการณ์ความขัดแย้งจะยังไม่จบสิ้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การรุกรานยังคงอยู่
เดิมรัสเซียของพระเจ้าซาร์องค์ใหม่ หมายมั่นจะบดขยี้ยูเครนให้ได้ เขาเชื่อไปเองด้วยซ้ำว่าเมื่อรถถังรัสเซียเคลื่อนผ่าน พลเรือนยูเครนจะให้การต้อนรับโบกธงยินดี ที่ได้กลับไปสู่อ้อมอกประเทศแม่อีกครั้ง
นั่นคือความคิดของเขา
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เขาคิดนั้นไม่เป็นความจริง เพราะประชาชนชาวยูเครนลุกขึ้นสู้ ครูที่เคยแต่สอนหนังสือ มาหัดจับปืนไรเฟิลในวัย 30 กว่าปี และได้ลั่นไกสู้กับทหารรัสเซียอย่างองอาจ
คนยูเครนไม่ยอมจำนน และต่อกรกับรัสเซียอย่างดุดัน 365 วันที่ผ่านมา เขายึดประเทศนี้ไม่ได้ ทำได้แค่ครองกำลังในดินแดนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
มิหนำซ้ำความช่วยเหลือจากหลายประเทศทั่วทั้งโลก ต่างไหลบ่ามาที่ยูเครน อาวุธ การฝึก ทหารอาสา คนรัสเซียแปรพักตร์ ทุกคนต่างร่วมมุ่งมั่นสู้ยันการรุกรานนี้
ความคิดในโลกจินตนาการของปูติน แตกสลายเหมือนปราสาททราย เมื่อกองทัพรัสเซียที่ถูกสร้างภาพด้วยโฆษณาชวนเชื่อ คือยอดกองทัพหนึ่งในตองอูของโลก กองทัพที่บุกทำลายนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นชาติแรกที่ยึดกรุงเบอร์ลิน
ทั้งหมดเป็นเพียงฟองสบู่ เพราะเมื่อกองทัพรัสเซียดวลกับยูเครน พวกเขาแสดงจุดอ่อน ถึงความไร้ประสิทธิภาพออกมา ทหารไม่ได้รับการฝึกเพียงพอ อุปกรณ์ก็ไม่พร้อม ทุกคนถูกหลอกว่ามาช่วยยูเครนจากพวกคลั่งนาซี ช่วยยูเครนจากการรุกรานตะวันตก
ทหารเหล่านี้ตายอย่างอนาถในต่างแดน การรบแตกพ่าย ไปไม่ถึงกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน ระบบการขนส่งยุทโธปกรณ์โหลยโท่ย
สิ่งเหล่านี้คือความปราชัยที่ปูตินรับรู้ จนต้องเปลี่ยนนายพลถึง 3 คนด้วยกัน สุดท้าย เขาเลือกนายพลที่ใกล้ตัวผู้ภักดีต่อเขา เป็นผู้บัญชาการ แล้วเอาบริษัททหารรับจ้างที่เคยอยู่ในเงามืด ผู้อยู่เบื้องหลังความโหดร้ายในซีเรีย มาใช้สู้โดยไม่สนใจจะปิดบังต่อไป
เขาเรียกเกณฑ์ทหารทั่วประเทศ เพื่อหวังเผด็จศึกยูเครน ผู้เชี่ยวชาญกองทัพรัสเซียต่างหล่นบทวิเคราะห์สุดอนาถว่า
“เหมือนพวกเขาเป็นกองทัพเมื่อ 100 ปีก่อน ยังเชื่อว่าต้องใช้รถถัง ต้องโถมคนเข้าไป ทั้งที่การทำสงครามมันเปลี่ยนไปแล้ว เป็นกองทัพยูเครนเสียอีก ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า”
อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญคนนี้ย้ำเตือนว่าอย่าประมาทรัสเซียเด็ดขาด
“พวกเขาอาจไม่แกร่งอย่างที่ชาติตะวันตกคาด แต่ก็ไม่ได้อ่อนแอดังที่เราหวัง”
3.
เราผู้อยู่นอกกะลาแห่งฟองสบู่ความเชื่อของปูติน ต่างคิดว่ารัสเซียยังต้องติดหล่มในการรุกรานนี้ต่อไป แม้สุดท้ายพวกเขาจะโถมกำลังเอาชนะยึดยูเครนได้ทั้งประเทศ แต่การปกครองไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในฐานะศัตรูด้วย
อย่างไรก็ดีในรัสเซีย ปูตินกำราบผู้เห็นต่าง จัดการปิดสื่อ จับคนที่วิจารณ์กองทัพติดคุก โดยไม่สนว่าจะเป็นหนุ่มสาวที่ก็รักชาติรัสเซียเหมือนกัน
แม้จะถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่สื่อที่เป็นเครื่องมือของปูติน ต่างยังคงนำเสนอเกียรติภูมิของกองทัพแดงในการบุกยูเครนต่อไป ประชาชนยังคงจุดเทียนแด่ทหารที่เสียชีวิต ประณามองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อย่างต่อเนื่อง โดยเล่นคำว่า ‘นา(โต)ซี’
พวกฝ่ายขวาจัดที่ชอบปูตินต่างเชื่อว่าสุดท้ายแล้วรัสเซียจะกำชัยชนะ พวกเขาจะขจัดพิษร้ายที่ชาติตะวันตกฝังลึกหลังโซเวียตล่มสลายออกไปได้
คนในรัสเซียจำนวนหนึ่ง เชื่อว่านี่คือสงครามระหว่างความดีกับความชั่ว และประเทศของพวกเขาคือความดี พวกเขากำลังทำสงครามที่คล้ายกับสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขากำลังฟื้นฟูเกียรติยศประเทศขึ้นมา
จริงๆ มันเป็นความฝันที่คนรัสเซียจำนวนมากคิด นักวิชาการเผยว่าในช่วงปี 1990 เมื่ออัตราการเกิดของคนรัสเซียต่ำ คนในประเทศมักจะพูดว่า
“ไม่มีปัญหาอะไร เราก็แค่ไปยึดยูเครนครึ่งหนึ่ง เบลารุสอีกครึ่ง เอาคาซัคสถานด้วย ก็จะได้คนสลาฟดีๆ มาตั้ง 40 ล้านคนแล้ว ทุกอย่างก็จะโอเคเอง”
ดังนั้นมันจึงเป็นสงครามที่คนรัสเซียจำนวนมากหนุนหลัง เพราะเชื่อว่ายูเครนเป็นดินแดนของตัวเองเสมอ และจะต้องกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียให้ได้
ปูตินเชื่อแบบนั้น และทำให้ประชาชนเชื่อแบบนั้น
แต่คนที่เห็นต่าง และเลือกจะทำตัวเงียบๆ ไม่ก็ลี้ภัยนอกประเทศ หรือเก็บความคิดไว้ในใจ ต่างกระซิบให้กับสื่อชั้นนำของโลกว่า
“คุณไม่สามารถทำให้คนหยุดคิดได้หรอก สิ่งที่รัฐกำลังทำในวันนี้ ไม่ได้การันตีว่ามันจะยั่งยืนยาวนาน”
ช้าหรือเร็ว ประชาชนชาวรัสเซียก็ต้องคิดได้ว่า
สิ่งที่พวกเขาถูกทำให้เชื่อก็แค่กะลาที่ถูกครอบไว้โดยพระเจ้าซาร์องค์ใหม่เท่านั้น
4.
หลายสำนักข่าวคาดการณ์ตรงกันก็คือ หลังฤดูหนาว การบุกครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น รัสเซียกำลังตระเตรียมทรัพยากรขุมกำลังเพื่อรุกรานอีกครั้ง และอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดที่น่าสนใจในปีนี้ได้
ปูตินเตรียมกำลังทหารสดใหม่กว่า 5 หมื่นนาย เสริมเข้าไปในแนวหน้า และยังมีนักรบอีก 2.5 แสนคนที่กำลังฝึกฝนเพื่อจะเสริมเข้าไปอีก
ทุกคนคาดว่าปูตินจะไม่มีวันหยุด และจะพาทหารสู้จนตัวตาย ถ้าพวกเขาโถมกำลังใส่แนวต้านทานของยูเครนสำเร็จ ก็จะสามารถฝ่าไปยึดครองดินแดนเพิ่มขึ้นได้
หากพวกเขาทำได้จริงๆ ชัยชนะที่อดีตสายลับคนนี้ฝันใฝ่ก็ดูจะมีเค้าลางเป็นจริงมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ยูเครนพิสูจน์ให้เห็นมา 1 ปีแล้วว่า พวกเขาสู้ยิบตายิ่งกว่าที่ใครจะคาดการณ์ นั่นก็เพราะพวกเขามีความมุ่งมั่นจะปกป้องประเทศมากกว่าทหารรัสเซีย
2 ปัจจัยสำคัญของยูเครนที่มีเหนือกว่ารัสเซียก็คือ การปกป้องมาตุภูมิและประเทศชาติ ซึ่งในประวัติศาสตร์การทำสงคราม ปัจจัยนี้ทำให้หลายชาติจัดการศัตรูข้าศึกได้
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือหลายชาติทั่วโลกรู้แล้วว่าปูตินอันตรายแค่ไหน เขาแทบจะเป็นอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีกลับชาติมาเกิด และนั่นทำให้ทุกประเทศรวมใจกันส่งอาวุธทรัพยากร เงินไปให้แก่ยูเครน เพราะหากหยุดปูตินไม่ได้ โลกทั้งใบก็จะอยู่ในอุ้งมือของเผด็จการ
ชัยชนะของยูเครนจะเป็นความมั่นคงของโลกยุคใหม่ ที่ไม่มีการรบกวนจากปูตินอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี มีหลายคนคาดการณ์ว่าในปี 2023 นี้ สถานการณ์การรุกรานยูเครนจะยังคงตึงเครียดต่อไป เหมือนสงครามเวียดนาม เหมือนตอนโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน ตัวแปรคือการเมืองภายในรัสเซียและชาติตะวันตก หากพันธมิตรหนุนหลังยูเครน ตัดสินใจลดความช่วยเหลือ วันนั้นยูเครนก็คงจะลำบากมากขึ้น
หากพันธมิตรของพระเจ้าซาร์องค์ใหม่เห็นควรว่าการรุกรานครั้งนี้ไม่ได้ผลอะไรทั้งสิ้น ปูตินก็คงจะจบสิ้น และความขัดแย้งคงสาบสูญไป
ดังนั้นการต่อสู้กันระหว่างยูเครนและพันธมิตรกับรัสเซียของปูติน น่าจะยังดุเดือดต่อไป และก้าวยาวไปเกินกว่าปี 2023 นี้แน่ รัสเซียจะยังโหดร้ายมุ่งมั่นทำลายล้าง และได้รับผลกลับคืนคือการถูกเข่นฆ่า ย่อยยับปราชัยในหลายจุด
ความขัดแย้งนี้อาจกินเวลาเกินกว่า 2 ปี และเราอาจจะได้รำลึก 3 ปีแห่งการรุกรานก็เป็นได้
อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญการทหารได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเขาเชื่อว่าความขัดแย้งนี้อาจจะจบลงในปีนี้
เพราะสถานการณ์ของ 2 ฝ่ายได้ลากเอาทรัพยากรทุกอย่างมาลงกับการศึกมากๆ ดังนั้นทั้ง 2 ฝ่ายก็อยากจะให้มันจบสิ้นเสียที เพราะเปลืองเงินไปมากโขแล้ว
ดังนั้นชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ภายหลังฤดูหนาวผ่านพ้นไป จะเป็นเหตุการณ์สำคัญมาก เพราะมันมีผลต่อการเจรจา ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มทำมาแล้ว แต่ยังหาจุดสมดุลไม่ลงตัว ถ้าการรบเห็นผลชัดว่า มีฝ่ายใดได้เปรียบ การเจรจาก็จะเอื้อฝ่ายตัวเองมากขึ้น และความขัดแย้งก็อาจจะจบสิ้นในปีนี้ได้
1 ปีหลังการรุกราน สถานการณ์ยังคงตึงเครียด ยูเครนจะต้านไหว หรือรัสเซียจะรุกคืบ คำตอบของคำถามนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์โลก
ทุกอย่างจะชี้ขาดกันที่สมรภูมิ นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป
อ้างอิง
- https://edition.cnn.com/2023/02/20/europe/russia-ukraine-war-predictions-intl/index.html
- https://www.huffingtonpost.co.uk/entry/how-long-will-ukraine-war-last_uk_63e61e62e4b07f036b9c4c9d
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-63987113
- https://www.economist.com/briefing/2023/02/20/the-invasion-has-stalled-but-putins-war-on-dissent-marches-on?utm_content=article-link-1&etear=nl_today_1&utm_campaign=a.the-economist-today&utm_medium=email.internal-newsletter.np&utm_source=salesforce-marketing-cloud&utm_term=2/20/2023&utm_id=1497098
- https://www.nytimes.com/2023/02/19/world/europe/ukraine-war-russia-putin.html?name=styln-russia-ukraine®ion=TOP_BANNER&block=storyline_menu_recirc&action=click&pgtype=Article&variant=undefined&is_new=false
- https://www.aljazeera.com/news/2023/2/21/qa-dr-pavel-felgenhauer-russia-ukraine-war?utm_source=sendinblue&utm_campaign=Weekly%2022022023&utm_medium=email
- หนังสือ The Chancellor: The Remarkable Odyssey of Angela Merkel โดย Kati Marton หน้า 102-105