1
“ไม่มีหลักการอะไรจะพิสูจน์ได้ว่า พวกเรา (รัสเซีย-ยูเครน) แตกต่างกัน”
อเล็กเซ นาวาลนี (Alexei Navalny) กล่าว เขาเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกลอบสังหารจากรัฐบาลรัสเซีย แต่รอดมาได้ และติดคุกอยู่ในเรือนจำขณะนี้
พรมแดนยูเครนซึ่งติดกับรัสเซีย กำลังเป็นข้อพิพาทครั้งใหญ่ เป็นวิกฤติความเสี่ยงที่อาจกลายเป็นสงครามในภาคพื้นยุโรปได้ เมื่อกองทัพรัสเซียกว่า 1.75 แสนคน ประชิดพรมแดน มีการซ้อมรบ และอยู่ในศักยภาพพร้อมเคลื่อนกำลังเข้ารุกรานยูเครนได้ทุกเวลา
นี่คือความตึงเครียดที่ทั้งโลกจับตามอง ยุโรปดูเหมือนกลับสู่ความร้อนแรงอีกครั้ง องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO: นาโต้) ก็พร้อมที่จะต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างเต็มที่ มาตรการคว่ำบาตรเตรียมนำมาใช้เพื่อหยุดยั้งไฟแห่งสงคราม
วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีของรัสเซีย แข็งกร้าวในเรื่องยูเครนมาก แตกต่างจากดินแดนอื่นๆ ที่เคยอยู่ภายใต้สหภาพโซเวียตเดิม ยูเครนเป็นยิ่งกว่าดินแดนหนึ่ง มันมีรากเหง้าประวัติศาสตร์มากมายที่ผูกแน่นอยู่กับรัสเซีย
สำหรับปูตินแล้ว ยูเครนกับรัสเซียคือประชาชนหนึ่งเดียวกัน ความเห็นนี้ แม้กระทั่งตัวนาวาลนี ผู้วิจารณ์รัฐบาลปูตินมาตลอดและติดคุกในขณะนี้ ก็ยังมีแนวคิดเห็นด้วยกับปูตินแบบเหลือเชื่อ
สำหรับยูเครนในสายตารัสเซีย มันคือความฝันอันแสนบ้าคลั่ง พวกเขายอมไม่ได้หากตะวันตกจะพรากยูเครนไป มันย้อนรอยไปถึงความยิ่งใหญ่แห่งรัสเซีย มันคือความภาคภูมิใจ
หากปราศจากยูเครน ก็คงไม่มีรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ได้
2
แท้จริงแล้ว วิกฤติในยูเครนเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2014 เมื่อคนยูเครนลุกขึ้นมาก่อการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีของตนเองที่นิยมรัสเซียมาก จุดเปลี่ยนนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสายตามหาอำนาจแดนหมีขาว ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ชาติยิ่งใหญ่ แกนนำระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ ศัตรูสำคัญของอเมริกาในสงครามเย็นที่ปกคลุมโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สุดท้ายจุดจบของสงครามเย็น คือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในปี 1992 ทำให้ประเทศในเครือโซเวียตประกาศอิสรภาพ กลายเป็นประเทศใหม่จำนวนมาก รวมถึงยูเครนด้วย
ยูเครนมีประชากร 44 ล้านคน มีพรมแดนติดกับรัสเซียพันกว่ากิโลเมตร ภายหลังรัฐบาลใหม่ของยูเครนมีแนวโน้มนิยมตะวันตกมากยิ่งขึ้น มันทำให้รัสเซียต้องทำอะไรสักอย่าง
ภายใต้การปกครองของพระเจ้าซาร์องค์ใหม่—ปูติน มันจึงก่อตัวเป็นวิกฤติไครเมียขึ้น เดิมนั้นไครเมียเป็นดินแดนปกครองของยูเครน แต่แล้วเกิดมีกองทัพนิรนาม ไม่บอกสังกัด ยศ บุกเข้ามาในดินแดนไครเมีย แล้วโค่นล้มรัฐบาลท้องถิ่น ประกาศแยกตัวออกจากยูเครน พร้อมจะกลับไปสู่อ้อมกอดของรัสเซียอีกครั้ง
เหตุการณ์นี้นำไปสู่การประณามจากทั่วโลก ทั้งจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ไครเมียจะมีการทำประชามติยืนยันเจตจำนงค์ว่าจะกลับไปอยู่กับรัสเซีย แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ
ยูเครนถือว่าดินแดนไครเมียถูกรัสเซียยึดครองชั่วคราว และแม้รัฐบาลรัสเซีย โดยเฉพาะปูติน จะประกาศเสียงแข็งว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ นี่คือเสียงของคนในไครเมียต่างหากที่ไม่ต้องการกลับไปอยู่กับยูเครน
แต่ใครเล่าจะเชื่อ
ผ่านไปหลายปี ดูเหมือนวิกฤติยูเครนจะอันตรายหนักกว่าเดิม เพราะกองทัพรัสเซียอันทรงพลัง ได้ซ้อมรบและเสริมกำลังพร้อมรุกเข้าไปในยูเครน เรื่องนี้ถึงขนาดนายพลของยูเครนยืนยันว่า หากเกิดการรุกรานจากรัสเซียจริง พวกเขาต้องขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก
นายพลยูเครนคาดว่า การบุกของรัสเซียจะเริ่มจากการถล่มทางอากาศเพื่อครองน่านฟ้า ระดมยิงจรวด จากนั้นกองทัพถึงจะบุกข้ามพรมแดนด้วยความรวดเร็ว แน่นอนว่ากองทัพยูเครนก็ต้องสู้สุดใจขาดดิ้น แต่มันจะเป็นสงครามนองเลือดอย่างมาก และทหารยูเครนจะต้องสู้อย่างเดียวดายแน่นอน
“ไม่มีกองทัพไหนในโลกสามารถยันรัสเซียได้หรอก”
เหล่านายพลเชื่อว่าสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียจะสู้กันอย่างเลือดพล่าน แต่ราษฎรยูเครนก็พร้อมสู้ หลายคนมีประสบการณ์ทหาร มันจะเป็นการรบแบบอาคารต่ออาคาร จะมีพลซุ่มยิง มีการยันกันอย่างดุเดือดแน่นอน
“มันจะเหมือนสัตว์ร้ายที่ได้กลิ่นคาวเลือด เชื่อผมเถอะ จะต้องมีการสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย หลักพัน หลักหมื่น หรืออาจไปถึงหลักแสนอย่างแน่นอน”
แม้ขณะนี้ชาติตะวันตกจะได้รับสัญญาณจากปูตินและรัสเซียว่า ห้ามยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต้ และจะต้องไม่อิงแอบใกล้ชิดตะวันตกมากเกินไป แต่ดูเหมือนความตึงเครียดยังคงมีอยู่
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ต่อให้ยูเครนกลับมาใกล้ชิดรัสเซียอีกครั้ง ก็ยังเสี่ยงจะถูกรุกรานอยู่ดี
3
ปัญหายูเครนกับรัสเซียมีมาอย่างยาวนานหลายปีแล้ว มันเหมือนความเจ็บปวดซ่อนในความเจ็บปวดอีกที
ในสายตารัสเซีย ยูเครนคือส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่ ปูตินย้ำว่าประวัติศาสตร์ของรัสเซียและยูเครนผูกแน่นสัมพันธ์กัน
ยูเครนคือดินแดนที่ผลิตนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เลออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) ชายที่คิดแผนการณ์ทำให้พรรคบอลเชวิคเอาชนะสงครามกลางเมืองจนสถาปนาสหภาพโซเวียตขึ้นมาได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยูเครนยังเป็นบ้านเกิด เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตคนแรกที่เดินทางไปเยือนอเมริกา
นอกจากนี้ยูเครนยังผลิตนักเขียนผู้เป็นตำนานอย่าง นิโคไล โกโกล (Nikolai Gogol) บิดาแห่งวรรณกรรมสัจนิยมของรัสเซีย รวมถึงยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงในรัสเซียอีกเป็นจำนวนมากที่มาจากยูเครน ไม่นับประชาชนในรัสเซียเองก็มีญาติมิตรอยู่ในยูเครน ซึ่งอพยพโยกย้ายในช่วงสหภาพโซเวียตเรืองอำนาจด้วย
ยูเครนถือเป็นดินแดนอุตสาหกรรมที่ผลิตพลังงาน และสร้างคุณค่ามากมายให้กับโซเวียต นี่คือดินแดนอันล้ำค่า เป็นเพชรยอดมงกุฏของประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย
ดังนั้น ยูเครนจึงไม่ใช่อดีตส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเท่านั้น แต่พวกเขามีรากร่วมกันกับรัสเซียอีกด้วย
นักการเมืองรัสเซียที่ลี้ภัยไปอยู่ในยูเครนเผยว่า “อัตลักษณ์ของรัสเซียจะไม่มีอยู่จริง หากปราศจากซึ่งอัตลักษณ์ของยูเครน นั่นทำให้มันเกิดความขัดแย้งนี้ขึ้น”
ไม่ว่าอย่างไร รัสเซียยอมให้ยูเครนไปอยู่กับตะวันตกไม่ได้ และจะให้ดี ยูเครนควรกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียจะดีกว่า
แต่นั่นคือมุมมองของปูตินและรัสเซีย
หาใช่มุมมองของคนยูเครนไม่
4
หลายคนคาดว่ารัสเซียไม่น่าจะรุกรานเต็มรูปแบบใส่ยูเครน เพราะต้นทุนมันสูงเกินไป แต่ในช่วงเวลาที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเพิ่งถอนกองทัพปิดฉากสงครามในอัฟกานิสถาน ขณะที่จีนกล้าเปิดเกมรุกดุดันในเรื่องไต้หวัน นี่คือช่วงเวลาที่รัสเซีย ปูตินควรจะลองของเป็นอย่างมาก
อเมริกาและอังกฤษเชื่อว่า ตอนนี้มีโอกาสสูงที่รัสเซียจะใช้การโจมตีทางไซเบอร์ ใส่ระบบรัฐการของยูเครน ทั้งโรงไฟฟ้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหน่วยงานรัฐที่เก็บข้อมูลประชาชนต่างๆ ซึ่งป้องกันได้ยาก เพราะระบบหลายอย่างของยูเครนใช้รูปแบบของสหภาพโซเวียต ทำให้ชาติตะวันตกไม่คุ้นเคยกับระบบแบบนี้ แต่กลับกัน มันเอื้อให้รัสเซียโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่ายมากด้วย
ตอนนี้เส้นทางการทูตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งสงคราม และเส้นทางสันติภาพยังคงมีอยู่ ตัวปูตินเองก็ใช้ยูเครนเป็นยุทธศาสตร์เรียกความนิยมตัวเองในประเทศ เพื่อกลบปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19
จะมีอะไรดีกว่าการปกปิดปัญหาในประเทศ ด้วยการปลุกเร้าชาตินิยมและสงครามเล่า นี่คือบทเรียนที่นักประวัติศาสตร์ค้นพบความจริงจากนักการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย
สำหรับปูตินแล้ว ชายผู้มีดวงตาเย็นยะเยือกแสนน่ากลัว ยากที่ใครจะกล้าสบตาด้วยคนนี้ ได้ปลุกเร้ากระแสสังคมรัสเซียให้ไม่พอใจยูเครนที่เริ่มทำตัวออกห่างจากรัสเซีย ไม่เป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน มันทำให้ปูตินได้รับความนิยมพุ่งสูงอย่างมาก
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้อยคำที่แข็งกร้าวของปูตินต่อยูเครน ก็ส่งผลสะท้อนให้คนยูเครนจำนวนมากเร่งเร้าประเทศให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ ใกล้ชิดกับยุโรปตะวันตกมากยิ่งขึ้น
ทหารยูเครนที่ถูกส่งไปประชิดพรมแดนไครเมียต่างทำหน้าที่อย่างแข็งขัน กระสุนดังสนั่นขึ้นทุกวัน พลซุ่มยิงจากกองกำลังที่ไม่ทราบฝ่าย แต่รู้กันอยู่ว่ามาจากรัสเซีย สังหารทหารยูเครนไปอย่างต่อเนื่อง
แต่การตอบโต้แบบเต็มรูปแบบไม่อยู่ในคำตอบ สถานการณ์ที่พรมแดนเป็นอะไรที่ต้องพิจารณาให้จงหนัก เพราะหากทำอะไรผิดพลาด วู่วามเกินควร มันอาจปูทางให้รัสเซียใช้กำลังอย่างเต็มรูปแบบไปได้
ผู้หมวดคนหนึ่งเผยว่า “ผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัย และเรารู้อันตรายของกองทัพรัสเซีย ไม่มีใครแน่ใจในตัวปูตินหรือใครอื่นในรัสเซียจะไม่พูดว่าบุก” ดังนั้น เขาจึงมาสมัครเป็นทหาร เพราะมันเป็นหน้าที่ และจะเป็นใครไปได้ ถ้าไม่ใช่พวกเขาที่จะต้องเผชิญหน้าในภัยคุกคามนี้
นักข่าวที่ไปสำรวจกองทัพยูเครนที่พรมแดนติดดินแดนไครเมียเผยว่า คนหนุ่มสาวจำนวนมากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความแข็งขันกระตือรือร้น เพื่อนของพวกเขาหลายคนเสียชีวิต เอาเข้าจริง วิกฤติไครเมียที่ก่อตัวขึ้นมา มีคนตายไปกว่า 1.6 หมื่นคนแล้ว
แต่ตัวเลขนี้จะจิ๊บจ๊อยไปทันที หากเกิดการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย
ถึงจุดนี้ทหารยูเครนได้รับคำสั่งให้ตั้งมั่น รับศึกในฐาน แต่อย่าพึ่งตอบโต้ มันทำให้ทหารที่ปฏิบัติงานหงุดหงิดมาก แต่คำสั่งก็คือคำสั่ง และคำสั่งในยามหน้าสิ่วหน้าขวานจำต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
กองทัพยูเครนได้รับยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา พวกเขาได้ลับคมเขี้ยวเล็บผ่านการรบเคียงชาตินาโต้ในอัฟกานิสถานมาแล้ว
แต่กับรัสเซียนั้น มันจะเป็นอีกเรื่อง นี่อาจเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ยูเครนจะประมือ ความสูญเสีย คาวเลือด
และหยาดน้ำตาอาจเกิดขึ้นได้ในครั้งนี้
5
สำหรับปูติน ยูเครนคือหมากสำคัญที่จะทำให้รัสเซียกลับมาสู่ความเป็นมหาอำนาจได้ ดังที่เคยเป็นสมัยสหภาพโซเวียต นี่คือความแข็งกร้าวที่จำต้องแสดงออก ในยามสหรัฐอเมริกาอัสดงแสง ในยามที่จีนดุดันขึ้นมา ณ ช่วงเวลาที่ผู้นำอำนาจนิยมโดดเด่นไปทั่วโลก มันคือจังหวะเหมาะสมที่ปูตินและรัสเซียจะขอฉายแสงบ้าง
เพียงแต่จังหวะเวลาและเงื่อนไข ก็เป็นสิ่งสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศ รัสเซียอาจแข็งแกร่ง แต่พวกเขาก็ไม่ได้แกร่งเกินกว่าจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวในโลกใบนี้ หากถูกคว่ำบาตร วิกฤติเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ปูตินเสียคะแนนนิยม
นี่คือการขี่หลังเสือที่ต้องน่าจับตา หากพลาดก็อาจถูกแว้งกัดได้
สำหรับชาติยุโรปนี่คือช่วงเวลาสำคัญ พวกเขาปล่อยให้เกิดวิกฤติไครเมียขึ้นมา และยูเครนคือสิ่งที่ต้องไตร่ตรองให้จงหนัก การรับยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ อาจเท่ากับการยั่วยุรัสเซีย แต่หากปล่อยยูเครนสู่อ้อมกอดของรัสเซีย ก็จะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมาหรือไม่
หนทางแห่งสงครามอาจชี้ชัด แต่หนทางแห่งสันติภาพก็ยังพอมีความหวัง
สำหรับประชาชนชาวยูเครน การพูดว่าคนรัสเซียกับคนยูเครนคือพวกเดียวกัน มีประวัติศาสตร์ รากเหง้าเหมือนกัน ดูคล้ายฝันเฟื่อง พูดเองเออเองที่หลุดออกมาจากรัสเซียเพียงฝ่ายเดียว
ความก้าวร้าวของปูติน ทำให้คนยูเครนรวมใจเป็นหนึ่งมากกว่าเดิม พวกเขาเป็นเอกราช พวกเขาคือยูเครน ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัสเซีย และจะไม่ยินยอมเป็นส่วนหนึ่งในความฝันอันบ้าคลั่งนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะหลุดจากปากของปูติน หรือใครก็ตามในรัสเซีย
“พวกเขาขโมยอดีตของเราไปแล้ว ยังไม่พอ ตอนนี้พวกรัสเซียยังพยายามปล้นอนาคตของเราไปด้วย”
“ถามว่าเรากลัวการรุกรานไหม” ผู้หมวดคนเดิมพูดออกมา
“ผมไม่เห็นสิ่งนี้ในตัวพวกเรานะ”
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2021/12/05/world/europe/putin-russia-ukraine-troops.html
https://www.nytimes.com/2021/12/08/briefing/biden-putin-ukraine-border-tensions.html
https://www.sm-thaipublishing.com/content/7070/gogol
https://www.nytimes.com/2021/12/06/world/europe/ukraine-russia-war-front.html
Tags: Russia, รัสเซีย, ปูติน, ยูเครน, วลาดิมีร์ ปูติน, The Politician in Crime, Putin, Ukrain