1

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นได้ปล่อยตัว ฟูซาโกะ ชิเกโนบุ วัย 76 ปี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทัพแดง (Japan Red Army) ผู้ได้รับฉายาว่า ‘ราชินีแห่งความสะพรึง’ หลังมีส่วนร่วมอยู่เบื้องหลังในการก่อการร้ายไปทั่วโลก ถือเป็นองค์กรซ้ายจัดหัวรุนแรง ที่ทั้งจับตัวประกัน กราดยิงในสนามบิน โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมให้กับรัฐปาเลสไตน์ เป็นที่หวาดกลัวในช่วงยุค 70s-80s อย่างมาก

สิ่งแรกที่ฟูซาโกะทำหลังออกจากเรือนจำคือสวมกอดลูกสาว ซึ่งทำงานเป็นนักข่าว และใช้ชีวิตวัยเด็กในดินแดนปาเลสไตน์ร่วมกับแม่ที่ทรงอุดมการณ์ มุ่งหวังการปฏิวัติเพื่อให้โลกนี้เท่าเทียม และให้ปาเลสไตน์เป็นประเทศที่ทั่วโลกยอมรับ

การปล่อยตัวของเธอเป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่น มีคนมาชูป้ายว่า ‘เรารักฟูซาโกะ’ โดยราชินีแห่งความสะพรึงได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ขอโทษนะคะ ที่การจับกุมฉันทำให้หลายคนเดือดร้อนไปด้วย”

ฟูซาโกะมีสุขภาพที่ย่ำแย่มาก เพราะป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ เธอติดคุก 20 ปี ระหว่างต้องโทษเคยเขียนจดหมาย ยอมรับว่าหนทางการต่อสู้ยังไม่จบสิ้น  เป้าหมายของการเรียกร้องยังต้องมีต่อไป เพราะสิ่งเลวร้ายยังดำรงอยู่

นักปฏิวัติซ้ายจัดรายนี้ได้ขึ้นรถสีดำขับออกจากเรือนจำไปพร้อมกับลูกสาวสุดที่รัก ซึ่งการปล่อยตัวนี้มีข้อแม้ว่าเธอจะไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้เด็ดขาด และแน่นอนว่าสำหรับฟูซาโกะแล้ว สิ่งแรกที่ต้องคำนึงไม่ใช่อุดมการณ์การต่อสู้หรือการจับอาวุธแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บก่อน

แต่เธอบอกว่า แม้ศาลจะสั่งห้ามข้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง แต่เธออยากจะสะท้อนเรื่องราวหนหลังของเธอให้คนอื่นได้รับทราบถึงชีวิตหญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง ที่แปรเปลี่ยนก้าวเดินสู่หนทางนักปฏิวัติ สู่การเป็นผู้ก่อการร้าย จนได้ฉายาราชินีแห่งความสะพรึง

2

ฟูซาโกะเกิดเมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี1945 ในครอบครัวชนชั้นล่าง อาศัยอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีพี่น้องผู้ชาย 2 คนและน้องสาว 1 คน เดิมพ่อของเธอเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียนวัดให้กับเด็กยากจนที่ย่านคิวชู จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นเข้าร่วมฝ่ายอักษะและรุกรานประเทศอื่นอย่างโหดเหี้ยม พ่อได้เข้าร่วมกับกองทัพ และดำรงตำแหน่งพันตรีในหน่วยตำรวจลับของกองทัพบก

หลังสงครามสิ้นสุด พ่อทำงานร้านขายของชำ ครอบครัวเธอไม่ได้ร่ำรวยอะไรทั้งสิ้น ยังจนเหมือนเดิม ท่ามกลางความลำบากของสภาพชีวิตหลังสงคราม ทำให้ฟูซาโกะต้องไปทำงานในโรงงานผลิตนมถั่วเหลือง เพื่อหาเงินส่งตัวเองเรียนม.ปลาย ก่อนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมจิได้สำเร็จ

ลูกสาวเล่าว่าแม่ของเธอไม่ได้เป็นคนหัวรุนแรงตั้งแต่แรกเริ่ม แม้จะมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก เห็นความเลวร้ายหลังสงคราม แต่แม่เป็นนักศึกษาธรรมดาๆ ที่หาเงินส่งเสียตัวเอง แต่ในยุคนั้น คนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นต่างสมาทานแนวคิดนักปฏิวัติ ต้องการปลดแอกประเทศจากอเมริกา และต่อต้านสงครามเวียดนาม ไม่เห็นด้วยกับการครอบงำจากประเทศมหาอำนาจ สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ซึมซับในตัวนักศึกษาหญิงทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีการขึ้นค่าเทอม ทำให้ฟูซาโกะเดือดร้อน เพราะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงินมาเรียน นั่นทำให้เธอตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงร่วมกับนักศึกษาคนอื่นทันที

“แม่ไม่เคยเป็นพวกนักกิจกรรมหรือเป็นขบถอะไรเลย ทุกเช้าที่แม่ไปเรียน เธอจะเก็บดอกไม้แล้วยื่นให้ตำรวจเสมอ แม่ไม่เคยเป็นศัตรูกับระบบเลย”

แต่เพราะความเร่าร้อนแห่งแนวคิดฝ่ายซ้าย การเรียกร้องสันติภาพ ร่ำร้องให้ชีวิตผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้วทั้งโลกมีชีวิตดีขึ้น สิ่งที่ดึงดูดใจคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นก็คือความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ที่อิสราเอลรุกรานยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ ทำให้คนไร้ที่อยู่ ต้องหลบมาอาศัยเป็นผู้ลี้ภัย เป็นคนส่วนน้อยที่เข้าไม่ถึงอะไรหลายอย่างในชีวิต 

ในปี 1969 เมื่อกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงต่อต้านการคงฐานทัพอเมริกาในญี่ปุ่น รวมถึงการต่อต้านองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ พวกเขาได้มาพบปะพูดคุย ก่อนรวมตัวกันก่อตั้งกองทัพแดงแห่งญี่ปุ่นขึ้นมา โดยเป้าหมายคือต่อต้านระบอบทุนนิยมที่แผ่ไพศาลอิทธิพล ซ่อนเร้นไว้ด้วยการรุกรานจากชาติมหาอำนาจต่อประเทศเล็กๆ

กองทัพแดงก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์นี้ โดยมีฟูซาโกะเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิก พวกเขารวมตัวฝึกอาวุธตามภูเขา เพื่อซ่อนเร้นการสอดส่องจากทางการ และเมื่อการต่อสู้ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วทั้งญี่ปุ่นหลายแห่งล้มเหลว พวกเขาก็เบนเป้าหมายไปยังปาเลสไตน์ ที่ซึ่งคนเดือดร้อน และร่ำร้องหาแนวร่วมแห่งการปฏิวัติ ต่อสู้กับอิสราเอล ที่พวกเขามองว่าคือผู้รุกราน กองทัพแดงญี่ปุ่นจึงเดินทางไปจับมือกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ เพื่อต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพ ฟูซาโกะร่วมเดินทางไปด้วย มันจะเป็นการเดินทางสุดมหัศจรรย์ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนทั่วทั้งโลก

3

ที่ปาเลสไตน์เป็นศูนย์รวมของเหล่ากลุ่มหัวรุนแรงแทบทั้งโลก งานค้นคว้าบางชิ้นระบุว่า กลุ่มกองทัพแดงจากญี่ปุ่นได้นำแนวคิดเรื่องกามิกาเซ่ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของเหล่านักบินที่ขับเครื่องพุ่งชนเรือศัตรู เพื่อให้ตัวเองและอริจบชีวิตไปพร้อมกัน แนวคิดนี้ถูกต่อยอด พัฒนากลายเป็นนำคนผูกกับระเบิดไปพลีชีพในดินแดนศัตรู ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงในตะวันออกกลางนิยมใช้กันจนถึงทุกวันนี้

ลูกสาวของฟูซาโกะเกิดในปี 1973 โดยมีพ่อคือนักรบของกลุ่มปาเลสไตน์ กองทัพแดงมีชื่อเสียงด้านการใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 1972 มือปืนได้บุกกราดยิงภายในสนามบินอิสราเอล เป็นเหตุให้มีคนเสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บถึง 80 คน

เหตุการณ์นี้มีการสืบสวนและพบว่ากองทัพแดงอยู่เบื้องหลัง โดยมีฟูซาโกะเป็นคนวางแผน แม้เธอจะยืนกรานปฏิเสธมาถึงทุกวันนี้ก็ตาม

จากนั้นผลงานของกองทัพแดงก็มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในปี 1974 กลุ่มกองทัพแดงได้บุกสถานทูตฝรั่งเศสที่เนเธอร์แลนด์ แล้วจับทูตพร้อมเจ้าหน้าที่ไว้เป็นตัวประกัน โดยมีตำรวจถูกยิงบาดเจ็บสาหัส 2 นาย การก่อเหตุครั้งนี้ กองทัพแดงใช้คนเพียง 3 รายเท่านั้น โดยมีฟูซาโกะร่วมก่อเหตุด้วย ทางการเนเธอร์แลนด์ใช้เวลาเจรจากว่า 100 ชั่วโมง จนมีการแลกตัวนักโทษกองทัพแดงที่โดนจับในฝรั่งเศส ก่อนจะพาตัวมายังสถานทูต แล้วขึ้นเครื่องพร้อมตัวประกันไปยังซีเรีย

ในปี 1975 กองทัพแดงได้บุกเข้าไปยังสถานทูตสวีเดนและอเมริกาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษในญี่ปุ่น ปี 1977 สมาชิกในกลุ่มจี้เครื่องบินสายการบินญี่ปุ่นที่อินเดียด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ ในปี 1986 สถานทูตญี่ปุ่นในจาการ์ตา อินโดนีเซีย ถูกระเบิด ในปี 1988 มีการคาร์บอมสโมสรกองทัพอเมริกาในกรุงเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

ผลงานเหล่านี้ทำให้ทั้งโลกจัดว่ากลุ่มกองทัพแดงเป็นองค์การก่อการร้ายของจริง สร้างความหวาดหวั่นไปทั่ว

แม้จะมีการสืบสวนจากทางการญี่ปุ่น มีการไล่ล่าสมาชิกองค์กร แต่กองทัพแดงก็ยังโลดแล่นสร้างความสะพรึงไปทั่วทั้งโลก เช่นเดียวกับองค์กรก่อการร้ายหลายแห่งที่ผุดขึ้นในขณะนั้น พวกเขาแปรเปลี่ยนจากการเรียกร้องสันติภาพ การเรียกร้องความเท่าเทียมของสังคมมนุษย์ สู่การจับอาวุธก้าวเข้าสู่เส้นทางแห่งความรุนแรง

ถึงทุกวันนี้สมาชิกกองทัพแดงบางคนยังไม่ถูกจับกุมตัว ทางการญี่ปุ่นยังคงติดประกาศจับ และสเก็ตช์ภาพว่าผู้ก่อเหตุบางคนที่คงจะอายุ 70 กว่ากันแล้ว จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร 

สำหรับฟูซาโกะ การจับอาวุธสู้ทำให้เป้าหมายอุดมการณ์ที่เคยหวังไว้ยิ่งลางเรือน ไม่ใกล้ที่จะประสบความสำเร็จสักที ยิ่งใช้ความรุนแรง สมาชิกก็มีแต่ล้มตายจากหาย ยิ่งทำให้กลุ่มกองทัพแดงดูเหมือนจะห่างไกล จากโลกที่พวกเขาฝันใฝ่ไปเรื่อยๆ

มิหนำซ้ำลูกสาวของฟูซาโกะเองก็ต้องปกปิดตัวเอง ย้ายที่เรียนบ่อย เพราะแม่เป็นผู้ก่อการร้ายที่ทางการญี่ปุ่นและหลายประเทศทั่วโลกไล่ล่า

หลังเดินทางออกจากญี่ปุ่นไปร่วมกับกองกำลังปาเลสไตน์หลายปี ในที่สุด ปี 2000 ฟูซาโกะก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน โดยนั่งเครื่องบินมาลงที่เมืองโอซาก้า ใช้หนังสือเดินทางปลอม และแต่งตัวเป็นผู้ชายเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

ว่ากันว่าผู้ร้ายที่ดีนั้นจะต้องสมบูรณ์แบบที่สุด แต่สำหรับเจ้าหน้าที่นั้น ขอเพียงโชคดีจากความผิดพลาดของวายร้ายแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ฟูซาโกะถูกไล่ล่าจับตามองจากทางการญี่ปุ่นมาหลายปี เมื่อเธอกลับเข้ามา ข้อมูลข่าวกรองก็ตรวจสอบรู้ว่าเป็นใคร เจ้าหน้าที่จึงบุกจับกุมตัวเธอได้สำเร็จ ปิดฉากตำนานราชินีแห่งความสะพรึงจนได้

4

ชีวิตในเรือนจำอาจทำให้หญิงสาวคิดได้ ในเดือนเมษายน ปี 2001 เธอประกาศยุบกองทัพแดง และในปี 2008 ก็ป่วยเป็นมะเร็ง แต่แม้จะยอมเลิกเส้นทางความรุนแรงจับอาวุธสู้ แต่อุดมการณ์เธอยังเต็มเปี่ยม ไม่ต่างจากเมื่อครั้งสนใจกิจกรรมทางการเมืองในช่วงวัยรุ่น ฟูซาโกะยืนยันว่านักการเมืองญี่ปุ่นห่างเหินกับประชาชน พวกเขามีครอบครัวที่ร่ำรวย ได้รับการศึกษาอย่างดี แล้วคนที่มีความสุขสำราญแบบนี้จะเข้าใจชีวิตของประชาชนคนตกทุกข์ได้ยากจริงหรือ

ฟูซาโกะต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ต้องการรื้อฟื้นกองทัพขึ้นมา เพราะมันขัดต่อหลักการแห่งสันติภาพที่ประเทศนี้ยึดถือมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะที่ลูกสาวเพียงคนเดียวของฟูซาโกะต้องอยู่กับพ่อในขณะที่แม่ถูกจับ ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ นานหลายปี ลูกสาวฟูซาโกะเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่มีแผ่นดินอยู่ ไม่มีรัฐให้พึ่งพิง เพราะเกิดในค่ายของผู้ก่อการร้าย กว่าจะได้สัญชาติญี่ปุ่นก็ต้องอายุ 28 ปี ทุกวันนี้เธอทำงานเป็นนักข่าว โดยเพื่อนร่วมกองทัพแดงกับฟูซาโกะมองชีวิตลูกสาวของราชินีแห่งความสะพรึงแล้วเผยว่า

“ชีวิตคือสิ่งที่ยากลำบากสุดสำหรับเด็กคนนี้ บางทีพวกเราก็เสียใจกับเธอเหมือนกัน”

อย่างไรก็ดี ด้วยชีวิตที่ได้เห็นความยากลำบากของคนปาเลสไตน์ ทำให้ลูกสาวของฟูซาโกะทำงานเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ และไปทำงานกับช่องในตะวันออกกลาง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนที่เดือดร้อนในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งเป็นแผ่นดินที่เธอใช้ชีวิตเคียงข้างแม่เสมอมา

“ฉันยังคงสนับสนุนปาเลสไตน์เหมือนแม่นะ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการบรรลุเป้าหมายใดๆ ทั้งสิ้น”

5

วันเวลาของหญิงสาวที่เกิดในครอบครัวจนๆ จากเด็กนักเรียนที่ต้องหาเงินเลี้ยงชีพ ได้ซึมซับความลำบาก ได้เรียนรู้ชีวิตที่ต้องทำเพื่อคนอื่น แต่เธอเลือกเส้นทางแห่งความรุนแรงในการแก้ปัญหา ความฝันที่สวยงาม มุ่งหวังจะปฏิวัติโลก จบลงที่ความล้มเหลว แต่สำหรับฟูซาโกะ เธอมองว่าอย่างน้อย การประท้วงของสาธารณชนในญี่ปุ่นก็ช่วยให้รัฐบาลต้องฟังและยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพนี้ และเธอเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกองทัพแดงก็มีส่วนในการปลุกสำนึกของคนญี่ปุ่นด้วย

ทุกวันนี้กองทัพแดงเป็นอดีต แต่มันคือตำนานเลื่องชื่อของกลุ่มหัวรุนแรงที่คิดว่าอาวุธและความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งสุดท้ายมันจบลงที่ความล้มเหลว วันคืนในเรือนจำของฟูซาโกะ พิสูจน์ให้เห็นทุกอย่าง 

ปัจจุบันราชินีแห่งความสะพรึง ยุติบทบาททุกอย่าง และกล่าวขอโทษเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และหวังว่าจากนี้ เรื่องราวของเธอ จะได้สะท้อนแก่คนรุ่นหลังให้ได้สดับรับฟังบ้าง ถือเป็นบทเรียนแก่คนหนุ่มสาวผู้มุ่งหวังจะให้โลกดีกว่าวันวาน

“มันผ่านมาครึ่งศตวรรษแล้วนะ สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ พวกเรา (กองทัพแดง) มีส่วนทำให้คนบริสุทธิ์ล้มตาย สังเวยเป้าหมายการต่อสู้ของเรา และฉันต้องขอแสดงความเสียใจด้วย”

 

อ้างอิง

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/05/28/national/crime-legal/fusako-shigenobu-prison-freed/

https://www.japantimes.co.jp/culture/2014/07/04/films/mei-shigenobus-words-continue-the-fight-for-her-mothers-cause/

https://www.japantimes.co.jp/news/2017/06/08/national/imprisoned-japanese-red-army-founder-shigenobu-holds-hope-revolution/

https://www.japantimes.co.jp/news/2022/02/11/national/tokyo-police-video-red-army/

https://www.aljazeera.com/program/al-jazeera-world/2012/12/11/revolution-united

https://www.theguardian.com/world/2022/may/28/empress-of-terror-japanese-red-army-founder-released-from-prison

https://www.bbc.com/news/world-asia-61615018

Tags: , , , , , ,