1

“ทำไมคุณถึงไม่โต้แย้งคำโกหกของทรัมป์ในช่วงเลือกตั้ง 2020 ล่ะ”

“เขามีคนตามเยอะ และส่วนใหญ่ก็ดูช่องฟ็อกซ์ มันคงโง่มาก ถ้าเราทำแบบที่คุณว่า”

ปี 1964 ศาลสูงสุดอเมริกาตัดสินคดีหนึ่งซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ และหลักหมายสำคัญของสื่อมวลชนทั้งประเทศ คดีนี้เรียกกันว่า ‘คดีนิวยอร์กไทม์กับซัลลิแวน’ (New York Times Co. v. Sullivan)

ที่มาของคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองได้ซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ เพื่อลงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองมอนต์โกเมอรี่ (Montgomery) รัฐอลาบาม่า (Alabama) โดยเป็นการกล่าวหาแอล บี ซัลลิแวน ซึ่งเป็นหัวหน้าตำรวจ ได้ใช้กำลังทำร้ายผู้ประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมืองให้กับคนผิวดำอย่างรุนแรง

ปรากฏว่าความจริงคือ ไม่มีการทำร้ายร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น และซัลลิแวนไม่ได้ทำอะไรเลย การลงโฆษณานี้ ทำให้เขาเสียหาย จึงยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อนิวยอร์กไทม์

ต้องเข้าใจว่าสื่อมวลชนสหรัฐอเมริกาอ้างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีการรับรองเสรีภาพของสื่อไว้ในการแก้ไขครั้งที่ 1 การต่อสู้ครั้งนี้ จึงเป็นการวัดพลังกันครั้งสำคัญระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐกับสื่อมวลชน

ศาลรัฐอลาบามาตัดสินว่านิวยอร์กไทม์ผิด เพราะสิ่งที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์เป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ยอดสำนักข่าวสู้คดีไปยังศาลสูงสุด ซึ่งมีคำตัดสินที่น่าสนใจอย่างมาก

คำตัดสินนี้ชี้ว่า ในการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนนั้น พวกเขาอาจก่อความผิดพลาดได้ ดังนั้นในคดีนี้จึงตัดสินยกฟ้องไม่ถือว่านิวยอร์กไทม์หมิ่นประมาทซัลลิแวน

ศาลให้เหตุผลอีกว่า การที่สื่อจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น พวกเขาจะต้องนำเสนอข่าว โดยไม่สนใจจะพิจารณาข้อมูลดังกล่าวเลยว่าถูกหรือผิด และเหตุผลสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าติดพลังอำนาจให้สื่อมวลชนในอเมริกา ก็คือประโยคที่ว่า “การฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทต่อสื่อนั้น จะต้องมีหลักฐานชัดเจนว่า สื่อกระทำลงไปด้วยความอาฆาตพยาบาทอย่างแท้จริง”

ประโยคดังกล่าวกลายเป็นเกราะป้องกันตัว ทำให้สื่ออเมริกันเดินหน้าทำข่าวอย่างเต็มที่ ไม่กลัวในอำนาจของใคร และหลังจากนั้น สื่อได้ทำหน้าที่ตีแผ่ความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ จนนำไปสู่การปลดประธานาธิบดีลงได้

แต่แรงสะท้อนกลับก็เกิดขึ้นในปี 1973 เมื่อเจ้าของสื่อหนังสือพิมพ์จากออสเตรเลีย ที่ชื่อว่า รูเพิร์ต เมอร์ดอค (Rupert Murdoch) ซื้อหนังสือพิมพ์ในอเมริกา เขาตระหนักถึงอำนาจและอภิสิทธิ์ที่สื่อของประเทศนี้มี มันทรงพลังและมีเสรีภาพยิ่งกว่าในอังกฤษและในออสเตรเลีย

นั่นทำให้เขาเข้าใจและผลักดันการทำงานของสื่อตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องสนใจว่ามันจะถูกต้องตามจริยธรรมสื่อหรือไม่ ตราบใดที่ภาครัฐ หรือประชาชน พิสูจน์ไม่ได้ว่า สื่อที่เขาซื้อ นำเสนอข่าวด้วยความอาฆาตพยาบาท ตราบที่มีหลักฐานไม่ชัด ก็ฟ้องหมิ่นประมาท หรือทำอะไรสื่อไม่ได้

คำตัดสินของศาลสูงสุด เมื่อปี 1964 นี่เอง เป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นที่เมอร์ดอคค่อยๆ ขยายฐานอำนาจ จนกลายเป็นเจ้าพ่อสื่อของโลกในเวลาต่อมา แต่ใครเลยจะรู้ว่าในปี 2023 นี้ คำตัดสินดังกล่าว จะได้กลับกลายเป็นศรย้อนทิ่มแทงเมอร์ดอคอย่างเหลือเชื่อ

“พวกนักข่าวอเมริกัน มัวแต่สนใจนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้ เราไม่ทำแบบนั้น” เมอร์ดอคให้สัมภาษณ์สื่อ

“เราจะนำเสนอข้อมูลข่าวที่สาธารณชน อยากรู้ต่างหากเล่า”

2

ความวายป่วงของเรื่องนี้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) พ่ายการเลือกตั้งเสียตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ โจ ไบเดน (Joe Biden) ตอนนั้นทรัมป์กลับไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และก่นด่าว่ามีการโกงเลือกตั้งเรียกร้องฝ่ายขวาคลั่งล้มผลคะแนนเลือกตั้ง 

ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ทรัมป์อ้างอิง คือเขาบอกว่าเครื่องที่ใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีการโกง เอื้อคะแนนให้ฝ่ายตรงข้ามกับเขา คำกล่าวหาพล่อยๆ นี้ถูกกระพืออย่างหนักหน่วง โดยสำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) ซึ่งก่อตั้งโดยเมอร์ดอคนั่นเอง

ฟ็อกซ์นิวส์กล่าวหาว่า บริษัทที่เป็นเจ้าของเครื่องใช้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ชื่อว่า Dominion ได้โกงผล ที่สำคัญคือ พิธีกรสำนักข่าวแห่งนี้ กล่าวหากันแบบไม่ต้องมีพยานหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น ต่างพูดว่าโกงๆๆๆ แม้โฆษกของบริษัท Dominion จะบอกว่าไม่จริง ไม่จริง และไม่จริง

แต่ฟ็อกซ์นิวส์ก็ไม่สนใจ ยืนกรานความเท็จเรื่อยมา

ถามว่าทำไมฟ็อกซ์นิวส์ต้องทำแบบนี้ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ผู้ชมของพวกเขาคือสาวกทรัมป์ที่เชื่อว่าการเลือกตั้งมันโกง ดังนั้นฟ็อกซ์จึงตามน้ำไป โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น เล่าเรื่องเท็จไปอย่างเต็มที่

พวกเขายอมทำตามเรื่องโกหกแบบนี้ ก็เพราะในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ช่องแห่งนี้มีคนดูมากมายที่เป็นสาวกทรัมป์ พอพวกเขานำเสนอข่าวว่าไบเดนชนะการเลือกตั้งในรัฐอริโซนา ทำให้ยอดคนดูตกไปทันที โดยสาวกทรัมป์ซึ่งมีจำนวนมาก เลือกจะไปติดตามช่องสื่อขวาจัดอื่นแทน

นั่นทำให้ฟ็อกซ์เลือกที่จะยืนข้างความเท็จ เพื่อเรียกยอดคนดูกลับมาเหมือนเดิม

ตามหลักการที่เมอร์ดอคเน้นไว้ ก็คือ นำเสนอข่าวสารที่คนอยากฟัง

และสิ่งหนึ่งที่ทำให้สำนักข่าวแห่งนี้มั่นใจในตัวเองมากๆ ว่าไม่มีอะไรจะทำอะไรพวกเขาได้ นั่นก็เพราะคำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 1964 เพราะไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ฟ็อกซ์นำเสนอไป (แม้มันจะเป็นเรื่องโกหก) เกิดจากความอาฆาตพยาบาทใคร

ดังนั้นใครก็จะฟ้องร้องไม่ได้

เหรอ?

3

บริษัท Dominion นั้นสร้างเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 2003 โดยเป็นการก่อตั้งลงทุนแบบสตาร์ทอัป ยืมเงินครอบครัวมาลงทุน แล้วจากนั้น พวกเขาก็นำเครื่องไปตั้งในคูหา ให้คนไปลงคะแนนเสียงกว่า 28 รัฐแล้วในตอนนี้

เรียกได้ว่าเกินครึ่งหนึ่งของ 50 รัฐในอเมริกา จะใช้เครื่องนี้ในการเลือกผู้แทนทุกระดับ ไปจนถึงการเลือกประธานาธิบดี

ทั้งนี้บริษัทได้ตั้งชื่อว่า Dominion โดยอิงจากชื่อกฎหมายของแคนาดา ในปี 1920 ซึ่งให้อำนาจแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน โดยห้ามมีอคติทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนาเด็ดขาด อำนาจของกฎหมายตรงนี้ จึงนำมาตั้งชื่อบริษัทและถูกเรียกเป็นชื่อเครื่องดังกล่าว

ทางผู้ก่อตั้งเน้นว่า เครื่องนี้จะช่วยให้คนพิการ ผู้บกพร่อง คนแก่ จะสามารถลงคะแนนเสียงได้ เพราะมันเอื้อให้ลงคะแนนได้ดีกว่าการกาบัตร เจาะรู เพียงแค่กด ดูจากจอ หรือฟังจากเสียง ก็ใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยได้

ทางฟ็อกซ์นิวส์ระดมยิงเล่าความเท็จว่า เครื่องถูกแฮ็กโดยพรรคเดโมแครตบ้าง ทำให้คะแนนเสียงของทรัมป์หาย การก่อความวินาศของฟ็อกซ์ต่อบริษัทนี่เอง จึงทำให้มีการยื่นฟ้องสำนักข่าวสุดโด่งดังในข้อหาหมิ่นประมาทเรียกเงินกว่าพันล้านเหรียญ

ทีแรกฟ็อกซ์ก็ไม่สะเทือนอะไร เพราะคำตัดสินของศาลสูงสุดในปี 1964 เป็นเกราะคุ้มครองพวกเขา

อย่างไรก็ดี เวลาผ่านไปเรื่อยๆ กลับมีหลักฐานฉาวโฉ่โผล่ออกมาว่า พิธีกรข่าวของฟ็อกซ์ที่ดาหน้าออกมาเล่าความเท็จเกี่ยวกับเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น ปรากฎว่ามันมีหลักฐานการแชต สนทนาพูดคุยชัดแจ้งว่า พวกนักเล่าข่าวเหล่านี้ต่างรู้ดีว่า ข้อมูลที่จะเอาไปออกอากาศนั้น มันไม่จริง ไม่มีหลักฐานสนับสนุน เป็นเรื่องโป้ปด

เหตุนี้เอง ทำให้บริษัท Dominion จึงมั่นใจว่า พวกเขามีโอกาสชนะในข้อหาหมิ่นประมาทแก่ฟ็อกซ์ได้ เพราะสำนักข่าวแห่งนี้รู้อยู่แล้วว่า ตัวเองมีเรื่องโกหกในมือ แต่ก็ยังเอาไปนำเสนอต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของศาลในปี 1964 ด้วย

นั่นจึงเป็นการย้อนศรคำตัดสินนี้ใส่ฟ็อกซ์ที่ใช้เกราะเมื่อปี 1964 เป็นเครื่องกำบัง สุดท้ายจึงพังทลายเพราะถูกย้อนเกล็ดเสียเอง

4

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ฟ็อกซ์นิวส์ทะยานจากช่องเคเบิ้ลเล็กๆ สู่สำนักข่าวโทรทัศน์อันดับ 1 ของอเมริกา จนต่อยอดแตกกอไปสร้างบริษัทบันเทิงลูกๆ อีกหลายที่ได้นั้น ก็เพราะพวกเขายึดหลักการเดียวกับที่เมอร์ดอคเชื่อ นั่นก็คือ พวกเขาจะนำเสนอข้อมูลที่คนดูต้องการ โดยไม่มีการตัดสิน หรือกลัวทั้งสิ้น

นั่นทำให้ฟ็อกซ์นิวส์ถูกใจคนดู ที่อยากเห็นข่าวสีสัน ช่วงที่อเมริกาบุกอัฟกานิสถาน พวกเขานำเสนอข่าวปลุกระดมชาตินิยม จนถูกใจสาธารณชน จากนั้นมันก็เลยเถิด เมื่อไม่มีการควบคุมมาตรฐานการนำเสนอ มันเลยมีการนำเรื่องราวทฤษฎีสมคบคิดมาให้คนชม มากกว่าข้อมูลข้อเท็จจริง จนสุดท้ายมันก็กลายเป็นบ่วงรัดคอฟ็อกซ์นิวส์และเมอร์ดอคเอง เพราะเมื่อถึงที่สุด คนดูกลับต้องการเรื่องโกหกเรื่องไม่จริง มากกว่าความจริงตรงหน้า

และสุดท้ายทำให้ช่องข่าวแห่งนี้ไม่มีทางเลือกนอกจากนำเสนอเรื่องเท็จ จนถูกฟ้องหมิ่นประมาทเรียกเงินมหาศาลแบบนี้

เกจิวงการกฎหมายหลายคนมองว่า ถึงที่สุดฟ็อกซ์ก็ยังพยายามรอมชอมกับบริษัท Dominion นอกศาล แต่คดีก็ไปถึงชั้นศาลจนได้ เชื่อได้ว่าแม้สุดท้ายตัวเลขฟ้องค่าเสียหาย คงจะได้ไม่ถึงตามที่ยื่นไปในตอนแรก พวกเขาอาจตกลงตัวเลขกันได้ แต่ฟ็อกซ์ก็คงต้องจ่ายในระดับหลายร้อยล้านแน่นอน

อย่างน้อยถ้าตกลงกันได้ด้วยตัวเลขนี้ ฟ็อกซ์ก็จะได้เคลียร์คดีจบ ลดความอับอายขายหน้าไปได้บ้าง

แต่ก็มีหลายคนคาดว่า ศาลอาจจะยกฟ้อง เพราะพิสูจน์ไม่ได้ว่าการที่ฟ็อกซ์นำเสนอข่าวไปนั้น มันมีเบื้องหลังจากแรงอาฆาตพยาบาทรุนแรง ซึ่งจะเข้าข่ายว่าสื่อหมิ่นประมาทคนอื่น

เมื่อพิสูจน์มูลเหตุตรงนี้ไม่ได้ ก็อาจเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ฟ็อกซ์นิวส์รอดจากข้อหาหมิ่นประมาทไปได้ แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่มุมมองของความยุติธรรมในโลกยุคปัจจุบันจริงๆ

ทั้งหมดนี้ถือเป็นวิบากกรรมของฟ็อกซ์นิวส์อย่างมาก เพราะเอาเข้าจริง สื่อที่มีคุณภาพทั้งหลาย ไม่เคยกลัวเรื่องหมิ่นประมาทเลย เพราะหากข้อมูลที่ได้มา มีกระบวนการตรวจสอบชัดแจ้งและเป็นความจริง ใครที่ไหนก็ฟ้องร้องไม่ได้ ส่วนฟ็อกซ์นั้นอาศัยช่องโหว่คำตัดสินนี้ จนสร้างความปั่นป่วนในสังคมอเมริกาอย่างมาก

ปัจจุบันฟ็อกซ์นิวส์ก็ยังเจอปัญหาที่ยังหาทางออกไม่เจอ แม้พวกเขาจะพยายามถอยห่างจากทรัมป์ ตีตัวออกจากผู้สมัครที่เชื่อเรื่องบ้าๆ บอๆ ว่ามีการโกงเลือกตั้งอะไรนั่น แต่ถึงที่สุดฝ่ายขวาอเมริกาจำนวนมากยังชมชอบทรัมป์ไม่เสื่อมคลาย นั่นทำให้หากฟ็อกซ์ไม่นำเสนอข่าวทรัมป์ ไม่เสนอเรื่องราวโกหกของทรัมป์ พวกเขาก็จะสูญเสียฐานคนดูให้กับสื่อฝ่ายขวาคลั่งเจ้าอื่นๆ แถมจะเรียกคนดูจากอีกกลุ่มก็ยากเกินแล้ว เพราะคนที่มีความเชื่อทางการเมืองอีกฝ่าย ก็คงไม่ดูฟ็อกซ์แน่นอน

นี่จึงเป็นหายนะของฟ็อกซ์ที่น่าสนใจอย่างมาก

5

นับตั้งแต่เมอร์ดอคเข้ามาในวงการสื่ออเมริกา เขาไม่เพียงซื้อสื่อที่นำเสนอข่าวฉาวสีสัน ให้นักข่าวปลอมตัวเป็นตำรวจบ้าง เป็นคนจัดงานศพบ้าง ที่หนักสุดคือแฮกมือถือคนตาย แล้วนำเสนอข่าว เรียกได้ว่าสื่อในมือเมอร์ดอคนั้นไม่สนจริยธรรมใดๆ ทั้งสิ้น หากมีคนอ่าน มันก็ถือเป็นข่าวได้หมด

อย่างไรก็ดีเมอร์ดอคไม่ใช่เจ้าพ่อสื่อโง่ๆ เขาซื้อสื่อฝ่ายขวาที่มีคุณภาพ นำเสนอข้อมูลที่จะแจ้งทรงปัญญาแก่คนอ่านด้วย

วิบากกรรมครั้งนี้ เมอร์ดอครู้ดีตั้งแต่แรกว่า คำโกหกจากทรัมป์นั้นน่าอดสูมาก แต่เขากลับปล่อยผ่านเลยเถิด จนทำให้ฟ็อกซ์ถูกฟ้องแบบนี้

นี่จึงเป็นอีกความท้าทายของเจ้าพ่อสื่อวัย 92 ปี ที่จะต้องออกโรงแก้วิกฤติอีกครั้ง แต่หากถามว่าก็รู้อยู่แล้วว่าเรื่องจะลงเอยอลหม่านแบบนี้ ทำให้เมอร์ดอคถึงยอมให้มันวุ่นวายจนสื่อในมือถูกฟ้องได้

เราก็ขอยกคำตอบของเมอร์ดอคที่ทนายของบริษัท Dominion ได้ซักเขาไว้ระหว่างให้การ ก่อนส่งคดีขึ้นชั้นศาลว่า

“ทำไมคุณ ถึงไม่โต้แย้งคำโกหกของทรัมป์ ในช่วงเลือกตั้ง 2020 ล่ะ”

“เขามีคนตามเยอะ และส่วนใหญ่ก็ดูช่องฟ็อกซ์ มันคงโง่มาก ถ้าเราทำแบบที่คุณว่า”

Tags: