01:08

ศัพท์ที่ต้องรู้จัก

ภาพรวมของธุรกิจภาพยนตร์โลกและฮอลลีวูด ตอนนี้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Requel หนังสกุลใหม่ เกิดจากการผสมกันระหว่าง reboot กับ sequel หรือ prequel

Sequel หมายถึงหนังภาคต่อ
Prequel หมายถึงหนังภาคก่อน
Spin-off หมายถึงภาคกระจาย ต่อยอดมาจากตัวหนังดั้งเดิม
Remake หมายถึงการนำมาสร้างใหม่ บนพื้นฐานของสิ่งเดิม แทบไม่เปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง
Reboot หมายถึงการนำมาสร้างใหม่ อาจเป็นเส้นเรื่องเดิม แต่ตีความใหม่ เติมรายละเอียดใหม่

requel (n.)

when a remake contains a lot of new material;

A remake that also doubles as a sequel.

(urbandictionay.com)

 

04:20

The Requels, ความน้ำเน่าที่มีมูลค่า

หลายปีที่ผ่านมา ฮอลลีวูดแทบไม่มีอะไรใหม่ ประการหนึ่งน่าจะอยู่ที่ความต้องการสร้างความมั่นใจให้นายทุนให้แน่ใจได้ว่าหนังจะทำเงินแน่ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกทดสอบและพิสูจน์แล้วว่าเป็นสิ่งที่คนดูชอบ จะเรียกว่าน้ำเน่าก็ได้ เพราะมันคือเอาของเก่ามาทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และของเก่าที่ว่าเป็นของที่ฮิตเข้าขั้นคลาสสิกและไร้กาลเวลา เช่น หนังและซีรีส์ที่ดังเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เมื่อถูกนำมาทำใหม่ ก็ได้ทั้งคนที่โตมากับต้นฉบับ และได้กลุ่มคนดูใหม่ๆ ที่เคยแต่ได้ยิน แต่โตไม่ทันดู ก็จะได้มาดูเวอร์ชันของปัจจุบัน ที่ถูกผลิตให้ถูกจริตคนยุคนี้ เข้ากับบริบทของคนยุคใหม่นี้ด้วย ด้วยวิธีคิดลักษณะนี้ คนในแต่ละยุคสมัยก็จะมี ‘หนังอมตะในเวอร์ชันของเรา’ เอาไว้ดู

 

08:54

กรณีศึกษา Batman V Superman

นี่คือความดีของรีเควล นั่นคือ ถ้าวันนี้มีการนำ Superman มาทำใหม่ ชายวัย 40 ปีในวันนี้ก็จะพร้อมกลับไปเป็นเด็กชายอีกครั้ง เด็กอายุสิบห้าสิบหกในวันนี้ที่โตมากับเบนเทนหรือโปเกมอน ที่ได้แต่เคยได้ยินว่าซูเปอร์แมนคืออะไร แต่ไม่เคยมีแรงจูงใจให้ดู ก็จะได้เป็นลูกค้าใหม่ของซูเปอร์แมนในวันนี้

การรีเควลยังเป็นการสร้างจักรวาลใหม่ เปลี่ยนประเด็น เปลี่ยนท่าที จัดกระบวนจัดทัพตัวละครใหม่ เช่น การเอาแบทแมนไปพบซูเปอร์แมนเพื่อนำไปสู่ Justice League ในจักรวาลของ DC และยังเป็นการเตรียมปูทางแตกแขนงไปสู่หนังใหญ่ของ Wonder Woman รวมถึง The Flash และ Aquaman เป็นต้น การตลาดก็ทำงานง่ายเลย

 

12:49

กรณีศึกษา Ghostbusters และ Jurassic Park

Ghostbusters (1984) หนังใช้วิทยาศาสตร์จับผีที่พอมาดูในวันนี้ ลิเกมาก แต่นี่เป็นหนังทำเงินมหาศาลทั่วโลกที่หายไปจากโลกฮอลลีวูดราว 30 ปี ความยากของการกลับมาในวันนี้คือ จะทำยังไงให้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง และผู้สร้างก็สร้างใหม่ขึ้นมาเป็น Ghostbusters (2016) ที่เป็นหญิงล้วน ตีความใหม่ เปิดทิศทางการตลาดใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ฉลาด

Jurassic World (2015) จูราสสิกปาร์กภาคล่าสุดนั้น เป็นการเอาจูราสสิกปาร์กของสปีลเบิร์กมาทำใหม่ ซึ่งจะเปรียบไปก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยเจ้าดังที่เถ้าแก่ใจดีอนุญาตให้ลูกน้องไปเปิดสาขา โดยใช้ชื่อเถ้าแก่ แต่ไปเปิดไกลๆ หน่อย เส้นเรื่องเปลี่ยนใหม่ ไดโนเสาร์เปลี่ยนใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องบอกด้วยว่าภาคที่แล้วจบไว้ยังไง เกิดอะไรขึ้น เพราะคนดูในวันนี้ต้องการดูแค่ไดโนเสาร์ตัวใหม่ๆ ที่ดูเหมือนจริงยิ่งกว่าเดิม ฉากไล่ล่าที่สนุกตื่นเต้นกว่าเดิม

 

16:58

กรณีศึกษา Teenage Mutant Ninja Turtles และ Suicide Squad

Teenage Mutant Ninja Turtles: Out of the Shadows (2016) นินจาเต่านั้น แม้อาจจะประสบความสำเร็จในแง่รายได้ แต่ในแง่เสียงวิจารณ์ ก็มีแต่คนบอกว่า ไม่มีอะไรใหม่ แค่นินจาเต่ากล้ามโตขึ้น และดูสมจริงมากขึ้นเท่านั้นเอง ถามว่านี่เรียกว่าประสบความสำเร็จไหม ต้องไปดูรายได้เขาเสียก่อน เสียงวิจารณ์แง่ลบเยอะมากในความแป้ก แต่รายได้กลับเป็นสองเท่าของหนังที่คนชื่นชมกัน

 

18:41

กรณีศึกษา Star Wars

นี่คือหนังที่อยู่กับฮอลลีวูดมา 40 กว่าปี นอกจากหนังแล้วยังเป็นการ์ตูน เป็นนิยายภาพ เป็นเกมกด เป็นสินค้าต่างๆ จักรวาลของมันเรียกว่า ทำอะไรก็ได้ ตัวละครที่หลุดออกไปจากหนังหลักยังไปเอามาสร้างหนังได้ เหมือน Rogue One: A Star Wars Story (2016) ที่กำลังจะเข้า ก็จะเดินเรื่องของมันไป เพื่ออนาคตจะกลับไปเชื่อมต่อกับตัวหนังหลัก แฟนระดับเนิร์ดก็จะสนุกมากกับการปะติดปะต่อภาพรวมทั้งหมด

 

21:03

ความยากของการทำ Requel

ถามว่าความยากอยู่ตรงไหน อยู่ทุกที่เลย เช่น สตาร์วอส์สภาคล่าสุด The Force Awakens (2015) ความยากของมันคือ การต้องค่อยๆ กำจัดตัวละครเก่าๆ ที่เรารักไปทีละคน ผมว่าเป็นเพราะ J.J.Abrams ก็ต้องการสร้างตัวละครของเขาเอง เป็นความทะเยอทะยานก็จริง แต่การตีลูกครั้งนี้ของเขามันลงหลุม นั่นคือการที่ให้ (spoiler!) ตาย แต่ก่อนหนังจะออก เราจะแน่ใจได้ยังไง ถ้ามันไม่เวิร์กล่ะ โดนด่ายับเลยนะ เพราะมันเป็นคาแรกเตอร์ที่สำคัญมากของสตาร์วอร์ส แต่มันก็สำเร็จ นั่นล่ะ มันยากไปหมด เอาตัวละครออกดีไหม เปลี่ยนเพศดีไหม เปลี่ยนสีผิวดีไหม สร้างตัวละครใหม่เข้าไปดีไหม ยากไปหมด อยู่ที่ทั้งกึ๋นและดวงของผู้กำกับแต่ละคน

 

23:01

มองต่างมุม : นี่สะท้อนถึงความตันหรือเปล่า

แต่นี่มันสะท้อนว่ามาถึงทางตันแล้วหรือเปล่า ทำไมฮอลลีวูดเอาแต่หากินกับของเก่าๆ ไม่มีไอเดียใหม่ๆ มานำเสนอให้คนดูแล้วหรือ มันถึงจุดจบแล้วหรือ

ที่จริงจะมองอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าฮอลลีวูดจะไม่มีอะไรใหม่เลย เพียงแต่สัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของหนังใหม่เอี่ยมมันลดน้อยลง แต่ถ้าจะมองอีกที คลังของฮอลลีวูดมันกว้างใหญ่ไพศาลมาก การหยิบของเก่ามาใช้ อาจเป็นการแตกหน่อใหม่ แต่ประเด็นน่าจะอยู่ที่การเอามาทำใหม่จะทำให้เสียของหรือเปล่าต่างหาก อย่าง Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008) ที่ใครได้ไปดูก็ส่ายหัวทุกคน อันเนี้ย เสียของ ไม่เวิร์ก แต่รายได้เยอะมาก เพราะยังมีคนรักอินเดียนาโจนส์ทั่วโลก

 

25:55

วิถีการใช้ของเก่าในบ้านเรา

ย้อนกลับมามองวงการหนังและละครไทย เท่าที่เห็น พี่มากพระโขนง เข้าข่ายรีเควล เพราะมีการคิดใหม่ทำใหม่บนของเก่าดั้งเดิม นึกออกเรื่องเดียวเลย หนังไทยละครไทยมีแบบนี้น้อยมาก อย่าง บุญชู ก็เป็นซีเควล เพราะการทำภาคใหม่ๆ ก็ยังเป็นการเคารพต้นฉบับ เป็นความตั้งใจที่จะพยายามรักษาแนวทางเก่าๆ เอาไว้ แต่ถ้ามีใครลุกขึ้นประกาศสร้าง บุญชู ใหม่ แต่ให้เป็นผู้หญิง หรือเป็นเกย์ อาจจะมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วให้เจอคัลเจอร์ช็อกแบบใหม่ๆ อะไรแบบนี้มันก็น่าดูนะ เราก็คิดกันได้นะ แต่จะมีคนกล้าสร้างหรือเปล่า ทั้ง 2499 อันธพาลครองเมือง หรือละครอย่าง คู่กรรม หรือ บ้านทรายทอง จะเอามาทำใหม่ก็น่าสนใจ ในแง่คนทำหนัง ก็น่าจะมีคนคิดได้และอยากทำเยอะ แต่มันมักจะไปจบตรงเรื่องเงิน เราอยากเห็นนะ เพราะมันจะเป็นความสร้างสรรค์จากการตีความแบบใหม่ๆ จะได้มีอะไรใหม่ๆ ให้ดูกัน

Tags: