ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” เป็นถ้อยความสั้นๆ ที่ ‘ทรงพลัง’ และกลายเป็นจุดศูนย์กลางท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองยุคใหม่
อันที่จริงหากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ความผิดฐาน ‘ดูหมิ่น’ พระมหากษัตริย์นั้นไม่ได้แน่นอน ทว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามแต่สถานะของพระมหากษัตริย์ในเวลานั้นๆ ทั้งในห้วงเวลาที่ทรงเป็น ‘สมมติเทพ’ ในเวลาที่พาสยามเข้าสู่สมัยใหม่ หรือ ณ เวลาที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ความรุนแรงของโทษล้วนมีพลวัตขึ้นลงเสมอ
กล่าวสำหรับปัจจุบัน สถานะของมาตรา 112 ดูจะ ‘รุนแรง’ ที่สุด เป็นผลพวงโดยตรงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งยังส่งผ่านมาถึงวันนี้ และเป็นจุดสูงสุดในแง่ของการฟ้องร้อง จำนวนคดี และอัตราโทษที่รุนแรง ไปจนถึงการผูกไว้กับเรื่องความมั่นคง ส่งให้คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้พุ่งเกิน 200 คดี และยังไม่มีจุดสิ้นสุด ยังไม่มีตอนจบง่ายๆ
b-holder ชวนย้อนกลับไปมองอดีตของมาตรา 112 รวมถึงข้อถกเถียงที่มีต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้ และหาคำตอบว่าเพราะเหตุใด มาตรา 112 จึงเป็นศูนย์กลางของความยุ่งเหยิงในการเมืองไทยสมัยใหม่