การนัดพบ ‘อ้วน – ภูมิธรรม เวชยชัย’ ในเดือนพฤษภาคม ทำให้เขาเข้าใจว่าเราคงจะไปชวนเขาคุยเรื่องครบรอบสี่ปีของการรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 เราบอกเขาว่า – เปล่าเลย ที่เราสนใจมากกว่า คือความผกผันในชะตาชีวิตจากการเมืองแกว่งไกว ที่เขาพาตลอดชีวิตของตัวเองไปเสี่ยงในหลายๆ สถานการณ์ ซึ่งหากมองย้อนแค่ 4 ปี ก็คงสั้นเกินไป

เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภูมิธรรมเคยเข้าป่าหนีตายจากเผด็จการทหารสมัยเดือนตุลาฯ 2519 แต่เขาก็พบว่า พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ช่วยตอบโจทย์อุดมการณ์ที่เขาอยากเห็น หลังออกจากป่าจึงมาลองทำงานเอ็นจีโอจนสามารถสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่ทำงานกับชุมชนทั่วประเทศ

แต่ความคิดความฝันในยุคสายลมแสงแดด ทั้งการเข้าป่า งานอาสาสมัคร และงานเอ็นจีโอ ทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เส้นทางไหนกันแน่ที่จะเปลี่ยนสังคมได้ ขณะที่หลายคนก็คงถามเขากลับเช่นกันว่า ทำไมเขาจึงตัดสินใจเดินออกจากงาน ‘เพื่อสังคม’ แล้วเข้าสู่วงการ ‘การเมือง’ แถมยังไปร่วมงานในพรรคการเมืองใหญ่ ที่บ้างมองว่าสร้างคุณูปการ บ้างมองว่าเป็นที่มาของวิกฤตการเมืองไทย

ภูมิธรรม เวชยชัย บอกว่าเขาอยากเห็นสังคมที่เป็นธรรม สังคมที่กระจายโอกาสให้ทุกคน และสังคมที่สร้างความเท่าเทียม นั่นจึงทำให้เขาร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ปลุกปั้นพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ที่เปลี่ยนชื่อไปตามพิษการยุบพรรค

3 ปีกว่าที่เข้าป่า 13 ปีที่ทำงานเอ็นจีโอ 20 กว่าปีของงานการเมือง ปัจจุบัน ภูมิธรรมในวัย 65 ดำรงตำแหน่งรักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เขาบอกว่า ความคิดความเชื่อในสังคมนั้นเป็นพลวัต ความหวังและความล้มเหลวก็คงจะไม่ต่างกัน

คุณภูมิธรรมเริ่มเข้าเรียนปริญญาตรีตอนปี 2514 จากนั้นมาเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้อย่างไร

เราโตมาในยุคที่นักศึกษาเผชิญกับ ภัยขาว ภัยเหลือง ภัยเขียว เป็นยุคสงครามเวียดนาม คอมมิวนิสต์เป็นอันดับหนึ่งของสถานการณ์รุนแรง สังคมถามหาความหมายกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การศึกษาในมหาวิทยาลัยให้อะไรกับเราหรือไม่ เป็นยุคที่นักศึกษาจะหาแก่นสารของชีวิต

ผมอยู่ในขบวนนักศึกษาและถูกอุปโลกน์เป็นผู้นำนิสิตนักศึกษา ก่อตั้งพรรคจุฬาประชาชน เป็นกลุ่มอิสระ ผมเป็นผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่ก็มีพินิจ จารุสมบัติ เหวง โตจิราการ มาทำกิจกรรมนักศึกษาด้วยกัน เราอยู่ในขบวนการนักศึกษา จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เราอยู่ในกระแสคลื่นประชาธิปไตยที่มันทะลักหลังถูกกดจากอำนาจเผด็จการต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องมาในสมัยถนอม- ประภาส (จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร) ทำให้ระบบความคิดเราค่อนข้างมองปัจจัยปัญหารอบตัวเรื่องสังคม

ผมอยู่กลุ่มโซตัสใหม่ เป็นกลุ่มต่อต้านระบบโซตัสในจุฬาฯ คล้ายๆ เนติวิทย์ ในตอนนี้ล่ะ (หัวเราะ) พวกเราต่อต้านระบบที่ไร้เหตุผล เช่น การบังคับเชียร์ อะไรห้ามทำอย่างไม่มีเหตุผล เราทำหมด จะเรียกว่ามีวิญญาณขบถก็ไม่ใช่ แต่อะไรไม่มีเหตุมีผลเราจะต่อต้าน

พอยุค 14 ตุลา มันเป็นยุคที่ขบวนการนักศึกษาเฟื่องฟู ทะลักมาจากการถูกจำกัดความรับรู้ เราพยายามจะหาเหตุ หาผลหาคำตอบ เราลงไปในชนบท สัมผัสกระบวนการเคลื่อนไหวในชนบท ชาวนาชาวไร่ กรรมกรที่เขาออกมาเรียกร้องบอกกล่าวถึงความทุกข์ยากของเขา ไปเรียนรู้ชีวิตจากความเป็นจริง แล้วเราก็ถูกตัดตอนด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา

ช่วงนั้นผมเป็นนักศึกษาปริญญาโท พอเกิดเหตุการณ์ เราก็ไปตามสถานการณ์ทางการเมืองที่บีบคั้นนักศึกษา ก็ไปอยู่ในป่า 3-4 ปี ได้อีกรสชาติหนึ่งของชีวิต ไปรับรู้วิธีการอีกแบบ แม้เราจะเข้าไปในป่าด้วยเงื่อนไขของสถานการณ์ที่บีบบังคับ แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่า การจะต่อสู้เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ความเป็นธรรม และเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น ถ้ายังใช้การตอบโต้ด้วยวิธีการแบบเดียวกันหรือใช้ความรุนแรง เราพบว่ามันก็เป็นปัญหาอยู่มากทีเดียว

ทำไมตอนนั้นถึงตัดสินใจเข้าป่า

เราเข้าป่าไปด้วยความจำเป็นของสถานการณ์ที่บังคับ เราถูกรัฐกระทำ และเพื่อนเราเผชิญกับความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เด็กที่ถูกแขวนคอก็เป็นรุ่นน้องคณะเรา มันเป็นความกดดัน เราอาจไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งพอในตอนนั้น แค่อยากเห็นการกระจายความยุติธรรม อยากให้บ้านเมืองมันดีขึ้น ทำไมรัฐต้องตอบแทนเราด้วยความรุนแรงล้อมเมืองฆ่า นักศึกษามีแค่ความคิดและความตั้งใจ เราเป็นหนึ่งในคนที่เขาประกาศจับด้วย มันทำให้เรารู้สึกว่าต้องมีวิธีป้องกันตัวเองได้ดีกว่านี้ เมื่อมีคนเสนอทางออก เราก็คิดว่าน่าจะเป็นทางเลือก เราไปเรียนรู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยระยะหนึ่ง แต่แล้วก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นคำตอบของสังคม

อยู่ในป่าสามปีได้เรียนรู้อะไรเยอะ สำหรับตัวเองก็คิดว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้ง่ายอย่างที่ใจเราต้องการหรือปรารถนา ไม่ใช่ทางนี้ มันมีเรื่องที่ต้องคิดว่าอะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม

เวลาเราเป็นนักศึกษา เยาวชน เรามองปัญหาแล้วเรารู้สึกว่าควรแก้ไขมันเสีย ไม่เห็นอะไรยาก ถ้ามีความจริงใจมุ่งมั่นตั้งใจก็ต้องแก้ได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นเรื่องโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างกลุ่มผลประโยชน์ โครงสร้างของชนชั้นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ปัญหามันสลับซับซ้อนมากกว่าที่เราเห็นปรากฏการณ์ เราคิดว่าไปแล้วจะเอาชัยชนะกลับมา พอเราไปใช้ชีวิตอย่างนั้น มันไม่ง่าย

ยกตัวอย่าง เราคุยกันก่อนเข้าป่า บอกว่าชีวิตเราไม่ยาก แค่ข้าวไข่เจียว ไข่ดาว ปาท่องโก๋สักตัวเราก็อยู่ได้แล้ว เราคิดอย่างคนเมือง พอเราเข้าไปถึงป่า เห็นคนแขวนเปลอยู่สองสามคนก็คิดว่า เอ๊ะ จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี่มันเป็นอย่างนี้เหรอ แล้วขอโทษ… ผมเป็นคนเกลียดหนูมาก ขยะแขยง ภาพที่เราเห็นที่นั่นคือ เขาจับหนูลงกองไฟแล้วมาตำให้เรากิน โอ้ กินไม่ได้ จะใช้ชีวิตยังไง ถ้าต้องปฏิวัติแล้วต้องกินหนู กูจะปฏิวัติได้ไหม นอนคิดเป็นสิบวันว่าจะไหวไหม

ชีวิตสามปีในป่าเป็นอย่างไร

ก็ต้องอยู่จนได้ สุดท้ายก็กินหนู เพราะชีวิตมันขาด ที่เขากินเป็นหนูนาไม่ใช่หนูเมืองที่เราเห็น สิบวันแรกเขาก็ดูแลผมดี เอาปลากระป๋องมาเปิดให้ น่าจะหายาก เราก็นั่งคิดว่า เอ๊ะ เราจะปฏิวัติกับเขาหลายๆ ปีแล้วกินอย่างนี้คงไม่ได้

แล้วมันมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่คนเข้าป่าเขามานั่งเล่าความทุกข์ของกันและกัน ความทุกข์จากสังคมที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้เราเกิดแรงบันดาลใจไปขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม สำหรับชาวไร่ชาวนากรรมกรที่ชีวิตเขาทุกข์ยาก กว่าเขาจะมานี่ น้องสาวเขาถูกข่มขืนจากผู้มีอำนาจในเขตชนบท หรือเขาต้องหาเลี้ยงครอบครัว ไม่มีอาหารเพียงพอ พอเขาถามทุกข์ของเรา เราเป็นนักศึกษาคนเมือง เรียนมหาวิทยาลัยอันดับสูงของประเทศ ใช้ชีวิตแบบกาแฟปาท่องโก๋ แต่ที่นั่น จะหาไข่ซักใบยังไม่ได้ เราก็ถามตัวเองว่า เราจะเป็นนักปฏิวัติได้อย่างไร

แต่ไม่มีทางเลือก กลับไปก็ไม่ได้ จะโดนจับ เพื่อนอีกสามสี่พันยังติดคุกอยู่ มันก็ต้องอยู่ จนตอนหลัง อะไรที่มีสี่ขา ถ้าไม่ใช่โต๊ะก็กินหมด อะไรที่บินได้ถ้าไม่ใช่เครื่องบินก็ไม่เหลือ

การเข้าป่าทำให้อุดมการณ์เปลี่ยนไหม

ไม่เปลี่ยน สิ่งที่เราคิดคือ สังคมไม่ยุติธรรม มีเรื่องที่เราต้องแก้ไข มีเรื่องต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อนเราหลายคนถูกฆ่าตาย ถูกทำร้าย ต้องคืนความเป็นธรรมให้เขา นั่นเป็นแรงขับเคลื่อนเรา กฎกติกาที่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลกันมันไม่ถูกต้อง เราไม่ได้มั่นใจว่าสิ่งที่เราคิดเราทำมันถูกต้องหมด แต่มันต้องมีกระบวนการที่เป็นธรรมมาจัดการ

พอเราปรับตัวได้ เราก็อยู่ด้วยความมุ่งมั่น ถ้าถามว่าชีวิตหนึ่งของผม ช่วงไหนลำบากที่สุด ผมก็ต้องตอบว่าผมไปอยู่ป่านี่ลำบากที่สุดแล้วในแง่กายภาพ ใช้ชีวิตในป่าดงดิบเขตอีสาน จนกระทั่งถึงพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว จีน แล้วย้อนไปทางเหนือ กลับมากรุงเทพฯ มันสร้างความแข็งแกร่งให้เราเอาตัวรอดในสภาพหลายๆ แบบ เราไม่ได้คิดในเรื่องลัทธิอะไร คิดเพียงอยากเห็นความยุติธรรม เพียงแต่วิธีการให้ได้มา เป็นสิ่งที่ต้องนั่งทบทวนและคุยกัน

คนเดือนตุลาที่เข้าป่า จนถึงวันนี้ ก็มีจุดยืนทางการเมืองหลากหลายขั้ว

ช่วงที่มีชีวิตอยู่เป็นนักศึกษา เรามีโจทย์ที่ไม่ซับซ้อนมาก เราอยากเห็นชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้น กรรมกรมีค่าแรงที่ดีขึ้น นักศึกษาจบมาควรมีงานทำ มีโอกาสเข้าสู่ทรัพยากรในสังคมอย่างยุติธรรมเสมอภาคกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกใคร ชาวนาหรือคหบดี แต่ทำไมการคิดแบบนี้ถึงต้องทำลายล้างกันขนาดนั้น การปกครองไม่ว่าระบบใดก็มีจุดดีจุดอ่อนทั้งนั้น

ผมไม่เคยตำหนิความต้องการหรือความปรารถนาของคนที่อยู่ในขบวนฟากฝ่ายที่อยากเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม แต่ระบบความคิด ความเชื่อ มันแตกต่างและมีดีกรีลดหลั่นกันไป สำหรับสังคมไทย ประสบการณ์และชีวิตที่เติบโตขึ้นก็สอนให้เราต้องคิดและทำความเข้าใจให้มากขึ้น ตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องอารมณ์ความรู้สึกว่า ยอมรับหรือไม่ยอมรับความยุติธรรม มันเป็นเรื่องว่า ชีวิตในสังคมที่เป็นจริงแบบที่ไม่ใช่นักศึกษาที่ไม่เคยพันธะใด คุณจะทำอย่างไรโดยคิดจากความเป็นจริง ความเชื่อในระบบการเมืองการปกครองแบบไหนที่จะเอื้อให้คนทั้งหมดเข้าหาทรัพยากรได้อย่างยุติธรรม โจทย์มันซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม

เมื่อโจทย์มันซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม ก็ไม่แปลกที่ขบวนใหญ่ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือคนเรียกร้องหาความยุติธรรม พอกลับมาถึงวันที่เขาใช้ชีวิตตามปกติ มีผลประโยชน์ทางวิชาชีพ มีครอบครัว แล้วจะทำให้มองภาพเปลี่ยนไป มองการดำรงอยู่ในสังคม มองกฎกติกาของสังคมที่เอื้อต่อความคิดและความเชื่อของตัวเองเปลี่ยนไป

ฉะนั้น ถ้าเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างมีพลวัต ผมคิดว่าเราเข้าใจได้ว่า คนเดือนตุลาถึงแม้จะมีที่มาเหมือนกัน คือมาจากทั่วทุกสารทิศเข้าไปสู่ถนนที่จะแสวงหาความยุติธรรม ถึงจุดหนึ่ง เมื่อออกมา ถนนนั้นก็แตกเป็นหลายสายตามความเชื่อตามวิชาชีพ

จนถึงวันนี้ก็จะเห็นว่า คนเดือนตุลาก็แยกย้ายไปยืนในจุดที่เป็นความเชื่อของตน ผลประโยชน์ของตน สถานะของตน เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่คุณอยากเลือกจุดที่ยืนตรงไหน และเชื่อว่าในชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมอะไรคือเป้าหมายที่เหมาะกับตัวเองและสังคมโดยรวม

ผมอยู่ในป่าสามปีกว่าก็ออกมา มันมีเรื่องธรรมชาติด้วย ผมกับแฟนผมแยกย้ายกัน แฟนผมเข้าป่าทางใต้ พอดีเขาป่วยหนักต้องออกมารักษาตัว ผมขออนุญาตลงมา พอเจอกันก็รู้สึกว่าชีวิตลำบาก พอรักษาเขาได้แล้วเราก็คิดว่ามันอาจไม่ใช่เวทีหรือที่ของเรา เราก็เลือกที่เราจะอยู่ที่นี่แล้วใช้ชีวิตปกติ หาสถานภาพและบทบาทที่เหมาะสมกับที่เรายังคิดยังเชื่ออยู่

คุณภูมิธรรมออกจากป่าก่อนคำสั่ง 66/23 (คำสั่งในยุคนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เปลี่ยนท่าทีจากทหารสายแข็งมาสู่สายกลาง และนิรโทษกรรมให้กับนักเคลื่อนไหว)

ออกมาก่อนนิดหนึ่ง ผมลงมาเจอภรรยา (รศ.อภิญญา เวชยชัย) 14 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นวาเลนไทน์ที่กระเซอะกระเซิงมาก เราพบว่ามันยังมีอะไรหลายอย่างที่เป็นคำถามของเราในการคิดกับสังคม โจทย์มันก็สลับซับซ้อนในช่วงนั้น โลกสังคมนิยมก็ยังถกเถียงกันด้วย อินโดจีนมันแตกด้วย เรามุ่งมั่น แต่อยู่ในวัยที่สังคมสับสน ก็คิดว่า สิ่งที่เราคิดเราเชื่อมันอาจไม่ต้องเกี่ยวพันกับเรื่องราวของโลกขนาดนั้นมั้ง ลงมาแล้วก็อยู่เงียบๆ กระทั่งมีคำสั่ง 66/23 พอดี สังคมมันคลาย

พอออกมาแล้วจึงมาเริ่มต้นงานอาสาสมัคร?

กลุ่มอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โคทม อารียา และคุณหญิงอัมพร มีศุข ทำอาสาสมัครที่ทำร่วมกับ Peace Corps สมัยนั้นขบวนเอ็นจีโอยังไม่เกิด เขาคิดว่าอยากทำเรื่องนี้กัน แต่ก็มีหน่อเนื้อเบื้องต้นจากโครงการบัณฑิตอาสาสมัครของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่อันนี้มันไปอีกขั้นหนึ่งที่จะไปทำงานในพื้นที่ ก็มี อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้อำนวยการ ช่วยหาทุน ผมก็เป็นคนจัดการ ทำให้เป็นจริง เราเข้ามาสานฝันของคนที่นั่งคิดว่าเอ็นจีโอควรจะเป็นแบบนี้นะ

เราคุยกันว่าจะทำอะไรบ้าง ก็ทำระบบอาสาสมัคร เป็นแนวคิดใหม่ นักศึกษาเรียนจบมาก็มาอยู่กับเรา มีเงินเดือน แล้วเราเจรจากับองค์กรประชาชนในพื้นที่เพื่อส่งอาสาสมัครไป แล้วองค์กรจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่ง เราจ่ายครึ่งหนึ่ง ตอนนั้นเงินเดือนก็ไม่เยอะ ราวสองพันกว่าบาท แล้วผมช่วยเทรน เรียกมาสัมมนาอบรม ถ้าอาสาสมัครโอเค เขาก็จะเติบโตในวงการเอ็นจีโอ ทำเอ็นจีโอให้แข็งแรง อาสาสมัครรุ่นแรกก็คือนักศึกษาที่ทำกิจกรรมช่วงที่พวกเราเข้าป่า ที่ต่างก็เคว้งคว้างๆ เรียนจบมาก็ยังคิดเรื่องสังคม เราคิดสอดรับกับเขา แล้วสร้างกิจกรรม

ปีหนึ่งมีอาสาสมัครหลายรุ่น ปีแรกมีสี่รุ่น

โมเดลอาสาสมัครถือว่าประสบความสำเร็จไหม

มันตอบโจทย์ ความคิดผมกับอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ คือ อาสาสมัครไม่ต้องจบปริญญาตรี ไม่ได้เอาใบปริญญาบัตรมาวัดความสามารถ ผมถือว่าคนที่มีทัศนคติทางสังคมที่ดี มีความตั้งใจ ก็ทำงานได้ และมันรองรับพอดีกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มีทัศนะความเข้าใจทางสังคมเยอะและไม่ได้จบปริญญาตรี เพราะเข้าป่า

คุณภูมิธรรมทำงานเอ็นจีโออยู่นานแค่ไหน ทำไมตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางชีวิต

ผมทำงานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมอยู่ประมาณสิบปี จนถึงเกือบ 2535 รวมแล้วประมาณ 14-15 รุ่น ระหว่างทำ มันเกิดจากอาสาสมัครไปทำงานในองค์กรต่างๆ เกิดเป็นเครือข่ายขององค์กร จนเกิดคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.)

แต่ว่าผมมีคำถามในการทำงาน ซึ่งไม่ได้วัดถูกหรือผิด เพราะมันตอบไม่ได้ ผมคิดว่าตอนที่งานเอ็นจีโอบูมขึ้นมา แนวความคิดแบบชูมัคเกอร์ (E. F. Schumacher) แพร่สะบัด ‘small is beautiful’ อะไรก็ได้ที่ทำจากจุดเล็กๆ ก็มีความหมาย และคุณก็มีความสุข การที่คุณไปทำให้คนคนหนึ่ง หมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่ง ชุมชนชุมชนหนึ่งเติบโตงดงาม สร้างเป็นส่วนประกอบที่ดีของสังคม

แต่ผมอาจต่างจากคนอื่น ไม่ได้เริ่มจากการเป็นนักมนุษยธรรมล้วนๆ เราผ่านกระบวนการต่อสู้จนถึงขั้นอยู่ในขบวนการใช้อาวุธมาแล้ว มาถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่า ถ้าจะแก้จริงๆ มันต้องใช้กำลังอีกมากมายมหาศาลขนาดไหนสิ่งนี้ถึงจะเกิด มันน่าจะต้องเกี่ยวข้องกับรัฐ เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ ส่งผลสะเทือนต่อสังคมทั้งสังคม จึงเห็นว่าเอ็นจีโอต้องยกระดับการทำงานถึงขั้นการขยับทางนโยบาย และต้องทำงานเผยแพร่เพื่อสร้างมิติทางความเข้าใจปัญหาสังคมให้ทั้งหมดรับรู้

ขณะนั้นผมเป็นเลขา กป.อพช. ได้พูดคุยแล้วคิดว่า ผู้ใหญ่อย่างพี่เปี๊ยก บำรุง (บำรุง บุญปัญญา อดีตแกนนำกลุ่มพัฒนาชนบท) พี่เดช พุ่มคชา (เดช พุ่มคชา ที่ปรึกษา กป.อพช.) ยังคง ‘คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน’ อยู่ ผมรู้สึกว่าผมอยากทำอะไรมากกว่านั้น ตรงนี้ไม่ตอบโจทย์

ครั้งสุดท้ายผมเสนอในที่ประชุมว่ามีความท้าทายที่เอ็นจีโอต้องทำ ถ้าไม่ผลักดันด้านนโยบายและกระจายการรับรู้โดยกว้าง พลังการเปลี่ยนแปลงไม่เกิด ถ้าเป็นอย่างนี้-ผมก็เคารพ ถ้าคิดว่างดงามแล้ว-ผมก็ออกมาหาทางเลือกใหม่ ก็ต้องถือว่าผมเป็นนักแสวงหา ดิ้นรนแสวงหาความพอดีกับความคิดความเชื่อ ถ้าคนส่วนใหญ่มีความสุขอยู่ตรงนั้นก็เป็นสิ่งดีกับสังคม สิบกว่าปีผมมีบทบาท แต่ผมไม่ได้เป็นเจ้าของ เมื่อมันไม่ตอบโจทย์ของผมเอง ผมก็ออก แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร

แล้วคุณมาสู่เส้นทางการเมืองได้อย่างไร

เมื่อลาออกมา ผมก็คุยกับเพื่อน ทำธุรกิจเพื่อประทังชีวิต ช่วยจัดระบบบริษัทร่วมทุนของเพื่อนผมกับญี่ปุ่น แล้วก็ดูว่าแนวคิดของเรามีช่องให้เราทำอะไรได้แค่ไหน

ก่อนเกิดเหตุกาณ์พฤษภาฯ ช่วงปี 2533-34 ช่วงที่ยังทำงานเอ็นจีโอ ผมกับเพื่อนเคยทำพรรคการเมือง ทำพรรคด้วยความรู้สึกของคนเดือนตุลา รู้สึกว่าการเมืองเป็นจุดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราจดทะเบียนชื่อพรรคประชาธรรม คนมาร่วมก็เป็นอดีตนักเคลื่อนไหวที่ผ่านเดือนตุลามา ลงขันกันได้เงินมาเป็นหลักล้าน เป็นพรรคในอุดมคติมากเลย

แต่พรรคการเมืองในระบบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเกิดได้ง่ายๆ มีหนังสือต้องแจ้งสมาชิกเพื่อจัดประชุม พิมพ์จดหมาย ค่าแสตมป์ นั่นนี่ เงินที่ระดมกันมาเป็นล้าน ทำพรรคได้เกือบปีก็หมด ยังไม่ทันได้ทำอะไรมาก เราจึงเห็นว่ามันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด พรรคประชาธรรมจึงปิดตัวหลังจากเปิดมาปีกว่าๆ เพราะเงินหมด เราไม่ได้ขอทุนใคร ไม่ได้หาเงินทางอื่น ก็เป็นช่วงที่คุณทักษิณ ชินวัตร ชวนไปคุย มีสี่ห้าคน บอกอยากทำพรรคการเมือง คุยกันประมาณปี 2536-37 ก่อนเขาเป็น รัฐมนตรีฯ ต่างประเทศ เขาเข้าไปพรรคพลังธรรม ตอนนั้นผมก็อายุใกล้ๆ คุณธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่) นี่แหละ เขามาชวนคุยเรื่องทำงานการเมือง

ผมก็มาเริ่มต้นทำพรรคกับคุณทักษิณ หลอมความฝันกัน แล้วเอาเงินคุณทักษิณมาทำ

คุณทักษิณรู้จักคุณภูมิธรรมมาก่อน หรือจากพรรคประชาธรรม

ตอน 14 ตุลา และ 6 ตุลา คุณทักษิณเป็นตำรวจติดตามรัฐมนตรีปรีดา พัฒนาถาบุตร (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช) พวกผมเป็นนักศึกษาอยู่ศูนย์นิสิตฯ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เป็นเลขาฯ ศูนย์ เวลายื่นประท้วงก็ต้องไปพบรัฐมนตรีปรีดา

คุณทักษิณอยู่หน้าห้องก็เห็นพวกเรา พออยากทำงานการเมือง ก็เห็นว่าถ้าจะให้สำเร็จก็ต้องมีนักเคลื่อนไหว ท่านมองว่าคนพวกนี้มีอุดมการณ์ มีแรงขับเคลื่อนที่มีพลัง ท่านได้คุยกับเรา เราก็โอเค เรารู้สึกว่าถ้าได้คนมีสตางค์แล้วอยากทำก็น่าจะดี คุยกันนานอยู่หลายเดือน ไม่ใช่จู่ๆ คุยแล้วตั้งพรรคเลย เราคุยกันนาน คิดอะไร คิดยังไงกับสังคม คิดยังไงกับการศึกษา คิดยังไงกับคนรุ่นใหม่ คิดยังไงกับประเทศ ฯลฯ แล้วถ้าอยากจะมีพรรคการเมืองควรเป็นพรรคแบบไหน จะทำงานการเมืองกันอย่างไร

เรามีประสบการณ์เข้าป่าก็แล้ว เคลื่อนไหวนักศึกษาก็แล้ว เป็นเอ็นจีโอก็แล้ว ทำพรรคการเมืองก็แล้ว มันไม่พอดี แต่เรายังอยากทำ แล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราเติบโตมาถึงตอนนั้นมันจะสูญเปล่า แต่เรายังไม่หมดความมุ่งมั่น คุณทักษิณก็บอกว่า เขาอยากทำ วันนี้เขารวยแล้ว เรื่องนี้อยู่ในใจตลอด นั่งดูพวกเรามานาน

การคุยกันต่อเนื่องหลายเดือน วันละ 3-6 ชั่วโมง มีผม คุณเกรียงกมล (เลาหไพโรจน์) คุณอำนวยชัย (ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์) คุณวริษ (มงคลศรี) หลังจากคุยตรงนั้นก็ขยายวงดึงเพื่อนมาคุยต่อเนื่องจนกระทั่งสุกงอม ท่านบอกว่า เรื่องอย่างนี้ต้องคิดใหม่ทำใหม่ คิดแบบเดิมมันไปไม่รอด คุณทักษิณก็แชร์ประสบการณ์ เขารอบรู้พอสมควร พอคุยเสร็จเรารู้สึกว่า ความฝันที่เราอยากทำอะไรหลายอย่างนั้น นี่น่าจะเป็นองค์ประกอบที่จะเพิ่มมาได้พอดี เลยคิดว่า ลองมาทำงานการเมือง ตอนนั้นยังไม่ได้ตั้งพรรค และคุณทักษิณอยู่ในพรรคพลังธรรม ผมก็บอกคุณทักษิณซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมว่า สิ่งที่คุณทักษิณอยากเปลี่ยนแปลงนั้นคงยาก เพราะโครงสร้างที่พรรคเขาวางไว้แข็งมาก เมื่อไปดูการเลือกหัวหน้าพรรค การโหวตในภูมิภาคต่างๆ ที่คุณจำลอง ศรีเมืองวางไว้นั้น แม้คุณทักษิณอยากจะเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคสักครึ่งหนึ่งก็ยังทำไม่ได้ เปลี่ยนยาก

เราแนะนำว่า ควรทำใหม่ จนกระทั่งวันที่พลังธรรมเหลือ ส.ส. แค่คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์คนเดียวในกรุงเทพฯ คุณทักษิณก็ลาออก ตอนนั้นยังไม่ได้ทำพรรคการเมือง แต่มีข้อเสนอจากหลายพรรค เราคุยกันแล้วสรุปว่ามันก็เหมือนพรรคพลังธรรม วัฒนธรรมในพรรคเขาก็แข็งกันทั้งนั้น ถ้าจะเข้าไปแล้วเราอยู่ได้ให้แข็งแรงก็ไม่ได้มีปัญหา แต่ถ้าอยากทำอะไรอย่างที่เราคุยกันมาหลายเดือน ก็ต้องไปทำพรรคเอง แล้วไม่ต้องไปหวังอะไรมาก ครั้งแรกมองอย่างเป็นจริง แค่ 20-30 คน เป็นไปได้

แล้วเราเป็นพรรคใหม่ ใช้นโยบายเป็นเครื่องนำ คนก็ดูถูกด้วยซ้ำไป ว่าเอานโยบายเป็นเครื่องมือทำงานการเมือง เกิดอีกสิบชาติค่อยมาว่ากัน

หากไม่ใช้นโยบาย ยุคนั้นพรรคการเมืองเขาหาเสียงอย่างไร

เขาใช้หัวคะแนน แล้วก็สัญญาลมๆ แล้งๆ พอได้เข้ามาก็ไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะถูกครอบโดยสภาพัฒน์ฯ มีแผนนโยบายให้เดิน ก็ทำตามนั้น ข้าราชการเป็นคนกำหนด

เราทำใหม่ มีกระบวนการสร้างนโยบายให้ประชาชนมีส่วนร่วม บรรจุในแผนบริหารราชการแผ่นดิน มาถึงปั๊บเราก็มานั่งจัดสัมมนา สร้างโครงข่ายว่าบรรจุในแผนแล้วจะต้องทำอย่างไร เราถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาลเวิร์กช็อป จัดประชุมอย่างเดียว เพราะระบบราชการแบบเดิม เวลาจะเอานโยบายต่างๆ มาทำ กว่าจะผ่านมติคคณะรัฐมนตรี คุณต้องไปถามกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าเห็นด้วยหรือไม่ ส่งให้สภาพัฒน์ฯ ดูว่าสอดรับกับแผนไหม ถ้าไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ กฤษฎีกาก็ต้องดูว่าเคยบรรจุแผนไหม ถ้าไม่เคยบรรจุแผน กว่ารัฐบาลจะบรรจุแผนได้ สองสามปีก็ยังไม่ได้ทำเลย

ฉะนั้น เรารื้อใหม่ จัดสัมมนาบอกว่า เรื่องนี้รับปากประชาชนมาแล้ว เป็นสัญญาประชาคม ต้องทำ ถ้ามีกฎหมายขวางอยู่ก็แก้กฎหมาย ไม่มีงบฯ ก็เอางบฯ กลางมาบริหารก่อน ใช้เวลาหกเดือน ถึงได้ปรับโครงข่ายกระทรวง ทบวง กรมใหม่

เราคิดเรื่องกระจายอำนาจ คือมอบอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน ซึ่งทรัพยากรก็ต้องอยู่ที่เขาด้วย ให้เขาตัดสินใจใช้ทรัพยากรเอง ถ่ายอำนาจของคุณลงไป เอางบประมาณลงไปให้เขา คนวิจารณ์กัน แต่ในที่สุด งบฯ เจ็ดหมื่นล้านยังอยู่ เสียไม่ถึง 0.02% เวิลด์แบงก์มาประเมินพบว่าหนี้เสียน้อยกว่าระบบธนาคารเสียอีก

ชาวบ้านเอาเงินไปซื้อโทรศัพท์ ซื้อมอเตอร์ไซค์ มันไม่ใช่เรื่องฟุ้งเฟ้ออย่างที่คนโจมตี มันช่วยแก้ปัญหาชีวิตเขา ช่วยเสริมงานการของเขา คนที่วิจารณ์ไม่เคยใช้ชีวิตยากลำบาก ไม่เคยเจอกับสภาพที่ต้องรอรถสาธารณะวิ่งเข้าบ้านวันละเที่ยว ไม่ได้มองว่าโทรศัพท์และมอเตอร์ไซค์เป็นปัจจัยการผลิตของเขา

คุณภูมิธรรมคิดว่าเพราะอะไรการชูนโยบายเหล่านี้จึงถูกแรงต้าน

ที่โดนแรงต้านมาก คิดว่าเพราะพรรคไทยรักไทยพยายามตัดตอนคนกลางที่ไปตักตวงประโยชน์ เราไม่ได้บอกคนกลางไม่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราคิดว่ามีคนกลางมากเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนการผลิตในการขายสินค้าของชาวบ้านสูง

เมื่อก่อนงบประมาณลงสู่พื้นที่จะผ่านระบบราชการ ผ่านกลไกต่างๆ แบบที่เขาเปรียบเทียบกับการส่งไอติม กว่าจะไปถึงก็ละลายหมด แต่คุณทักษิณตัดตอน เงินหนึ่งล้านบ้านให้เข้าบัญชีหมู่บ้านเลย หรือไปตัดทอนผลประโยชน์ของคนที่เคยได้รับผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน หลายเรื่องมันเป็นแค่อคติของคน หลายเรื่องเป็นการทำความเข้าใจไม่ครบกับประโยชน์ที่เกิดขึ้น

ถ้าเอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มารองรับ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทำมันมีคำตอบในตัวมันเอง มีกระบวนการ และไม่ใช่ดูแค่ผลของการใช้ทรัพยากร แต่ต้องดูกระบวนการที่เกิดขึ้น คนอาจมองว่าการเอาเงินไปให้ชุมชนก็คือการแจกเงิน แต่ถ้ามองกระจายอำนาจ มีหัวใจสำคัญสองเรื่อง คือ การกระจายทรัพยากร และการกระจายอำนาจการตัดสินใจ ที่ไหนมีสองอย่างนี้คือการกระจายอำนาจที่แท้จริง

ถ้ายอมรับหลักการนี้ การยิงเงินเจ็ดหมื่นล้านที่อยู่ในมือส่วนกลางไปสู่เจ็ดหมื่นหมู่บ้าน มีระบบกรรมการที่จะทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ร่วมกัน เขาอยู่ในพื้นที่ เขารู้ดีว่าใครเป็นอย่างไร เขาสามารถดูแลหมุนเวียนเงินกันได้ ให้โอกาสชาวบ้านทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มันน่ารังเกียจตรงไหน มันเป็นการแจกหรือเป็นกระบวนการพัฒนาให้ชุมชนที่ขาดแคลนเข้าถึงทรัพยากรและได้เรียนรู้แบบฝึกหัดทางสังคม

สิ่งที่เรามาสรุปทีหลัง เรารู้ว่า ในการทำงานการเมือง หลายเรื่องเราต้องกล้าตัดสินใจ แต่อีกหลายเรื่อง เราก็ต้องเน้นการทำความเข้าใจกับส่วนต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับร่วมกัน ตรงนี้มันขาดไป เป็นประสบการณ์จากเราในการผลักดันนโยบาย

แต่มันก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยม

ตอนนี้ก็ไม่เห็นมีใครกล้ายกเลิกสักคน มีแต่เติมไปอยู่เรื่อยๆ คุณฟังคำวิจารณ์จากฝ่ายที่มีอคติ แต่คุณไม่ได้ลงไปดูจริงๆ ถามชาวบ้านสิ แล้วพอตัวเลขจริงๆ ตอนที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ท่านให้ผมลงไปตรวจสอบตัวเลขกองทุนทั้งหมด มันไม่ขาดทุน มันดีมาก (เน้นเสียง) ฝนมาสะพานขาด ต้องตั้งเรื่องงบประมาณก่อน กว่าจะได้ก็ปีหน้า แต่อันนี้เอาไปเลย ใช้งบฯ นี้ได้เลย ประชุมกันว่าจะซ่อมก็ซ่อมเลย เป็นงบประมาณฉุกเฉิน ตัดสินใจได้ในชุมชน ปีไหนไม่มีเหตุฉุกเฉินก็เอาไปทำโรงสีข้าวได้ เป็นสิทธิของเขา ปรัชญาคือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน อันนี้อยู่ในคำขวัญของคุณทักษิณ  

แต่ปัญหาของพรรคเพื่อไทย ก็คือเรื่องคอร์รัปชัน

การโกงและการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่มีสังคมใดปรารถนา แต่ก็ไม่ควรใช้ข้ออ้างเรื่องนี้มาหยุดยั้งการดำเนินโยบายหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน หน้าที่ของคุณคือ ตรวจสอบแล้วจัดการอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าจัดการอย่างนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่กลับมีการใช้วิธีพิเศษ ตั้งหน่วยงานอะไรพิเศษมา แล้วเอาผิดได้กี่เรื่อง แสดงว่าเป็นแค่ข้ออ้างในการยึดอำนาจเท่านั้น

มีข้อวิจารณ์ว่า ทั้งคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ แม้เป็นนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ในการบริหารก็มีอำนาจมาก จนเรียกได้ว่าเป็นเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย

อะไรคือเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย เอานักรัฐศาสตร์ในโลกมาแล้วถามเรื่องนี้ก็คงตอบไม่ได้ ระบอบกึ่งเผด็จการในสังคมเอเชียเกือบทุกที่ เวลาเขาได้อำนาจมาก็เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่นี่เราให้ประชาชนได้เรียนรู้ แม้แต่พรรคอัมโน (United Malays National Organisation – UMNO) ก็ยังล้มได้ถ้าประชาชนเห็นว่าที่คุณทำมันไม่ถูก

แต่นี่ คุณยึดอำนาจกลับคืนทั้งหมด คุณจัดการกับคุณยิ่งลักษณ์ด้วยคดีจำนำข้าว หลักฐานก็ไม่มี เพิ่มหลักฐาน เพิ่มพยานจนกระทั่งตัดสินว่าผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดการโกง ถ้าใช้มาตรฐานอันเดียวกันนี้ คุณประยุทธ์โดนหลายคดีนะ

ในฐานะที่ทำงานมาในหลายบทบาท และตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำมาโดยตลอด ตอนนี้ หากให้คุณภูมิธรรมวิพากษ์สิ่งที่พรรคฯ ทำ คิดว่าปัญหาที่ผ่านมาคืออะไร

สิ่งที่เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งของกลุ่มพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ก็คือ ใช้เพียงความปรารถนาดีและความตั้งใจจริงนั้นไม่เพียงพอ เพราะสังคมนี้ยังไม่ใช่สังคมที่ฟรีและเปิดให้โอกาสให้ทุกกลุ่มความคิดสามารถคิดและเสนอความคิดต่างๆ ในการแก้ปัญหาหรือหาทางออกให้ประเทศได้อย่างอิสระแท้จริง

ในสังคมที่มีความสัมพันธ์สลับซับซ้อน มันต้องการการคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ มากเหมือนกัน หลายเรื่องที่เราทำ เพียงแค่ความปรารถนาดี คิดแต่เพียงว่าทำให้คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แค่นี้ไม่เพียงพอ เพราะมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ หรือเสียผลประโยชน์โดยตรง เขาใช้กลไกต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมทำลายคนที่มีความเห็นต่างได้ ตรงนี้เป็นบทเรียนสำคัญมาก

เราเข้ามาในความมุ่งหวังอยากทำงาน อะไรดีไม่ดีในความหมายของเรามันอาจไม่ตรงกับเขา และพวกเขามีอำนาจมากเพียงใดในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงตรงนี้ที่จะเกิดขึ้น ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ยังเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถึงปัจจุบัน

วันนี้เรามีบางพรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นใหม่ ยังไม่ทันไรก็หนักหน่วงพอสมควรแล้ว เป็นประสบการณ์เหมือนที่เราเผชิญมา แม้ยังไม่มาก เพราะว่าเขายังไม่ได้ปรากฏตัวทางการเมืองในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่เขาเพิ่งเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม คุณทักษิณก็กลายเป็น ‘ของแสลง’ ในสังคมไทย คนยังมองปัญหาการเมืองว่ามาคู่กับ ‘ผีทักษิณ’ แม้ไม่มีทักษิณก็มีอิทธิพลของพรรคครอบครัว จากนี้ไป พรรคเพื่อไทยยังต้องแก้โจทย์นี้ไหม

ถ้าดูคุณทักษิณ ก็ต้องเข้าใจว่าคุณทักษิณถูกกระทำและหรือวิจารณ์ฝ่ายเดียว และข้อกล่าวหาต่างๆ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้รับความยุติธรรมอย่างเพียงพอ ไม่ได้ชี้แจงภายใต้ระบบที่ทุกคนมั่นใจในความยุติธรรม การกล่าวหาว่าคุณทักษิณเป็นเหมือนผีในสังคมไทยก็ถูกแค่ด้านเดียว คุณทักษิณอาจเป็นปีศาจ เป็นสิ่งน่าหวั่นกลัวของคนจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งไม่ได้เห็นด้วย

ถ้าพูดถึงความรู้สึกนึกคิดของคน มันก็ต่างกันอยู่ แต่สังคมไทยต้องมีความยุติธรรมเพียงพอ มันถึงจะตอบโจทย์เรื่องคุณทักษิณได้ แต่โอเค อันนี้ขีดคั่นไว้ในบรรทัดฐานของสังคมไทยที่พึงเข้าใจว่า วันนี้คุณทักษิณไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว และยังเป็นจำเลยของคนส่วนหนึ่ง ฝ่ายทางคุณทักษิณเองก็ยังรู้สึกว่าเขายังมองหาความยุติธรรมและรอวันพิสูจน์

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ท่านไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่คนของสังคมไทยแล้ว แต่เป็นคนของสังคมโลก ปฏิสัมพันธ์ที่มีท่านไปเกี่ยวพันกับคนในสังคมโลก ขณะที่สังคมไทยไม่ต้องการท่าน แต่หลายรัฐบาลของโลกก็ยังเชิญท่านไปเป็นที่ปรึกษาขององค์กรรัฐเหล่านั้น ในชุมชนมหาวิทยาลัย ในสมาคมการลงทุนหรือธุรกิจระดับโลก เขาก็อยู่ในแวดวงนั้น

ถ้าถามว่า ปัญหาคุณทักษิณเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย มีภาพเป็นพรรคของครอบครัวอยู่หรือไม่ เราไม่อาจปฏิเสธประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เครือข่ายพรรคเพื่อไทยมันเกิดขึ้นและเติบโตมาโดยคนที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร มีส่วนสำคัญในการสร้างองค์กรการเมืองนี้ขึ้นมา เนื่องจากวิวัฒนาการทางการเมืองในประเทศทำให้เกิดปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วมันก็เปลี่ยนแปลง เราไม่อาจลบล้างอดีตได้ 

ถามว่าปัจจุบัน คุณทักษิณเกี่ยวข้องกับเราโดยตรงหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกันโดยตรง ท่านอยู่นอกประเทศ และวันนี้เราเขียนกติกากระทั่งว่า ไม่ให้บุคคลนอกประเทศมาเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองทุกพรรคในประเทศไทย ไม่ให้บุคคลภายนอกพรรคมามีอิทธิพลครอบงำ อันนี้ต้องตีความ เช่นถ้าผมสนใจปรัชญานักการตลาดของโลก แล้วจะศึกษาเอามาใช้บริหารประเทศ แบบนี้เรียกว่าโดนครอบงำไหม

มันต้องอยู่กับปัจจุบัน โลกที่เป็นจริงมีกติกาที่บีบให้เราต้องเดินภายใต้กติกานี้ ฉะนั้น การดำรงอยู่ของตระกูลชินวัตรเกี่ยวข้องกับเราน้อยมาก ด้วยเหตุผลที่ว่า ยิ่งเกี่ยวข้องยิ่งมีปัญหา จะทำให้เราถูกยุบพรรคได้ แต่ถ้าเป็นจุดยืนอุดมการณ์แนวคิดที่ก่อตั้งพรรคนี้มา พรรคนี้ยังเดินตามแนวทางนั้นอยู่ แนวคิดที่ยึดประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง แล้วใช้นโยบายเป็นเครื่องมือในการทำงานการเมือง มันเป็นปรัชญาของพรรค ถ้าจะเกี่ยวก็เกี่ยวแค่ตรงนี้

ใครจะเชื่อว่าคุณทักษิณไม่มีอิทธิพลกับพรรค

แล้วจะให้ผมทำยังไง (หัวเราะ) ผมถามท่านว่า กฎกติกามันมีถึงขั้นว่า การเกี่ยวพันกับคุณทักษิณโดยตรงสามารถเป็นข้อหาในการยุบพรรคได้ และกรรมการบริหารพรรคต้องมีโทษทางอาญา ผมถามท่านว่า คนในพรรคเพื่อไทยมากมายหลายคน เขาจะยอมทำผิดกฎหมายเพื่อให้เขาต้องไปติดคุกหรือ ถ้าคุณกล่าวหาว่าเพื่อไทยยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของคุณทักษิณ คุณทักษิณยังครอบงำพรรคในการดำเนินนโยบาย คุณก็ต้องเป็นคนพิสูจน์แล้วใช้กฎหมายดำเนินการกับเรา คำว่าครอบงำคืออะไร ต้องยุติธรรมด้วย ถ้าไม่คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เราก็จะเอากฎหมายกล่าวหาตราหน้าผู้คนอย่างง่ายดายเกินไป สังคมไทยไม่ควรจะไปถึงขนาดนั้น

ตอนนี้ที่ทั้งคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ไม่สามารถเป็นตัวเด่นของพรรคได้อีกต่อไป ถือเป็นอุปสรรคในการรันงานการเมืองของพรรคได้หรือเปล่า

ผมคิดว่าถ้าอยากจะประเมินปัญหาของพรรคในเรื่องนี้ ต้องดูประวัติศาสตร์และพัฒนาการของพรรคเพื่อไทย ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยที่เพิ่งเกิดเมื่อปี 2554 แล้วเจอแบบนี้ก็คงเป็นปัญหาเยอะเหมือนกัน แต่พรรคเพื่อไทยเติบโตมามีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2541 มาถึงวันนี้ ยี่สิบปี ทำงานร่วมกันมา ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนไม่น้อย ถามว่าสภาพแบบนี้ การที่เกิดบรรยากาศที่ผู้นำถูกกีดกันออกไปจากการเมืองส่งผลกระทบหรือไม่ ผมว่าไม่ส่งผลกระทบอะไร ถ้ามันส่งผลกระทบ มันคงยืนยาวต่อเนื่องมาไม่ได้ถึง 20 ปี

จนถึงวันนี้ เราถูกตัดหัวสองที ยุบพรรคสองครั้ง รัฐประหารสองครั้ง เราขาดแคลน ไม่มีผู้นำ แต่อุดมการณ์ความยืนหยัดของสมาชิก นักการเมืองของเรา ประชาชนที่ตัดสินใจเลือกเรายังอยู่ จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น ผมเชื่ออย่างนั้น

ถึงวันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ยึดติดกับคนคนเดียว ขาดคนนั้นแล้วระส่ำระสาย วันนี้เวลามองพรรคเพื่อไทย คนจะมองเห็นองค์รวมทั้งหมด มองอดีตผู้นำที่สร้างเครดิต ได้รับความยอมรับนับถือในการสร้างนโยบาย เป็นพรรคการเมืองที่พูดจริงทำจริง มองเห็นคนขับเคลื่อนนโยบายในพรรคนี้หลายสิบหลายร้อยคน แน่นอน องค์กรที่ถูกกำจัดผู้นำหัวกะทิมีผลสะเทือนบ้าง แต่ไม่เชื่อว่ามันจะระส่ำระสายจนเดินไม่ได้ เพราะยี่สิบปีที่ผ่านมา เราผ่านบรรยากาศอย่างนั้นมาแล้ว

วันนี้เราไม่ได้กังวลใจอะไร ถ้าพรรคเพื่อไทยยังประกาศตัวในอุดมการณ์ชัดเจนว่ายึดมั่นระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ยืนหยัดการสร้างนโยบายที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ถ้ายืนยันสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ เราเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังยืนข้างเรา ไม่ว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม เมื่อนั้นประชาชนเขาก็จะตัดสินใจด้วยความไว้วางใจกับพรรคการเมืองที่เขาเชื่อว่าจะดูแลผลประโยชน์ของเขา

จากนี้ไป คนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับคนที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ จะเป็นคนเดียวกันไหม

อันนี้เป็นคำตอบที่ยังตอบยากในปัจจุบัน การที่จะคิดหรือตัดสินใจปัญหานี้ได้ อยู่ที่กรอบนโยบายพรรคการเมืองและรัฐธรรมนูญว่าทำอย่างไร แต่ที่ดูตอนนี้ พรรคการเมืองเสนอได้สามชื่อ แปลว่าไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง เขียนคล้ายๆ ว่านายกฯ มาจากสามแคนดิเดต และต้องดูเหมือนกันว่าบุคลากรที่เรามีอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังปรากฏนั้น เราควรตัดสินใจเลือกสิ่งใด ตรงนั้นคงอยู่ที่การตัดสินใจในการประชุมใหญ่ของพรรคและเสียงของประชาชนที่เสนอแนะเรา

จากงานและกิจกรรมที่ทำมาตลอดชีวิต พบข้อผิดพลาดและอุปสรรคมาก็มาก คุณภูมิธรรมยังมีความหวังต่ออนาคตไหม

ความหวังกับความเป็นจริงมันไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว ผมคิดว่าผมยังมีความหวัง ไม่อย่างนั้นยืนตรงนี้ไม่ได้ เราต้องหวังว่าในกติกาทางสังคมที่คนมาเกี่ยวพันกัน แล้วมีสถาบันทางการเมืองอย่างพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็ต้องมีความคิดความเชื่อของตน เราอาสามาทำงานให้ประชาชน เราต้องมีความหวัง ถ้าไม่มีความหวังก็ไม่ควรมาทำงานการเมือง หลายคนบอกถ้าไม่มีความหวังก็ไม่มีชีวิตอยู่

วันนี้ผมอายุ 65 แล้ว ชีวิตผมพอประคับประคองอยู่ได้ควรอยู่นิ่งไป แต่ผมมีความหวังความเชื่อว่า สังคมไทยควรมีกฎกติกาที่ดีกว่านี้ ตลอดชีวิตผมก็สู้มาเพื่อสิ่งนี้ ถ้าผมยังพอมีแรงก็ยังต้องสู้ต่อไป แม้ยังไม่เห็นว่าอนาคตข้างหน้าจุดบั้นปลายอยู่ตรงไหน ถ้าถึงวันที่ประสบหรือไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าตัวเราไม่ไหวก็ต้องส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อไป สังคมมันมีพลวัตไม่หยุดนิ่ง การแสวงหาสังคมที่ปรารถนาหรือสังคมประชาธิปไตยตามความเชื่อปัจจุบันที่คิดว่าเป็นสังคมที่ดีที่สุดที่เคารพในเสรีภาพของคน ก็ต้องดิ้นรนให้มันเกิดขึ้น

การดิ้นรนขับเคลื่อนมันเป็นแรงที่ทำให้สังคมอยู่รอดและพัฒนาไปได้บนพื้นฐานที่จะรับใช้เพื่อนมนุษย์ ส่วนว่ามันจะมีทางไหม ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงมาพอสมควร แต่เราก็ต้องอยู่กับความเป็นจริง เวลาวัยรุ่นเราพูดถึงความเปลี่ยนแปลง อาจพูดถึงปีหน้า ห้าปีข้างหน้า แต่พอเติบโตมา เราเห็นว่ามันเป็นพลวัตร และขึ้นกับการพิสูจน์ สังคมพิสูจน์แล้วว่าระบบไหนมันดีหรือเลวอย่างไร บางทีมันอาจจะยังไปไม่ถึงสิ่งที่เรามุ่งหวังปรารถนา เพียงแต่เห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันเลวร้ายและควรแก้ไข นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เส้นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นยาวนาน เราเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เราเพียงแค่ทำทุกอย่างให้เต็มที่ในทุกอณูของชีวิตที่เรามีอยู่

Fact Box

ภูมิธรรม เวชยชัย ศึกษาจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาตรี-โท เป็นนิสิตที่ทำกิจกรรม และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนต้องหลบหนีเข้าป่าไปเป็นเวลากว่าสามปี

ในปี 2523 ภูมิธรรมเข้าทำงานเป้นเจ้าหน้าที่ชุดแรกของโครงการอาสาสมัคร ที่ต่อมาพัฒนาเป็นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

ในปี 2540 เขาเริ่มต้นทำงานกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการประจำสำนักงานประธานบริหารกลุ่มชินวัตร และต่อมา ร่วมก่อตั้งและทำงานให้พรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2541

เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อปี 2548 ต่อมาในปี 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค ทำให้เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จนปี 2555 ภูมิธรรมก็กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรค และในการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 เขาสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 21

Tags: , , , , , ,