เคยถามตัวเองไหมว่าเที่ยวไปเพื่ออะไร?

เชื่อว่าสำหรับคำถามปลายเปิดแบบนี้ คำตอบคงจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน สำหรับฉันเองแล้ว

การ ‘เที่ยว’ มีหลายมิติเหลือเกิน หลายๆ ครั้งเราออกท่องเที่ยวไปยังที่ที่สร้างความสุข แต่อีกหลายครั้ง การท่องเที่ยวคือการเรียนรู้ หลายครั้งที่หนทางที่มุ่งไปอาจจะไม่ใช่จุดหมายในฝัน แต่ท้ายที่สุดแล้วเรามันก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับโลกนี้อีกนิด

แม้บางที่อาจจะเป็นที่ที่มืดมนที่สุดก็ตาม

“โชคดีแค่ไหนที่เกิดเป็นคนไทยในสมัยนี้”

นี่คือความคิดที่ผุดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างที่เดินอยู่ใน ‘ทุ่งสังหาร’ หรือ Killing Fields ที่เจิงเอก (Choeung Ek) ที่อยู่ห่างจากพนมเปญออกไปประมาณ 17 กิโลเมตร ถ้านครวัดในเสียมราฐคือตัวแทนของความยิ่งใหญ่ของชาวเขมร พนมเปญก็คงเป็นเครื่องสะท้อนถึงประวัติศาสตร์อันน่าเศร้า

อนุสรณ์สถานที่เจิงเอก

เจิงเอกในแวบแรกนั้นเซอร์เรียลกว่าที่คิด หลังจากจ่ายค่าบัตรแล้ว ผู้เข้าชมจะได้รับออดิโอไกด์พร้อมหูฟังคนละชุด ที่สามารถเลือกภาษาได้ จากนั้นจึงสามารถเดินไปตามจุดต่างๆ ได้ด้วยตัวเองในจังหวะที่ตัวเองสะดวกใจที่สุด เทปหลายๆ เทปออกแบบมาให้นั่งฟังได้ยาวๆ ถ้าอยากจะทำ และที่นี่ก็มีม้านั่งเตรียมให้เรียบร้อย แม้วันที่เราไปนั้น เจิงเอกจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมอยู่ไม่น้อย แต่ทุกอย่างกลับอยู่ในความเงียบสงบ ผู้คนเดินไปมาอย่างเงียบๆ และหยุดตามจุดต่างๆ พร้อมออดิโอไกด์ในมือและหูฟังที่ครอบหูอยู่ทั้งสองข้าง เป็นความเงียบงันที่น่าสะเทือนใจ แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจยิ่งกว่าก็คือเรื่องราวที่ได้ฟังในวันนั้น

นักท่องเที่ยวจะได้ออดิโอไกด์สำหรับฟังข้อมูลของเจิงเอก

หลังสงครามกลางเมืองในกัมพูชาได้สิ้นสุดลง กลุ่มเขมรแดงขึ้นปกครองกัมพูชาในปีพ.ศ. 2518 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชาไปตลอดกาล  ประชาชนและปัญญาชนจากกรุงพนมเปญถูกกวาดต้อนออกจากเมืองโดยอ้างว่าเพื่อให้ปลอดภัยจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสหรัฐฯ แต่จริงๆ แล้วกลับถูกบังคับให้ไปเป็นแรงงานการเกษตรเพื่อ ‘เกลี่ย’ ให้สังคมเท่าเทียมกัน ผู้คนจำนวนมากมายที่ไร้ประโยชน์สำหรับเขมรแดง ทั้งผู้ใหญ่ คนแก่ เด็กไปจนถึงทารกถูกส่งไปฆ่าที่ทุ่งสังหารและถูกฆ่าอย่างทารุณด้วยวิธีการต่างๆ นานา ทั้งด้วยมีด พร้า หน้าไม้ต่างๆ ที่ช่วยให้ฆ่าได้สำเร็จอย่างไม่เปลืองลูกกระสุน ไปจนถึงวิธีอย่างการจับทารกเหวี่ยงฟาดกับต้นไม้ ก่อนที่จะโยนศพลงไปถมรวมกันอย่างไม่ใยดีในหลุมฝังศพหมู่ (mass grave) แม้จะปกครองประเทศอย่างเป็นทางการแค่ 4 ปี แต่เขมรแดงได้คร่าชีวิตชาวเขมรไปเกือบสามล้านคน นับเป็นหนึ่งในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20

การเดินไปตามเช็คพอยต์ในเจิงเอกมาสิ้นสุดที่อนุสรณ์สถานที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงกลาง เจิงเอกเป็นเพียงแค่หนึ่งในทุ่งสังหารอีกมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วกัมพูชา แต่ในบรรดาทุ่งสังหารทั้งหมดนั้น ที่นี่เป็นหนึ่งในไม่กี่ที่ที่มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่ผู้วายชนม์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ภายในมีการเรียงกะโหลกและกระดูกของชาวเขมรที่ถูกฆ่าที่นี่ไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยจำแนกให้เห็นว่าเสียชีวิตด้วยบาดแผลตรงไหน ด้วยอาวุธอะไรบ้าง แม้ทุกวันนี้ เจิงเอกจะกลายเป็นสวนอันเงียบสงบใต้ร่มไม้จนเกือบจะทำให้จินตนาการไม่ออกแล้วว่าแต่ก่อนที่นี่เคยเลวร้ายแค่ไหน แต่หลุมฝังศพ ต้นไม้สังหาร รวมถึงอนุสรณ์สถานแห่งนี้จะช่วยเตือนใจให้ไม่ลืม

ที่เจิงเอกก็ว่าสะเทือนใจมากแล้ว ที่พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง (Tuol Sleng Genocide Museum) กลางกรุงพนมเปญนั้นดูจะสร้างผลกระทบในด้านความรู้สึกมากกว่าหลายเท่า อาจจะเป็นเพราะเครื่องย้ำเตือนถึงผู้วายชนม์ไม่ได้อยู่ในรูปของกระโหลกเหมือนที่แรก แต่อยู่ในรูปของภาพถ่ายหน้าตรงที่ถ่ายไว้ตอนยังมีชีวิตและจิตใจ ที่พร้อมจะสบตากับผู้มาเยือน

พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง (Tuol Sleng Genocide Museum)

ในปีพ.ศ. 2519 เขมรแดงได้เปลี่ยนโรงเรียนมัธยมให้กลายเป็นศูนย์สอบสวนและคุกหมายเลข 21 (Security Prison หรือ S-21) โดยคาดว่าระหว่างปีพ.ศ. 2519-2521 นั้นมีนักโทษถูกคุมขังที่นี่ถึง 20,000 คน แต่ตัวเลขจริงๆนั้นก็ยังเป็นปริศนา เช่นเดียวกับที่คุมขังอีกกว่า 150 แห่งทั่วกัมพูชา ห้องเรียนของที่นี่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นห้องทรมาน ในขณะที่อาคารบางส่วนที่เป็นคุกนั้นถูกปิดด้วยรั้วลวดหนาม ในช่วงแรกๆ นั้น ตวลสเลงเป็นสถานที่สอบสวนทหาร เจ้าหน้าที่รัฐ นักเรียน รวมถึงปัญญาชนและใครก็ตามที่เหล่าเขมรแดงมองว่าจะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อไป โดยส่วนใหญ่นั้นถูกจับมาด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับ ในหลายๆ กรณี ครอบครัวของผู้ต้องหาก็ถูกกวาดต้อนมาพร้อมกัน และหากไม่โดนทรมานจนตายในคุกแห่งนี้ ก็จะถูกส่งไปสังหารที่เจิงเอกต่อไป

  ตวลสเลง คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว และหนึ่งในเรื่องราวที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือเรื่องของโบพานา (Bophana) ที่ชาวตะวันตกเรียกเธอว่า ‘แอน แฟรงก์แห่งกัมพูชา’ และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ภาพของเธอปรากฏขึ้นมาให้เห็นในสายตาอยู่บ่อยครั้งในสถานที่แห่งนี้

ห้องคุมขังนักโทษ

โบพานากลายมาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากหนังสือเรื่อง When the War was Over โดยนักเขียน เอลิซาเบธ เบ็คเกอร์ ที่ตีพิมพ์ในค.ศ. 1986 (ที่กลายมาเป็นข้อมูลให้กับภาพยนตร์ Bophana: A Cambodian Tragedy ที่สร้างในปีค.ศ. 1996) โดยเอลิซาเบธมาเล่าในภายหลังว่าตอนที่เข้าไปค้นข้อมูลจากตวลสเลงนั้น เธอตกใจมากที่พบว่าไฟล์แฟ้มของนักโทษที่ชื่อโบพานานั้นเต็มไปด้วยจดหมายรัก

โบพานาคือเด็กสาวธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่บังเอิญเกิดผิดที่ผิดเวลาไม่ต่างกับชาวเขมรคนอื่นๆ ที่ถูกสังหารในยุคเขมรแดง เธอเกิดในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ในช่วงที่กัมพูชาเพิ่งได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับหญิงสาวชาวเขมรทั่วไป เธอตกหลุมรักและหมั้นหมายกับลูกพี่ลูกน้องห่างๆ ชื่อลี สิทา (Ly Sitha) แต่ก่อนที่จะแต่งงานกัน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อเกิดรัฐประหาร คู่หมั้นของเธอบวชเป็นพระเพื่อหนีการเกณฑ์ทหาร ส่วนเธอเองก็ต้องหลบหนีความวุ่นวายออกจากบ้านเกิด ระหว่างหนีนี้เองที่เธอถูกทหารกัมพูชาข่มขืนและตั้งท้อง หลังจากคลอดลูกชาย เธอมุ่งหน้าสู่พนมเปญเพื่อหางานทำ แต่โชคชะตาก็ผกผันอีกเมื่อเขมรแดงเข้ายึดพนมเปญได้ การศึกษาที่เธอมีทำให้เธอกลายเป็นเป้า และทำให้เธอต้องออกจากพนมเปญไปทำงานเป็นกรรมกรอยู่ในทุ่งนา และเมื่อนั้นเองที่เธอได้พบกับคู่หมั้นของเธออีกครั้ง… คู่หมั้นที่อยู่ในชุดฟอร์มสีดำของเขมรแดง ลี สิทาหรือสหายเด็ธ (Comrade Deth) แอบช่วยส่งข้าวส่งน้ำให้โบพานาอยู่เงียบๆ ต่อมาเมื่อเขาต้องกลับพนมเปญ เขาและโบพานาก็เขียนจดหมายหากันอยู่เสมอ

รั้วลวดหนามที่เคยใช้กันนักโทษหลบหนีก็ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน

แม้โบพานาจะระมัดระวังด้วยการใช้นามแฝงอย่าง “Flower of Dangerous Love” แต่การเขียนด้วยภาษาปัญญาชนอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสปนกับภาษาเขมรก็ทำให้สหายเด็ธถูกจับได้ในที่สุด และถูกต้ังข้อหาว่าให้ความสำคัญกับเรื่องความรักมากกว่าหน้าที่ สหายเด็ธถูกประหาร ส่วนโบพานาก็ถูกพามาที่ตวลสเลงเพื่อสอบสวนและประหารเช่นกัน เอลิซาเบธได้กล่าวสรุปไว้ในหนังสือของเธอว่า “พวกเขมรแดงนั้นเกรงกลัวการแสดงออกถึงความรักในทุกรูปแบบ ระหว่างสามีและภรรยา ระหว่างพ่อแม่และลูก ระหว่างเพื่อนๆ และเพื่อนร่วมงาน ทุกคนต้องสละสัมพันธ์ส่วนตัวเหล่านี้ออกไปให้หมด การเขียนจดหมายหากันระหว่างเด็ธและโบพานาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตอย่างสันโดษ โดดเดี่ยวและปราศจากอารมณ์ใดๆ และนั่นอาจจะเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดที่โบพานาได้ก่อขึ้น”

รายชื่อคนที่เคยถูกคุมขังที่ตวลสเลง

   เรื่องราวของโบพานาถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวโศกนาฏกรรมอีกมากมายที่เกิดขึ้นในยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ ลองจินตนาการดูว่าถ้าเขมรแดงฆ่าคนไปกว่าสามล้านคน จะต้องใช้หนังสือกี่เล่มถึงจะเล่าเรื่องราวของแต่ละคนได้หมด?

อาคารโรงเรียนมัธยมที่เปลี่ยนเป็นห้องคุมขังนักโทษในยุคเขมรแดง

เย็นแล้ว ระหว่างที่แสงกำลังจะหมด ฉันยืนดูอนุสรณ์สถานของตวลสเลงที่มีแผ่นป้าจารึกชื่อของผู้ตายอยู่ตอนที่ไกด์ในออดิโอไกด์ในมือพูดขึ้นมาได้อย่างจับใจ เขาบอกว่าตวลสเลงแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น “ความทรงจำแห่งโลก” หรือ Memory of The World โดยยูเนสโก ทำไมรู้ไหม? เพราะที่ที่เคยเป็นนรกบนดินแห่งนี้สมควรที่จะถูกเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจคนรุ่นหลังว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์​ การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุได้เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

เพื่อที่มนุษย์เราจะไม่ทำพลาดซ้ำรอยอีก

Tags: , ,