Peppermint (2018) เป็นผลงานกำกับของปิแอร์ มอเรล (Pierre Morel) ผู้กำกับหนังภาคต่อชื่อดังอย่าง Taken หนังเล่าเรื่องของไรลีย์ นอร์ธ (เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์) ซึ่งสูญเสียลูกสาวและสามีไปจากการไล่ยิงโดยแก๊งค้ายา เพราะสามีเธอมีปัญหาการเงินจนต้องเข้าร่วมขบวนการปล้นหัวหน้าแก๊ง ดิเอโก การ์เซีย (ฮวน พาโบล ราบา)  แม้เขาจะถอนตัวในนาทีสุดท้าย แต่แก๊งค้ายาก็ไม่ปล่อยให้เขารอดชีวิต

ไรลีย์ชี้ตัวผู้ต้องหาได้ และบอกปัดข้อเสนอของทนายฝ่ายจำเลยที่จะให้รับเงินแล้วปิดปากเงียบ เธอได้รับการตอบแทนโดยถูกพิพากษาให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช และผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ  

ไรลีย์หนีไปได้ และใช้เวลาห้าปีฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ ก่อนจะกลับมาล้างแค้นด้วยการตามฆ่าแก๊งค้ายาที่พรากชีวิตครอบครัวเธอไป

 

เมื่อนางเอกหนังแอ็คชั่นต้องสวมบทบาทแม่ที่ดี

ในหนัง ไรลีย์เป็นหญิงผิวขาวชนชั้นกลางค่อนล่างซึ่งสวมบทบาทแม่ในอุดมคติ เธอสอนให้ลูกไม่ใช้ความรุนแรงตอบกลับกลุ่มแม่ที่โรงเรียนซึ่งมากลั่นแกล้ง (แม้ว่าความรักสงบนั้นจะขัดแย้งกับอุดมการณ์ของเธอในภายหลัง) เธอหาวิธีทำให้ลูกมีความสุขได้ในวันเกิดที่ไม่มีเพื่อนมาร่วมงาน เธอมีความอบอุ่นและใจดีอย่างที่แม่ที่ดีพึงเป็น

ขณะที่การสูญเสียครอบครัวเป็นความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงในตัวเธอ หนังก็ยังคงให้ไรลีย์ในฐานะแม่เห็นภาพหลอนของลูกสาวตัวเองเป็นระยะๆ ทั้งเวลาที่อยู่คนเดียวหรือเจอเด็กคนอื่นๆ หรือแม้แต่ใช้เป็นปมผลักดันให้เธอยอมแพ้ต่อหัวหน้ามาเฟีย

ไรลีย์เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นนักสู้ ฆ่าคนเลวทุกคนที่เป็นผู้ชาย แต่ก็ยอมพ่ายให้กับความเป็นแม่ ซึ่งในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่าเป็น ‘ความเสียเปรียบ’ เช่นในฉากที่การ์เซียเอาปืนจ่อหัวเด็กหญิงคนหนึ่งแล้วบังคับให้เธอออกจากที่ซ่อน เธอจำต้องยอมแพ้ เพราะความอ่อนแอ (หรือความเป็นแม่) ในตัวเธอ ซึ่งดูคล้ายว่า หนังกำลังขับเน้นจุดอ่อนของผู้หญิงที่เรื่องลูก

เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ แสดงซีนอารมณ์ดราม่าได้ดีพอๆ กับฉากแอ็คชั่น อย่างที่เธอเคยพิสูจน์มาแล้วในเรื่องอื่นๆ อย่าง Daredevil, Elektra หรือซีรีส์ชื่อดังอย่าง Alias แต่กับ Peppermint หนังไม่ได้ใช้จุดแข็งในซีนอารมณ์เท่าไรนัก หลายซีนที่เธอควรจะแสดงบทอารมณ์อย่างเข้มข้นถูกตัดให้สั้นหรือแทรกด้วยเอฟเฟกต์ภาพเบลอ ทำให้คนดูที่เกือบจะอินไปกับความสูญเสียของเธอถูกขัดจังหวะชั่วขณะ แม้การ์เนอร์จะบอกว่าเธอรับเล่นหนังเรื่องนี้ด้วยธีมของความเป็นแม่ แต่ดูเหมือนการตัดต่อจะทำให้ความเข้มข้นของธีมนี้สูญเสียไปอย่างมาก

 

หนังศาลเตี้ย (Vigilante film) กับการสนองตัณหาความรุนแรงของผู้ชม

หนังศาลเตี้ย (vigilante film) คือหนังประเภทที่ตัวเอกคนหนึ่งหรือหลายคนทำตัวเป็นศาลเตี้ยด้วยการผันตัวไปเป็นผู้คุมกฎด้วยตนเอง เพราะระบบกฎหมายไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ หลายเรื่องเป็นแนวแก้แค้นผสมทริลเลอร์  ซึ่งมักมีความรุนแรงแทรกอยู่เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสะใจไปกับความสำเร็จในการแก้แค้นของตัวเอก หนังศาลเตี้ยที่โด่งดังก็อย่างเช่น Death Wish (1974), Taxi Driver (1976) และ Law Abiding Citizen (2009)

เว็บไซต์ Denofgeek วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า หนังศาลเตี้ยแตกต่างจากหนังแนวแก้แค้น (revenge film)  ทั้งสองเรื่องมีจุดเหมือนกันตรงที่ตัวเอกถูกล่วงละเมิดอย่างรุนแรงในบางอย่าง แต่ตัวเอกในหนังศาลเตี้ยจะถูกผลักดันด้วยความคาดหวังของสังคมหรืออุดมการณ์ทางปรัชญาให้ทำเพื่อคนจำนวนมาก ส่วนในหนังแนวแก้แค้น ตัวเอกจะทำเพื่อเหตุผลส่วนตัวเท่านั้น หนังศาลเตี้ยที่คลาสสิคมากๆ ก็อย่างเช่น Robin Hood หรือหนังตระกูล Batman ซึ่งตัวเอกหวังจะล้างบางคนชั่วให้หมดไปจากชุมชน
นี่อาจเป็นสาเหตุที่หนังต้องใส่องค์ประกอบเรื่องการที่ไรลีย์เป็นนางฟ้าผู้พิทักษ์ (guardian angel) ของชุมชนสลัมย่านนอกเมือง มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ชื่นชมและเฝ้ามองเธอ ถึงกับมีคนวาดภาพกราฟิตีสดุดี เพราะเธอช่วยตามฆ่าแก๊งมาเฟียและทำให้อาชญากรรมในย่านนั้นลดลง

อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้ทำให้เราเห็นสักเท่าใดว่า นอกจากไปตามฆ่าแก๊งมาเฟียที่ฆ่าครอบครัวเธอแล้ว หนังก็ไม่ได้ทำให้เราเห็นเท่าใดว่าเธอมีความสำคัญกับชุมชนนั้นอย่างไร (นอกเหนือจากการมีภาพกราฟิตีขนาดใหญ่บนตึกแห่งหนึ่ง) องค์ประกอบที่ใส่เข้ามามากจะเป็นความรุนแรงเสียส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงออกผ่านการยิงหรือการต่อสู้ด้วยมือเปล่า และมีบาดแผลหรือเลือดปรากฏให้เห็นชัดเจน บ่อยครั้งบาดแผลนั้นก็เป็นของเธอเอง และบางครั้งเลือดที่เปรอะเปื้อนตัวเธอก็เป็นเลือดของคนอื่น

ปรากฏการณ์ศาลเตี้ยก็แสดงออกมาให้เห็นบนโซเชียลมีเดียด้วย หนังพยายามใส่ข้อมูลว่า ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางรายยกย่องว่าไรลีย์เป็นฮีโร่ ส่วนสื่อบางแห่งบอกว่าสิ่งที่เธอทำเป็นอาชญากรรม การถกเถียงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงท้ายเรื่อง ฉากหนึ่งที่สำคัญคือฉากที่ไรลีย์ใช้โทรศัพท์ของนายตำรวจคนหนึ่งไลฟ์สดออกอากาศตัวเอง แล้วแพนกล้องให้สื่อเห็นใบหน้าของการ์เซียและนายตำรวจอีกคนที่ร่วมมือกับมาเฟีย

โซเชียลมีเดียและสื่อถือเป็นพื้นที่สาธารณะชนิดหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาก่อสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน ร่วมกำหนดทิศทางของสังคม และเชื่อมต่อเข้ากับวัฒนธรรมร่วมของชุมชนตนเอง มันมีหน้าที่ช่วยให้คนรู้ว่าตัวเองเป็นใคร พอๆ กับที่เปิดโอกาสให้คนร่วมผลักดันสังคมไปในทิศทางที่พวกเขาเห็นว่าอยากจะเป็น

ในหนังศาลเตี้ยบางเรื่อง เช่น  V for Vendetta (2005) พื้นที่สาธารณะถูกแสดงออกในรูปของการเดินขบวนประท้วงของเหล่าคนที่ใส่หน้ากากชายมีหนวด แต่ใน Peppermint หนังแทนภาพพื้นที่สาธารณะว่าอยู่ในโลกออนไลน์และสื่อโทรทัศน์ อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่ใส่เข้ามายังทำออกมาลวกๆ จนทำให้เราไม่เห็นความเชื่อมโยงที่มีนัยยะสำคัญของตัวตนนางเอกกับชุมชนออนไลน์ที่พูดถึงตัวเธอนัก

โดยสรุปแล้ว Peppermint เป็นหนังศาลเตี้ยที่ไม่มีอะไรหวือหวา จุดแข็งเพียงอย่างเดียวคือการแสดงของเจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ ในขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ เช่นความเป็นทริลเลอร์ ดราม่า และฉากแอ็คชั่น ยังทำได้ในระดับกลางๆ หนังไม่สามารถดึงคนดูให้จดจ่ออยู่กับหนังได้มากนัก จนสื่อหลายแหล่งบอกว่ามันเป็นเพียงฉบับลอก (Copycat) ของ Death Wish ที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงก็เท่านั้น

 

Tags: ,