หากคุณเป็นคนดูหนังฮอลลีวูด ก็เป็นไปได้ว่า ไม่มากก็น้อย คุณน่าจะเคยผ่านตาหนังที่ เจอร์รี บรักไฮเมอร์ (Jerry Bruckheimer) ร่วมโปรดิวซ์ เพราะหนังส่วนใหญ่ที่เขาร่วมสร้างนั้นมักเป็นหนังฟอร์มยักษ์หรือหนังบล็อกบัสเตอร์ทุนสร้างมหาศาล ทั้งยังกินระยะเวลาหลายทศวรรษ จนเขาถูกจัดให้เป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำรายได้มากที่สุดตลอดกาลเป็นอันดับที่ 4 โดยมูลค่าของภาพยนตร์ที่เขาเคยร่วมสร้างทุกเรื่องนั้นอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ขณะที่อันดับหนึ่งคือ เควิน ไฟกี เจ้าพ่อหนังมาร์เวล ที่มูลค่าหนังทั้งหมดอยู่ที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ล่าสุดบรักไฮเมอร์เพิ่งร่วมสร้าง F1: The Movie (2025) หนังสุดอีพิกทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และกวาดรายได้เข้ากระเป๋าในสัปดาห์แรกที่ออกฉายที่ 146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 “งานของผมคือ การพาคนออกจากโลกความจริงสัก 2 ชั่วโมง ทำให้คุณลืมทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้าน ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้” บรักไฮเมอร์นิยามการทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ของเขาไว้เช่นนั้น

ความร้อนแรงในฐานะโปรดิวเซอร์หนังฟอร์มยักษ์ของบรักไฮเมอร์โดดเด่นมาตั้งแต่ช่วงรอยต่อยุค 80s-90s โดยเฉพาะการจับมือกับ ดอน ซิมป์สัน (Don Simpson) เจ้าพ่อนักสร้างหนังที่พาถูสร้างหนังมหากาพย์ที่เราอาจคุ้นตากันอย่าง Beverly Hills Cop (1984), Top Gun (1986) และ The Rock (1996) โดยทั้งคู่ถูกขนานนามว่าเป็นคู่หูโปรดิวเซอร์มือทองของฮอลลีวูด ในฐานะที่บรักไฮเมอร์เคยทำงานในวงการโฆษณาและมีความรู้เรื่องกระบวนการถ่ายทำ เขาจึงถูกขนานนามว่า Mr. Outside ขณะที่ซิมป์สันถูกเรียกว่า Mr. Inside อันเนื่องมาจากเครือข่ายคนทำหนังมากมายที่เขาถือไว้ในมือ 

ทั้งนี้ซิมป์สันขึ้นชื่อเรื่องการเป็นโปรดิวเซอร์อารมณ์ร้ายและเอาแน่เอานอนไม่ได้ ทั้งยังมีภาวะติดโคเคนอย่างหนักจนส่งผลต่อหน้าที่การงานโดยตรง ยังผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับบรักไฮเมอร์มาถึงจุดแตกหักในปี 1995 ระหว่างร่วมโปรดิวซ์ The Rock ด้วยกัน โดยทั้งสองตกลงจะทำหนังเรื่องนี้ด้วยกันเป็นเรื่องสุดท้ายก่อนแยกย้าย หากแต่ซิมป์สันก็เสียชีวิตในปี 1996 ก่อนหน้าที่หนังจะถ่ายทำเสร็จเรียบร้อย The Rock จึงเป็นหนังที่อุทิศให้ซิมป์สันหลังเขาจากไป

  บรักไฮเมอร์ออก ‘บินเดี่ยว’ หลังจากนั้นเขาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวูด ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ เขามีส่วนในการสร้างหนังฟอร์มยักษ์หลายสิบเรื่องและทั้งหมดก็ไม่ใช่งานง่าย “งานของโปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่คือ การหาเวลาประชุมเป็นสิบเป็นร้อยครั้งกับนายธนาคาร นักบัญชี และนักกฎหมาย บอกเลยว่ามันดูดพลังงานของคุณจนหมด ถึงที่สุดก็ไม่เหลือแรงให้คิดเรื่องหนังแล้ว สำหรับผมมันเหมือนคุณสวมสูทที่ไม่พอดีกับตัวเลย” เขาบอก “ผมชอบนั่งกับคนเขียนบทหรือผู้กำกับมากกว่า ปั้นเรื่องที่จะทำกัน หรือไม่ก็อยู่กับพวกดีไซเนอร์ หาทางทำให้ฉากแต่ละฉากออกมาเจ๋งที่สุดเท่าที่จะทำได้

  “หลายคนก็เก่งด้านหาเงินนะ และถึงที่สุดมันก็เป็นสิ่งที่ผมต้องทำเข้าสักวัน แต่แค่เอาเข้าจริง ผมแค่ชอบฝั่งงานสร้างสรรค์มากกว่าเท่านั้นแหละ”

  หนึ่งในหนังที่บรักไฮเมอร์ร่วมสร้างปรากฏการณ์ในยุคแรกๆ คือ Top Gun (1986) หนังแจ้งเกิดผู้กำกับชาวอังกฤษอย่าง ริดลีย์ สก็อตต์ และเป็นหมุดหมายแรกที่ทำให้เขาได้ร่วมงานกับบรักไฮเมอร์ในอีกหลายเรื่องต่อมา ทั้งนี้ Top Gun ว่าด้วยเรื่องของ มาเวอริก (ทอม ครูซ) นาวิกโยธินหนุ่มหัวแถวที่ติดนิสัยไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา เข้าร่วมโปรเจกต์ TOP GUN ซึ่งเป็นโปรเจกต์ฝึกการต่อสู้ทางอากาศสำหรับนักบิน ซึ่งต่อมาเวอริกพิสูจน์ตัวเองได้อย่างน่าประทับใจ กับการจับจ้องของ ไอซ์แมน (วัล คิลเมอร์) เพื่อนนักบินหนุ่มหัวแถวของรุ่น กระทั่งวันหนึ่งความบ้าระห่ำไม่ฟังใครของมาเวอริกก็ส่งผลต่อเพื่อนรักโดยตรง ยังผลให้กลายเป็นบาดแผลที่เขารู้สึกราวกับไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

ด้วยทุนสร้างหนัง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หนังประสบความสำเร็จถล่มทลายที่ 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีส่วนทำให้แว่นตาเรย์แบนด์ที่ตัวละครสวมขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สร้างปรากฏการณ์ให้คนหนุ่มแห่มาสมัครเป็นนาวิกโยธิน 500% มิหนำซ้ำหนังก็แจ้งเกิดครูซให้กลายเป็นนักแสดงหนุ่มดาวดังของฮอลลีวูดแทบจะในทันที

  เป็นบรักไฮเมอร์นี่เองที่โน้มน้าวครูซมาได้ “พวกนักบินพาครูซขึ้นเครื่อง แล้วให้เขาไปเจอแรง G (หน่วยความเร่งที่ใช้วัดแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อวัตถุ) พาบินควงบนน่านฟ้า บอกเลยว่า ครูซเละอยู่บนเครื่องบินนั่นแหละ พอลงมาได้นะ เขาพุ่งไปที่ตู้โทรศัพท์ บอกว่า ‘เออ ผมเอาด้วย ผมจะเล่นเรื่องนี้ ชอบมาก โคตรจะเจ๋งเลย’” เขาบอก

 

เช่นเดียวกันกับภาคต่อ Top Gun: Maverick (2022) ที่คราวนี้ครูซร่วมโปรดิวซ์ด้วย จากทุนสร้าง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หนังทำเงินระดับปรากฏการณ์ไปทั้งสิ้น 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นหนังที่ครูซนำแสดงแล้วทำเงินได้มากที่สุด และเป็นทำรายได้เป็นอันดับสองของปี รองลงมาจาก Avatar: The Way of Water (2022) หนังสำรวจชีวิตและบาดแผลของมาเวอริกในอีก 30 ปีให้หลังจากที่เขาสำเร็จการอบรมในโปรเจกต์ Top Gun และถูกเรียกให้มาอบรมนาวิกโยธินรุ่นใหม่ หนึ่งในนั้นมีลูกชายของเพื่อนรักที่เสียชีวิตจากความโลดโผนของเขาในอดีต มาเวอริกจึงอยู่ในภาวะหวนกลับมาเผชิญหน้าอดีตที่ตัวเองหลบตามาตลอดนับสิบปี

  ตามประสาครูซ จุดแข็งของหนังคือการพาทีมนักแสดงไปร่วมบินจริง ขับเครื่องบินจริง (ไมล์ส เทลเลอร์ หนึ่งในนักแสดงนำของเรื่องเล่าว่า เพื่อนนักแสดงครึ่งหนึ่งอ้วกทุกวันที่มีถ่ายฉากขึ้นเครื่องบินเจ็ต) โดยครูซออกแบบโปรแกรมหัดขับเครื่องบินและฝึกสภาพร่างกายให้เหล่านักแสดงนำนาน 3 เดือน เพื่อให้ทุกคนพร้อมสำหรับการขึ้นขับ F-18

  หนังประสบความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ บรักไฮเมอร์บอกแค่ว่า “นี่แหละ เวลาคุณทำหนังที่ทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมด้วยได้ มันก็แบบนี้แหละ พวกเขาออกมาจากโรงหนังด้วยความสุขใจมากกว่าตอนที่เข้าไปเยอะมากๆ ผมว่านี่คือสิ่งที่ผมพยายามทำมาตลอด แม้ไม่ประสบความสำเร็จทุกครั้ง แต่ก็พยายามทำเสมอ”

  บรักไฮเมอร์ยังมีส่วนร่วมสร้าง Bad Boys (1995) หนังยาวเรื่องแรกของ ไมเคิล เบย์ ผู้กำกับหนุ่มที่โตในแวดวงการกำกับมิวสิกวิดีโอ หนังเล่าเรื่องชวนหัวของนายตำรวจไมอามี 2 นาย มาร์คัส (มาร์ตอน ลอว์เรนซ์) นักสืบผู้รักครอบครัวยิ่งกว่าอะไร กับไมค์ (วิลล์ สมิท) ตำรวจหนุ่มหล่อที่ใช้ชีวิตสุดหรู พวกเขาต้องตามจับคดีค้าเฮโรอีนครั้งใหญ่ที่ชวนเวียนหัวกว่าเดิม เพราะพวกเขาจับพลัดจับผลูต้องใช้ชีวิตแบบสลับตัวกัน

ว่าไปแล้ว พล็อตหนังที่ว่าด้วยคู่หูที่คาแรกเตอร์ต่างกันคนละขั้ว ต้องสลับตัวกันเพื่อบรรลุภารกิจบางอย่างก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในความไม่ใหม่นี้โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้มันสนุกต่างหาก! เบย์กับบรักไฮเมอร์และซิมป์สันเลือก วิลล์ สมิท นักแสดงหนุ่มหน้าละอ่อนที่แจ้งเกิดจาก The Fresh Prince of Bel-Air (1990-1996) ซีรีส์คอเมดีมารับบทนำในหนัง ท่ามกลางสายตากังขาของสตูดิโอโคลัมเบียพิกเจอร์สที่ไม่เชื่อว่าหนังที่สร้างขึ้นจากทุน 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำเงินได้ “เพราะพวกเขาคิดว่า หนังที่นำแสดงโดยคนดำ 2 คนไม่มีทางทำเงินได้นอกสหรัฐฯ แหงๆ” เบย์บอก 

แน่นอนว่าสตูดิโอคิดผิดเพราะหนังทำรายได้ถล่มทลายที่ 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ “มันเป็นหนังเรื่องแรกที่มีนักแสดงเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน 2 คนนำแสดงแล้วไปทำเงินในตลาดต่างประเทศน่ะ” เบย์บอกอย่างภูมิใจ ยังไม่นับว่า หลังจากนั้นมันจะกลายเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ใหญ่ที่เขากับบรักไฮเมอร์ร่วมกันทำด้วย และเช่นเคยทั้งคู่ผูกปิ่นโตร่วมสร้างหนังอีกหลายเรื่องด้วยกันหลังจากนั้น ทั้ง Armageddon (1998) รวมถึง Pearl Harbor (2001) ที่ทำเงินถล่มทลายตลอดมา

  บรักไฮเมอร์ยังทำหนังแฟรนไชส์ใหญ่อย่าง Pirates of the Caribbean ที่ตอนนี้งอกออกมา 5 ภาคเข้าไปแล้ว ปฐมบทของหนังคือ The Curse of the Black Pearl (2003) ว่าด้วยการออกเดินทางของวิลล์ (ออร์แลนโด บลูม) ช่างตีเหล็กที่จับคู่กับ แจ็ก สแปร์โรว์ (จอห์นนี เด็ปป์) โจรสลัดขี้เมาเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพื่อช่วยเหลือ อลิซาเบท (เคียรา ไนต์ลีย์) หญิงสูงศักดิ์ที่เขาตกหลุมรัก ซึ่งกลุ่มโจรสลัดอีกกลุ่มลักพาตัวไป โดยไม่มีใครทันรู้ตัวทั้งนั้นว่า การออกเรือครั้งนี้จะพาพวกเขาไปเจอกับคำสาปที่ผูกแน่นกับตัวตนของกัปตันแจ็ก

  “ไอเดียที่ว่าโจรสลัดกลายเป็นผีดิบเมื่อต้องแสงจันทร์ มันแปลกใหม่และน่าสนใจจะตายไป และนี่แหละคือเหตุผลแรกๆ ที่ทำให้ผมอยากเข้ามามีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้” บรักไฮเมอร์บอก

หนังสร้างจากทุน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำเงินไปที่ 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในหนังที่เป็นภาพจำของเด็ปป์และถือเป็นหนังแจ้งเกิดของไนต์ลีย์ในวัยเพียง 17 ปี และความสำเร็จนี้ยังส่งให้พวกเขาได้สร้างภาคต่อที่ทำกำไรมาอีกหลายปีด้วย ถือเป็นแฟรนไชส์หนังที่หากพูดถึงบรักไฮเมอร์ ก็ต้องมี Pirates of the Caribbean ปรากฏอยู่ในรายชื่อหนังที่เขาร่วมสร้างแน่นอน

  บรักไฮเมอร์กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในปีนี้กับ F1: The Movie (2025) ที่ตอนนี้กำลังเดินหน้ากวาดรายได้ไปทั่วโลก หนังเล่าถึงซอนนี (แบรด พิตต์) นักแข่งนิรนามที่ตระเวนแข่งรถในสนามมากหน้าหลายตาเพื่อเข้าร่วมแข่งในทีมเล็กๆ รูเบน (ฆาเบียร์ บาร์เด็ม) เพื่อนรักนักแข่งรถของเขาเมื่อ 30 ปีก่อน และตอนนี้กลายเป็นเจ้าของทีมปรากฏตัวอีกครั้ง ขอให้ซอนนีไปช่วยเป็นหนึ่งในทีมของเขาซึ่งกำลังตกที่นั่งลำบาก เป้าหมายคือการพาทีมขึ้นตารางให้ได้ไม่เช่นนั้นรูเบนจะถูกบังคับให้ขายทีมทิ้ง โจทย์ใหญ่ที่ซอนนีต้องเจอไม่ใช่แค่การช่วยลากทีมกลับมาเท่านั้น แต่เขายังต้องเจอกับโจชัว (แดมสัน ไอดริส) นักขับหนุ่มที่กำลังรับมือกับชื่อเสียง รวมทั้งอดีตของซอนนีเองที่เป็นเหตุผลทำให้เขาต้องหยุดแข่งรถไปนานหลายปี

  ในฐานะโปรดิวเซอร์ บรักไฮเมอร์กลับมาร่วมงานกับ เอห์เรน ครูเกอร์ คนเขียนบทกับ โจเซฟ โคซินสกี ผู้กำกับที่คุ้นมือกันแล้วจาก Top Gun: Maverick และว่าไป เส้นเรื่องของ F1: The Movie ก็อาจไม่ต่างจาก Top Gun: Maverick มากนัก โดยเฉพาะในแง่การสำรวจบาดแผลในอดีตของตัวละครหลัก การไถ่คืนความรุ่งโรจน์และการต้องรับมือกับคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นหนังฟอร์มยักษ์ที่ใช้พลังนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวูดในการดึงคนดูเหมือนกัน

“ผมว่าเราต่างชอบเรื่องการได้รับโอกาสที่ 2 กันทั้งนั้น อยากไถ่คืนความผิดบาปบางอย่าง อยากมีทีมเวิร์กที่ดีอยู่รอบตัวพวกเขา ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่คนเราโหยหานะ” บรักไฮเมอร์บอก “และในโลกบ้าๆ ที่เราใช้ชีวิตกันอยู่นี้ ผมว่าเราต่างอยากเจอคนที่เป็นคู่แข่ง ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนตายที่ต้องร่วมงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันทั้งนั้นแหละ”

  ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ บรักไฮเมอร์เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ที่สร้างหนังฟอร์มยักษ์มาตลอด มีหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จ และอีกหลายเรื่องที่ก็ขาดทุนย่อยยับ สำหรับเขาแล้ว หนังบล็อกบัสเตอร์ก็มีความยากและความท้าทายในแบบของมันที่เขาก็ต้องเรียนรู้ในการหาหนทางอยู่เรื่อยไป “คนดูจะบอกคุณเองว่าหนังแบบไหนที่เวิร์ก แบบไหนที่ไม่เวิร์ก ซึ่งเอาเข้าจริงมันไม่ได้เข้าใจกันง่ายแบบนั้นหรอก” เขาว่า 

“แต่คุณจะรู้ได้เองว่าพวกเขาชอบและไม่ชอบอะไร คุณจึงต้องเรียนรู้จากสิ่งนี้ เรียนรู้จากความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ถ้ามีอะไรสักอย่างที่เราคิดว่า เราน่าจะทำได้ดีขึ้น คุณก็แค่หวังว่าเมื่อคุณได้ทำหนังเรื่องต่อไป คุณจะทำให้มันดีขึ้นได้จริงๆ คุณแค่เรียนรู้จากอดีต เรียนรู้จากสิ่งที่เคยทำพัง และพยายามอย่าซ้ำรอยเดิม”

Tags: , , , , , , ,